Life

Compassionate leadership ภาวะผู้นำที่จำเป็นในช่วงที่เกิดวิกฤต COVID-19

By: unlockmen May 24, 2021

ช่วงนี้เรากำลังเจอกับปัญหาหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น COVID-19 ความขัดแย้งทางการเมือง หรือ ปัญหาเศรษฐกิจ ฯลฯ ซึ่งอาจทำให้หลายคนต้องรู้สึกห่อเหี่ยวและทำงานได้ลำบากมากขึ้น ในช่วงวิกฤตแบบนี้ ภาวะผู้นำแบบเห็นอกเห็นใจ (Compassionate leadership) จะเป็นทักษะที่ทำให้ผู้นำองค์กรหรือธุรกิจก้าวผ่านปัญหาไปได้มากขึ้น

ทำไมผู้นำถึงต้องมีความเห็นอกเห็นใจ ?

เมื่อก่อนองค์กรหรือบริษัทอาจโฟกัสแค่ความสามารถในการทำงานของพนักงานเพียงอย่างเดียว โดยไม่สนใจเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขามากนัก กล่าวคือ เน้นประเมินพนักงานจากความสามารถหรือผลงานที่พวกเขาทำ แต่พอเกิดวิกฤต COVID-19 ขึ้นมา เรื่องความเป็นอยู่หรือสุขภาพจิตของพนักงานก็เป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจมากขึ้น เพราะมันส่งผลต่อการทำงาน และความเห็นอกเห็นใจก็เป็นเรื่องที่หัวหน้าควรมีเช่นกัน

ความเห็นอกเห็นใจ หมายถึง ความสามารถในการเข้าใจคนอื่นด้วยความปราถนาดี ไม่ว่าจะเป็น อารมณ์ความรู้สึก หรือ ปัญหาที่แต่ละคนกำลังเผชิญอยู่ และตอบสนองความต้องการของคนอื่นได้  ทักษะนี้จะช่วยให้ผู้นำได้รับความร่วมมือ หรือ ความเชื่อใจมากขึ้น เพราะลูกน้องจะรู้สึกว่า หัวหน้าอยู่เคียงข้างพวกเขาและตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ของพวกเขาจริง

หัวหน้ามีที่ทั้งภาวะผู้นำและความเห็นอกเห็นใจ เราเรียกว่า ‘Compassionate Leadership’ ซึ่งมักจะมีลักษณะเหล่านี้ ได้แก่ เรียนรู้และเติบโตจากการรับฟังความคิดเห็นหรือ feedback ของคนอื่น ไม่สร้างกำแพงกับลูกน้อง พยายามเข้าใจลูกน้องมากกว่าดูที่ตัวผลงาน ทำให้ลูกน้องมีวิธีคิดแบบใหม่หรือเกิดแพสชั่นในการทำงานได้ รวมถึงเข้าใจความสาคัญของการทำงานเป็นทีม

การบริหารลูกน้องด้วยความเห็นอกเห็นใจสามารถทำได้อย่างไรบ้าง ?

เมื่อความเห็นอกเห็นใจส่งผลดีต่อการบริหารลูกน้อง UNLOCKMEN เลยอยากมาแนะนำวิธีการเป็นผู้นำที่มีความเห็นอกเห็นใจ เพื่อให้ทุกคนสามารถนำไปใช้พัฒนาธุรกิจของตัวเองให้ประสบความสำเร็จมากขึ้น

เริ่มจากใจดีกับตัวเองก่อนเป็นอันดับแรก

ถ้าเราไม่เห็นอกเห็นใจตัวเอง เราคงเห็นอกเห็นใจคนอื่นได้ยาก ดังนั้น ก่อนที่เราจะไปเห็นอกเห็นใจใคร เราควรเริ่มที่การให้กำลังใจตัวก่อน เช่น การบอกกับตัวเองว่า “”เรามีคุณค่า” หรือ “เราพยายามเต็มที่” ฯลฯ เมื่อเราให้กำลังใจตัวเองได้แล้ว เราก็จะส่งต่อการให้กำลังใจไปยังคนอื่นได้ง่ายขึ้น

ลงทุนในด้านการพัฒนาคน

วิกฤต COVID-19 ทำให้หัวหน้าต้องสนใจความเป็นอยู่และสุขภาพจิตของลูกมากขึ้น เพราะความเครียดเป็นอุปสรรค์ต่อประสิทธิภาพในการทำงาน และปัญหานี้น่าจะอยู่กับเราไปอีกยาวนาน หัวหน้าจึงไม่ควรใส่ใจแค่การพัฒนาฝีมือของลูกน้องเท่านั้น แต่ต้องสนใจการพัฒนาสกิลทางจิตใจของลูกน้องด้วย เช่น ทักษะในการรับมือกับความเครียด หรือภาวะซึมเศร้า เป็นต้น การลงทุนในด้านนี้ที่ส่งผลดีต่อธุรกิจในระยะยาว

ไม่สร้างความกลัวให้ลูกน้อง

ผู้นำบางคนคาดหวังว่าลูกน้องจะต้องทำถูกต้องตลอดเวลา และทำให้ลูกน้องกลัวการทำงานผิดพลาดหรือล้มเหลว เรื่องนี้อาจเป็นปัญหาที่ทำให้ลูกน้องเกิดอาการเบิร์นเอ้าท์ ได้รับความกดดันในการทำงาน ซึ่งจะส่งผลเสียต่อความสามารถในการทำงานของพวกเขาได้ หัวหน้าความทำให้ลูกน้องรู้สึกอุ่นใจที่จะล้มเหลวมากขึ้น พร้อมให้โอกาสพวกเขาได้แก้ไขตัวเอง สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ลูกน้องกล้ารับความเสี่ยง และกล้าคิดกล้าทำมากขึ้น

รับฟังความคิดเห็นของทุกคน

ถ้าหัวหน้าสามารถรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง และพยายามเข้าใจมุมมองของคนอื่นได้ มันจะช่วยให้พวกเขาค้นพบวิธีการแก้ปัญหาใหม่มากกว่าการไม่รับฟัง และทำให้องค์กรหรือธุรกิจไปข้างหน้าได้มากขึ้นด้วย เพราะฉะนั้น หัวหน้าจึงควรเลิกสร้างความสัมพันธ์กับลูกน้องแบบ ‘ผู้สั่ง’ และ ‘ผู้รับคำสั่ง’ แต่ควรมองการทำงานเป็นเรื่องของทุกคน และพนักงานทุกคนล้วนมีความสำคัญต่อความสำเร็จ

ทั้งหมดนี้ก็เป็นแนวทางง่าย ๆ ในการนำความเห็นอกเห็นใจมาใช้ในการเป็นผู้นำในการทำงาน ซึ่งเราหวังว่ามันจะช่วยให้ทุกคนสามารถพัฒนาการทำงานของคนในองค์กรให้ดีขึ้นได้


Appendix: 1 / 2 / 3

unlockmen
WRITER: unlockmen
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line