Business

สรุปเศรษฐกิจถดถอยโควิด-19 ส่อหนักกว่าวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์และทางออกที่เป็นไปได้

By: anonymK March 31, 2020
  • วิกฤตเศรษฐกิจโลกตอนนี้ พยากรณ์กันว่าสหรัฐฯ จะแย่กว่าตอนเจอวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ เพราะ Social Distancing สร้างปรากฏการณ์ Economic Distancing ตามมา คนไม่ได้ตกงานจากการเลิกจ้างแต่มาจากการกักกัน
  • ภาวะเศรษฐกิจถดถอยแบ่งเป็นระลอกคลื่น 4 ลูก ได้แก่ สภาวะสังคมแช่แข็งกะทันหัน, คนตกงาน, คนเกษียณบั้นปลายพัง และอุตสาหกรรมการลงทุนที่โดนตัดแขนขา ตามลำดับ
  • ไทยอยู่ในเฟสแจกเงิน แต่หากเป็นไปตามการพยากรณ์ที่เทียบกับสหรัฐฯ การแจกเงินให้คนไปเก็บไว้ ไม่ได้ทำให้คนหายตกงานและคนจะไม่ออกมาใช้เงิน ธุรกิจขนาดเล็กและ SMEs ที่โดนก่อนอาจจะไม่รอด จึงควรมีมาตรการด้านอื่นช่วยส่งเสริมและธุรกิจเหล่านี้ก่อนลูกโซ่ของโดมิโนตัวแรกจะล้มลง
  • เมื่อถึงคราวอัดฉีดเงินหลังไวรัสจากไป รัฐควรมีส่วนสนับสนุนและอัดฉีดเพื่อให้กราฟที่ดิ่งเด้งขึ้นในเร็ววัน หากสถานการณ์ยืดเกินเดือน พ.ค. ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขหลายประเทศคาดการณ์ว่าอาจยาวได้ถึงปลายปี ก็มีโอกาสสูงที่บาดแผลนี้จะยิงยาวไป 4-5 ปี

 

เมื่อไม่กี่วันก่อน เรามีโอกาสได้ออกไปข้างนอกซื้อของเข้าบ้าน เห็นชัดว่าธนาคารสีชมพูสาขาใกล้บ้านมีคนมาอออยู่หน้าธนาคารเพียบ มั่นใจได้ว่าช่วงนี้คงไม่ได้ออกันเพื่อเอาเงินเข้า แต่เป็นยืนรอถอนเงินออกเพราะไม่มั่นใจว่าสภาวะนี้เงินสดในมือจะพอใช้หรือเปล่า

หรือถ้าวันไหนเกิดธนาคารปิด ถอนเงินออกมาไม่ได้เราจะเอาอะไรกินกัน?

แล้วไวรัสหรือข้าวปลา อันไหนที่น่ากลัวกว่ากัน ? เศรษฐกิจตอนนี้มันตกหรือกระทบกันแค่ไหน UNLOCKMEN ขอสรุปเรื่องนี้เป็นเรื่องเล่าง่าย ๆ ที่เราย่อยมาจากบทความสัมภาษณ์ Mark Zandi หัวหน้าเศรษฐศาสตร์ของ Moody Analytic ที่ประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจต่อสถานการณ์ Covid-19 ตอนนี้

Mark Zandi อธิบายว่าวิกฤตหนนี้แย่ยิ่งกว่าวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ปี 2008 เสียอีก ถ้ายังจำได้ช่วงแฮมเบอร์เกอร์นั้นเริ่มจาก เลห์แมน บราเธอร์ส สถาบันการเงินขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ ประกาศล้มละลายจึงทำให้ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อระบบเศรษฐกิจทั่วโลก จนเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ

แต่ตอนวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ปี 2008 ต่อให้หนักหนาแค่ไหนก็ยังไม่มีนัยสำคัญมากพอให้ร่วงจริง ๆ หรือเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจได้ขนาดนั้น เพราะอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่แม้จะเงียบเหงา มันก็ยังดำเนินต่อได้ ต่างจากตอนนี้ที่พอเราจะชะลอโรคก็จำเป็นต้องออกมาตรการหักคอธุรกิจมาพร้อมกันเพื่อป้องกันการติดต่อ

เหตุผลหลักมาจากเป้าหมายสูงสุดเพื่อหยุดโรคระบาดที่ทำให้เราต้องหยุดเศรษฐกิจตาม เพราะ Social Distancing ไม่ต่างจาก Economic Distancing เราบอกคนว่าอย่าออกไปห้างร้าน อย่าไปร้านอาหาร อย่าไปทำงาน สิ่งที่กระทบตามมาเมื่อเขาไม่ได้ทำงาน อะไรที่เคยทำก็เริ่มหยุดชะงักไปทีละอย่าง ตั้งแต่แรงงาน การผลิตสินค้า ทุกอย่างต้องกลับไปตั้งต้นที่บ้านของตัวเองทั้งหมด

เมื่อคนไม่จ่าย ควรทำยังไง ต่อให้รัฐระบายเงินไปที่รายย่อย แต่อาจจะไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจหมุนต่อได้ เพราะคนจะเก็บเงินก้อนนั้นแล้วไม่ออกไปใช้จ่ายอยู่ดี ทางรอดของพวกธุรกิจต่าง ๆ จึงควรเป็นการแก่ปัญหา “Output Gap” หรือ “ช่องว่างการผลิต” ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดการล่มสลายทางเศรษฐกิจ เพราะเมื่อสายพานการผลิตไม่เกิด ผลกระทบรุนแรงตามมาคือเรื่องล้มละลาย ว่างงาน หรือกระทั่งการเพิ่มอัตราเสียชีวิตของผู้คนและประชากรจากปัญหาหนี้สิน จิตใจ ฯลฯ

 

ในสถานการณ์ Social Distancing เราโดนบังคับให้กลายเป็นคนออนไลน์เต็มตัว ขาดการใช้ชีวิตแอนาล็อกอย่างที่เคย ทุกคนโดนบังคับให้โดดลงเรือโดยสารฝ่ามรสุมเพื่อเอาตัวรอด แต่คลื่นไม่ได้มีแค่ลูกเดียว Mark Zandi เขาอธิบายว่าเราจะต้องฝ่าคลื่นถึง 4 ลูกจากนี้ โดยแต่ละลูกจะทยอยเกิดขึ้นตามลำดับ

 

คลื่นลูกที่ 1 ทุกอย่างหยุด แช่แข็งกะทันหัน

ปกติเวลาเศรษฐกิจจะมีปัญหา หลายคนจะมีโอกาสเห็นเค้าลางมาก่อนบ้าง ทำให้เจ็บน้อยหน่อย แต่ภาวะโควิด-19 ที่เป็นโรคระบาดตอนนี้ ไม่มีใครทันตั้งตัว 1 เดือนก่อนหน้านี้เรายังเจอคนในออฟฟิศ ยังซื้อของมากิน ยังมีลูกค้าเซ็นสัญญา ซื้อตั๋วเที่ยว จ่ายเงินค่าขนมลูก วางแผนจะซื้อรถซื้อบ้าน แต่มาวันนี้ทุกอย่างชะงัก ทุกคนต้องกักตัวอยู่บ้าน เศรษฐกิจก็ไม่ต่างกัน เหมือนโดนช็อกน้ำ ต้องกักตัวตาม นิ่งไปหมดทั้งระบบ

เรื่องนี้เราไม่ได้คิดไปเองแต่ Goldman Sachs วาณิชธนกิจรายใหญ่ของสหรัฐอเมริกาก็ออกมาประกาศคาดการณ์ GDP (ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ) ของสหรัฐฯ ว่าจะลดลงในอัตราร้อยละ 24 ในไตรมาสที่ 2 ของปี ซึ่งมากขึ้นเป็นสองเท่าจากการคาดการณ์เดิม ส่วนไทยนักเศรษฐศาสตร์พากันประเมินว่าปี 2020 นี้ GDP ไทยมีสิทธิ์เข้าขั้นติดลบ

 

คลื่นลูกที่ 2 คนตกงาน

ต่อเนื่องมาจาก GDP หยุดโต ถามว่าพอ GDP หยุดเราเห็นอะไร? บอกเลยว่าเห็นคนตกงาน ซึ่งคลื่นลูกนี้มาถึงเร็วมากเกินกว่าจะตั้งตัว และไม่ได้เป็นแค่สหรัฐฯ เท่านั้นที่ทำนายได้ว่าจะเข้าเฟสนี้ แต่บ้านเราเอง สิ่งหนึ่งที่เช็กได้ว่า GDP เริ่มชะงักคืออัตราการขึ้นทะเบียนว่างงานใน “เราไม่ทิ้งกัน.com” เปิดตัววันแรกก็ล่อไปหลายล้าน ระบบล่มบ้าง แต่นั่นยังแค่เปิดตัวไม่ถึงอาทิตย์ดี จากนี้เราคงจะได้เห็นคนลงทะเบียนเพิ่มขึ้นอีกเยอะ ตอนนี้ของจริงจะเริ่มปรากฏข้อมูลบนกราฟแล้วว่าเศรษฐกิจกำลังร่วง

Christina Animashaun/Vox

“จะเกิดการว่างงานร้อยละ 20” คำเตือนของปลัดกระทรวงการคลัง Steven Mnuchin

“การว่างงานอาจจะแตะถึง 30% และ GPD จะร่วงลง 50%” James Bullard ผู้ว่าการธนาคารกลางรัฐเซนต์ หลุยส์ออกมาคาดการณ์

ส่วนฝั่งไทยเรื่องว่างงานจากภาวะโควิด นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) เผยข้อมูลช่วงต้นเดือนมีนาคม ตัวเลขนักศึกษาจบใหม่ที่จะทยอยเข้ามาในระบบแรงงานเพิ่มเติมช่วง พ.ค. นี้ประมาณ 500,000 คนโอกาสได้งานค่อนข้างต่ำจากภาวะชะลอรับคนเข้าทำงาน ขณะเดียวกันธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ หลายบริษัทได้วางแผนปรับลดคนในช่วงที่ผ่านมา ทั้งให้สมัครใจหยุดงานไม่รับเงินเดือน และเลิกจ้าง  ซึ่งหากยืดเยื้อการเลิกจ้างจะมีจำนวนสูงขึ้น

 

คลื่นลูกที่ 3 ฝันเกษียณพังทลาย

หลายคนวางแผนอย่างดีสำหรับวันเกษียณ บางคนลงทุนในหุ้นเพราะหวังดอกผลให้เงินทำงานวันทำงานไม่ได้ แต่ตอนนี้คนเกษียณไม่ใช่แค่จะเป็นกลุ่มเสี่ยงจากโรคที่อาจจู่โจมชีวิตได้มากกว่าเท่านั้น คราวซวยจาก Panic Mode ที่ตลาดลงทุนโลกเกิดการ Panic เพราะโรคระบาด นักลงทุนจะเริ่มถอนทุน ตลาดหุ้นอยู่ในภาวะหมีจำศีล เกิด Circuit Breaker และหลายสถานการณ์จะทำให้เห็นว่า โอกาสขาดทุนระนาวจากตลาดตกใจหน้าตาเป็นแบบไหน

สำหรับคนวัยเกษียณจะต่างจากธุรกิจที่พอผ่านวิกฤตก็ฟื้นตัวได้ เพราะรายรับเขาไม่มีเข้ามาหลังจากนั้น สิ่งที่ตามมาจึงเป็นการรัดเข็มขัดค่าใช้จ่ายของคนวัยเกษียณ ซึ่งพอไม่ได้กำลังซื้อตรงนี้ ภายหลังก็ส่งผลกับเศรษฐกิจมวลรวมที่ทำให้เศรษฐกิจชะลอตาม

 

คลื่นลูกที่ 4 ธุรกิจตัดการลงทุน

“ตัดแขนขา รักษาชีวิต” ยังเป็นคำที่ใช้อธิบายสถานการณ์นี้ได้ดี ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขาไหน อุตสาหกรรมไหนถ้าเจอผลกระทบเชิงลบจากวิกฤตนี้ ความคิดเดิมที่เคยลงทุนก็ตัดไปได้เลย คนไหนอยากเปิดโรงงานจะไม่ทำ สื่อสิ่งพิมพ์ก็หยุดพิมพ์ ขอ hold ไว้ก่อน ยิ่งถ้าบริษัทไหนเคยอยากขยายออฟฟิศจะเริ่มกลับมาทบทวนการตัดสินใจอีกครั้งว่าจะอยู่ตรงไหนดี

บทเรียนจากบาดแผลจะทำให้คนทบทวนก้าวต่อไปมากขึ้น แต่ถ้าโชคดีควบคุมสถานการณ์ไวรัสได้ในเดือน 5 และการกระตุ้นเศรษฐกิจอัดฉีดไปอย่างมีประสิทธิภาพ เรียกว่าพอจังหวะกระตุ้นก็อัดได้ถึงจริง ๆ Zandi และนักพยากรณ์คนอื่นก็เห็นตรงกันว่า เศรษฐกิจจะกลับมาดีได้เป็นกราฟตัว “V” ไตรมาส 3 และ 4 ดิ่งสุดก็พร้อมดีดกลับมาเต็มแรงเหมือนกัน

 

เคสกราฟตัว “V” มันมีเงื่อนไขอยู่ว่าเราต้องรีบกักกันโรคให้ได้ในเร็ววัน แต่เมื่อไรความโชคดีที่เราคาดว่าจะเกิดเดือน พ.ค. โดนดันออกไปอีก คราวซวยก็มาเยือนแหง ๆ ซึ่งคงต้องบอกเลยว่าเรื่องนี้ไม่ได้ไกลตัว สาธารณสุขส่วนใหญ่รอบโลกมักพยากรณ์ว่าฝันร้ายนี้มีสิทธิ์เอามาก ๆ ที่จะยืดเยื้อไปยันปลายปี ซึ่งปลายทางของ Social Distancing ที่ยาวนานจะพาเราไปเจอวิกฤตเศรษฐกิจที่โลกต้องบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ปี 2020 อย่างแน่นอน

 

โดมิโนตัวแรกที่ล้มลง

วงจรเศรษฐกิจที่เจอเตะตัดขา ถ้า Social Distancing จะขยายเวลานานกว่านี้นับเดือนโดยธุรกิจขนาดเล็กไม่ได้รับการช่วยเหลือ ธุรกิจเหล่านี้จะเริ่มล้มหายตายจากกันไป และยิ่งพอคิดถึงธุรกิจร้านอาหารอีก พวกร้านที่กำไรต่ำ ๆ คงไม่ต้องพูดถึง หรืองานไหนที่มีลักษณะเป็นการติดต่อพบหน้ากันก็โดนหมด ทั้งร้านทำเล็บทำผม แม่บ้าน ช่างประปา หรือยิม จะอ่วมกันไปยาว ๆ

แต่ก็อย่าคิดไปว่าเจ้าใหญ่จะรอด เพราะบางอุตสาหกรรมที่ไม่ได้จำเป็นต่อการใช้ชีวิตช่วงนี้ก็ถึงขั้นว่าต้องมีอาการหืดจับ ต้องร้องขอการช่วยเหลือไปตาม ๆ กัน ทั้งธุรกิจสายการบิน ธุรกิจอีเวนต์ หรือพวก Uber กับ Grab สำหรับบริการรับ-ส่งผู้โดยสาร ยอดก็ตก (ขาขึ้นอาจจะเป็น Delivery ข้าว แต่เรื่องการเดินทางในเมืองที่ lockdown ต่อให้การเดินทางจะปลอดภัยแค่ไหนยอดก็ตกอยู่ดีเพราะคนไม่อยากไปไหนให้เสี่ยง) ไม่นับรวมธุรกิจโรงแรม ธุรกิจแฟชั่นขายเสื้อผ้า หรือห้างร้านที่ต้องไปออกบูธถึงจะมีลูกค้า

เมื่อโดมิโนตัวแรกล้มลง ตัวอื่นที่อยู่ในวงจรธุรกิจเดียวกัน เป็นฐานการผลิตทางใดทางหนึ่งหรือเป็น Supplier ที่ต้องส่งต่อของนั้นถึงคนอื่นก็จะล้มครืนตาม

 

จุดสูงสุดของสัญญาณล้มด้านการเงิน

เท่าไหนเรียกกู่ไม่กลับ ? เชื่อว่าหลายคนก็ยังมองหาจุดสังเกตกันอยู่ เรื่องนี้ให้มองกลับไปที่ความมั่นคงของประเทศ ถ้าส่อเค้าว่าจะเดี้ยง จะปิดก็แปลว่าเกินใจจะอดทนแล้วจริง ๆ ยกตัวอย่างว่า พันธบัตรรัฐบาลหรือกระแสการเงินระหว่างประเทศเริ่มชะงัก อันนี้เตรียมเครียดระลอกใหญ่ เพราะถ้าเกิดมีเหตุการณ์ไหนกระทบไปถึงขั้นนั้น สิ่งที่ตามมาต้องถือว่าสถานการณ์มืดมนสุด ๆ จากเจ็บที่ควรจบในปีนี้ หนนี้อาจจะต้องมีต่อเนื่องยาวไปในภาพนี้อีกถึง 4-5 ปี

 

วันที่เราปลอดภัย จงระวังฝันร้ายรอบ 2

“จีนเป็นก่อนเรา จีนกันได้ก่อนเรา และเราอาจเห็นตัวอย่างจากจีนหลาย ๆ ด้านทั้งวันที่เจ็บหนักและหายดี”

เมื่อวันที่ 18 มีนาคมที่ผ่านมา หลังจากจีนเอาชนะสงครามโควิดที่ยืดเยื้อจนมั่นใจว่าในประเทศคลีนแล้ว ผู้คนก็ถอดหน้ากากอนามัยมาใช้ชีวิตกันตามปกติ แต่แล้วสิ่งที่ตามมาคือเฟส 2 ของการติดเชื้อจากคนจากพื้นที่เสี่ยงที่เดินทางกลับมา

ว่ากันว่าต้นตอความเสี่ยงมาจากระบบคัดกรอง เพราะอธิบายง่าย ๆ ว่าพอบ้านเราสะอาด แต่คนที่อยู่พื้นที่เสี่ยงกลับเข้ามาบ้าน โอกาสติดเชื้อมันก็กลับมาอีก และเรื่องนี้รัฐบาลของจีนเขาก็เจอว่าคนที่เดินทางกลับภูมิลำเนาจากต่างประเทศพาโรคกลับมาจริง ๆ ซึ่งช่องโหว่ของการคัดกรองที่พบเบื้องต้นระบุว่ามีไม่ต่ำกว่า 400 ราย

นอกจากการนี้ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์แชร์ข้อมูลการพยากรณ์การแพร่ระบาดระลอก 2 ผ่านเพจเฟซบุ๊ก โดยกล่าวว่าคณะแพทย์จีนกลาวถึงสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดคือ “การปรับตัวของไวรัส” ที่ผู้ติดเชื้อนำกลับมา เพราะมันอาจทำให้ยาเดิมอย่างยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) ที่เคยใช้อยู่เดิมในรอบแรกรักษายากขึ้นกว่าเดิม”

แต่ใช่ว่าจีนจะนิ่งนอนใจ บางเขตอย่างฮ่องกงได้ดำเนินการติดตามเช็กสภาพสุขภาพคนที่กลับมาจากต่างประเทศด้วยการใส่สายรัดข้อมืออิเล็กทรอนิกส์ไว้เพื่อตรวจสอบความเคลื่อนไหว

 

บทสรุปของการแก้ปัญหาครั้งนี้ เรารวบรวมประเด็นที่น่าสนใจที่มีผู้เสนอในสหรัฐฯ บางความเห็นอาจจะมีข้อมูลดีเบตกัน แต่มองแล้วว่าน่าจะเป็นไปได้มาพูดถึงให้เห็นภาพกัน 2 ข้อ

  1. เยียวยาคนเป็นเฟสแรก แต่ไม่ใช่เฟสสุดท้าย : เมื่อพลเมืองเจอเลิกจ้าง รัฐจะออกมาเยียวยาให้เงินเราก็ไม่ผิด แต่การกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยวิธีต้องบอกว่าไม่เป็นผลเท่าไหร่ เพราะนี่ไม่ใช่วงจรเลิกจ้างปกติ แต่เป็นภาวะโดนกักตัวจนต้องเลิกจ้าง ดังนั้น ตราบเท่าที่ธุรกิจไม่ได้รับอนุมัติให้ดำเนินการ การให้เงินอาจประทังชีพก็ไม่พอแก้วิกฤตว่างงานที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ได้ หรือต่อให้กระตุ้นคนออกไปใช้เงินแค่ไหน มันก็กระตุ้นอะไรไม่ขึ้นถ้าร้านโดนสั่งปิด
  2. วิธีผลักดันเศรษฐกิจให้กลับมาเข้ารูปเข้ารอย : การแก้ปัญหามีทั้งแบบระยะสั้นเฉพาะหน้าและการแก้ปัญหาระยะยาว โดยไอเดียการเสนอให้รัฐเยียวยาแบ่งเป็น 2 เฟส เฟสแรกอย่างที่บอกว่าเป็นการเยียวยาให้คนได้รับผลกระทบในภาคครัวเรือน ที่ต้องอัดฉีดเงินยังชีพให้เขาอยู่ได้โดนไม่ต้องถูกบังคับให้ออกไปนอกบ้านเพื่อหาเงินเลี้ยงปากท้อง (ซึ่งก็เสี่ยงจะติดโควิดไม่หายสักที) และเฟส 2 คืออุ้มธุรกิจ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องของการปล่อยกู้สินเชื่อให้ธุรกิจทุกขนาดAndrew Ross Sorkin เสนอผ่าน New York Times ว่าทางออกสำหรับสถานการณ์นี้คือรัฐควรเสนอให้ธุรกิจขนาดใหญ่และเล็ก และบรรดาคนที่เป็นนายตัวเอง หรือ Gig Worker ได้มีสิทธิ์กู้ “bridge load” หรือสินเชื่อสะพานช่วยต่อยอดธุรกิจในช่วงนี้ โดยประกันการไม่เก็บดอกในช่วงวิกฤตจนกว่าจะจบวิกฤตนี้ภายใน 5 ปีหลังจากนั้น เพราะเขาเชื่อว่าถ้ามีสินเชื่อนี้ออกมา บริษัทต่าง ๆ คงสามารถจ้างพนักงานอย่างน้อย 90% ของพนักงานทั้งหมดก่อนเกิดวิกฤต

แต่วิธีปล่อยสินเชื่อไม่เก็บดอกยังเป็นที่ถกเถียงว่าสิ่งที่อาจจะตามมาจากมาตรการนี้อาจเป็นปัญหาว่าธุรกิจที่กู้ไปอาจจะไม่มีปัญญาจ่ายหนี้ได้ ลงท้ายหนี้มันอาจกลายเป็นหนี้สูญสำหรับคนที่เสียภาษีอีกที

หวังว่าเพื่อน ๆ คงจะรู้สถานการณ์คร่าว ๆ ประเมินความเป็นไปได้แล้วนำไปประยุกต์ใช้ (รู้แล้วทำอะไรไม่ได้ก็ยังดีกว่าไม่รู้) และร่วมด้วยช่วยกันป้องกันตัวเอง เพราะเราเชื่อว่าทุกคนคงอยากให้ประเทศเราพิชิตโรคได้ในเร็ววันเหมือนที่จีนทำได้ (โดยไม่มีระลอก 2) ถ้าสงสัยเรื่องไหนด้านการเงินเราจะไปสืบเสาะมาเล่าสู่กันฟังอีก สามารถคอมเมนต์ได้ใต้โพสต์นี้เลย

 

SOURCE:  1 / 2 / 3

anonymK
WRITER: anonymK
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line