Business

ตลอด 13 ปี ไอเดียไม่เคยตัน: ขุดต้นตอ NEVER ENDING IDEA จาก “เบียร์-พันธวิศ” ผู้นำ APOSTROPHYS

By: anonymK October 23, 2018

คงต้องมีสักครั้งที่เราเคยไปงานอีเวนต์ หรือเห็นฟีดในหน้าโซเชียลมีเดียโชว์งานอีเวนต์สุดเจ๋งในเมืองไทยของแบรนด์ต่าง ๆ แล้วอุทานออกมาให้กับงานคอมเมอร์เชียลเหล่านั้นว่า

“เฮ้ย อย่างนี้ก็ได้เหรอ เจ๋งอ่ะ คิดได้ไงวะเนี่ย”

เชื่อเถอะว่า หนึ่งในงานเหล่านั้นเป็นผลงานที่ “เบียร์-พันธวิศ ลวเรืองโชค” พ่อมดแห่งวงการอีเวนต์จากอาณาจักร Apostrophys Group เป็นผู้สร้างสรรค์อยู่เบื้องหลังแน่นอน

เขาไม่เพียงเป็นนักสร้างสรรค์ประสบการณ์ชั้นยอดไม่รู้จบเท่านั้น แต่ยังเป็นเจ้าของบริษัทอื่น ๆ อีกถึง 4 แห่ง ได้แก่ Sense.S (บริษัทด้าน New media และ Interactive Media), Synonym (บริษัทตกแต่งภายในสำหรับส่งเสริมธุรกิจหรือบุคคลที่ต้องการสร้างโปรไฟล์จากที่พักอาศัย), Happening Design (บริษัทร่วมทุนรับเหมาก่อสร้าง เพื่อส่งเสริมภาคการผลิต) และ SOURCE บริษัทด้านดิจิทัล เอเจนซี่น้องใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นปลายปีนี้

ท่ามกลางยุคที่พวกเราพยายามวิ่งตามหาบางสิ่งมาต่อไฟฝัน เพิ่มพลังการทำงานที่พร้อมจะมอดดับตลอดเวลาของตัวเอง UNLOCKMEN เชื่อว่าไม่บ่อยนักที่เราจะเจอนักสร้างสรรค์ที่มีไอเดียใหม่ไม่รู้จบอยู่ในสมอง และเหลือพลังมากพอที่จะทำงานสร้างสรรค์งานด้านอื่นด้วยอย่างเขาคนนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเขาทิ้งน้ำเสียงสบาย ๆ ว่า “ตลอด 13 ปีที่ผ่านมา ผมไม่เคยคิดงานไม่ออกเลยครับ” มันก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้เราบุกเข้าไปถึงออฟฟิศใหม่ Apos the HQ เพื่อพูดคุยค้นหาที่มาของไอเดียความคิดสร้างสรรค์ไม่รู้จบเหล่านั้น

 

วัยเรียน วัย Real : จุดเริ่มต้นอาณาจักรนักสร้างประสบการณ์

บ่อยคร้ังที่เรามักได้ยินว่าการเป็นเจ้าของบริษัทมักต้องมีต้นทุนที่พรั่งพร้อม แต่สำหรับเบียร์แล้ว ความพร้อมของเขาออกจะแตกต่างจากคนอื่นสักหน่อยตรงที่เป็นความพร้อมเรื่องประสบการณ์ แทนที่จะเอาเวลาไปเที่ยวปาร์ตี้ให้สะใจวัยรุ่น เขากลับใช้ช่วงเวลาว่างตอนปิดเทอมตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ทำงานรับจ้างให้กับนักออกแบบทั้งหลาย สะสมความรู้หลายแขนงและสะสมคอนเน็คชั่นลูกค้าระหว่างนั้น จึงทำให้หลังเรียนจบเขาสามารถใช้ความรู้ที่มีนำมาเปิดบริษัท Apostrophys และผลักดันจนเติบโตต่อเนื่องมาถึง 13 ปีในวันนี้

แหล่งอัดฉีดไอเดียไม่มีวันหมดของชาว Apostrophys
มาจากพื้นที่ใกล้ตัวและแนวคิดเชิงรุก

เมื่อต้องตามหาไอเดียใหม่ ๆ สิ่งที่หลายคนทำคือการเปิด Google และ search หา keyword ที่ต้องการในนั้น เบียร์สารภาพว่าตอนเริ่มต้นเขาก็ใช้วิธีเดียวกัน แต่เมื่อมาถึงจุดหนึ่งที่ตระหนักว่า หากต้นทางไม่ต่างจากคนอื่น ผลลัพธ์ที่ได้ก็คงไม่ต่างกัน เขาจึงเปลี่ยนมุมมองจากการแสวงหาไอเดียนอกบ้าน มาสร้างไอเดียจากภายในแทน โดยการมองหาความคิดสร้างสรรค์ผ่านศิลปะชนิดต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น เฟอร์นิเจอร์ แฟชั่นดีไซน์ ปกแผ่นเสียง หรืออะไรก็ตามที่มีไอเดียนำเสนอเรื่องราวของสิ่งนั้น มาใช้เป็นขุมทรัพย์ทางความคิด

เมื่อสะสมมากขึ้น ๆ ตามกาลเวลา วันนี้ของสะสมเหล่านั้นได้ถูกนำมาตกแต่งภายในออฟฟิศ Apos the HQ  ออฟฟิศล่าสุดของ Apostrophys Group ย่านลาดปลาเค้าให้เป็นธีมหมุนเวียน เพื่อสร้างแรงบันดาลใจทุก 2 เดือน ซึ่งแม้แต่ตัว Apos the HQ เอง ก็เป็นหนึ่งในสนามทดลองของชาว Apostrophys เช่นกัน เป็นโปรเจคที่พวกเค้าเรียกว่า  “The Fast Work” เนรมิตรพื้นที่ตกแต่งนับพันตารางเมตรให้สวยงามได้ภายใน 21 วันเท่านั้น เพื่อแสดงให้เห็นว่าจะงานใหญ่งานเร่งแค่ไหน พวกเค้าก็ทำให้มันสมบูรณ์ได้แบบไร้ที่ติ

ทั้งนี้ ศิลปะที่นำมาใช้เพื่อตกแต่งไม่ใช่ศิลปะในอาร์ตแกเลอรี่ที่เข้าถึงยาก แต่เป็นของสะสมของเขาที่เก็บครองไว้ตลอด 10 ปี อย่างเครื่องแต่งกาย เสื้อผ้า หมวก กางเกง หรือของใช้ภายในบ้าน เพราะสิ่งของเหล่านี้ล้วนเป็นศิลปะที่มีเรื่องราวความคิดสร้างสรรค์สอดแทรกผ่านการออกแบบและตีโจทย์มาเพื่อใช้งานทั้งสิ้น

พื้นที่ชั้น 2 บริเวณสำหรับทำงาน

“ทีมงานทุกคนจะได้ซึมซับประสบการณ์เหล่านี้ไปด้วย แทนที่เขาต้องออกไปเที่ยวข้างนอก มันไม่ทันครับ เราจะลาไปเที่ยวเพื่อหาแรงบันดาลใจได้นานสักแค่ไหน เราเลือกที่จะยกห้างสรรพสินค้า ยกของสำคัญ ๆ ที่เราไปเก็บมาจากทั่วโลก นำมาอยู่ในออฟฟิศ และให้ประสบการณ์กับทีมงานทุกคนดีกว่า อันนี้เป็นวิธีการสร้างความคิดสร้างสรรค์ของทุกคนใน Apostrophys

ตลอด 13 ปีที่ผ่านมา ผมไม่เคยคิดงานไม่ออกเลยครับ เพราะว่าของรอบตัวเป็นไอเดียได้หมด มันไม่จำเป็นต้องออกไปเที่ยวหรือออกไปมองเห็นโลกก็ได้ แต่อยู่ที่การตั้งคำถามของเรา ว่าเรามองสิ่งรอบตัวแล้วเราเห็นอะไร ยกตัวอย่าง เช่น แก้วน้ำ ถ้าเรามองว่ามันคือแก้วน้ำไว้ใส่น้ำทุกอย่างก็จบ แต่เรามองว่าทำไมมันต้องใส่น้ำ ทำไมรูปทรง หน้าตา ต้องเป็นแบบนี้ ทำไมลวดลายต้องเป็นแบบนี้ ความคิดสร้างสรรค์เกิดจากตรงนั้น เกิดขึ้นจากการตั้งคำถาม

ที่สำคัญคือเรามีจุดเด่นที่แตกต่างจากบริษัทดีไซน์ทั่วไปคือเราไม่ได้ทำงานเฉพาะบรีฟปัจจุบัน แต่มีทีมงานที่ทำหน้าที่วิจัย R&D (Reserch & Development) เป็นของตัวเอง เพื่อวิจัย Consumer Behaviour, Technology และหาเทรนด์ใหม่ ๆ ตลอดเวลา อย่างในรอบ 4-5 ปีที่ผ่านมา เราทำวิจัยชุดหนึ่งชื่อว่า “พฤติกรรมผู้ชมสังคม 10 วิ” เพื่อดูว่าพฤติกรรมของคนตอนนี้มีความเปลี่ยนแปลงอย่างไร เราไม่ได้รอให้ลูกค้ามาบรีฟงานก่อน แต่เราคิดงานก่อน วิจัยก่อน ทดลองทำก่อน พอลูกค้าบรีฟมาปุ๊บ เราพบว่าตรงนี้มันตรงกับที่เราเคยทดลองมา ก็สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้เลย ทำให้เราทำงานได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ เพราะงานที่เราทำมีเวลาไม่มาก อย่างช้าคือหนึ่งเดือน และเร็วสุดคือ 3 วันเท่านั้นครับ”

 

A Piece of art, หลักการทำงานแบบ Apostrophys

การทำงานต้องมีแกน แม้ทุกงานจะไม่ซ้ำกัน แต่สิ่งที่เป็นซิกเนเจอร์ซึ่งเราสามารถสัมผัสได้จากผลงานของ Apostrophys ทุกชิ้นเสมอ คือการเนรมิตและส่งต่อ “ศิลปะที่สามารถสัมผัสผ่านทุกโสต”

“เราสร้างโมเมนต์ความประทับใจให้เกิดขึ้นในทุกชิ้นงาน เน้นเรื่องของการออกแบบสร้าง Interaction ให้คนมีประสบการณ์ร่วมกับงานชิ้นนั้น เพราะถ้าคนเราดูอย่างเดียว ต่อให้มันสวยมาก ก็จะประทับใจเพียงระดับหนึ่ง แต่ถ้าดูได้ เล่นได้ สัมผัสได้ เขาจะจดจำสินค้าหรืองานนั้นได้มากกว่า

งานที่เราจะไม่ทำคืองานที่ขายของเพียงอย่างเดียว งานของ Apostrophys หลาย ๆ งาน ถ้าย้ายบริบทจากการตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้าหรืออีเวนต์ฮอลล์ ย้ายไปวางอยู่ในหอศิลป์ มันก็เป็นงานศิลปะได้เลย เราพยายามแทรกงานศิลปะโดยการตั้งคำถามกับอะไรสักอย่างหนึ่งเข้าไปอยู่ในงานคอมเมอร์เชียลให้คนได้สัมผัส”

นอกจากนี้ การสานต่อความตั้งใจส่งผลงานในรูปแบบงานศิลปะแบบของเราทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ ยังไม่หยุดเพียงแค่เนื้องานอีเวนต์เท่านั้น แต่ล่าสุดเขายังบอกข่าวดีให้เราทราบด้วยว่ากำลังจะจัดพิพิธภัณฑ์ในพื้นที่ออฟฟิศของ Apostrophys ให้ทุกคนสามารถเข้าชมและซึมซับได้ใกล้ชิดจากต้นทุนของตัวเองภายใต้ชื่อ MOTT หรือ Museum of tees thailand สำหรับจัดแสดง T-Shirt Museum เป็นแห่งแรกในประเทศไทย ซึ่งจะเปิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้

โดย Idea แรกที่จะประเดิมคือธีม “Metal Rock” ทุกอย่างจะได้รับการเนรมิตให้เข้าธีมทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นลวดลายสกรีนบนเสื้อยืด รองเท้า แผ่นไวนิล เพลงที่เปิด ของที่ระลึก รวมทั้งเมนูในคาเฟ่ทั้งหมด ถ้าใครอยากได้ไอเดียการชมศิลปะที่สัมผัสครบทุกโสต ใกล้ชิด งานนี้ถือว่าไม่ควรพลาดเป็นอย่างยิ่ง ที่สำคัญยังเหมาะกับทุกเพศทุกวัย และไม่เสียค่าใช้จ่ายอีกด้วย

“เรามองว่าต้นทางของความคิดสร้างสรรค์ของเรามันคือสิ่งของรอบตัว เรานำมาทำออฟฟิศให้เป็นธีมหมุนเวียนเพื่อให้ทีมงานรับต้นทางของความคิดสร้างสรรค์เหล่านั้น เกิดแรงบันดาลใจใหม่ในการทำงานแล้ว แต่ถ้าเอามาเพื่อดูกันเองอย่างเดียวก็น่าเสียดาย จึงนำมาเปิดเป็น MOTT ขึ้น ที่จริงผมมีของหลายอย่างแต่ที่จะเอามาปล่อยก่อนคือเสื้อยืด เพราะทุกคนใส่เสื้อยืด และมันเป็นของใกล้ตัวเสียจนทุกคนมองผ่าน ทุกคนคิดว่าเป็นแค่แฟชั่น แต่ความจริงแล้วเสื้อแต่ละตัวมีเรื่องราวของมัน เสื้อบางตัวคนสำคัญ ๆ ใส่ เอาไว้เป็นกระบอกเสียงที่ใช้ในการเรียกร้องสิทธิต่าง ๆ เสื้อบางตัวบอกเล่าเรื่องราวจากแต่ละยุคสมัยผ่าน Graphic ต่าง ๆ มันมีเรื่องราวที่น่าสนใจอยู่ทุกที่ถ้าเรารู้จักมองมัน

สิ่งของทุกชิ้นจะมีการทำ content ที่มันลงรายละเอียดตามมาตรฐานพิพิธภัณฑ์สากล ใครเคยใส่ มีที่มาอย่างไร เทคนิคการพิมพ์เป็นอย่างไร ดังนั้น มันจะไม่ใช่เฉพาะกลุ่มที่เป็นกลุ่มเฉพาะ กลุ่มที่เล่นเสื้อ แต่ว่าคนทั่ว ๆ ไปสามารถเข้าถึงได้ มีคาเฟ่รองรับ มีมุมถ่ายภาพ คนที่ได้เข้ามาจะมีมุมมองเกี่ยวกับงานศิลปะเปลี่ยนไป แทนที่จะมองว่าต้องอยู่ในหอศิลป์ เข้าถึงยากก็จะมองว่ามันอยู่ใกล้ตัวมากขึ้น”

คำสารภาพของคนทำอีเวนต์: อีเวนต์ก็มีวันตาย
ทำสิ่งที่รักแล้วก็เครียด ถ้าเดินต่อไม่ได้

พูดคุยกันถึงไอเดียที่สนุกสนานแล้ว แต่ระหว่างการพูดคุยเริ่มมีบทสนทนาที่เกินคาดว่าจะได้ยินหลายอย่างเริ่มผุดขึ้นมา อย่างประโยคที่ว่า “ทุกวันนี้อีเวนต์กำลังจะตาย” เป็นประโยคที่แค่ฟังก็รู้สึกใจหาย แต่ก็ใจชื้นว่าการ Disrupt ครั้งนี้คงไม่มีผลกับ Apostrophys อย่างแน่นอน

“ถ้าให้ผมพูดตรง ๆ ทุกวันนี้งานอีเวนต์กำลังจะตาย ถ้าใครไม่ปรับตัวถือเป็นเรื่องใหญ่ เพราะผมทำงานมา 13 ปี ผมเห็นกราฟของลูกค้า ค่าจ้างสำหรับการลงทุนด้านนี้มันลดลงไปเรื่อย ๆ ทุกอย่างถูกย้ายไปที่ออนไลน์หมด เนื่องจากการทำอีเวนต์มันสั้นแป๊ปเดียวมันหาย อันนี้คือจุดอ่อน แต่ถ้าเราทิ้งของไว้ในออนไลน์มันยังสามารถ boost ขึ้นมา อยู่ 3 เดือน 6 เดือนขึ้นอยู่กับกลยุทธ์เรา

เพราะฉะนั้นถ้าเราแปลงคอนเทนต์งานภาคพื้นให้เป็นเนื้อหานำไปลงสื่อออนไลน์มันจะช่วยยืดอายุได้ อีกอย่างเราทำให้มันดีกว่าการทำดิจิทัลล้วน เพราะเมื่อผู้คนได้ประสบการณ์จริง เขาจะเชื่อสินค้าและบริการนั้น ๆ โดยไม่ต้องไปฟังพรีเซนเตอร์”

ขณะเดียวกันเรื่องความสนุกกับการทำงานอีเวนต์ที่รักต่อเนื่องยาวนาน ก็ยังมีความจริงอีกด้านที่เชื่อว่าหลายคนที่ทำงานด้วยแพสชันก็คงรู้สึกไม่ต่างกัน เพราะความรักและแรงบันดาลใจในวันที่เดินทางมาไกลจากวันแรกนั้น ไม่ใช่เพียงสิ่งเดียวที่จะขับเคลื่อนทุกอย่างไปข้างหน้าได้

“ถ้าตอบแบบจริง ๆ เลยคือมันเครียดอยู่แล้ว เคยมีคนบอกว่าถ้าทำสิ่งที่รักแล้วจะรู้สึกมีความสุข โชคดีไปทั้งชีวิตเลย ผมบอกเลยว่ามันไม่จริง 100% หรอกครับ ถ้าเริ่มเอาความชอบมาทำจริงจัง และทำต่อเนื่องกันนาน 13 ปีเรื่องเดียวกันดู พร้อมกับแบกรับหลายร้อยชีวิตเอาไว้ด้วย มันมีภาวะความเครียดเข้ามาอยู่แล้ว แต่อย่างน้อยที่สุดผมว่าความเป็นมืออาชีพน่ะสำคัญ พอยิ่งเรารักมันมาก ๆ ถึงจุดหนึ่งที่เลยความรักมาแล้ว สิ่งที่เราจำเป็นจะต้องต่อสู้ด้วยคือความเป็นมืออาชีพ อย่าง Apostrophys ที่ทำงานจนเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง เพราะเราไม่เคยทำอะไรพัง ไม่เคยทำอะไรไม่เต็มที่ และถ้าเรารับปากลูกค้าแล้วบอกว่าทำได้ ก็คือทำได้ ถ้าทำไม่ได้ จะไม่รับปากว่าทำได้ บอกเลยว่าทำไม่ได้”

 

Next step to UNLOCK & How to follow him?

มาถึงคำถามที่ทุกคนอยากรู้ว่าทำเยอะขนาดนี้เอาเวลาบริหารจัดการอย่างไร และอยาก UNLOCK อะไรต่อไป เบียร์ตอบเรื่องแรกว่า ณ ปัจจุบันเขามีทีมงานที่แข็งแรงพอที่จะบริหารการทำงานกันเอง เนื่องจากเป็นคนที่กอดคอร่วมหัวจมท้ายมาจากยุคบุกเบิกด้วยกัน ตอนนี้ตัวเองจึงหันไปใช้เวลาทุ่มเทกับทีมที่สร้างทิศทางอนาคตของบริษัทอย่าง R&D

ขณะที่โปรเจ็กต์ในอนาคตที่เขาตั้งใจทำต่อไปคือสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าการทำอีเวนต์ นั่นคือการสร้าง “ย่าน” ให้เกิด อย่างเช่น “Happening ลาดปลาเค้า” เริ่มต้นจากย่านที่ตั้งบริษัทของเค้าก่อน เพื่อหวังพัฒนาพื้นที่แห่งนี้ให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ กระจายรายได้ที่เคยกระจุกอยู่ในย่านกลางเมืองให้ออกมาชั้นนอก เพราะประเมินศักยภาพของพื้นที่แล้วพบว่าเป็นแหล่งของนักสร้างสรรค์ นักธุรกิจ และเป็นพื้นที่ตั้งออฟฟิศของ Apostrophys เองด้วย ซึ่งรวมทั้งมีสาธารณูปโภคที่สามารถรองรับการเดินทางได้อย่างรถไฟฟ้า

สำหรับใครที่เคยเห็นโปรเจ็กต์แต่ละตัวของเขาแล้วคิดว่า ชาตินี้ผมคงทำอย่างพี่เขาไม่ได้ มีบริษัทตั้ง 5 แห่ง มีพนักงานหลายร้อยชีวิต แถมพิพิธภัณฑ์ส่วนตัวอีกแห่งด้วย ก่อนจากกันเขาได้ฝากเรื่องราวส่วนตัวไม่ต้องการดราม่า แต่หวังเติมไฟให้พวกเราที่อยากประสบความสำเร็จไว้ด้วยว่า

“ผมมาจาก Bedroom Studio นะครับ ถ้าย้อนไป 13 ปีที่แล้ว Apostrophys เกิดจากการทำงานในห้องนอน 3-4 คน ยังจำได้ อันนี้ไม่ได้ดราม่านะ ฝนตก หลังคารั่วเราต้องทำงาน ต้อง render งาน แล้วต้องเอากะละมังไปรองน้ำฝน ผมก็ไม่ได้มีต้นทุนมาก่อน มาจากศูนย์ มาจากติดลบ แต่ว่ามันไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าเรามีต้นทุนหรือเปล่า มันอยู่ที่ว่าเราจะยอมแพ้หรือเปล่า

ผมไม่มีคำถามกับความกลัวว่าเราจะทำได้ไหม เราลุยไป แก้ปัญหาไป เรียนรู้ไป แล้วมันก็จะค่อย ๆ ประกอบร่างสร้างขึ้นมา คือถ้าเราเป็นเหมือนสุนัข กัดไม่ปล่อย ล็อกเป้าหมายไว้แล้วเราก็ทำไปเรื่อย ๆ ต่อให้เกิดปัญหาแค่ถอยกลับมาหน่อยแล้วกัดต่อ มันก็เสร็จ”

แม้แรงบันดาลใจจากการสัมผัส “ประสบการณ์ใหม่” ผ่านงานต่าง ๆ ของเขาคนนี้จะเหนือความคาดหมาย และสร้างความประทับใจให้กับเรามากเพียงใด แต่ครั้งนี้การได้เข้ามานั่งคุยและสัมผัส “ประสบการณ์จากเรื่องราวในอดีต” ของเขา เบียร์-พันธวิศ ก็สามารถกระตุ้นแรงบันดาลใจให้กับเราได้ไม่แพ้สิ่งที่เขาสร้างสรรค์ขึ้นเลย

มันสำคัญว่าเราจะภาคภูมิใจกับงานที่เราทำได้มากแค่ไหน ถ้าเพียงทำให้จบ ๆ ไป ทุกคนก็จะสัมผัสได้ถึงความไม่ตั้งใจจากคนทำ และเราจะรู้สึกดีกับมันได้จริงหรือ แต่ถ้าเราทำทุกอย่างด้วยความตั้งใจเต็ม 100% ทำเพื่อให้ตัวเองและคนรอบข้างภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของผลงานที่เกิดขึ้น ความรู้สึกดี ๆ เหล่านั้นก็จะส่งผ่านไปยังผู้คนที่ได้เข้ามาสัมผัสมันด้วย เหมือนที่เราเห็นผลงานของ Apostrophys ทีไร ก็รู้สึกตะลึงในไอเดียความคิดสร้างสรรค์ทุกครั้ง

anonymK
WRITER: anonymK
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line