Business

เมื่อโควิดมา ฉันจะไป ‘สิ่งของที่จะหายไปตลอดกาล?’ หลัง COVID-19 มาเยือน

By: PSYCAT April 24, 2020

หลายคนสูญเสียหลายอย่างไปกับโรคระบาดที่เราไม่ได้ตั้งตัวมาก่อน ความมั่นคง เงิน งาน สุขภาพจิต แต่นอกจากความปกติในชีวิตที่เราต้องเสียไปแล้ว COVID-19 ยังเปลี่ยนแปลงหลายสิ่งหลายอย่าง ทั้งวิธีคิดเรื่องการรักษาความสะอาดเพื่อสุขอนามัย วิธีคิดเรื่องการกินอาหาร วิธีคิดเรื่องการพักผ่อน ฯลฯ

ความเปลี่ยนแปลงทั้งหมดนี้ส่งผลไปถึงเทคโนโลยี ธุรกิจอีกหลายรูปแบบที่จะต้องปรับตัว แต่น่าเสียดายที่บางอย่างต่อให้ปรับตัวก็ไม่สามารถรอดไปได้ หลัง COVID-19 จึงไม่ได้มีแค่เทคโนโลยีและธุรกิจใหม่ ๆ ที่ผุดขึ้นมาเพื่อเติมเต็มความต้องการของผู้คนที่เปลี่ยนไปในช่วงนี้ แต่เทคโนโลยีหรือธุรกิจบางแบบต้องหายไปตลอดกาลเพราะพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน

Touch Screens ในที่สาธารณะ

ครั้งหนึ่งการไปเดินห้างสรรพสินค้า หรือต้องการข้อมูลจากจุดไหนเป็นพิเศษแล้วมีหน้าจอ Touch Screens วางหารอให้เราพุ่งตรงเข้าไปใช้บริการ มันช่างเป็นตัวแทนของความทันสมัย ใช้งานง่าย สะดวก ตอบโจทย์ผู้บริโภค และเป็นภาพลักษณ์เชิงบวกกับธุรกิจหรือองค์กรนั้น ๆ จนไม่ว่ามองไปทางไหน Touch Screens ก็มีให้เห็นละลานตา

แต่เมื่อ COVID-19 มาถึง Touch Screens ที่เคยเป็นตัวแทนความสะดวก กลายเป็นพื้นที่รวบรวมนิ้วใครต่อนิ้วใคร และอาจรวมถึงเชื้อโรคไม่พึงประสงค์นานาชนิด ดังนั้นธุรกิจจะต้องพิจารณาเรื่องนี้ใหม่ Touch Screens ทำให้ลูกค้าจำนวนมากมองว่านี่คือความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ไม่ว่าพวกจะพยายามทำความสะอาดบ่อยแค่ไหน

บรรดาตู้ ATM จอในรถเช่า ไปจนถึงหน้าจอเช็กอินออนไลน์ในสนามบิน จะถูกใช้น้อยลง ผู้บริโภคจะเริ่มพกพาแท่งพลาสติกหรือซิลิโคลนส่วนตัวเพื่อจะได้ไม่ต้องสัมผัสหน้าจอเดียวกันกับคนอื่น ธุรกิจเองก็ต้องปรับตัวอย่างหนักด้วยการเตรียมอุปกรณ์ที่จะทำให้ทุกคนมี Touch Screens ส่วนตัว หรืออาจออกมาในรูปแบบแอปพลิเคชันแทน

แม้หลายคนจะตั้งข้อสังเกตว่าการสั่งงานด้วยเสียงจะเข้ามาแทนที่หรือเปล่า? แต่ในสถานที่สาธารณะ เช่น สนามบิน ห้างสรรพสินค้า ที่เสียงดังจอแจตลอดเวลา การต้องก้มหน้าไปที่เครื่องเพื่อสั่งการณ์และสุ่มเสี่ยงกับน้ำลายผู้ใช้คนก่อนหน้าก็น่าจะยังไม่ตอบโจทย์ได้มากเท่าการพัฒนาแอปพลิเคชันขึ้นมาเพื่อให้ทุกคนได้ใช้ที่หน้าจอตัวเองโดยเฉพาะ

“ห้ามใช้แก้วหรือถุงที่นำมาเอง”เทรนด์รักษ์โลกที่เปลี่ยนไป

การสั่งห้ามใช้ถุงพลาสติก และรณรงค์ให้ผู้ใช้พกถุงผ้าหรือถุงที่นำกลับมาใช้ซ้ำได้มาเอง รวมถึงร้านกาแฟหลายแห่งที่สนับสนุนให้ลูกค้าพกแก้วมาเอง เพื่อแลกกับส่วนลดพิเศษ แต่อย่างที่เราเห็น เมื่อ COVID-19 เข้ามา การรณรงค์เรื่องขยะพลาสติกมีความสำคัญน้อยลงไป เมื่อเทียบกับการรักษาความสะอาดเพื่อสุขอนามัย หรือการรักษาระยะห่างทางสังคม

ช่วงนี้เราจึงสั่งอาหารมา และเพิ่มปริมาณขยะมากขึ้นกว่าปกติ แต่ที่เปลี่ยนไปกว่านั้นคือร้านกาแฟหลายแห่งไม่อนุญาตให้เรานำแก้วไปใส่เครื่องดื่มเองอีกต่อไป ซึ่งก็เป็นผลอันเนื่องมาจากความสะอาดที่ไม่อาจมั่นใจได้ว่าแก้วของเราจะสัมผัสเชื้อ หรือมีของเหลวที่จะสามารถแพร่ไปยังส่วนที่ร้านใช้ชงกาแฟได้หรือไม่

ไม่ต่างจากในสหรัฐอเมริกาที่รัฐบาลท้องถิ่นออกมาสั่งห้ามใช้ถุงแบบใช้ซ้ำ โดยทั้ง Illinois, New Hampshire, Massachusetts และ San Francisco ออกมาตรการอย่างจริงจัง เนื่องจากกังวลว่าถุงเหล่านี้ไปสัมผัสกับเชื้อโรคและไม่ได้ผ่านการทำความสะอาดที่ดีพอ

อย่างไรก็ตามนี่คือข้อถกเถียงครั้งใหญ่ของฟากที่รณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด กับฟากที่แสดงความกังวลกับความสะอาดและสุขอนามัยเป็นหลัก โดยเบื้องหลังอาจเป็นการฟาดฟันกันของกลุ่มผู้รักษาสิ่งแวดล้อมและบริษัทที่กุมบังเหียนอุตสาหกรรมพลาสติก ซึ่งทั้งคู่ต่างก็คัดง้างกันด้วยงานวิจัยที่บางฝ่ายก็ออกมาบอกว่าการใช้ถุงซ้ำ จะเป็นการแพร่เชื้อโรค ในขณะที่อีกฝ่ายก็ชี้ให้เห็นว่าเราก็ต้องล้างถุงให้สะอาด

คงต้องติดตามดูกันต่อไปว่าเทรนด์รักษ์โลก และความพยายามในการลดขยะจะไปได้ไกลแค่ไหน ในกระแสการป้องกันตัวเองจากเชื้อโรคอันเชี่ยวกรากนี้

หรือจะได้เวลาโบกมือลา “ตู้ไปรษณีย์ที่รัก”

การส่งจดหมาย (ที่ไม่ใช่การส่งพัสดุ) ซบเซาลงไปพักใหญ่ ๆ แล้ว แม้บริการขนส่งพัสดุจะเฟื่องฟู แต่ผู้คนก็เลือกที่นำของตัวเองไปยังจุดบริการใกล้บ้าน ไม่ว่าจะเป็นที่ทำการไปรษณีย์ หรือจุดรับส่งพัสดุของเอกชน สิ่งหนึ่งที่เคยเป็นฟันเฟืองสำคัญอย่างตู้ไปรษณีย์จึงอาจถึงคราวโบกมือลา

เรายังต้องการคนส่งพัสดุให้ แต่ข้อความในจดหมาย เราอาจเลือกโทรหา ส่งอีเมลหา ไลน์หา หรือทางใดก็ได้ นอกจากนั้นการที่ต้องสัมผัสซองจดหมาย ปิดผนึกหรือติดสแตมป์ด้วยน้ำลายก็เพิ่มความเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อได้เช่นกัน ตู้ไปรษณีย์ทุกวันนี้จึงตั้งอยู่อย่างไร้จุดหมาย ไม่เพียงเท่านั้นองค์กรด้านไปรษณีย์ของสหรัฐอเมริกาก็ออกมาบอกว่าการที่ยุรุษไปรษณีย์จ้องตระเวณไปตามตู้แต่ละแห่งเพื่อดูว่ามีจดหมายสักใบให้ส่งหรือไม่ กำลังกลายเป็นต้นทุนที่สิ้นเปลือง

ไม่ต่างจากไปรษณีย์ไทยเองที่ช่วงวิกฤต COVID-19 ยิ่งปรับตัวตอบโจทย์ผู้บริโภคมากขึ้นด้วยการให้พนักงานออกไปรับพัสดุตรงถึงหน้าบ้าน จึงไม่แปลกใจที่ตู้ไปรษณีย์อาจถูกลดจำนวนลงเรื่อย ๆ และเหลือไว้เพียงอนุสรณ์สถานในความทรงจำเท่านั้น

ในวันที่โลกอาจไม่มีกุญแจ?

สิ่งของใดที่ดูเหมือนจะเป็นภัยต่อการรักษาความสะอาดและลดการแพร่เชื้อ ดูมีแนวโน้มที่จะหายไปได้หมด เช่นเดียวกับทุกวันนี้ที่เราต้องเทสิ่งของในกระเป๋าออกมา (ยามที่ต้องออกนอกบ้าน) เพื่อทำความสะอาดให้ครบหมดทุกชิ้นจะได้มั่นใจไร้กังวล

กุญแจ พวกกุญแจ ที่อาจพ่วงมากับคียการ์ดถือเป็นอีกแหล่งหนึ่งที่เชื่อมการสัมผัสระหว่างมือเรากับพื้นผิวที่ต้องเผชิญผู้คนมาสารพัดอย่างประตู หรือทางเข้าออกหลักของอาคารพักอาศัย โลกหลัง COVID-19 เราจึงอาจเห็นการใช้ระบบรักษาความปลอดภัยแบบดิจิทัลกันมากขึ้น ปกติตอนนี้เราไปทำงาน อาคารสำนักงานส่วนใหญ่ก็มักใช้การสแกนตา หน้า หรืออวัยวะกันอยู่แล้ว

กุญแจที่เป็นแหล่งสัมผัสและรวมเชื้อสำคัญจะค่อย ๆ แปรไปสู่การล็อกผ่านแอปพลิเคชันในสมาร์ตโฟน แอปฯ เดี๋ยวปลดล็อกได้ทั้งบ้านทั้งรถ

 

มีหลายสิ่งที่จะหายไป คนที่ขยับตัวได้ไวกว่าคิดได้ไวกว่า อาจแวะมาโศกเศร้าเสียใจ ก่อนจะคิดหาหนทางเอาตัวรอดต่อไปกับสิ่งที่จะเข้ามาแทนที่ หรือมาตอบโจทย์แทน ทั้งแอปพลิเคชันที่จะเข้ามามีบทบาทอย่างมาก บริการขนส่งที่มารับของถึงหน้าประตู หรืออุปกรณ์ สเปรย์ทำความสะอาดถุงผ้าหรือถึงพลาสติกที่ใช้บ่อย ๆ อย่าให้การสูญเสียทำให้เราเสียศูนย์หาทางรับมือไปด้วยกันเถอะ

SOURCE

PSYCAT
WRITER: PSYCAT
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line