Life

ในวันที่ใครก็เศร้าได้ “5 หนังสือเรื่องโรคซึมเศร้า”ที่ผู้ชายต้องอ่านเพื่อเข้าใจตัวเองและคนอื่น

By: PSYCAT May 15, 2018

“โรคซึมเศร้า” กลายเป็นประเด็นที่เราพูดถึงกันมากขึ้นทุกทีและคนรอบตัวเราก็ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคนี้กันมากขึ้น ๆ อย่าคิดว่า “เฮ้ย เราเป็นผู้ชายอกสามศอก” ไม่มีทางเป็นโรคนี้หรอก UNLOCKMEN อยากบอกว่าโรคซึมเศร้าก็ไม่ต่างจากโรคทางกายภาพอื่น ๆ มันไม่สำคัญว่าเราเป็นเพศอะไร จิตใจแข็งแกร่งแค่ไหน หรือชีวิตสมบูรณ์พร้อมเพียงใด ความป่วยไข้ก็คือความป่วยไข้ที่อาจเดินทางมาหาได้ทุกเมื่อ ที่สำคัญผลการสำรวจพบว่าผู้ชายที่เป็นโรคซึมเศร้าฆ่าตัวตายสำเร็จมากกว่าผู้หญิงถึง 3 เท่า เพราะผู้ชายอย่างเรามักมีความเป็นผู้นำ ความเข้มแข็งที่มันค้ำคอว่า “เป็นผู้ชายห้ามเศร้าให้ใครเห็น” เวลาระเบิดตู้มออกมาจึงแหลกละเอียดทำลายแม้กระทั่งชีวิตตัวเอง UNLOCKMEN ไม่อยากให้ใครไปถึงจุดนั้น มาทำความทำความรู้จักโรคซึมเศร้าไปพร้อม ๆ กันเพื่อจะเข้าใจตัวเองและผู้อื่นมากขึ้นกันเถอะ

เรื่องเล่าจากยอดภูเขาน้ำแข็ง

ถ้าจะให้พูดถึงหนังสือเรื่องโรคซึมเศร้าเล่มที่ผู้คนพูดถึงมากที่สุดเล่มแรก ๆ ในไทยก็คงหนีไม่พ้น”เรื่องเล่าจากยอดภูเขาน้ำแข็ง”ที่การันตีด้วยรางวัลนายอินทร์อวอร์ดเล่มนี้ นี่คือเรื่องเล่าของผู้หญิงคนหนึ่งที่เผชิญหน้ากับโรคซึมเศร้ามาอย่างหนักแน่นนานกว่า 7 ปี การเดินทางจากช่วงชีวิตที่จมน้ำแสนเหน็บหนาว ฝ่าฟันจนก้าวขึ้นสู่ปลายยอดของภูเขาน้ำแข็งแล้วมาถ่ายทอดเรื่องราวให้เราอ่านได้ รับรองเลยว่าเราจะเปิดใจรับคนใกล้ตัวที่ต้องอดทนกับโรคนี้มากขึ้น หรือเข้าใจตัวเองในฐานะเพื่อนร่วมโรคกับผู้เขียนได้อย่างรักตัวเองมากกว่าที่เคย

สามวันดี สี่วันเศร้า

ถ้าพูดถึง “ทราย เจริญปุระ” เราอาจนึกภาพผู้หญิงสวยแกร่งในละครหรือภาพยนตร์ไทยพีเรียดย้อนยุคทั้งหลาย ที่จะถ่ายทำฉากสุดโหดขนาดไหนเธอก็ไม่หวั่น ตั้งแต่ฉากที่เป็นผีนางนากห้อยหัวลงจากเพดานในภาพยนตร์เรื่องนางนากหรือเป็นเลอขิ่นบู๊สุดขีดบนหลังม้า สะพายธนูในตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช แต่สิ่งที่หลายคนไม่รู้คือเธอเองก็เป็นผู้ป่วยโรคซึมเศร้าคนหนึ่ง

“สามวันดี สี่วันเศร้า”จึงเป็นหนังสือที่เธอออกมาเล่าประสบการณ์การเป็นผู้ป่วยโรคซึมเศร้าของตัวเอง ด้วยสำนวนอ่านง่าย เสพสนุก ทั้ง ๆ ที่เรื่องที่เธอต้องเผชิญมาทั้งหมดนั้นหนักหนาสาหัสจนผู้ชายอย่างเราหลาย ๆ คนยังไม่แน่ใจว่าจะทนได้เลยไหมด้วยซ้ำ ความเข้าใจเรื่องโรคซึมเศร้าจึงไม่ใช่แค่รู้ว่าพวกเขาจะเศร้าแค่ไหนกัน แต่การได้รู้ว่าเขาต้องผ่านอะไรมาบ้างในแต่ละวันจะทำให้เรามองเห็นพวกเขา (หรือแม้แต่ตัวเอง) ในมุมใหม่ว่าจริง ๆ แล้วเราแข็งแกร่งกว่าที่ใคร ๆ คิดด้วยซ้ำ

ในกรงแก้ว

The Bell Jar หรือ ในกรงแก้ว คือนวนิยายเรื่องเดียวของ Sylvia Plath นักเขียนชาวอเมริกันเจ้าของรางวัลพูลิตเซอร์ ปี ค.ศ. 1982 เรื่องราวว่าด้วยชีวิตของเอสเทอร์ กรีนวูด นักเขียนสาวเพิ่งเรียนจบมาใหม่ ๆ และอนาคตเธอกำลังไปได้ไกล ประสบความสำเร็จเกือบทุกด้านในชีวิต เว้นแค่ว่าเธอติดอยู่ในกรงแก้วใสที่เรียกว่าอาการทางจิตเวช

“ในกรงแก้ว” จึงพาเราดำดิ่งลงไปในสารพัดความรู้สึกแห่งความป่วยไข้ ที่พร่าเลือนเส้นแบ่งความจริงกับความรู้สึกได้สมจริงเหมือนเราแทบจะคลุ้มคลั่งตามเธอไปได้ในทุกวินาที แม้จะเป็นนวนิยาย แต่ผู้คนต่างรับรู้ว่า Sylvia Plath กำลังบรรยายถึงสิ่งที่เธอกำลังเผชิญในชีวิตจริง เพราะเธอเองก็เป็นนักเขียนที่ประสบความสำเร็จในทุกด้าน แต่กลับต้องเผชิญกับภาวะซึมเศร้าที่คอยฉุดดึงเธอเอาไว้ จนเธอเลือกจบชีวิตตัวเองลงในท้ายที่สุด

โรคซึมเศร้า

ประสบการณ์จากผู้ป่วยโรคซึมเศร้าโดยตรงเป็นสิ่งที่ทำให้เราเข้าใจความรู้สึกและสิ่งที่เขาเผชิญได้มากขึ้น แต่ข้อมูลจากจิตแพทย์ก็เป็นสิ่งที่สำคัญมากในการทำความเข้าใจโรคนี้เช่นกัน “โรคซึมเศร้า” คือหนังสือที่เขียนโดยนายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้เป็นจิตแพทย์ แม้จะขึ้นชื่อว่าเป็นหนังสือที่เขียนขึ้นโดยหมอแล้วผู้ชายอย่างเรามักจะจินตนาการว่าคงจะมีคำศัพท์เฉพาะทางอ่านยาก เข้าใจยากตามประสาหมอ ๆ เต็มไปหมด UNLOCKMEN ก็บอกเลยว่าคุณคิดผิดแล้ว นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ขึ้นชื่อเรื่องการเขียนอะไรให้อ่านง่าย เข้าใจง่าย แถมไขทุกข้อสงสัยแบบที่เราไม่แน่ใจว่าจริงไหม ? แต่ไม่รู้จะไปถามใคร ตั้งแต่ความเศร้าที่เศร้าแค่ไหนถึงจะเรียกว่าโรค ? โรคนี้มันวัดได้หรือวัดไม่ได้กันแน่ ? อาการที่เราเป็นอยู่มันใช่โรคซึมเศร้าหรือเปล่า ? เอาเล่มนี้ไปอ่านจะเข้าใจโรคนี้มากขึ้นแน่นอน

The Perks of Being a Wallflower

The Perks of Being a Wallflower เป็นภาพยนตร์ที่ใคร ๆ ก็กล่าวถึงด้วยความเต็มตื้นอิ่มเอมของมัน แม้ตัวละครจะมีบาดแผลและความเจ็บปวดของตัวเองแต่ก็ผ่านช่วงเวลานั้นมาได้ แต่ดูเหมือนว่า The Perks of Being a Wallflower เวอร์ชันหนังสือจะพูดถึงความโดดเดี่ยว โศกเศร้าของตัวละครเอกมากกว่า เพราะเป็นการบันทึกอารมณ์ความรู้สึกแบบเต็ม ๆ UNLOCKMEN อยากจะบอกว่าการที่ผู้ชายสักคนจะยอมรับว่าตัวเองมีเรื่องที่เจ็บปวด บอบช้ำ และโดดเดี่ยว หรือแม้แต่บันทึกหรือระบายมันออกมาอย่างตัวละครหลักใน The Perks of Being a Wallflower ก็ไม่ใช่เรื่องผิดแต่อย่างใด เพราะมันทำให้เห็นว่านอกจากการรักษาตัวในโรงพยาบาล มิตรภาพ และคนรอบตัวแล้ว การยอมรับตัวเองว่าเราเศร้าและต้องการการเยียวยานี่แหละที่เป็นหนทางช่วยอีกทางหนึ่ง

ไม่ว่าคุณจะเป็นผู้ชายที่กำลังเศร้าเฉย ๆ ผู้ชายที่เป็นโรคซึมเศร้า หรือเป็นผู้ชายที่มีความสุขในชีวิตดีแต่สังเกตเห็นว่ามีคนรอบตัวกำลังเผชิญหน้ากับความเศร้าอยู่เพียงลำพัง เราเชื่อว่าหนังสือ 5 เล่มนี้จะช่วยใหคุณเข้าใจสิ่งที่ตัวเองและคนข้าง ๆ รับมืออยู่ได้อย่างมั่นคงขึ้นแน่นอน

PSYCAT
WRITER: PSYCAT
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line