Life

“เหมือนตื่นและฝันในเวลาเดียวกัน” รู้จักภาวะ Derealization สัญญาณอันตรายต่อสุขภาพของเรา

By: unlockmen August 23, 2021

ต้องมีสักครั้งในชีวิต ที่เราตื่นขึ้นมาใช้ชีวิตแล้วรู้สึกเหมือนกำลังอยู่ในภวังค์ให้ความรู้สึกที่เหมือนกับกำลังอยู่ในฝัน บางครั้งความรู้สึกนี้ก็ทำให้เราสับสนว่า “กำลังตื่น หรือ หลับอยู่กันแน่นะ” ซึ่งอาการนี้ ทางการแพทย์ เรียกว่า ความจริงวิปลาส และถ้าประสบกับมันบ่อย ๆ อาจเป็นสัญญาณของโรคจิตเวชได้

 

ความจริงวิปลาสคืออะไร

ปกติแล้ว ภาวะความจริงวิปลาส (Derealization) นับเป็นหนึ่งในอาการที่เกี่ยวข้องกับโรคดิสโซสิเอทีฟ (Dissociative Disorders) เช่นเดียวกับบ ภาวะบุคลิกภาพแตกแยก (Depersonalization) ทำให้บางครั้งสองอาการนี้ก็ถูกใช้แทนกันด้วย อย่างไรก็ตาม ทั้งสองอาการไม่ได้มีความเหมือนกันซะทีเดียว แต่มีความแตกต่างกันอยู่ดังต่อไปนี้

Derealization จะเป็นอาการที่เรารู้สึกขาดการเชื่อมต่อกับความเป็นจริงหรือสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัว จนเกิดอาการเช่น สิ่งที่อยู่รอบตัวดูเชื่องช้า หรือ ทุกอย่างดูพร่ามัวไปหมด เราจะรู้สึกเหมือนสิ่งที่อยู่รอบตัวไม่มีอยู่จริง เหมือนกำลังอยู่ในโลกจำลอง หรือ โลกแห่งความฝัน ไม่สามารถประมวลผลหรือทำความเข้าใจสิ่งที่อยู่รอบตัวของเราได้ จนเราเกิดความไม่คุ้นเคยกับสถานที่เราอยู่ และเกิดความสับสันระหว่างโลกแห่งความฝันและความเป็นจริง

ส่วน Depersonalization คือ ภาวะที่เรารู้สึกตัดขาดจากร่างกาย อารมณ์ และความคิดของตัวเอง คนที่มีอาการนี้มักจะรู้สึกว่าตัวเองเหมือนเป็นภาชนะว่างเปล่า เป็นเพียงผู้ชมร่างกายตัวเอง หรือ เป็นหุ่นยนต์ที่คอยรับคำสั่งจากคนอื่น ไม่สามารถบังคับร่างกายของตัวเองได้อีกต่อไป แม้พวกเขาจะขยับแขนขยับขา หรือ รู้สึกถึงอารมณ์ของตัวเองได้ก็ตาม พวกเขาก็จะมองว่าสิ่งเหล่านั้นเกิดจากการบงการของคนอื่น

เพราะมันเป็นอาการที่อยู่ในกลุ่มเดียวกัน และมีความคล้ายคลึงกัน ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่จึงมักเรียกสองอาการนี้รวมกันว่าเป็น Depersonalization-Derealization Disorder ซึ่งมันสามารถรบกวนการทำงาน ความสัมพันธ์ และการใช้ชีวิตของเราได้ หากไม่ได้รับการป้องกัน หรือ รักษาที่ถูกต้อง

 

Derealization เกิดขึ้นได้อย่างไร

หลักฐานทางวิทยาศาสตร์หลายชิ้นเห็นตรงกันว่า อาการ Derealization อาจเกิดขึ้นจากการทำงานของ คอร์เทกซ์กลีบหน้าผากส่วนหน้า (Prefrontal cortex) ที่ไปยับยั้งการทำงานของวงจรประสาทที่ทำหน้าที่สร้างประสบการณ์ทางอารมณ์ ส่งผลให้เรามีความอ่อนไหวทางอารมณ์กับสิ่งที่อยู่รอบตัวน้อยลง และอยู่เกิดภาวะที่เหมือนกับกำลังฝันอยู่

Derealization อาจเป็นภาวะที่ร่างกายสร้างขึ้นเพื่อตอบโต้กับอันตรายที่เกิดขึ้นจากความเครียดรุนแรง เช่น การจากไปของคนรัก การเผชิญกับอุบัติเหตุที่ทำให้เกิดการสูญเสีย รวมถึง การอาศัยอยู่กับครอบครัวที่ชอบใช้ความรุนแรงในวัยเด็ก จนเด็กมีนิสัยชอบตัดขาดจากโลกภายนอก เพื่อมองข้ามสภาพแวดล้อมภายนอกที่ก่อให้เกิดความเครียด เป็นต้น กล่าวได้ว่า ถ้าเราเจอกับความเครียดอย่างหนัก เราอาจตื่นมาแล้วเกิดอาการ Derealization ได้เหมือนกัน

นอกจากความเครียดและบาดแผลทางใจแล้ว เงื่อนไขทางสุขภาพบางอย่างยังส่งผลให้เราเกิดอาการ Derealization ได้ด้วย เช่น อาการชัก ภาวะสมองเสื่อม การใช้ยาเสพติด โรคจิตเภท โรคแพนิค หรือ ภาวะซึมเศร้า ดังนั้นการหมั่นเช็คสุขภาพของตัวเองอยู่เสมอ จึงเป็นเรื่องที่เราควรทำเป็นอย่างยิ่ง

 

มีวิธีไหนบ้างที่จะทำให้หายจาก Derealization เร็วขึ้น

ปกติ Derealization จะไม่มีอาการรุนแรง เรามักรู้สึกถึงมันเป็นระยะเวลาสั้น ๆ ก่อนที่เราจะรู้สึกปกติอีกครั้ง แต่ถ้าเรารู้สึกว่าอาการนี้รบกวนเรามากเกินไป วิธีเหล่านี้ก็ช่วยให้เราหายจากอาการ Derealization เร็วขึ้นเหมือนกัน

  • สัมผัสสิ่งของที่ร้อนหรือเย็นและโฟกัสที่ความร้อนหรือความเย็น
  • หยิกตัวเองเพื่อเรียกความรู้สึกกับมา
  • หาสิ่งของมาชิ้นหนึ่งและลองคิดดูว่าเรารู้อะไรเกี่ยวกับมันบ้าง
  • นับสิ่งของที่อยู่ในห้องและระบุว่ามันคืออะไร
  • พยายามขยับดวงตาตลอดเวลา และไม่จมอยู่กับความคิดใดความคิดหนึ่ง

ถ้าเกิดว่า Derealization อยู่กับเราเป็นเวลานานเกินไป เราควรรีบปรึกษาจิตแพทย์โดยด่วน เพราะมันอาจเกี่ยวข้องกับโรคทางจิตเวทที่ต้องได้รับการรักษาอย่างถูกวิธีและทำโดยผู้เชี่ยวชาญ


Appendix: 1 / 2 / 3 /4

unlockmen
WRITER: unlockmen
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line