Life

นักเรียน-นักศึกษาต้องใส่เครื่องแบบหรือไม่? ชวนอ่านและถกเถียงกันอย่างสุภาพและมีเหตุผล

By: PSYCAT January 10, 2019

เมื่อโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่งประกาศทดลองให้นักเรียนใส่ชุดไปรเวทมาเรียนสัปดาห์ละหนึ่งวันเป็นเวลาหนึ่งภาคเรียนก็กลายเป็นประเด็นร้อนฉ่าที่ใครหลายคนร่วมแสดงความคิดเห็นและถกเถียงกันจนไฟลุกท่วมโซเชียลมีเดีย

มีทั้งคนที่ไม่เห็นด้วยกับการใส่ชุดไปรเวทไปเรียนโดยบอกว่าจะทำให้เกิดความไม่เป็นระเบียบวินัย ผู้เรียนจะสนใจการแต่งตัวมากกว่าการเรียน ที่สำคัญคือความเหลื่อมล้ำจากชุดที่ใส่มาแตกต่างกัน

ในขณะที่ฝ่ายเห็นด้วยกับการใส่ชุดอะไรก็ได้ไปเรียนกลับบอกว่าความเหลื่อมล้ำมันมีอยู่จริงและมีอยู่ทุกหนทุกแห่ง ต่อให้แต่งเครื่องแบบเหมือน ๆ กัน แต่กระเป๋า กล่องดินสอ ยี่ห้อปากกา นาฬิกาที่ใส่ ฯลฯ มันก็เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำอยู่แล้ว แทนที่จะซุกความเหลื่อมล้ำไว้ใต้พรมด้วยเครื่องแบบเหมือน ๆ กัน ควรสอนให้รู้จักความเหลื่อมล้ำและหลากหลาย รวมถึงสอนให้เคารพคนไม่ว่าจะต่างกับเราแค่ไหนดีกว่า

สารพัดความคิดเห็นและเหตุผล UNLOCKMEN จะไม่ชี้ชัดตัดสินว่าแบบไหนผิดหรือถูก เพราะเราเชื่อในการถกเถียงกันอย่างสุภาพและมีเหตุผล การที่เราได้อ่าน ได้ฟังความคิดเห็นของคนที่ต่างจากเราโดยไม่ได้ต้องการแค่เอาชนะ จะนำมาซึ่งการใช้ตรรกะและเหตุผลในการอยู่ร่วมกันของคนในสังคม

วันนี้ UNLOCKMEN ชวนอ่านความคิดเห็นอันหลากหลายทั้งจากคนที่ยังเรียนอยู่ คนที่เรียนจบมาจากมหาวิทยาลัยที่บังคับให้ใส่เครื่องแบบไปเรียนทุกวัน คนที่เรียนจบมาจากมหาวิทยาลัยที่บังคับให้ใส่เครื่องแบบแต่แหกขนบไม่ยอมใส่ รวมถึงมหาวิทยาลัยที่ให้เสรีภาพในการเลือกจะใส่หรือไม่ใส่ชุดนักศึกษาก็ได้ และที่พลาดไม่ได้ความคิดเห็นจากศิษย์เก่าจากโรงเรียนเอกชนชื่อดังที่กำลังเป็นประเด็นอยู่ในขณะนี้!

เครื่องแบบทำให้เราประหยัดเวลา

เริ่มต้นกันที่ความคิดเห็นของอดีตนิสิต คณะมนุษยศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งที่คนคิดว่าต้องเรียนทำนาปลูกข้าวเท่านั้น (เดาไม่ออกก็ต้องเดาออกแล้วล่ะ) โดยมหาวิทยาลัยแห่งนี้ให้นิสิตสวมเครื่องแบบไปเรียนทุกวัน

“เราเป็นคนหนึ่งที่ใส่ชุดนิสิตกับกระโปรงพีทตลอด 4 ปี ทั้งที่ปี 2 เขาก็ปล่อยให้ใส่สอบได้แล้ว ข้อดีคือไม่ต้องมานั่งเลือกเสื้อผ้ารองเท้าเวลาออกจากบ้าน อีกอย่างคือเวลาเกิดเหตุอะไรขึ้น การแบ่งชัดเจนว่าเราคือนักเรียนนักศึกษาทำให้เราได้รับการช่วยเหลือก่อน แต่ถ้าใส่ไปรเวทคนมักจะระวังตัว มันก็ไม่แย่หรอกถ้ามีประโยชน์กับตัวเรา”

ชุดไม่ใช่สาเหตุความเหลื่อมล้ำ แต่ความเหลื่อมล้ำมันมีอยู่แล้วในประเทศนี้!

ในขณะที่อดีตนักศึกษาคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยสีเขียวอมฟ้า วิทยาเขตติดวังพูดถึงประเด็นความเหลื่อมล้ำไว้อย่างน่าสนใจว่า “ในฐานะคนที่ใส่ไปรเวทมาตลอด ไม่เห็นว่าการใส่ชุดไปรเวทเป็นต้นเหตุทำให้เกิดความรู้สึกเหลื่อมล้ำ

ต่อให้เพื่อนในห้องเราไม่ได้ใส่ชุดไปรเวทมา เราก็พอจะรู้อยู่แล้วว่าเพื่อนคนนี้มีฐานะประมาณไหน

ย้อนกันตั้งแต่ตอนประถมศึกษาเลย กล่องดินสอเพื่อนคนนี้แม่งจ๊าบกว่าใคร ดินสอสี 24 สียี่ห้อดัง รถยนต์ยุโรปจอดส่งถึงหน้าประตู แต่ก็จะมีเพื่อนที่ใส่ชุดนักเรียนสีหม่นจนแทบจะสีเดียวกับกางเกง กระเป๋าที่ขาดจนชุนแล้วชุนอีก ถ้าจะมองหาให้มันเหลื่อมล้ำให้ได้ มันก็ล้ำกันตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว

ย้อนกลับไปที่เครื่องแบบนักเรียน เราคงพอคุ้นเคยกับภาพเด็กขาดแคลนที่ไม่มีแม้แต่เงินจะซื้อชุดนักเรียนใส่ พวกเขาใส่ชุดไปรเวทไปเรียน ล้ำในล้ำ เหลื่อมในเหลื่อม

ส่วนตัวไม่ได้มีปัญหากับเครื่องแบบในเชิงสุนทรียะว่ามันสวยไม่สวย ไม่โก้ไม่เก๋ แต่มองลงไปที่เรื่องของสิทธิเสรีภาพต่างหาก ถ้านั่นหมายความว่าเราจะใส่อะไรก็ได้ พอใจจะใส่ไปรเวทก็ได้ใส่ พอใจจะใส่ชุดเครื่องแบบก็ได้ เพราะนั่นคือหมายถึง ‘อะไรก็ได้’ ที่แท้จริง ใส่ไปรเวทอย่างเดียว มันก็คือการบังคับเหมือนกัน สำหรับเราสิ่งที่ไม่โอเคคือการลิดรอนสิทธิ์ ไม่ว่าจะรูปแบบไหนก็ตาม”

คนเรียนสร้างสรรค์ ก็ต้องการความสร้างสรรค์และคล่องตัว

อดีตนักศึกษา คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ภาควิชานิเทศศิลป์ สาขาถ่ายภาพ มหาวิทยาลัยที่มีเครื่องบินและมีรถไฟ เธอคืออดีตนักศึกษาที่ต้องเรียนเกี่ยวกับการสร้างสรรค์เป็นส่วนใหญ่ เธอลงความเห็นว่าการใส่ชุดไปรเวททำให้เธอคล่องตัวมากกว่า เพราะเป็นผู้หญิงที่ต้องใส่กระโปรงและเสื้อขาวก็ไม่เหมาะเมื่อต้องไปคลุกดินคลุกฝุ่นหรือต้องการความทะมัดทะแมงในการถ่ายภาพ

“การที่เราเรียนคณะสถาปัตย์ สาขาถ่ายภาพ การเรียนส่วนใหญ่มักจะเป็นการออกไปนอกสถานที่ไม่ค่อยได้อยู่ในห้องเรียนนั่งเฉย ๆ การที่เราได้ใส่ไปรเวทมันทำให้เราสบายตัว ทำอะไรว่องไวสะดวกกว่าใส่ชุดนักศึกษา และอีกอย่างมันสนุกตรงที่ทุกวันต้องคิดว่าจะแต่งอะไรไปคณะดี เป็นการได้โชว์สไตล์เพื่อเสพสไตล์และความสร้างสรรค์จากการแต่งตัวของแต่ละคนด้วย”

ผู้ใหญ่มักบอกให้เป็นตัวของตัวเอง แต่แค่ชุดยังไม่ให้เป็นตัวเองเลย

นักศึกษาปัจจุบันอย่างนักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ ชั้นปี 4 ก็ให้ความเห็นเรื่องความเป็นตัวเองไว้อย่างน่าครุ่นคิด

“เห็นด้วยกับการใส่ชุดไปรเวทค่ะ เพราะ การแต่งตัวเหมือนเป็นการแสดงความเป็นตัวตนมันสร้างความมั่นใจในสิ่งที่เราคิดและทำ การที่เราต้องแต่งตัวซ้ำ ๆ เดิม ๆ ไปเรียนทุกวันมันเกิดกรอบขึ้นในวิธีคิดของเด็ก ในตอนเช้าทุกคนต้องการความตื่นเต้นความกระตือรือร้นและความแปลกใหม่

การแต่งตัวถือเป็นจุดเริ่มต้น ในวันใหม่ เพื่อเสริมสร้างความมั่นใจให้กับตัวเองในการเรียนหรือการพรีเซนต์งานต่าง ๆ สำหรับหนูถือเป็นการสร้างคาแร็กเตอร์ให้กับตัวเองด้วยค่ะ”

รวมถึงความคิดเห็นของนักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์อีกคนหนึ่งที่เห็นตรงกันว่า

“การใส่ชุดไปรเวทไปเรียนได้ เป็นการเปิดโอกาสให้นักศึกษาสามารถเลือกใส่เสื้อผ้าที่เหมาะกับกิจกรรมที่จะทำในแต่ละวัน และสะดวกสบายในการใช้ชีวิตประจำวัน รวมทั้งเป็นการเปิดโอกาสให้นักศึกษามีความคิดสร้างสรรค์ในการเลือกเครื่องแต่งกายเพื่อเพิ่มความมั่นใจให้กับตัวเอง”

การแต่งไปรเวททำให้เด็กไม่รู้จักกาลเทศะไหมนะ ?

“กาลเทศะ”ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่มีคนยกมาถกเถียงกันมาก และนี่คือความเห็นของอดีตนักศึกษาคณะนิติศาสตร์​ มหาวิทยาลัยริมถนนเชียงราก

“สำหรับเรากาลเทศะไม่เท่ากับเครื่องแต่งกาย ทั้ง​สองสิ่งไม่มีความเกี่ยวข้องกันเลยแม้แต่น้อย​ เป็นเพียงมายาคติที่คนในสังคมหล่อหลอมมันขึ้นมา แต่ไม่ปฏิเสธว่าบางสิ่งมันหยั่งรากลึกเกินไปจนเราเองก็ต้องปฏิบัติตาม​ (เช่นการใส่เสื้อผ้าสีดำไปงานศพเป็นต้น)​

แต่สำหรับการใส่ชุดนักเรียน​นักศึกษาในสถาบันการศึกษามันเป็นรากที่หยั่งลึกน้อยกว่านั้นมาก​ คำว่า​ ‘เคารพสถาบันศึกษา’​ มันไม่มีเหตุผลอะไรต้องเคารพ​ สถาบันเป็นแค่ตึก แต่มนุษย์นี่แหละที่มีชีวิต ขอแค่ทุกคนทำหน้าที่ตามบทบาทในชีวิตก็พอ​

การบังคับใส่ชุดนักศึกษาจึงเป็นอะไรที่ไร้สาระสำหรับเรา​ เป็นกฎที่มีไว้เพื่อปกครอง​เท่านั้น​ แถมยังจำกัดอัตลักษณ์ของแต่ละบุคคลโดยเครื่องแต่งกาย​”

เราคิดว่ามนุษย์ทุกคนมีสิทธิ์โดยชอบธรรมที่จะแสดงตัวตนของตัวเองผ่านเครื่องแต่งกาย​ในกรอบที่ไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน ดังนั้นการทำไม่ให้ผู้อื่นเดือดร้อนนั่นแหละที่สำคัญ

ชุดไหนก็ไม่เกี่ยวกับผลการเรียน

อดีตนักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งย่านภาคอีสานที่ถนนสร้างไม่เคยเสร็จสักที ที่นี่บังคับให้นักศึกษาต้องสวมเครื่องแบบไปเรียน แต่เขาเลือกที่จะไม่ใส่เครื่องแบบเพราะเชื่อว่าเครื่องแบบไม่เกี่ยวข้องกับผลการเรียนของเขาแม้แต่น้อย รวมถึงเหตุผลเรื่องสภาพอากาศและความคล่องตัว

“คณะและมหาวิทยาลัยมีการกำหนดให้ใส่ยูนิฟอร์ม แต่สาเหตุที่ไม่ทำตามเพราะ เรื่องแรกเป็นเพราะเรามองว่าการแต่งตัวไม่ว่าจะรูปแบบไหนไม่มีผลต่อสถานะหรือผลการเรียน รวมไปถึงชุดที่ใส่ไปเข้าเรียนของตัวเราก็ไม่แปลกแยกหรือแตกต่างกับยูนิฟอร์มมากขนาดนั้น แค่เปลี่ยนจากกางเกงสแล็คสีดำเป็นกางเกงยีนส์เท่านั้น และบางครั้งก็เปลี่ยนจากเชิ้ตแขนยาวเป็นแขนสั้นซึ่งเหมาะกับอากาศที่ร้อนในบ้านเรามากกว่า เพราะคณะที่เรียนมีการออกนอกพื้นที่เป็นส่วนใหญ่ ไม่ได้อาศัยหลักสูตรในห้องเรียนเป็นหลัก”

คนจะโดดเรียน ใส่ชุดไหนก็โดดเรียนได้ ไม่ว่าจะเครื่องแบบหรือไปรเวท

“เครื่องแบบจะทำให้คนไม่โดดเรียน” ก็เป็นอีกประเด็นสำคัญ เราเลยอยากชวนมาฟังความเห็นจากอดีตนักเรียนโรงเรียนชายล้วนที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศมีสีประจำโรงเรียนม่วงทองและกำลังมีประเด็นดราม่าอยู่ในขณะนี้กัน ประเด็นที่น่าสนใจคือถ้าปัญหาคือการโดดเรียนก็ต้องแก้ที่การโดดเรียนโดยตรง ไม่ใช่ใช้เรื่องอื่นมาอ้างว่าแก้ปัญหานี้ได้

“ตอนแรกไม่เห็นด้วย เพราะเป็นคนที่บ้าสถาบันมากๆๆๆ คิดว่าเด็กเป็นคนร้องขอไม่ให้ใส่เครื่องแบบ คิดว่าเด็กสมัยนี้ไม่รักสถาบันแล้วหรือไง เพราะตอนเรียนจะยืดมากเวลาใส่ชุดนักเรียนไปไหนมาไหน

แต่พอมานั่งคิดดี ๆ และรู้ว่าเป็นนโยบายจากอาจารย์คือโคตรเห็นด้วย เพราะอาจารย์คนที่ทำวิจัยงานนี้ เราก็รู้จักเป็นการส่วนตัว เขาคิดมาอย่างดีแล้วและตกผลึกมานาน 5-6 ปีกว่าจะกล้าดันกฎนี้ออก ซึ่งเราคิดว่าการเปิดโอกาสให้เด็กใส่ชุดไปรเวทแค่วันเดียวต่ออาทิตย์มันไม่ส่งผลอะไรเลย ไม่ต้องกลัวว่าจะแบบเหลื่อมล้ำ เพราะที่นี่คบกันด้วยใจ ใครมีมากกว่าก็แบ่งปันคนที่น้อยกว่า

แล้วประเด็นเรื่องโดดเรียนจะใส่ชุดอะไรก็โดดหมดอะ สมัยก่อนเพื่อนใส่ชุดนักเรียนปีนกำแพงป้ายโรงเรียนก็ทำกันมาแล้ว ตัดเรื่องนี้ไปได้เลย

อีกอย่างการใส่ชุดไปรเวทหรือแม้แต่การแต่งตัวมันคือการมอบความสุขให้กับตัวเองแบบง่าย ๆ ในแต่ละวัน ลองดูว่าถ้าวันไหนได้ใส่ชุดที่ชอบเสื้อที่มั่นใจ มันจะทำให้เรารู้สึกดีไปทั้งวัน”

จริง ๆ ใครอยากใส่เครื่องแบบก็ควรได้ใส่ แต่ถ้าใครอยากใส่ไปรเวทก็ควรได้ใส่

อดีตนักศึกษาคณะเปรื่องปราชญ์ศาสตร์แห่งมนุษย์ทั้งหลาย มหาวิทยาลัยสีเขียว ให้ความเห็นว่ามันไม่เกี่ยวกับการให้ใส่ไปรเวทหรือเครื่องแบบ แต่มันเกี่ยวกับว่าทุกคนควรมีสิทธิที่จะเลือกเอง ถ้าใครเลือกใส่เครื่องแบบก็ใส่ไป ใครอยากใส่ไปรเวทก็ใส่ไป แต่สถานศึกษาต้องสอนให้รู้จักความหลากหลาย และสอนให้รู้จักเคารพความแตกต่างของสิ่งที่คนอื่นเลือกต่างหาก

“การให้นักเรียนนักศึกษาต้องใส่ชุดยูนิฟอร์มนั้นไม่ใช่เรื่องผิด และการที่ใส่ชุดไปรเวทไปเรียนก็ไม่ใช่เรื่องที่ควรห้ามเช่นกัน

เพราะไม่ว่าจะใส่ชุดอะไรก็คงไม่มีผลกระทบต่อจุดประสงค์หลักอย่างการศึกษาอยู่แล้ว ไปรเวทหรือยูนิฟอร์มจึงไม่ใช่เรื่องที่จะต้องโฟกัสมากนัก

ส่วนเรื่องของความเหลื่อมล้ำก็ไม่ได้เพิ่งจะมาเกิดเพราะกระแสชุดไปรเวทที่กำลังร้อนแรงอยู่ในตอนนี้ แต่มันเป็นสิ่งที่มีมานานแล้ว

แม้ทุกคนจะใส่ชุดยูนิฟอร์มเหมือนกันหมดก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้เกิดความเท่าเทียมเสมอไป

สารพันความคิดเห็น สารพันเหตุผล อ่านไปอาจไม่เห็นด้วย อาจเห็นด้วย หรือเห็นด้วยบ้างไม่เห็นด้วยบ้าง เราเชื่อว่านี่คือจุดเริ่มต้นของการรับฟัง อดทนอดกลั้นต่อความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลาย ถ้าไม่เชื่อสิ่งที่อีกฝั่งพูดก็จงถกเถียงกลับอย่างสุภาพและมีเหตุผล ดีกว่าด่ากันสาดเสียเทเสีย มุ่งแต่กูถูก อีกฝั่งผิด

แล้วคุณล่ะคิดเห็นอย่างไร ?
ร่วมแสดงความคิดเห็นอย่างสุภาพและมีเหตุผลเรื่องเครื่องแบบไปพร้อม ๆ กัน

PSYCAT
WRITER: PSYCAT
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line