Business

รู้ไว้จะได้ไม่โดนเอาเปรียบ “5 คำพูดในองค์กรที่เหมือนจะดี แต่ที่จริงร้ายยิ่งกว่ายาพิษ”

By: PSYCAT October 25, 2018

ผู้ชายอย่างเราลืมตาตื่นขึ้นมาในแต่ละวันต้องเผชิญกับการงานที่เรารัก แถมพ่วงมาด้วยปัญหา อุปสรรคไม่ค่อยน่ารักทุกรูปแบบ แม้จะเป็นแบบนั้นเราก็พร้อมตื่นมาพุ่งชนฟันฝ่าทุกปัญหาเรื่องงานไม่หยุด ตัวเนื้องานก็หนักหนาสาหัสมากพออยู่แล้ว แต่หลาย ๆ ครั้งอุปสรรคก็มาในรูปแบบคำหวานหรือคำพูดจากคนในองค์กรที่เหมือนจะดี แต่จริง ๆ มันคือยาพิษที่กัดกร่อนเราจากภายในอยู่ทุกวันโดยที่เราไม่รู้ตัว

อย่าปล่อยให้คำพูดจากคนในองค์กรเหล่านี้ค่อย ๆ ปลิดชีวิตและบ่อนทำลายพลังในการลุยงานของเรา รู้เท่าทันตั้งแต่วันนี้ แล้วหาทางรับมือให้ดี เพราะบางทีคำพูดหวานหู แต่ใครจะรู้ว่าเบื้องหลังมันร้ายกว่าที่คิด

“เอาน่า ช่วยกันไว้ ที่นี่เราอยู่กันแบบครอบครัว”

คำว่าครอบครัวคือคำพูดเชิงบวกสำหรับชาวไทยเป็นอย่างมาก เพราะมันหมายถึงความรัก ความอบอุ่น ความผูกพันแบบที่ความสัมพันธ์รูปไหนก็ไม่อาจเทียบเทียม ถ้าเป็นการช่วยเหลือกันไปตามภาระหน้าที่รับผิดชอบของเรา มนุษย์ผู้นั้นก็คงไม่ต้องอ้างคำว่า “ครอบครัว” เพื่อให้เราลงแรงช่วยเหลือ รู้ไว้เลยว่าเมื่อไหร่ที่องค์กรเริ่มอ้างคำว่าครอบครัวนั่นแปลว่าเขากำลังเรียกร้องอะไรที่นอกเหนือจากความรับผิดชอบเรานั่นเอง

เมื่อเกิดวิกฤตหรือช่วงงานหนักเป็นครั้งคราวแล้วเราต้องทำงานเกินเวลานั่นเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ แต่ถ้าองค์กรไหนอ้างคำว่าครอบครัวพร่ำเพรื่อเพื่อละเมิดเวลาและความรับผิดชอบของเราโดยไม่มีการตอบแทนอย่างเป็นระบบ เมื่อนั้นคำหวานหูอย่างครอบครัว อาจจะเป็นยาพิษโดยไม่รู้ตัวก็ได้

 

“อย่าบ่นไปเลย ทุกคนก็เหนื่อยมากเหมือนกัน”

เมื่อไหร่ที่เราเริ่มท้อ วิพากษ์วิจารณ์ปริมาณงานและเวลางานที่ดูไม่สมดุลออกมา หรือบางทียังไม่ทันบ่นเพราะมือเป็นระวิงกับทุกอย่างที่ทำตรงหน้า แล้วมีคนในองค์กรพยายามมาให้กำลังใจด้วยการบอกว่า “ทุกคนก็เหนื่อยมากเหมือนกัน” เราเองอาจจะหลงคิดว่า เออ ดีสิ บริษัทงานเยอะ ทุกคนเหนื่อยขนาดนี้ ผลประกอบการดีแน่นอน!

แต่อย่าลืมว่าการทำงานยาวนาน หรือปริมาณงานที่จัดการเท่าไหร่ก็ไม่ลดลงสักที มันอาจไม่ได้หมายถึงผลประกอบการที่ดีมาก ๆ แต่อาจเป็นระบบงานที่ไร้ประสิทธิภาพ แต่คนในองค์กรไม่ยอมรับฟัง ปรับปรุงและเปลี่ยนแปลง การที่คนตำแหน่งสูงกว่าเราต้องทำงานเสาร์อาทิตย์หรือหลังเวลางานเป็นประจำ ไม่ได้แปลว่าเขาจะใช้ข้ออ้างนี้มาสั่งให้เราต้องทำงานอย่างไม่เป็นระบบอย่างเขา แต่อาจต้องลองพูดคุยหาทางออกถึงการทำงานอย่างเป็นระบบมากขึ้นได้แล้ว

“คุณรู้ไหม คุณก็ได้เยอะมากแล้วนะ”

เมื่อเรารู้สึกว่าสวัสดิการที่ได้รับ หรือค่าตอบแทนไม่ตรงกับภาระหน้าที่ความรับผิดชอบ แล้วเราเริ่มต้นเจรจาเพื่อทวงสิทธิที่เราพึงมีคำพูดประเภทว่า “คุณก็ได้เยอะมากแล้วนะ” ลอยออกมา เราจะเริ่มรู้สึกผิดที่เราออกมาพูด เริ่มตระหนักว่าเราเป็นฝ่ายเห็นแก่ตัว ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ การทำงานคือผลประโยชน์ต่างตอบแทน มันไม่สำคัญว่าได้เยอะหรือน้อย แต่มันสำคัญที่ขอบเขตการทำงานที่คุยกันไว้ UNLOCKMEN เชื่อว่าการทำงานเพื่อพัฒนาตัวเอง หรือท้าทายความสามารถตัวเอง ไม่เกี่ยวกับการทำงานปริมาณเยอะ ๆ แต่เกี่ยวกับทักษะในการบริหารจัดการงานในมือและเวลาที่มี รวมถึงการหาทางพัฒนาด้วยตัวเองอย่างเต็มใจ

แต่ถ้าเมื่อไหร่ปริมาณงานก็โยนถมลงมาไม่หยุดหย่อน พอเอ่ยปากท้วงกลับโดนบอกว่าก็เราได้มากแล้ว อย่าขอเพิ่มเลย เราต้องจำยอมทำไปแบบไม่สมัครใจ คำพูดแบบนี้จะผลักให้คุณดูเป็นคนเห็นแก่ตัว และต้องก้มหน้าก้มตาทำงานเกินความรับผิดชอบจนกลืนกินพลังงานในตัวคุณจนมอดไหม้ในที่สุด

 

“ทำ ๆ ไปเถอะ โตไป จะเจอยิ่งกว่านี้อีก”

การใช้ความอาวุโสทางตำแหน่งที่มากกว่า หรือการทำงานมานานกว่าเพื่อพูดคำว่า “โตไป เจอยิ่งกว่านี้อีก” ทางหนึ่งดูเป็นคำพูดที่ไม่มีอะไร ค่อนไปทางฝึกฝนเราให้ทรหดอดทนเพื่อเผชิญกับสภาวะหฤโหดทางการงานที่หนักหนายิ่งกว่าปัจจุบัน แต่ถ้าคำเหล่านี้หลุดออกมาบ่อย ๆ เราก็ต้องตั้งคำถามแล้วว่าในเมื่อความหนักหนาระดับนี้คือระดับของตำแหน่งที่โตกว่าเรา แต่เรากลับต้องมาทำ ถ้าเช่นนั้นคนตำแหน่งเหนือเราทำอะไรอยู่ ? ค่าตอบแทนเราเท่าตำแหน่งที่เหนือกว่าเราหรือไม่ ?

เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับความเห็นแก่ได้ของเรา แต่อาจหมายถึงระบบการจัดการภายในองค์กรที่มีปัญหา การแบ่งงานไม่เป็นระบบ แล้วใช้คำเหล่านี้มาพูดเพื่อกลบเกลื่อน ใช้การเติบโตมาหลอกล่อ แต่จริง ๆ คือองค์กรมีปัญหาที่ไม่ได้รับการแก้ไข ที่สำคัญจำไว้เลยว่าต่อให้เราเติบโตไปในตำแหน่งเดียวกับเขาก็ไม่ได้แปลว่าเราต้องเจออะไรที่หนักหนาอย่างที่เขาอ้าง เพราะทุกคนมีวิธีการทำงานของตัวเอง ปัญหาที่เหมือนกันถ้ารับมือแบบห่วยแตก อาจจะเป็นปัญหาหนัก ในทางกลับกันถ้าเตรียมการดีแต่แรก จัดการก็ไม่บกพร่อง มีอะไรก็รีบแก้ไข มันก็มีสิทธิที่จะไม่หนักอย่างที่คนในองค์กรพยายามอ้างเลยก็ได้

“ที่นี่ทำงานยืดหยุ่นมากนะ”

เวลาเราได้ยินคำว่ายืดหยุ่น ความคิดแรก ๆ ของเรามันคือความลิงโลดที่จะเป็นอิสระในการบริหารจัดการเวลาและงานด้วยตัวเอง เพราะบางคนก็ถนัดทำงานตอนเช้า บางรายก็ถนัดทำงานตอนดึก ถ้าองค์กรไหนที่ให้ความยืดหยุ่นอย่างเป็นอิสระจริง เราก็ยินดีด้วย แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่องค์กรใช้คำว่ายืดหยุ่นมาเป็นข้ออ้างในการให้เราทำงานเกินเวลา หรือต้องสั่งงานเราได้ 24 ชั่วโมง แล้วอ้างว่าก็ที่นี่ยืดหยุ่น เราว่านี่คือสัญญาณอันตราย ลองเปิดใจคุยกันให้ชัด ๆ ถ้ายืดหยุ่นหมายถึงว่ามาทำงานเวลาไหนก็ได้ แต่ต้องนับไปอีกเก้าชั่วโมงค่อยออกจากที่ทำงาน แบบนี้อาจเรียกว่ายืดหยุ่นเรื่องเวลาเข้างาน แต่ไม่ได้ยืนหยุ่นเรื่องชั่วโมงทำงาน

หรือองค์กรอาจต้องระบุตรง ๆ ไปเลยว่ามีวันไหนบ้างที่อนุโลมเรื่องชั่วโมงทำงานได้ แต่ไม่ใช่อ้างคำว่ายืนหยุ่น แต่วันดีคืนดีก็จะบีบบังคับให้เราทำอะไรเกินชั่วโมงทำงาน เพราะแบบนั้นไม่ใช่ความยืดหยุ่น แต่มันคือการละเมิดสิทธิ ทั้งหมดทั้งมวลเพื่อรักษาผลประโยชน์ของทั้งองค์กรและคนทำงาน ไม่ควรคิดไปเองทั้งสองฝ่าย แต่ควรเปิดใจคุยกันให้เคลียร์ ๆ

อย่างไรก็ตามควรพิจารณาบริบทโดยรอบ ความถี่และสถานการณ์ที่ใช้คำพูดเหล่านี้ประกอบด้วย แต่ UNLOCKMEN เชื่อว่ามันอยู่ที่การพูดคุย เปิดใจ ตกลงกันให้ชัดเจนตั้งแต่แรก เพราะงานหนักและความท้าทายไม่ใช่ปัญหาสำหรับผู้ชายแข็งแกร่งพร้อมลุยอย่างเรา แต่การถูกกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบไว้ แล้วการทำงานภายในองค์กรที่ไม่เป็นระบบกลับมาเพิ่มภาระหน้าที่เสียเฉย ๆ มันไม่ใช่การพัฒนาตัวเอง แต่เป็นการถูกเอาเปรียบ และผู้ชายสายลุยอย่างเราไม่ควรปล่อยให้มันเกิดขึ้น

PSYCAT
WRITER: PSYCAT
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line