Business

หนุ่มบริษัทเอกชนมาทางนี้ ฉลอง พรบ. ใหม่ช่วยเราสร้าง “บำเหน็จบำนาญ” ได้แม้ไม่ใช่ข้าราชการ

By: anonymK August 10, 2018

ในยุคก่อน คนไทยมีค่านิยมอยากให้ลูกชายรับราชการ เพราะนอกจากความมีหน้ามีตาทางสังคม สวัสดิการมากมายแบบที่หาไม่ได้ในอาชีพอื่น มันยังได้รับสิ่งที่เรารอคอยเสมือนมรดกบั้นปลายไว้ใช้ยามแก่อย่าง “เงินบำนาญ” ด้วย

แต่อย่างที่หลายคนรู้คือพอค่านิยมสังคมเปลี่ยน อาชีพทางราชการก็ไม่ใช่ทางออกสำหรับทุกคนอีกต่อไป ทั้งเรื่องของสายอาชีพ สวัสดิการและเงินเดือน

ทว่าเรื่องหนึ่งที่ข้าราชการแทบทุกรุ่นยังคงชื่นชอบกันอยู่คือการใช้ชีวิตแบบไม่หวั่นแม้วันเกษียณ เพราะพวกเขาโดนบังคับเก็บออมมาเรื่อย ๆ ตัดเงินทันทีเงินเดือนออกเพื่อเข้า “กบข.” หรือ “กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ” ซึ่งภาครัฐจะสมทบเงินอีกจำนวนหนึ่งให้เพิ่มเติม สะสมไปเรื่อย ๆ

พอถึงวันเกษียณก็อุ่นใจว่ายังมีเงินให้ใช้แม้ไม่ต้องทำงาน ซึ่งจะว่าไปหลักการมันก็คล้ายกันกับ Provident Fund หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ “กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ” ของบริษัทเอกชนบางแห่ง ที่ไหนมี Provident Fund ก็ถือเป็นแรร์ไอเทมมาก เพราะเป็นหนทางออมอีกทางที่มีคนมาออกเงินให้เราฟรี ทำไมจะไม่อยากได้ล่ะ จริงไหม

 

กบช. = แก้แก่ไปไม่มีเงินใช้

ก่อนจะไปลงรายละเอียดว่ามันให้อะไรเราบ้าง มีเงื่อนไขอะไร ขอย้อนกลับมาถึงจุดเริ่มต้นร่าง พรบ​. ฉบับนี้ก่อนว่ามันเกิดขึ้นเพราะอะไร เหตุผลการเกิดของมันเกิดจากสภาพสังคมตอนน้ีที่หลายคนคงเคยได้ยินว่า “ประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ” แต่ปัญหาตอนนี้ที่มียังคงแก้ไม่ตกคือ ผู้สูงอายุหลายคนในไทยยังมีเงินไม่พอใช้สำหรับวัยเกษียณ ซึ่งหมายความว่า แม้เราจะต้องแก่และตายไปพร้อมกัน แต่ก่อนจะเตรียมพร้อมถึงวันหมดลมหายใจ เงินที่มีไม่พอมันจะพาเราไปอยู่สภาพไหนก็ไม่รู้

 

ดีอย่างไร? จะสมทบแบบไหน?

ความแจ่มของมันมากพอให้เราจั่วหัวว่ามา “ฉลอง” ได้จริงไหม บอกเลยว่า “ได้” เพราะเปอร์เซ็นต์การสมทบของมันช่างยั่วยวนใจ แถมมีอัตราก้าวหน้าด้วย ทำให้มั่นใจได้เลยว่าเงินที่ลงไปสุดท้ายแล้วมันคงเข้ามาช่วยกู้ชีพเกษียณเราได้ทันเวลาพอดี ยิ่งถ้าใครเจองานที่เป็นเนื้อคู่หวังอยู่โยงยาวการมี กบช. นี่เรียกได้ว่าสุดยอด

เริ่มอธิบายเลยแล้วกัน เรามาสมมติว่าร่างนี้ทำงานได้แล้ว เงินเดือนแต่ละเดือนของเราจะโดนหักทันทีที่เงินเดือนออกและบริษัทจะจ่ายสมทบเงินก้อนนั้นด้วยอัตราพื้นฐานที่เท่ากัน กรณีที่ใครฟิตอยากเงินเหลือเยอะ ๆ อยากจะโยนเงินเข้าไปมากกว่าอัตราพื้นฐานก็ทำได้ แต่บริษัทก็จะจ่ายเงินเท่ากับอัตราสมทบพื้นฐานอยู่ดี

อัตราการสมทบ

  • 1-3 ปี ส่งฝั่งละ 3 % ของรายได้ (บางคนอาจจะมองว่าหักน้อยจัง แต่ลองคิดดูว่าการสมทบเพิ่มเท่าตัวเท่ากับว่าปีนั้นเราได้ออมถึง 6% ต่อเดือนเลยนะทั้งที่เราจ่ายเพียงครึ่งเดียว มองแบบไหนก็ยังรู้สึกคุ้ม)
  • 4-6 ปี ส่งฝั่งละ 5%
  • 7-9 ปี ส่งฝั่งละ 7%
  • 10 ปี เป็นต้นไป ยังอยู่ในระหว่างลุ้นว่ากี่ % เพราะตอนนี้มีกระแสว่ากำหนดไว้ไม่ให้เกิน 10% ของค่าจ้างแต่จะปรับเพดานใหม่เป็น 30% แทน

แล้วถ้าเราเงินเดือนน้อยมาก ๆ จ่ายไม่ไหว จะทำอย่างไร ? พรบ. ก็กำหนดตัวเลขเพื่อบอกว่าแค่ไหนถึงเรียกไม่ไหวให้เราไว้ โดยตอนนี้กำหนดไว้ว่าเฉพาะคนที่ได้เงินเดือนน้อยกว่า 10,000 บาทเท่านั้นเราถึงจะคิดว่าจ่ายไม่ไหว สมควรที่ฝ่ายนายจ้างต้องเป็นผู้จ่ายเพียงลำพัง

ส่วนเพดานเงินเดือนสูงสุดของเงินเดือนที่จะใช้ในการสมทบสำหรับคนที่มีเงินเดือนสูงอยู่แล้ว ตอนนี้ในร่างกำหนดไว้ที่ 60,000 บาทต่อเดือนเท่านั้น ดังนั้น ใครได้เงินเดือนเป็นแสน เขาก็จะหักคำนวณสุดที่ฐาน 60,000 บาท

 

เริ่มเมื่อไหร่​?​

เรื่องน้ีคนที่อยากรู้มากกว่าพนักงานน่าจะเป็นนายจ้างหรือเจ้านายของเราทุกคน เพราะเงินสมทบมาจากเจ้านายที่น่ารักของเราทุกคน บอกเลยว่ามันกระชั้นเข้ามาแล้ว เพราะตอนนี้ขั้นตอนของ พรบ. อยู่ในระหว่างยกร่าง ซึ่งหลายกระแสพูดถึงเรื่องนี้ในทางบวก ทำให้เราค่อนข้างมั่นใจว่าจะต้องผ่านมาเป็นกฎหมายอย่างแน่นอน กรณีที่ผ่านในปีนี้…พรบ. จะเริ่มดำเนินการและมีผลทันทีภายในปี 2561!

แต่คงไม่ใช่พร้อมกันทีเดียวทุกบริษัทอย่างแน่นอน เพราะมันก็ต้องค่อนเป็นค่อยไปให้เจ้านายของเราได้เตรียมใจกันบ้าง โดยเริ่มจากกิจการขนาดใหญ่ก่อนในปีแรก (2562) คือกิจการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 100 คนขึ้นไป กิจการที่ได้รับสัมปทานของรัฐ กิจการที่ได้รับส่งเสริมการลงทุน กิจการที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน หน่วยงานของรัฐที่ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วย กบข. และกิจการที่ประสงค์เข้าระบบ กบช. จากนั้นอีก 3 ปีต่อมา (2565) ค่อยเข้าคิวของกิจการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป และสุดท้ายคือกิจการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คน ที่จะดำเนินการในปี 2571

UNLOCKMEN หวังว่าเรื่องที่นำมาฝากนี้จะเป็นหนึ่งในการแจ้งข่าวเพื่อการวางแผนทางการเงินของพวกเราทุกคนได้ดีขึ้น และแม้ว่าจะมีตัวช่วยนี้เพิ่มขึ้นแล้ว เราก็ยังไม่อยากให้นอนใจ เพราะเราเชื่อว่าการฝากเงินด้วยการลงทุนอื่นนอกจากการ กบช. ก็ยังเป็นเรื่องจำเป็น ใครที่อยากเริ่มต้น หนหน้าเราจะมาพูดถึงเรื่องการออมแบบเบสิกอื่น ๆ เพื่อให้ทุกคนได้ 101 การออมตามไลฟ์สไตล์กัน

 

ทุกการลงทุนมีความเสี่ยง แต่การไม่ลงทุนเสี่ยงกว่ากันเยอะ

 

SOURCE: 1 / 2

anonymK
WRITER: anonymK
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line