DESIGN

“ช่างสักหินอ่อน” FABIO VIALE ผู้สร้างรอยสักบนรูปปั้นไอคอนิกระดับโลกได้ราวกับผิวหนังมนุษย์

By: anonymK April 22, 2021

ผิวอ่อนนุ่มของมนุษย์เอาเข็มแหลมจุ่มสีจิ้มย้ำลงไปให้เลือดซิบ หมึกซึมเข้าไปในผิวหนัง จะได้รอยสักบ่งบอกตัวตน

ผู้ชายกับรอยสักเป็นของคู่กัน แต่ที่อยู่กับรอยสักได้ดีไม่แพ้ผิวหนังมนุษย์ ก็ผิวของ “หินอ่อน” จากงาน Iconic ที่ถูกเพิ่ม “รอยสัก” เข้าไปจนกลายเป็นงานศิลป์ร่วมสมัย และมีศิลปินท่านนึงที่อาจหาญทำมันได้สำเร็จจนได้

Fabio Viale เกิดใน Cuneo ทางตอนเหนือของ Italy ประเทศที่ขึ้นชื่อด้านหินอ่อนคุณภาพดี เริ่มเข้ามาคลุกคลีกับวงการหินอ่อนเมื่อเข้าเรียนที่โรงเรียนศิลปะตอนอายุ 16 ปี นั่นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขารู้สึกหลงใหลในวัสดุชิ้นนี้ ต่อมาเขาผลิตงานประติมากรรมสลักหินอ่อนมากมาย และมีผลงานบางส่วนที่โด่งดังเข้าตาวงการร้านขายของแอนทีค ถือเป็นจุดเริ่มต้นเส้นทางศิลปินเต็มตัวของ Fabio

เส้นทางก่อนเป็นศิลปินอิสระ คือการสร้างรูปปั้นเพื่อตกแต่งสุสานในเมืองมิลาน แต่หลังทำไปสักพัก Fabio ก็เลือกเส้นทางศิลปินเดี่ยวออกมาทำงานคนเดียว ย้ายจากอิตาลีไปอยู่ทั้งนิวยอร์กและรัสเซีย มุ่งมั่นสร้างผลงานจนในที่สุดเขาก็มีผลงานสร้างชื่อเข้าจนได้ โดยมีรางวัล Cairo Prize ให้ชื่นใจเป็นชิ้นแรก

กระทั่งปี 2015 เขาตัดสินใจทำงานร่วมกับ Poggiali Gallery ใน Florence เพื่อจัดนิทรรศการส่วนตัว และผลงานนั้นได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์เพราะได้รับเกียรติให้นำเข้าไปติดตั้งไว้ในโบสถ์ที่มีชื่อเสียงระดับโลกอย่างมหาวิหารซานโลเรนโซ

แต่ทั้งหมดก็ยังไม่ไวรัลเท่างานล่าสุดที่เรากำลังพูดถึงอยู่นี้ เป็นการสร้างรูปปั้นไอคอนิกตามแบบที่สำคัญในประวัติศาสตร์ แล้วนำมาใส่รอยสักลงไปจากการตีความของ Fabio แต่มันไม่ได้ธรรมดาแค่นั้น เพราะจุดสำคัญคือรอยสักบนหินทั้งหมดนี้ไม่ได้ใช้วิธีทาสีทับธรรมดา แต่ใช้เทคนิคทำให้เหมือนสีซึมอยู่ด้านในจนดูคล้ายกับรอยสักมนุษย์จริง ๆ ไม่มีผิด!

“รูปไอคอนิกจากผลงานของศิลปินทั้งหลาย เปรียบเหมือนสัญลักษณ์ที่เอาชนะกาลเวลา ผมคิดว่ามันไม่ได้เกี่ยวกับประเด็นด้านสุนทรียศาสตร์หรือความสวยงามของงานชิ้นนั้น แต่เป็นเรื่องของการเอาตัวรอดผ่านประวัติศาสตร์มาได้ และยังคงมีความหมายถึงในยุคปัจจุบันที่พวกเรากำลังยืนอยู่

ผมมักจะถูกดึงดูดจากความลึกลับน่าหลงใหลพวกนี้ เช่น The Mona Lisa (Leonardo) หรือ The Pieta (Michelangelo) จนทำให้อยากสร้างมันขึ้นมาอีกครั้ง เพื่อวิเคราะห์และทำความเข้าใจตัวตนของศิลปินที่สร้างผลงานเหล่านี้ขึ้นมา”

Fabio Viale พูดถึงผลงานที่เขาทำขึ้นในครั้งนี้ผ่านบทสัมภาษณ์ของ Designboom หลังจากถูกถามว่า “ทำไมถึงไม่สร้างงานใหม่ขึ้นมาแล้วสักลงไป แต่เลือกใช้งานระดับไอคอนิกของศิลปินคนอื่นมาดัดแปลงสร้างผลงาน”

เรื่องนี้ถ้าเราสังเกตจริง ๆ Fabio ก็ไม่ใช่คนแรกที่นำวิธีนี้มาใช้ แต่ผลงานส่วนใหญ่ในยุคหลัง ๆ เรามักจะเห็นศิลปินหลายคนดึงงานระดับตำนานหลายชิ้นกลับมาดัดแปลงล้อเลียน และงานเหล่านั้นมักจะไปได้ดี เป็นไวรัล จากปัจจัยเหล่านี้ ซึ่งถ้ามองในแง่ที่ดี มันช่วยให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจงานศิลปะ และรู้ความหมายของรูปปั้นเหล่านั้น

งานนั้นเป็นงานตำนานที่ทุกคนมีโอกาสเรียนรู้จากชั้นเรียนประวัติศาสตร์ ทำให้งานติดตาและมีคนรู้จัก เมื่อถูกนำไปปรับบริบทผสมเข้ากับอะไรสักอย่างที่ขัดแย้งกัน ทำให้เกิดความรู้สึกประหลาดใจ สะดุดตา แต่รู้สึกผูกพันได้ง่าย

ซึ่งข้อนี้ Fabio ตีโจทย์แตกเพราะรูปปั้นไอคอนิกที่เขาเลือกใช้มักเป็นผลงานที่เกี่ยวข้องกับศาสนาและวรรณกรรม มีภาพลักษณ์ของความบริสุทธิ์ แต่พอเรือนร่างขาวนวลนั้นถูกแต่งแต้มด้วยรอยสักที่มีภาพจำของความเป็นขบถ มันปรากฏอยู่บนร่างกายพวกอาชญากร ยากูซ่า ก็สร้างความรู้สึกแปลกใหม่ขึ้นได้ในทันที

fabioviale.it

คิดง่าย แต่ทำไม่ง่าย เรารู้ดีว่า หินก็คือหิน มันแข็ง ไม่ได้เจาะฝังหมึกได้ง่ายเหมือนเนื้อหนังของสิ่งมีชีวิต

โจทย์นี้เป็นความท้าทายใหม่ในฐานะศิลปิน การสร้างสรรค์งานที่ทำให้สีติดซึมลึกในเนื้อหินที่ต้องทำให้ดูเหมือนผิวหนังมนุษย์นี้ Fabio อธิบายว่ามันเป็นโจทย์ที่ค่อนข้างยาก เพราะซับซ้อนทั้งเครื่องไม้เครื่องมือ เทคนิค และวิธีการ ซึ่งหัวใจสำคัญของงานนี้คือ “สี” ซึ่งต้องคิดค้นและทดลองร่วมกับนักเคมีนับครั้งไม่ถ้วน

เทคนิครอยสักบนหินอ่อนที่เหมือนแทรกซึมในเนื้อหินอ่อนโดยตรง เกิดจากการทดลองโดยใช้สีเคมีร่วมกับพื้นผิวของเนื้อหิน ว่าง่าย ๆ ก็คือหลังสร้าง Scrupture เสร็จ Fabio ก็ใช้วิธีเพ้นต์ลวดลายบนหินอ่อนด้วยสีพิเศษ บวกกับเทคนิคการใช้สีที่แม่นยำ ทำให้สีที่ทาลงไปดูโปร่ง สมจริง และยังเห็นพื้นผิวของหินอ่อนเทียบได้กับการสักลงไปบนผิวหนังไม่มีผิดเพี้ยน


นอกจากการเลือกภาพคอนทราสต์เพื่อสร้างจุดเด่นแล้ว อีกประเด็นที่เราไม่อยากข้ามไปคือการเล่าเรื่องราวผ่านผลงานศิลป์ หนึ่งในงานหลาย ๆ ชิ้นของเขาคือ “Laocoon and His Sons” หรือที่มีชื่อไทยว่า “เลออโคออนและบุตร”

งานชิ้นนี้เป็นงานระดับ Masterpiece ที่ขุดค้นพบในอิตาลี โดยยังไม่ทราบแน่ชัดว่าใครคือศิลปินเจ้าของผลงาน ประติมากรรมนี้เป็นภาพของนักบวชโทรจันเลออโคออน และบุตร อันทิฟานทีส (Antiphantes) และ ไทม์บราเอียส (Thymbraeus) กำลังถูกรัดโดยงูทะเลจากบทละครของ Sophocles

ที่มาของภาพงูรัดนี้เกิดจากเลออโคออนชาวเมืองทรอยกำลังถูกลงโทษในฐานะที่ไม่เคารพต่อสุริยเทพ จึงต้องถูกงูรัดไปพร้อมลูกทั้ง 2 จนเสียชีวิต

หากเปรียบเทียบประติมากรรมชิ้นนี้กับต้นฉบับ Fabio ตัดลูกทั้ง 2 ออกไปให้เหลือเพียงเลออโคออนที่อยู่ในสภาพใกล้ตายแสดงสีหน้าชัดเจน ส่วนรอยสักก็เป็นอีกผลงานเอกระดับโลก ที่เขาเลือกมาใช้ คืองาน dante’s inferno หรือภาพนรกของดันเต้ ของศิลปิน Giovanni da Modena ที่สื่อให้เห็นภาพของความตายที่รออยู่

การเลือกเล่าความตายปะทะกับภาพของชีวิตหนึ่งที่กำลังจะดับสูญคือเสน่ห์ที่น่าหลงใหล ขณะเดียวกับการแทรกเรื่องราวประวัติศาสตร์ และวรรณกรรมไว้รวมกัน และนำมาเสนอให้คนเกิดความรู้สึกอยากรู้ อยากเห็น อยากติดตาม ก็เป็นอีกวิธีการยืดอายุของผลงานทางศิลปะดั้งเดิมไว้

ศิลปะเกิดใหม่จากการเล่าเรื่องและการนำจินตนาการที่มีมาแต่งแต้ม ค่านิยมความงามและความเชื่อเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยส่งผลให้งานของศิลปินมีรูปแบบที่ปรับเปลี่ยนตาม

งานชิ้นเดียวกัน ถ้าเกิดต่างช่วงเวลาก็ได้รับการตีความต่างกัน ไม่ยกย่องก็โดนทำลาย

แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ผลงานใหม่ ๆ ที่ศิลปินทุกยุคสร้างสรรค์ขึ้น เช่นเดียวกับ Fabio ก็จะทำหน้าที่ในฐานะบันทึกประวัติศาสตร์ไร้ตัวอักษรสะท้อนภาพความคิดของสังคมให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้และเข้าใจต่อ แม้เขาจะไม่ได้อยู่ในยุคนั้น ๆ ก็ตาม

Ars longa, Vita brevis


 

SOURCE: 1 / 2 / 3

anonymK
WRITER: anonymK
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line