DESIGN

FARNSWORTH HOUSE: เลเซอร์สีแดงที่เปลี่ยนบ้านเก่าทรงเรขาคณิตให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง

By: unlockmen October 31, 2019

Farnsworth House เป็นบ้านพักตากอากาศอันโด่งดังของ Edith Farnsworth ที่ตั้งอยู่ทางใต้ของเมืองพลาโน ในรัฐอิลลินอยส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา บ้านรูปทรงเรขาคณิตหลังนี้สร้างขึ้นระหว่างปี 1945-1951 ออกแบบโดย Ludwig Mies van der Rohe สถาปนิกลูกครึ่งเยอรมัน-อเมริกัน ผู้บุกเบิกแนวคิดสถาปัตยกรรมสมัยใหม่

บนพื้นที่ขนาด 10 เอเคอร์ ห้อมล้อมด้วยต้นไม้นานาชนิดและอยู่ห่างจากแม่น้ำฟ็อกซ์เพียง 100 ฟุต การออกแบบบ้านใช้โครงสร้างสถาปัตยกรรมเป็นเรขาคณิต นำเสาเหล็กรูปตัวไอ (I) แปดเสามารองรับโครงหลังคา และยกพื้นบ้านขึ้นจากพื้นดิน 5 ฟุต 3 นิ้ว เพื่อให้มองเห็นสเปซตั้งแต่พื้นจรดเพดานได้อย่างแจ่มชัด

dezeen

ด้วยแนวคิดที่เน้นความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ บวกกับรูปทรงเรขาคณิตที่เป็นเอกลักษณ์ ทำให้ Farnsworth House ถูกขนานนามว่าเป็นสุดยอดสถาปัตยกรรมสไตล์นานาชาติแห่งศตวรรษที่ 20 และเป็นแรงบันดาลใจให้กับผลงานสถาปัตยกรรมชิ้นอื่น ๆ ทั่วโลก

แถม National Trust ยังจัดให้ที่นี่เป็นโบราณสถานเพื่ออนุรักษ์ประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม โดยผู้เข้าชมทุกคนจะต้องเช็กอินที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวและเข้าชมบ้านหลังนี้ได้ต่อเมื่อมีไกด์นำเที่ยวเท่านั้น

แต่เมื่อมีสถาปัตยกรรมใหม่ ๆ ผุดขึ้นทั่วโลก บ้านเรขาคณิตหลังนี้ก็กลายเป็นสถาปัตยกรรมที่ถูกลืม ซ้ำร้ายคือที่ตั้งที่อยู่ไม่ไกลจากแม่น้ำมากนัก ทำให้ Farnsworth House ถูกน้ำท่วมอยู่บ่อยครั้ง เริ่มตั้งแต่ปี 1954, 1996, 1997, 1998 จนถึงปี 2008 แม้ในปี 2014 จะมีข้อเสนอยกระดับความสูงของบ้านเพื่อป้องกันความเสียหายจากอุทกภัย แต่จากวันนั้นจนวันนี้ ข้อเสนอดังกล่าวก็ยังไม่ถูกปรับใช้สักที

Iker Gil ดีไซเนอร์หนุ่มจึงร่วมมือกับสตูดิโอสถาปัตยกรรม Luftwerk นำแสงเลเซอร์สีแดงมาฉายใน Farnsworth House เพื่อผสมผสานบ้านที่มีกลิ่นอายประวัติศาสตร์เข้ากับสื่อร่วมสมัย ดีไซน์แสงเลเซอร์ให้เป็นรูปแบบต่าง ๆ เพื่อขับเน้นรูปทรงเรขาคณิตอันเป็นเอกลักษณ์ของบ้านหลังนี้

เลเซอร์สีแดงถูกตั้งค่าให้ฉายแสงไปยังตำแหน่งที่แตกต่างกัน ช่วยชูความโดดเด่นขององค์ประกอบแต่ละส่วน เลเซอร์ที่ฉายเป็นแนวตั้งจะแบ่งสเปซและจัดวางเพื่อตอกย้ำโครงสร้างเรขาคณิตของบ้าน แต่เลเซอร์บางส่วนก็ถูกฉายเป็นแนวนอนเพื่อสื่อถึงระดับน้ำที่เป็นผลกระทบจากอุทกภัย

dezeen

ทีมนักออกแบบหวังว่าแสงเลเซอร์สีแดงและเสียงดนตรีประกอบจาก Oriol Tarragó จะช่วยให้ผู้คนที่มาเยี่ยมชมเข้าใจแนวคิดการก่อสร้างของบ้าน และอาจทำให้บ้านเก่าที่ถูกลืมหลังนี้มีชีวิตชีวาขึ้นมาได้

การนำแสงเลเซอร์เข้ามาผนวกกับงานดีไซน์นับเป็นการตีความบ้านในรูปแบบความคิดใหม่ ช่วยทำให้เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่ใครหลายคนหลงลืมไปกระจ่างชัดและดูน่าสนใจมากยิ่งขึ้น แต่คงจะดีไม่น้อยถ้าสถาปัตยกรรมในรูปแบบแสงเลเซอร์นี้ จะช่วยให้หน่วยที่เกี่ยวข้องหันมาให้ความสำคัญกับบ้านเก่าแก่หลังนี้มากกว่าเดิม

 

Photography is by Kate Joyce.

 

COVER SOURCE , SOURCES: 12

unlockmen
WRITER: unlockmen
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line