World

FASHION x CULTURE: เพราะแฟชั่นและเรื่องราวน่าสนใจถูกซ่อนไว้ในรูปถ่ายของชาวเมือง NEW YORK

By: TOIISAN February 7, 2019

ภาพถ่ายคือการเก็บเรื่องราวในช่วงเวลาที่เราลั่นชัตเตอร์เพื่อเป็นตัวแทนของความทรงจำ ช่วงเวลา หรือแม้แต่ชั่วขณะหนึ่งของผู้คนตรงหน้า แท้จริงแล้วภาพถ่ายไม่ได้เป็นเพียงแค่ไทม์แคปซูลเท่านั้น แต่ยังสามารถบอกเล่าเรื่องราวต่าง ๆ มากมายนับไม่ถ้วน

Richard Sandler คือช่างภาพชาวอเมริกันผู้ชื่นชอบถ่ายภาพแนวสตรีทและเป็นผู้กำกับสารคดีชื่อดัง เขามีผลงานมากมายเผยแพร่อยู่ทั่วเมืองนิวยอร์ก ไม่ว่าจะไปห้องสมุดสาธารณะ มหาวิทยาลัยแอริโซนา พิพิธภัณฑ์นิวยอร์ก หรือสมาคมประวัติศาสตร์นิวยอร์ก ก็จะต้องพบเห็นผลงานภาพถ่ายของเขาอยู่เสมอ

ริชาร์ดกับเพื่อนนักเขียนของเขาเกิดความคิดที่จะรวบรวมรูปถ่ายจำนวนกว่า 200 รูป มาทำเป็นสมุดภาพ บอกเล่าเรื่องราวบนถนนย่านบอสตันในกรุงนิวยอร์กช่วงปี 1977 -2001 ผ่านหนังสือชื่อว่า The Eyes of the City ที่สะท้อนให้เห็นถึงอะไรหลาย ๆ อย่างได้อย่างไม่น่าเชื่อ

ในมุมของแฟชั่น ภาพถ่ายเหล่านี้ได้สะท้อนถึงชีวิตเหล่าชายหนุ่มกลางนครนิวยอร์กที่มักแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าโทนสีเข้ม และนิยมใส่หมวกกันอยู่บ่อย ๆ

นั่นเป็นเพราะอิทธิพลจากศิลปินชายที่โด่งดังในช่วงเวลานั้นอย่างไมเคิล แจ็คสัน แฟชั่นไอคอนมาแรงที่ไม่ว่าเขาจะสวมใส่อะไรผู้คนก็มักทำตาม อย่างเช่นหมวกทรง Panama ที่ MJ ใส่ในเพลง Billie Jean ก็ทำให้ชายหนุ่มนิยมสวมหมวกกันอย่างแพร่หลาย

นอกจากหมวกสไตล์ Panama ที่หนุ่ม ๆ ฮิตใส่กันแล้ว แฟชั่นของผู้สูงอายุก็นิยมใส่หมวกด้วยเช่นกัน แต่จะเป็นหมวก Flat cap หรือที่เราเรียกกันจนติดปากว่าหมวกคุณปู่แทนหมวกแบบปานามา

เราจะได้เห็นแฟชั่นของวัยรุ่นยุค 80s ที่หญิงสาวจะนิยมไว้ผมยาวดัดลอนให้ฟูฟ่อง ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจเรื่องสไตล์ ทรงผม และการแต่งตัวมาจากนักร้องสาวชื่อดังมาดอนน่า

ส่วนหญิงสาววัยกลางคนไปจนถึงผู้สูงอายุมักจะไว้ผมสั้นและแต่งตัวไปในทางเดียวกัน นั่นคือเสื้อคลุมขนสัตว์ที่ฮิตติดลมบน ทั้งหมดทำให้เราสามารถคาดเดาถึงช่วงเวลาที่ช่างภาพถ่ายรูปไว้ได้

นอกจากนี้รูปถ่ายของริชาร์ดยังสามารถบอกได้ว่าเหตุการณ์ทางด้านสังคมและการเมืองของสหรัฐฯ ในช่วงเวลานั้นเกิดอะไรขึ้นบ้าง เราจะได้เห็นขบวนประท้วงทั้งเรื่องเพศและเชื้อชาติ เห็นถึงค่านิยมของกลุ่มดังกล่าวผ่านรูปถ่าย แถมยังได้รู้ด้วยว่าประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในตอนนั้นคือโรนัลด์ เรแกน

รูปถ่ายสตรีทเหล่านี้ยังสามารถบอกเล่าถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่ยังมีอยู่ทุกยุคทุกสมัยจนถึงปัจจุบัน และสะท้อนถึงปัญหาเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี

แถมภาพถ่ายยังทำให้เห็นอีกด้านของมหานครนิวยอร์ก ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร ท้องถนน หรือโบกี้รถไฟ ที่ไม่ได้ดูสะอาดสะอ้านเหมือนในภาพยนตร์ซักเท่าไหร่ แต่ก็ได้อารมณ์เท่แบบฮิปสเตอร์ไปอีกแบบ

ในช่วง 1977 เป็นต้นมา ถึงแม้กระแสต่อต้านการเหยียดสีผิวและการเรียกร้องความเท่าเทียมกันของมนุษย์จะมีให้เห็นบ้างแล้ว แต่อาชีพของหญิงสาวผิวสีก็ยังมีให้เลือกไม่มากนัก โดยเฉพาะกับสตรีผิวสีวัยกลางคนที่มักจะประกอบอาชีพเดิม ๆ ซ้ำกันอย่างการเป็นพี่เลี้ยงเด็กผิวขาว หรือเป็นพยาบาลดูแลผู้ป่วยและผู้สูงอายุ

นอกจากประวัติศาสตร์ สังคม และแฟชั่น อีกหนึ่งสิ่งที่แสดงออกมาจากรูปถ่ายของริชาร์ดคืออารมณ์ความรู้สึกของเหล่า survival ที่ใช้ชีวิตอยู่ในเมืองที่มีความพลุกพล่านที่สุดแห่งหนึ่งของโลกอย่างนิวยอร์ก ผ่านการแสดงสีหน้าบึ้งตึง ว่างเปล่า และเบื่อหน่ายให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง

ถ้ามองว่าทั้งหมดคือรูปถ่ายธรรมดาและมองผ่านเลยไป ในบางครั้งก็อาจจะพลาดเรื่องราวดี ๆ ที่น่าสนใจได้ เพราะภาพถ่ายไม่ได้เป็นเพียงแค่บันทึกความทรงจำ แต่มันสามารถเป็นได้มากกว่านั้น

 

สำหรับใครที่ชื่นชอบผลงานของริชาร์ด สามารถเขาไปดูเพิ่มเติมได้ที่ richardsandler.com

TOIISAN
WRITER: TOIISAN
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line