FASHION

FASHION x CULTURE: นั่งรถไฟฯ ไปนิวยอร์กยุค 70-80 ผ่านรูปถ่ายเพื่อ “สำรวจแฟชั่นของผู้คน”

By: TOIISAN September 12, 2019

พาหนะอะไรที่สามารถทำให้เราเห็นผู้คนจำนวนมากได้ในคราวเดียว ? หากมีคนถามแบบนี้คำตอบที่ได้ก็คงหนีไม่พ้นระบบขนส่งสาธารณะอย่างรถเมล์และรถไฟที่อัดแน่นไปด้วยผู้คน แต่ในความวุ่นวายก็ทำให้เราได้เห็นสไตล์ที่แตกต่างของผู้คน บางวันเราอาจเจอคนที่แต่งตัวเหมือนกัน 10 คน ยืนอยู่บนชานชาลา หรือเมื่อวานก็อาจเห็นแฟชั่นโคตรเท่จากชายที่ยืนฟังเพลงอยู่ในรถไฟฟ้า 

เพราะสถานีรถไฟกลายเป็นแหล่งรวมคนมากมาย ทำให้มีเรื่องราวหลากหลายเล่าสู่กันฟังผ่านเครื่องแต่งกายที่สามารถบอกว่าไอเทมชิ้นไหนฮิต หรือสไตล์ไหนที่ได้รับความนิยม UNLOCKMEN จึงอยากพาย้อนไปสถานีรถไฟใต้ดินใจกลางมหานคร New York ยังวันเก่าก่อนที่สไตล์ไม่เคยหลุดวงโคจรแฟชั่นไปไหนแฟชั่นช่วงปลายยุค 70 ไปจนถึงช่วงต้นของยุค 80 อันแสนจัดจ้านเป็นตัวของตัวเอง

 

FASHION x MUSIC 
in NYC 70-80s

แฟชั่นผ่านภาพถ่ายแสดงให้เห็นถึงความชอบและวิถีชีวิตของชาว New York ช่วงปี 1977-1984 โดยช่างภาพชาวที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่นาม Willy Spiller เขาบันทึกการเดินทางบนรถไฟผ่านภาพถ่ายทั้งช่วงเวลาเร่งด่วนผู้คนอัดแน่นอยู่เต็มขบวนรถไฟฟ้า ไปจนถึงกลางดึกที่สถานีใกล้ได้เวลาปิดทำการ และการถ่ายภาพของเขากว่า 40 ปี 

เขาเริ่มถ่ายภาพปี 1977 ช่วงปลายของยุค 70 อันโดดเด่นด้วยสไตล์ของ Disco ของเหล่าศิลปินชื่อดังอย่าง Bee Gees หรือ ABBA เพราะการออกไปพบปะผู้คนในบาร์ Disco จึงทำให้เสื้อผ้ายอดฮิตช่วงเวลานั้นคงหนีไม่พ้นเสื้อผ้าพลิ้ว ๆ กับกางเกงขาบาน แล้วยิ่งไอเทมแฟชั่นทำจากผ้าหนัง PVC ก็จะทำให้เรากลายเป็นหนุ่มสุดฮ็อตผู้อยู่ในกระแสแฟชั่นทันที ส่วนหญิงสาวจะถูกแบ่งออกเป็นสองสไตล์ชัดเจนด้วยกระโปรงสั้นเหนือเขากับถุงเท้ายาว หรือจะเลือกใส่กางเกงที่เป็นไอเทมบอกเพศของชายหนุ่ม

กระแสของวัฒนธรรมดนตรีเข้ามามีอิทธิพลต่อสไตล์และการแต่งตัวของชาว New York ไม่ว่าจะเป็นการแต่งตัวตามศิลปินชื่อดังของยุคอย่าง Micheal Jackson เจ้าของฉายาราชาเพลงป๊อป Cyndi Lauper ไปจนถึง Madonna ราชินีเพลงป๊อปของวงการที่เห็นผ่านช่อง MTV อยู่บ่อยครั้ง

ด้วยสไตล์สุดเท่ใครเห็นก็อยากแต่งตามรวมถึงดนตรี Synthpop ที่กระพือสไตล์เพลง Pop ให้รู้จักไปทั่วโลก ทำให้ชาวป๊อปมักนิยมแต่งตัวหลายเลเยอร์ เลือกหยิบจับไอเทมแฟชั่นสีจัดจ้านมาใส่จนตาลายให้เหมือนกับศิลปินใน MV ที่ดูผ่านโทรทัศน์ 

วัฒนธรรม Hiphop ก็มาแรงไม่แพ้กันกับแก๊งบุกเบิกอย่าง Nas หรือ MC Ren เราจะเห็นว่าตามสถานีรถไฟจะมีลวดลาย Graffiti ของชาวแก๊งต่าง ๆ เต็มไปหมด เพราะยุค 80 คือช่วงเวลาของการเกิดสไตล์ Hiphop ที่มักมาคู่กับกีฬา ทำให้เสื้อคลุมเบสบอลเป็นอีกหนึ่งในไอเทมที่พบเห็นบ่อยพร้อมกับการดัดผมสุดฮิตให้ฟูฟ่องจากปี 1980 

ชาวร็อกกับพังก์ก็เป็นหนึ่งในกลุ่มที่มีเอกลักษณ์ทางแฟชั่นไม่แพ้ใคร การเปลี่ยนผ่านทางแฟชั่นระหว่างยุค 70 ไปยังยุค 80 มาพร้อมกับศิลปินรวมถึงวงดนตรีชื่อดังอย่าง Bon Jovi, Metallica, Queen และ Poison เหล่าคนฟังเพลง เหล่าแฟนคลับก็พากันแต่งตัวตามศิลปินที่ชื่นชอบ ทั้งหารองเท้าบูตทรงสูงมาใส่ พกผ้าพันคอ สวมใส่กางเกงทรงกระบอกหลวม ๆ พร้อมกับเสื้อหนังและโค้ทยาวสวมทับเสื้อเชิ้ตหลายชั้น ถึงแม้ว่าเสื้อหลายชั้นจะทำให้ร้อนแต่ก็ทนได้เพราะมันเท่ 

 

FASHION x CULTURE
in NYC 70-80s

นอกจากบทเพลงที่ส่งผลต่อแฟชั่น วัฒนธรรมและความคิดก็สร้างสรรค์สไตล์ใหม่ ๆ ด้วยเช่นกัน เราสามารถยืนยันได้จากภาพถ่ายของช่างภาพอีกหนึ่งคนนามว่า  Christopher Morris ในยุค 70 ที่หลายคนเรียกมันว่ายุคปฏิวัติสังคมของอเมริกา เหตุการณ์ใหญ่อย่างสงครามเวียดนาม สภาพเศรษฐกิจที่ดิ่งลง ความขัดแย้งทำให้เด็กรุ่นใหม่ต่อต้านสังคม ค่านิยมทางความคิดเริ่มเปลี่ยน

พวกเขาไม่พอใจการกระทำของผู้ใหญ่และพยายามเดินตามเส้นทางของตัวเอง วัฒนธรรมย่อยอย่างกลุ่มบุปผาชน หรือที่เราเรียกกันจนชินปากว่า Hippie ก็เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้ พร้อมกับแฟชั่นสไตล์โบฮีเมียน (Bohemian) ที่ไม่ซ้ำใคร ผู้หญิงใส่กระโปรงยาวกรุยกราย ส่วนผู้ชายเริ่มไว้ผมยาว

แฟชั่นที่ไม่ว่าหันไปทางไหนก็เจอคือการสวมเสื้อสไตล์ Shouldder Pad หรือ แผ่นรองบ่า เพื่อให้ไหล่ตั้งตรง การแต่งกายช่วง 80 มักสื่อความหมายแฝงถือเรื่องความเท่าเทียมกันระหว่างเพศ นอกจากนี้ค่านิยมของยุค 80 นอกจากเรื่องเพศก็ร้อนแรงไปด้วยสิทธิความเท่าเทียมกัน อำนาจ เงิน และฐานะ ส่วนเด็กรุ่นใหม่มักสวมใส่เครื่องแต่งกายเพื่อสื่อความในใจที่อยากบอกให้ผู้ใหญ่ได้รับรู้ 

จะเห็นได้ว่าสไตล์ของแฟชั่นเป็นสิ่งที่หมุนเวียนเปลี่ยนผ่านไปเรื่อย ๆ บางครั้งแฟชั่นเกือบ 50 ปีที่แล้ว ก็กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง และใครจะคิดว่ารูปถ่ายที่เก็บภาพชีวิตของผู้คนจะสื่อความถึงแฟชั่นได้ชัดเจนขนาดนี้

 

 

Images courtesy of the artist. © Willy Spiller and Christopher Morris 

TOIISAN
WRITER: TOIISAN
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line