Life

เครียด! เงินไม่พอใช้!! ทำอย่างไรดีเมื่อเจอกับความเครียดเรื่องเงิน

By: unlockmen November 15, 2020

หลายคนอาจดีใจเวลาเงินเดือนออก แต่สำหรับบางคนอาจไม่ได้มีความสุขกับวันเงินเดือนออกขนาดนั้น เพราะกำลังถือค่าใช้จ่ายสารพัด ไม่ว่าจะเป็น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าหอพัก ค่าอาหาร แถมยังมีค่าเข้าสังคมต่างๆ อีก รู้ตัวอีกที ก็ไม่มีเงินเก็บไว้ทำอย่างอื่นแล้ว !!

เราเข้าใจว่า ปัญหาเรื่องเงินบั่นทอนพลังกายและใจ และทำให้ทุกคนปวดหัวพอสมควร ในบทความนี้ UNLOCKMEN จึงอยากมาแชร์วิธีรับการมือกับ ความเครียดด้านการเงิน (Finanacial Stress) ที่ได้ผล และทุกคนสามารถทำตามได้อย่างดาย


ปัญหาการเงิน ความเครียดของพวกเราทุกคน

หลายคนพอได้ยินเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ อาจรู้สึกดาวน์ เพราะกำลังเจอกับวิกฤตด้านการเงินอยู่ แถมพอลองเปิดกระเป๋าสตางค์ดู ก็ยิ่งเศร้าหนักขึ้นไปอีก เพราะไม่รู้ว่าจะเอาชีวิตรอดผ่านเดือนนี้ไปได้ ด้วยเงินจำนวนเท่าที่มีอยู่ได้อย่างไร

สำหรับคนไทย เรื่องเงินเป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้ทุกคนเครียดมากที่สุดติดต่อกันหลายปี อ้างอิงจาก สวนดุสิตโพล ที่สำรวจคนไทยระหว่างวันที่ 16 -18 ก.ย. 63 พบว่า เรื่องที่คนไทยเครียดมากที่สุด คือ ของกินของใช้แพง รองลงมา คือ การทุจริตคอรัปชัน และโควิด 19 สอดคล้องกับเมื่อปีที่แล้ว เอยูโพล มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ สำรวจคนในกรุงเทพฯ เชียงใหม่ ขอนแก่น และสงขลาระหว่างวันที่ 3 – 30 พ.ย. 62 พบว่า ปัญหาที่ทำให้คนไทยเครียดมากที่สุด คือ สภาพเศรษฐกิจ การเงิน ปัญหาปากท้อง

ดังนั้น ความกังวล ความกลัว ความตื่นตระหนักเรื่องเงิน หรือที่เราเรียกกันว่า ‘Financial Stress’ เลยเป็นเรื่องที่อยู่ใกล้ตัวทุกคน ซึ่งมันน่ากลัวตรงที่ว่า มันสามารถทำให้เกิดอาการร้าย ๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็น ปวดหัว เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย ฯลฯ แถมเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็น โรคนอนไม่หลับ (Insomnia) และภาวะซึมเศร้า ด้วย

ทุกคนเลยจำเป็นต้องรู้วิธีรับมือกับมัน เพื่อให้สุขภาพกายและใจไม่ถูกปัญหากัดกินมากเกินไป เดี๋ยวจะอธิบายต่อไปว่าเราจะรับมือกับความเครียดด้านการเงินได้อย่างไรบ้าง


ปรึกษาคนอื่น

สิ่งแรกที่เราควรทำ เวลาเกิดความเครียดเรื่องการเงิน คือ เผชิญหน้ากับมัน เช่น ถ้าเครียด เพราะกลัวว่าไม่มีเงินเก็บ อาจลองคิดต่อดูว่า อะไรคือสาเหตุที่ทำให้เราเกิดความคิดแบบนั้นมา เป็นต้น ยิ่งเราหนีจากสิ่งที่กลัว เราจะยิ่งไม่สบายใจ และเกิดความเครียดสะสม ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาทางสุขภาพจิตที่น่ากังวลได้ ดังนั้น หากเรื่องเงินทำให้เรากังวลใจ หรือ เครียด ลองสูดลมหายใจเข้าลึก ๆ จะช่วยให้เรารู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น และกล้าเผชิญหน้ากับปัญหามากขึ้น

วิธีการเผชิญหน้ากับความเครียดที่ดีวิธีหนึ่ง คือ การปรึกษาคนอื่น เพราะเวลาเครียด เรามักจะจมกับปัญหาและความรู้สึกด้านลบที่เกิดขึ้นมากเกินไป ส่งผลให้เราแก้ไขปัญหาได้ยากขึ้น นอกจากนี้ บางคนอาจมีอาการกลัวเงินมากเกินไป หรือที่เรียกว่า ‘Chrometophobia’ ด้วย เราเลยอยากแนะนำให้ทุกคนลองมองหาใครสักคนที่คุยได้เวลาเกิดความเครียด จะช่วยให้อาการมันดีขึ้นได้


ทบทวนการใช้เงินของตัวเอง

ความเครียดเกิดขึ้นได้จากการกระทำของเราเองเหมือนกัน เช่น เราอาจเครียดเรื่องเงิน เพราะเราได้ใช้เงินแบบไม่มีการวางแผน หรือ เสียเงินให้กับสิ่งที่ไม่จำเป็นมากเกินไป จนเรามีเงินไม่พอใช้ เราเลยต้องมีการทบทวนพฤติกรรมการใช้เงินของตัวเอง ลองดูว่าส่วนใดที่เป็นปัญหา ซึ่งเมื่อเราค้นพบต้นตอของความเครียดแล้ว เราจะแก้ไขมันได้ง่ายขึ้น

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราค้นพบว่า ที่ผ่านมาเราอดใจไม่ได้ที่จะซื้อสิ่งของที่ไม่จำเป็น ครั้งต่อไป เราต้องมีวิธีการแก้ปัญหานี้ เพื่อให้การเงินดีขึ้น เช่น ลองถามตัวเองว่ามันเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องซื้อในทันทีหรือไม่ หรือ ลองหักห้ามใจตัวเอง และศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับมันให้มากขึ้น เป็นต้น การกระทำเหล่านี้จะช่วยให้เราพบเจอกับวิกฤตการเงินน้อยลง


พยายามรักษาชีวิตประจำวันแบบเดิมไว้

ความเครียดอาจก่อให้เกิดพฤติกรรมที่ผิดปกติต่าง ๆ เช่น ทานอาหารน้อยลง ออกกำลังกายน้อยลง เก็บตัวอยู่คนเดียวมากขึ้น เป็นต้น สภาวะเหล่านี้สามารถทำให้เรามีภูมิต้านทานต่อความเครียดน้อยลง และคุณภาพชีวิตแย่ลงด้วย ดังนั้น เวลาเครียด ทุกคนต้องพยายามอย่างเต็มที่เพื่อรักษาชีวิตประจำวันปกติเอาไว้ เช่น ตื่นนอนให้เป็นเวลา ออกกำลังกาย และทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เพื่อให้ทุกคนมีความพร้อมรับมือกับความเครียดมากที่สุด


วางแผนการเงิน

วินัยในการใช้เงินก็จำเป็นเหมือนกัน เพราะถ้าไม่รู้ว่าจะจัดสรรค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนอย่างไร เราก็อาจใช้เงินแบบไม่มีลิมิต รู้ตัวอีกที เงินก็อาจไม่พอใช้ซะแล้ว!! ลองลิสต์ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นทั้งหมดใน 1 เดือน ดูว่าต้องเสียค่าใช้จ่ายต่อเดือนไปกับเรื่องอะไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็น ค่ากิน ค่าอยู่ ควรใช้ไม่เกินเดือนละเท่าไหร่ เมื่อเราตั้งกำแพงค่าใช้จ่ายของเราได้แล้ว จะช่วยให้เราควบคุมค่าใช้จ่ายของตัวเองได้มากขึ้น และรักษาให้เงินในกระเป๋าเพียงพอต่อการใช้ชีวิตตลอดเดือนต่อไป


Appendixs: 1 / 2 

 

 

 

unlockmen
WRITER: unlockmen
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line