Life

“โคตรขี้เกียจทำงานเลย” มาเพิ่มสมาธิให้เราทำงานดีขึ้น ด้วย 5 วิธีเข้าโหมด Flow อย่างง่ายดาย

By: unlockmen February 2, 2021

มันต้องมีสักครั้งที่เรารู้สึกเหมือนโลกทั้งใบมีแค่ ‘เรา’ กับ ‘สิ่ง’ ที่อยู่ตรงหน้า เราโฟกัสกับสิ่งนั้นอย่างจริงจัง ทุมเทพลังงานและความสนใจให้กับมัน จนเราไม่สนใจสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวเลย  แต่พองานจบลงความรู้สึกเหล่านั้นก็หายไปเหมือนไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ปรากฎการณ์นี้มีชื่อเรียกว่าสภาวะ ‘Flow’ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการใช้ชีวิตและการทำงานอย่างมาก แต่ก็ยากที่จะเข้าถึงเหมือนกัน UNLOCKMEN เลยอยากมาแชร์วิธีการเข้าโหมดโฟลว์อย่างง่ายดาย เพื่อให้ทุกคนนำไปปรับใช้และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น


WHAT IS THE FLOW STATE ?

โฟลว์ (flow) คือ สภาวะที่เราจมอยู่กับกิจกรรมหรืองานอย่างเต็มตัวในช่วงเวลาหนึ่ง โดยที่เราไม่สนใจสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเองและรอบข้าง ซึ่งคำนี้มีที่มาจาก มิฮาย ชิกเซนต์มิฮายยี (Mihály Csíkszentmihályi) นักจิตวิทยาเชิงบวกในปี 1975 และได้รับการสนใจมาจนถึงปัจจุบัน  ว่ากันว่าเวลาเราเกิดโฟลว์ สมองส่วนคอร์เทกซ์กลีบหน้าผากส่วนหน้า (prefrontal cortex) ซึ่งเกี่ยวข้องกับความคิดขั้นสูง อาทิ ความทรงจำ รวมถึง การมีสติรู้ตัว อาจหยุดทำงานชั่วคราว ส่งผลให้เกิดการรับรู้เวลาผิดเพี้ยน ไม่รู้สึกตัว และไม่ได้ยินเสียงจิตใจของตัวเอง นอกจากนี้การหลั่งของสารเคมีที่ชื่อว่า โดปามีน อาจเกี่ยวข้องกับการเกิดโฟลว์ด้วย

หลายคนอาจไม่เกิดโฟลว์บ่อย เพราะโหมดโฟลว์ไม่ได้เกิดขึ้นง่าย ๆ ต้องมีเงื่อนไขที่จำเป็น มันถึงจะเกิดขึ้น นั่นคือ เป้าหมายที่ชัดเจนและการได้รับฟีดแบคในทันที กล่าวคือ เมื่อเราเจอกับปัญหาที่สามารถแก้ไขได้ด้วยความสามารถของตัวเอง ไม่ยากและง่ายจนเกินไป  และระหว่างการทำงาน เรารู้ว่าต้องปรับเปลี่ยนอะไร เพื่อให้ไปถึงเป้าหมายได้ง่ายขึ้น  สิ่งเหล่านี้เป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้เราเข้าสู่โหมดโฟลว์ จมจ่ออยู่กับงาน และอาจตัดขาดจากโลกภายนอกอย่างสิ้นเชิง

ถ้าถามว่าทำไมเราถึงต้องเข้าโหมดโฟลว์เวลาทำเรื่องต่าง ๆ ด้วย ? ก็เพราะมันมีประโยชน์หลายอย่างนะสิ !! ไม่ว่าจะเป็น ช่วยให้เราสามารถควบคุมอารมณ์ได้ดีขึ้น ช่วยให้เรารู้สึกสนุกและอินกับสิ่งที่ทำมากขึ้น  ช่วยให้เราทำงานได้ดีขึ้น และช่วยให้เราจดจ่อกับงานได้มากขึ้นด้วย ดังนั้น ถ้าเขาโหมดนี้ได้บ่อย ๆ มันก็เป็นเรื่องดีต่อการใช้ชีวิตของเรา


HOW TO GET INTO THE FLOW ?

อย่างไรก็ตาม โฟลว์มักเกิดขึ้นในตอนที่เราทำงานหรือกิจกรรมที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ เช่น การเพ้นท์รูป การวาดรูป การเขียน รวมถึง ตอนที่เรามีส่วนร่วมในกีฬาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น สกี เทนนิส ฟุตบอล เต้น หรือ วิ่ง เป็นต้น คนที่ทำงานสายอื่นที่ไม่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ อาจเข้าโหมด Flow ได้ยากหน่อย แต่ก็ใช่ว่าจะเข้าไม่ได้ !! เรามีวิธีที่จะช่วยให้ทุกคนเข้าโหมดโฟลว์ได้อย่างง่ายดายมาฝากกันด้วย ลองมาดูกันว่าจะมีวิธีอะไรที่ทุกคนควรนำไปปรับใช้บ้าง

เลือกงานที่เหมาะสมกับสกิลของตัวเอง

งานที่ยากเกินไปมักทำให้เรากังวลและเครียด ส่วนงานที่ง่ายเกินไปมักทำให้เราไม่เกิดแรงจูงใจในการทำ และทำให้เราไม่สามารถเข้าโหมดโฟลว์ได้ด้วย ดังนั้น เราเลยจำเป็นต้องเลือกงานที่เหมาะสมกับความสามารถของเรา งานที่เราสามารถทำได้โดยไม่ต้องเครียดหรือกังวลจนเกินไป แล้วเราจะเกิดโฟลว์เวลาทำงานได้ง่ายขึ้น

มีเป้าหมายที่ชัดเจน
ถ้าเรามีเป้าหมายในการทำงานที่ชัดเจน เรารู้ว่าตอนไหนควรทำอะไร และงานนี้จะจบลงเมื่อไหร่ มันจะช่วยให้เราเข้าโหมดโฟลว์ได้ง่ายขึ้น เพราะเราไม่ต้องมานั่งคิดว่าถ้าทำขั้นตอนนี้เสร็จแล้ว ต่อไปควรทำอะไรต่อดี ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ทำให้เราเสียสมาธิ เมื่อไม่มีอะไรมากวนสมาธิเราได้แล้ว เราก็จะสามารถทำงานได้อย่างลื่นไหล พร้อมโฟกัสและจมกับงานที่ทำอยู่ได้อย่างเต็มที่

อย่าให้อะไรมารบกวนเราได้!
ถ้าเราชอบดูโทรศัพท์ระหว่างทำงาน หรือ ชอบทำอะไรหลายอย่างพร้อมกัน เราอาจเข้าโหมดโฟลว์ได้ยาก เพราะเราจะเสียโฟกัส ดังนั้น ถ้าอยากเข้าโหมดโฟลว์ เราขอแนะนำให้เปลี่ยนมาเป็นทำอะไรที่ละอย่างดีกว่า เราจะได้มีสมาธิกับงานได้อย่างเต็มที่ นอกจากนี้ถ้าเราหิวหรือง่วงนอนก็เข้าโหมดโฟลว์ยากเหมือนกัน เพราะเราจะถูกรบกวนตลอดเวลา ฉะนั้นอย่าลืมดูแลกายและใจของตัวเองให้มีความพร้อมตลอดเวลาด้วย

เลิกคิดถึงสิ่งีท่ควบคุมไม่ได้!
เมื่อเรากังวลกับอดีต หรือ เรื่องที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เกิดความเครียด และคิดมาจากความคิดเหล่านั้น แน่นอนว่า เราจะเข้าโหมดโฟลว์ได้ยาก เพราะความคิดเหล่านี้จะกวนใจเราตลอดเวลา ปัญหานี้แก้ได้ด้วยการโฟกัสกับปัจจุบัน ซึ่งจะช่วยให้เราละความสนใจจากความคิดเหล่านั้น และเข้าโหมดโฟลว์ได้อย่างง่ายดายมากขึ้น เวลาทำงาน ลองหายใจเขาลึก ๆ ดู จะช่วยให้เราโฟกัสได้มากขึ้น

โฟกัส โฟกัส โฟกัส

เพ่งความสนใจให้กับงานที่กำลังทำอยู่ในเวลานั้นอย่างเต็มที่ พยายามควบคุมตัวเองให้มาสนใจกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า และเลิกใช้โหมด Autopilot จัดการชีวิตตัวเองซะ เท่านี้เราก็สามารถเข้าโหมดโฟลว์ได้อย่างง่ายดายแล้ว !

อย่างไรก็ตาม แม้โหมดโฟลว์จะช่วยให้เราทำงานหรือกิจกรรมอื่น ๆ ได้ดีขึ้นได้ แต่เราไม่แนะนำให้ทุกคนพยายามสร้างโหมดโฟลว์มากเกินไป เพราะถ้าเราฝืนมากเกินไป แล้วมันไม่เกิดขึ้น เราอาจจะผิดหวัง เครียด แล้วเกิดความทุกข์ได้ โฟลว์เป็นภาวะที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ แต่ละคนอาจเข้าถึงโฟลว์ได้ด้วยวิธีที่ต่างกัน ดังนั้น  เราต้องค่อย ๆ เรียนรู้ไปว่าอะไรที่ทำให้เราเกิดโฟลว์ แล้วนำมาปรับใช้กับตัวเองจะดีที่สุด    


Appendixs: 1 / 2

unlockmen
WRITER: unlockmen
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line