Life

ความคิดเป็นพิษอยู่รึเปล่า ? ตรวจสอบ 5 พฤติกรรมทางจิตที่บั่นทอนชีวิตของเรา

By: unlockmen September 28, 2020

สิ่งที่ทำร้ายเราได้ ไม่ได้มีแค่ คนเลว สัตว์ร้าย หรือ อุบัติเหตุบนท้องถนน แต่จิตใจของเราเองก็สามารถทำร้ายเราได้เช่นกัน และว่ากันว่า จิตใจเราเองนี่แหละที่ทำร้ายเราได้อย่างเจ็บแสบมากที่สุด!!!

ฟรีดริช นิทเช่ นักปรัชญาชาวเยอรมันผู้มีชื่อเสียงโด่งดัง เคยกล่าวในงานเขียนของตัวเอง “Thus Spoke Zarathustra” ว่า “ศัตรูที่เลวร้ายที่สุดเท่าที่คุณเคยเจอมามักเป็นตัวคุณเสมอ” (the worst enemy you can meet will always be yourself) ซึ่งก็น่าจะจริง เพราะในทางจิตวิทยามีสิ่งที่เรียกว่า ‘การทำร้ายตัวเองทางอารมณ์’ (emotional self-harm) ที่สามารถสร้างความเสียหายให้กับเราได้ไม่ต่างจากการทำร้ายตัวเอง แต่ร้ายแรงกว่า เพราะ บางคนอาจกำลังทำร้ายตัวเองอยู่ตลอดเวลา แต่ไม่รู้ตัว!

วันนี้ UNLOCKMEN จึงอยากมาเตือนทุกคนถึงภัยของ emotional self-harm โดยการบอกเล่า 5 อาการทางจิตที่เป็นการทำร้ายตัวเอง พร้อมแนะนำวิธีการป้องกัน และละเลิกนิสัยต่างๆ ที่ทำให้เกิดอาการเหล่านี้ เพื่อให้ทุกคนมีสุขภาพดีกันถ้วนหน้า!!

 

วิจารณ์ตนเอง (self-criticism)
Birdman or (The Unexpected Virtue of Ignorance) | Plot, Cast, Awards, & Facts | Britannica

https://www.britannica.com/topic/Birdman-film

แม้การวิจารณ์ตนเองจะช่วยให้เราได้เรียนรู้ถึงข้อผิดพลาดที่เคยเกิดขึ้นในอดีต แต่ถ้าเราวิจารณ์ตัวเองในระดับที่รุนแรงมากเกินไป ก็อาจส่งผลเสียหลายอย่าง เช่น ทำให้เราไม่ยอมรับความเสี่ยงในการทำงานยากๆ ไม่พิจารณาความคิดเห็นที่หลากหลาย (โทษตัวเองอย่างเดียว) เป็นต้น และร้ายที่สุดเราอาจเชื่อว่าตัวเองไม่มีความสามารถมากพอที่จะทำงาน จนเราไม่สามารถทำงานได้อย่างมีความสุขอีกเลย self-criticism ยังส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตของเราด้วย เช่น ทำให้เป็นภาวะซึมเศร้า หรือ ทำร้ายร่างกายตัวเอง

ดังนั้น ถ้าพบว่ากำลังวิจารณ์ตัวเองหนักมากๆ ก็ควรรีบหาทางจัดการกับมัน เริ่มจากเรียนรู้ว่าเสียงวิจารณ์ที่อยู่ภายในใจเรา (inner critic) มีหน้าที่ปกป้องเราและต้องการให้เราหลุดพ้นจากประสบการณ์ร้ายๆ ที่พบเจอมาจากคนรอบข้าง เช่น ไม่ถูกยอมรับ หรือ ความอับอายขายหน้า เมื่อเราตระหนักถึงเรื่องนี้และเข้าใจใน inner critic มากขึ้นแล้ว เราก็จะสามารถหยุดยั้งมันได้ โดยการเปลี่ยนคำวิจารณ์ให้กลายเป็นคำให้กำลังใจแทน

 

เอาอกเอาใจคนอื่นตลอดเวลา (people-pleasing)
Yes. GIF by Reactions | Gfycat

https://gfycat.com/deepdeafeningfirecrest-yes-jim-carrey

การเอาอกเอาใจคนอื่นเป็นสิ่งที่ดี เพราะมันเป็นพฤติกรรมที่แสดงให้เห็นว่าเราไม่ได้มี ego และเห็นแก่ส่วนรวม แต่อย่างไรก็ดี การเอาอกเอาใจคนอื่นมากเกินไป หรือ มีนิสัยที่เรียกว่า ‘people-pleasing’ ก็ส่งผลเสียต่อกายและจิตใจของเราเหมือนกัน เพราะอาจทำให้เสี่ยงเป็นโรคเหล่านี้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น โรคหัวใจ เบาหวาน มะเร็ง โรคอ้วน และโรคภัยไข้เจ็บที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบ รวมถึง ภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล และปัญหาทางจิตใจอื่นๆ

ซึ่งสาเหตุที่ทำให้นิสัย ‘people-pleasing’ ส่งผลเสีย ก็เป็นเพราะ คนที่มีนิสัยแบบนี้มักชอบเอาอกเอาใจคนอื่นเพื่อเรียกร้องอะไรบางอย่าง เช่น การยอมรับ แต่สุดท้ายพวกเขาก็พบว่าต่อให้เอาใจคนอื่นมากแค่ไหน ก็ไม่ได้รับการยอมรับเท่าทีควรอยู่ดี บางครั้งพวกเขาไม่ได้ใส่ใจความต้องการของตัวเองเท่าทีควร เพื่อเอาอกเอาใจคนอื่น ส่งผลให้พวกเขากลายเป็นคนเก็บกด และเมื่อคนอื่นก็ไม่ได้เข้าใจความต้องการของพวกเขาด้วย พวกเขาก็จะรู้สึกเหงาโดดเดี่ยวมากกว่าคนอื่น และสูญเสียสุขภาพจิตตามมา

ดังนั้น หากใครที่มีนิสัย ‘people-pleasing’ อยู่ก็ควรเลิกซะ และหันมาให้ความสำคัญกับความต้องการของตัวเองมากขึ้น ปฏิเสธที่จะรับงานที่ไม่จำเป็นต้องทำ กำหนดขอบเขตกับคนอื่น และทำตามใจของตัวเองบ้าง แล้วชีวิตจะมีความสุขมากขึ้น!

 

เก็บอารมณ์ (holding in emotions)

Style notes from Wong Kar-wai — Hashtag Legend

ว่ากันว่า ผู้ชายถูกสั่งสอนกันมาว่าให้เก็บอารมณ์ และต้องทำตัวมีเหตุผลอยู่ตลอดเวลา แต่การเก็บอารมณ์ไว้ในใจนานๆ ก็ก่อให้เกิดความเครียดเรื้อรังได้เหมือนกัน เพราะมันทำให้เรารู้สึกไม่สบายใจจากการที่มีอารมณ์ที่ไม่น่าพอใจเก็บไว้ในใจ แล้วพอเก็บความรู้สึกนี้ไว้นานๆ ก็ก่อให้เกิดความเครียดสะสมได้ ซึ่งความเครียดเรื้อรังส่งผลให้เราเป็นทั้งโรคหัวใจ ไมเกรน ภูมิคุ้มกันบกพร่อง และเสียสุขภาพจิต

ใครที่เก็บกดอารมณ์อยู่ จึงต้องรู้จักวิธีการบริหารอารมณ์ที่ถูกต้อง ผ่านแนวคิดความฉลาดทางอารมณ์ (emotional intelligence) ซึ่งหมายถึง ความสามารถในการเข้าใจและควบคุมอารมณ์ของตัวเองและผู้อื่น
อันเป็นทักษะสำคัญของการใช้ชีวิตในยุคนี้ (สามารถอ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ที่นี่: https://www.facebook.com/unlockmenthailand/photos/a.178613818965403/1609717332521704/?type=3)

 

คิดบวกแต่ในใจเป็นลบ (toxic positivity)

Project Fight Club GIF - Project FightClub EverythinsGonnaBeFine - Discover & Share GIFs

หลายคนคงเคย เวลาเศร้าๆ แล้วคนรอบข้างอาจบอกว่า “คิดบวกเข้าไว้ แล้วทุกอย่างจะดีเอง” แน่นอนว่า การคิดบวกมันก็ช่วยให้เรามีความสุขมากขึ้นได้ แต่ถ้าคิดบวกโดยไม่สนใจความคิดด้านลบที่อยู่ในใจ มันก็คือการเก็บกดอารมณ์ ซึ่งก็อย่างที่บอกไปแล้วว่าทำให้เกิดผลเสียอะไรบ้าง นอกจากนี้การพยายามคิดบวกมากเกินไป (หรือที่เราเรียกกันว่า พวกโลกสวย) ยังเป็นการปฏิเสธความจริง และไม่ซื่อสัตย์กับตัวเองและคนอื่นด้วย ส่งผลเสียต่อความสัมพันธ์อีก

คนที่ toxic positivity จึงต้องรีบเปลี่ยน mindset ใหม่ โดย หันมาสนใจความรู้สึกที่แท้จริงของตัวเองให้มากขึ้น เลิกคิดว่ามันไม่ดีที่จะแสดงความรู้สึกด้านลบ ซื่อสัตย์กับตัวเอง มองโลกตามความเป็นจริงมากขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดความเครียดเรื้อรัง และใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับคนอื่นได้อย่างมีความสุข

 

มองโลกในแง่ลบมากเกินไป (pessimism)
Best Actor: Alternate Best Actor 1983: Al Pacino in Scarface

https://actoroscar.blogspot.com/2014/09/alternate-best-actor-1983-al-pacino-in.html

การคิดถึงแต่เรื่องแย่ๆ เช่น คิดว่าคนอย่างเราคงไม่มีวันประสบความสำเร็จ คิดว่าคนอื่นมองเราไม่ดี คิดว่าตัวเองไม่สามารถพัฒนาได้ เป็นต้น ย่อมส่งผลเสียต่อทั้งการทำงานและการใช้ชีวิต เพราะทำให้ขาดความทะเยอทะยานในการทำงาน หมดแรงจูงใจในการทำงาน ทำให้ไม่ก้าวหน้า และไม่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน นอกจากนี้ การมองโลกในแง่ร้ายมาเกินไปยังส่งผลเสียต่อสุขภาพกาย เพราะงานวิจัยบอกว่า มันเราทำให้มีโอกาสเสียชีวิตจากโรคหัวใจมากขึ้น และยังส่งผลต่อสุขภาพจิต เพราะมันทำให้เราไม่ค่อยมีความสุข รู้สึกซึมเศร้า สิ้นหวัง และเกิดความคิดอยากฆ่าตัวตายได้

ดังนั้น อย่ามองโลกในแง่ลบมากเกินไป ควรมองโลกให้สอดคล้องกับความเป็นจริง ซึ่งทำได้โดยการตัดสินทุกเรื่องอย่างเป็นกลาง (หรือ ใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์) ตั้งคำถามกับความคิดด้านลบบ่อยๆ นำความผิดพลาดที่เคยเกิดขึ้นมาเป็นบทเรียนไม่ใช่ความกลัว ถ้าทำสิ่งเหล่านี้ได้ ความคิดลบก็จะรังควานชีวิตเราน้อยลง

 

อย่างไรก็ตาม คำแนะนำที่เรามอบให้ก็เป็นวิธีการแก้ไขคร่าวๆ ถ้าเกิดรู้สึกว่ามีอาการเหล่านี้ และมันรุนแรงเกินจะแก้ไขด้วยตัวเอง เราขอแนะนำให้ขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็น พ่อแม่ เพื่อน หรือ แฟน ฯลฯ รวมถึง ผู้เชี่ยวชาญ ไม่ว่าจะเป็น จิตแพทย์ หรือ นักจิตวิทยา เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้องต่อไป

 

Appendix: 1 / 2 / 3 / 4

unlockmen
WRITER: unlockmen
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line