DESIGN

GIRARD-PERREGAUX NEO CONSTANT ESCAPEMENT : นาฬิการะดับ MASTERPIECE ผสานศาสตร์แห่งจักรกลชั้นสูง เข้ากับศิลปะงานออกแบบสุดประณีต

By: NTman December 19, 2023

ย้อนไปในปี 2013 เป็นปีที่นาฬิกา Constant Escapement L.M. หนึ่งใน Collection Bridges จาก Girard-Perregaux ได้อวดสายตาแก่ชาวโลก พร้อมเสียงตอบรับที่ดีมากมาย ทำให้สามารถคว้ารางวัล ‘Aiguille D’Or’ ของงาน GPHG (Grand Prix d’Horlogerie de Genève) ได้ในปีเดียวกัน ด้วยจุดเด่นของ Constant Force Escapement ซึ่งเป็นกลไกที่ช่วยจัดการพลังงานได้อย่างลื่นไหล สร้างความเสถียรแม่นยำให้กับอัตราการเดินอย่างน่าทึ่ง

ซึ่งเป็นสิ่งที่ตอกย้ำความมุ่งมั่นตั้งใจของ Constant Girard ช่างทำนาฬิกาชาวสวิสผู้อุทิศชีวิตให้กับความก้าวหน้าของโครโนมิเตอร์ มาตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 กับการทำงานหนักอย่างต่อเนื่องเพื่อบรรลุเป้าหมายในภารกิจการพัฒนาโครโนมิเตอร์ ได้มีการสร้างนาฬิกาพกที่มีความแม่นยำสูงหลายเรือนพร้อมกลไก Tourbillon

ความเป็นเลิศของนาฬิกาเหล่านี้ได้รับการพัฒนาจนได้รับรางวัลมากมาย ในปี 1860 เขาได้ร่างภาพการออกแบบกลไกด้วยสะพานจักรกลที่ขนานกันสามแห่ง ซึ่งนาฬิกาพกนี้เปิดตัวในปี 1867 โดยสะพานจักรกลทั้ง 3 ชิ้นผลิตจากเงินนิกเกิล และได้รับรางวัลอันดับหนึ่งจากหอดูดาว Neuchâtel ในปีเดียวกัน

ก่อนที่ในปี 1889 ได้มีการพัฒนาสะพานจักรกลทั้งสามส่วนโดยใช้วัสดุเป็นทองคำ เพื่อเอกลักษณ์ความงดงามมากขึ้น ซึ่งเทคนิคการออกแบบสะพานจักรกลทั้งสามส่วน ได้ถือกำเนิดและยังคงสานต่อประวัติศาสต์อยู่จวบจนถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม แม้ว่ามรดกทางวัฒนธรรมของแบรนด์คือสิ่งที่น่าภาคภูมิใจ แต่ความมุ่งมั่นในการพัฒนาเครื่องบอกเวลาที่แม่นยำและงดงามก็ไม่เคยจางหายไปจาก DNA ของแบรนด์ เพราะในปี 2014 Girard-Perregaux ได้เปิดตัว Neo Bridge ซึ่งมาพร้อมรูปทรงที่ประณีต ผลิตจากเครื่องจักร CNC ที่ล้ำสมัย ชิ้นส่วนที่ประกอบขึ้นนั้นได้ถูกนำเสนอรูปแบบทางสถาปัตยกรรมที่ตอกย้ำความโดดเด่นของคอลเลกชัน Bridges ซึ่งผสมผสานความคลาสสิกและร่วมสมัยของนาฬิกา

โดยแต่ละเรือนแสดงให้เห็นถึงความรู้ความชำนาญของ Girard-Perregaux และได้ถ่ายทอดจิตวิญญาณแห่งการสร้างสรรค์มาสู่ Neo Constant Escapement เรือนเวลาที่ฉีกกฎด้วยการพัฒนา Constant-Force Escapement ดีไซน์ Level Escapement แบบใหม่ ถือเป็นวิวัฒนาการอันล้ำสมัยล่าสุดของเมซง ผสมผสานความก้าวหน้าด้านสุนทรียศาสตร์และเทคนิคต่างๆ เข้าด้วยกัน โดยยึดแนวคิดดั้งเดิมของ Constant Girard ที่ต้องการนำเสนอความงดงามของทุกองค์ประกอบในรูปแบบร่วมสมัย ต่อยอดความภาคภูมิใจจาก Constant Escapement L.M. ที่ถูกกล่าวถึงในข้างต้น

PATRICK PRUNIAUX, CEO of Girard-Perregux

ทางด้าน Mr. Patrick Pruniaux, CEO of Girard-Perregux ได้กล่าวว่า

“แม้ Constant L.M ซึ่งเป็นนาฬิกาที่ได้รับรางวัล GPHG ‘Aiguille D’Or’ ในปี 2013 จะเป็นผลงานที่น่าทึ่งและเป็นส่วนหนึ่งในมรดกของเมซงของเรา อย่างไรก็ตามทางแบรนด์ไม่ต้องการทิ้งผลงานอันน่าสนใจไว้บนชั้นวาง ในทางตรงกันข้ามเราต้องการต่อยอดความรู้ของแบรนด์ ผลักดันขอบเขตประสิทธิภาพและสร้างวิวัฒนาการของแนวคิดดั้งเดิมผ่านผลงาน Neo Constant Escapement ให้เหนือกว่าในทุกด้าน ดั่งเครื่องพิสูจน์ถึงความทุ่มเทของทีมที่มีพรสวรรค์ของเรา และเป็นตัวแทนของยุคใหม่ในวงการผลิตนาฬิกา”


ชื่อของ Neo Constant Escapement นอกจากจะทำให้หวนนึกถึงนาฬิกาที่ดูร่วมสมัย และเป็นชื่อที่ยกย่องความมุ่งมั่นของ Constant Girard แล้วยังสื่อถึงความสามารถของการพัฒนากลไกที่ส่งพลังงานไปยังชิ้นส่วนประกอบที่ควบคุมการไหลของเวลาได้อย่างมีเสถียรภาพ ซึ่งหัวใจสำคัญคือพลังงานที่กระจายภายในกลไกของนาฬิกา ต้องได้รับการควบคุมเพื่อให้แน่ใจว่ามีการถ่ายทอดพลังงานที่ถูกต้องและทำให้นาฬิกาทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้ข้อจำกัดต่าง ๆ

กลไก Automatic ทั่วไปจะใช้พลังงานจาก Mainspring Barrel ส่งไปยัง Wheel Train มาถึง Escape Wheel และ Pallet Fork โดยมี Balance Wheel เป็นตัวกำหนดจังหวะการหมุนของเฟืองปล่อยแรง ถือเป็น common escapement style ในนาฬิกา automatic เกือบทุกเรือนในโลก ซึ่งปัญหาคือเมื่อพลังงานลดลงจนใกล้จะหมด อาจส่งผลให้ชิ้นส่วนที่ควบคุมได้รับพลังงานไม่เพียงพอ ทำให้ความแม่นยำลดลงหรือทำให้ชุดจักรปล่อยแรงเกิดความเสียหายได้

จากปัญหาที่กล่าวมาข้างต้น Neo Constant Escapement จึงเป็นเครื่องบอกเวลาที่เที่ยงตรงและได้รับการรับรองมาตรฐาน COSC ใช้วิธีการที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงเพื่อให้ได้พลังงานคงที่ ด้วยกลไกภายในของ Neo Constant Escapement ที่มี ‘วงล้อที่ห้า (Fifth Wheel)’ เชื่อมต่อกับชุดเฟือง วงล้อที่ห้าจะถ่ายเทพลังงานไปยังเอสเคปวีลสองล้อที่ถูกพัฒนาใหม่ไม่เหมือนดีไซน์ทั่วไปที่เราเคยเห็น โดยแต่ละล้อมีฟันสามซี่ ซึ่งตรงกับความถี่ของการเคลื่อนไหว (3Hz) หลังจากนั้นพลังงานจะถูกส่งผ่านคันโยกไปยังใบพัดซิลิเซียม ซึ่ง Girard-Perregaux พัฒนาร่วมกับบริษัทผู้เชี่ยวชาญอย่าง Sigatec

โดย Constant Escapement ใช้ประโยชน์จากคุณสมบัติ ‘ยืดหยุ่นความเสถียรสองฝั่ง’ ของ Constant Escapement Silicon Buckled Blade ที่บางเพียง 14 ไมครอน หรือบางกว่าเส้นผมมนุษย์ถึง 6 เท่า ประกอบเข้ากับคันโยกที่ทำหน้าที่กระตุ้นจักรกรอก ประสิทธิภาพการออกแบบการเคลื่อนที่ที่แม่นยำนี้ มีลำดับความซับซ้อนถึง 20 ขั้นตอนต่อการออสซิลเลชั่น เป็นการจัดเรียงที่สร้างสรรค์อย่างน่าทึ่ง ซึ่งได้ผลลัพธ์เป็นการให้พลังงานคงที่ มั่นใจได้ว่าพลังงานจะกระทำต่อศูนย์กลางของชิ้นส่วนควบคุมเพื่อให้การหมุนเป็นไปอย่างราบรื่น แอมพลิจูดจะสม่ำเสมอมีความเสถียรแม่นยำในระดับที่ไม่ธรรมดา

ทางด้านงานดีไซน์ของ Neo Constant Escapement ได้สร้างเอกลักษณ์ให้นาฬิกาด้วยดีไซน์ Bridges ที่มีความแตกต่างจากนาฬิกาเรือนอื่น ๆ โดดเด่นด้วยตัวเรือนขนาด 45 มม. ผลิตจากไทเทเนียมเกรด 5 ที่ให้ทั้งความทนทานแข็งแกร่ง น้ำหนักเบา และไม่ก่อให้เกิดภูมิแพ้

ภายใต้กระจกคริสตัลแซฟไฟร์ Neo Constant Escapement มีหน้าปัดแบบ Skeleton ที่มีเข็มชั่วโมงและเข็มนาทีสไตล์ Dauphine เคลือบด้วยโรเดียม พร้อมเคลือบสารเรืองแสง ช่วยให้อ่านค่าเวลาได้ชัดเจนในทุกสภาพแสง ในส่วนของ Black Track รอบหน้าปัด ประดับด้วยหลักนาที และหลักชั่วโมงสีขาว ซึ่งถูกดีไซน์ให้ดูเหมือนลอยอยู่เหนือหน้าปัดหลัก เสริมความลงตัวด้วยปลายเข็มวินาทีสีฟ้า และ Counterweight ทรงหัวลูกศร ที่ได้แรงบันดาลใจจาก Constant Gold Bridges ปี 1889

อีกหนึ่งส่วนประกอบสำคัญที่ช่วยเสริมความงามอันน่าหลงใหลของ Neo Constant Escapement คือการออกแบบที่เผยให้เห็นมุมมองบางส่วน แสดงความซับซ้อนของกลไกการทำงาน โดยเฉพาะสปริงเฟืองที่มีใบพัดโค้งงออันเป็นเอกลักษณ์ รวมถึง Balance Wheels และ Escape wheel ซึ่งแท้จริงแล้วรูปลักษณ์ที่สมมาตรนั้นสอดคล้องกับเมซงอย่าง Girard-Perregaux สื่อถึงกับสะพานจักรกลสามส่วนในตำนานและขอบตัวเรือนทรงแปดเหลี่ยมของ Laureato

นอกจากนี้ยังมีตำแหน่งการจัดวาง Barrels ขนาดใหญ่สองชิ้นบริเวณครึ่งบนของหน้าปัด กลไกประกอบด้วยการผสมผสานระหว่าง PVD สีดำและ NAC สีแอนทราไซต์ ให้อารมณ์ความทันสมัยของงานดีไซน์ โดยยังคงไว้ซึ่งการตกแต่งที่ประณีตเป็นพิเศษ ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจาก Haute Horlogerie พร้อมสเกลมาตรวัดพลังงานสำรองในตำแหน่ง 9 นาฬิกา เผยให้เห็นปริมาณพลังงานที่เก็บไว้ภายใน Barrels คู่อีกด้วย

เมื่อพลิกตัวเรือนมาจะพบกับฝาหลังแซฟไฟร์ เผยให้เห็นกลไกการไขลานด้วยมือ Caliber GP09200 ที่รองรับการสำรองพลังงานขั้นต่ำ 7 วัน และหากลองสังเกตดี ๆ จะพบว่าหลักการออกแบบหน้าปัดที่สมมาตร ได้ถ่ายทอดไปสู่มุมมองของกลไกด้วย Barrels คู่ด้านบน และสะพานจักรกล Neo สองอันที่ฐาน

และสำหรับผู้หลงใหลในเสน่ห์ของเครื่องบอกเวลา คงไม่อาจมองข้ามความงามของชุดเกียร์โทนสีเงิน ที่ได้รับการเปิดเผยอย่างอิสระ มองเห็นได้จากด้านหลังของนาฬิกา พร้อมกลไกสีดำสุดโดดเด่น นอกจากนี้ยังสามารถเพลิดเพลินไปกับการเฝ้ามองเสน่ห์ของการเคลื่อนไหวอันราบรื่นของชิ้นส่วนต่าง ๆ อย่าง Escapement Spring, Escape Wheels และ Balance Wheels

สายนาฬิกาของ Neo Constant Escapement เป็นสาย Rubber Strap สีดำ ที่โดดเด่นและสวมใส่สบายด้วย Fabric Effect มีตัวล็อก titanium แบบพับ 3 ชั้น พร้อมการปรับสายแบบ Micro adjustment ช่วยให้ปรับระดับสายได้ละเอียดแม่นยำ เหมาะสมกับขนาดของข้อมือที่แตกต่าง

จากรายละเอียดสุดประณีตทั้งงานดีไซน์ภายนอก และกลไกบอกเวลาภายในที่แม่นยำ คงปฏิเสธไม่ได้ว่ามรกดกแห่งความสร้างสรรค์ที่ได้รับมาจาก Constant Girard Watchmaker พรสวรรค์สูง ผู้ผสานโลกแห่งกลไกและสุนทรียภาพเข้าด้วยกัน ถูกส่งต่อมายัง Neo Constant Escapement ได้อย่างสมบูรณ์แบบ กับสุนทรียศาสตร์อันเป็นเอกลักษณ์จากตำนานในอดีตที่หลอมรวมกับเทคโลโลยีใหม่ได้อย่างลงตัว

และ Neo Constant Escapement จาก Girard-Perregaux เรือนนี้ เตรียมพร้อมให้ผู้หลงใหลในความประณีตงดงามของงานดีไซน์ และเทคโนโลยีกลไกบอกเวลาระดับ Masterpiece ได้ครอบครองในเดือนมกราคม ปี 2024 ในจำนวนจำกัดเท่านั้น

รอติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
FB: PMT THE HOUR GLASS
WEBSITE: https://www.thehourglass.com/th/

NTman
WRITER: NTman
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line