Life

“ตามหาสิ่งที่ขาดหาย แต่ไม่เจอสักที” รู้จัก Grass is Greener การคิดไปเองว่าคนอื่นมีมากกว่าเรา

By: unlockmen March 9, 2021

เคยรู้สึกสงสัยไหมว่า ทำไมคนอื่นมีสิ่งที่ดีกว่าเราตลอดเวลา จนเราไม่สามารถพอใจหรือหยุดกับสิ่งที่เรามีอยู่ได้ ต้องค้นหาเป้าหมายใหม่ต่อไปอีกเรื่อย ๆ

เราเรียกอาการนี้ว่าเป็น ‘Grass is Greener Syndrome’ ตัวการขัดขวางการใช้ชีวิตอย่างมีความสุขของเรา ที่คนในปัจจุบันเป็นกันมากมายโดยไม่รู้ตัว


WHAT IS GRASS IS GREENER SYNDROME

‘Grass is Greener Syndrome’ คือ อาการที่เราเชื่อว่าตัวเองกำลังพลาดหรือขาดอะไรที่ดีกว่าสิ่งที่ตัวเองมีในตอนนี้อยู่ ไม่ว่าจะเป็น โอกาสด้านการงานที่ดี หรือ ประสบการณ์ที่วิเศษ จึงเกิดแรงกระตุ้นที่จะหาสิ่งที่ตัวเองคิดว่าขาดให้เจอ

ชื่อของอาการนี้มีที่มาจากสำนวนของฝรั่งที่ว่า “the grass is always greener on the other side of the fence” (สนามหญ้าที่อยู่อีกฝั่งของรั้วบ้านมักเขียวกว่าของเรา) หมายความว่า เรามักมองชีวิตคนอื่นดีกว่าของตัวเองเสมอนั่นเอง

อาการนี้มักมีที่มาจากความกลัวส่วนบุคคล อาทิ ความกลัวเรื่องการผูกมัดกับงานประจำที่ไม่ดีพอ หรือความสัมพันธ์ที่อาจจะย่ำแย่ในอนาคต ซึ่งในความเป็นจริง ชีวิตของคนที่มีอาการนี้ก็ยังไม่มีปัญหาอะไร มีแต่พวกเขาที่คิดไปเองว่าตัวเองกำลังมีปัญหา

นอกจากอาการคิดไปเองแล้ว คนที่เป็น Grass is Greener มักจะเป็นคนนิยมความสมบูรณ์แบบ (perfectionism) หมกหมุ่นเรื่องอนาคต ชอบเปรียบเทียบกับคนอื่นตลอดเวลา ไม่ยอมทำในสิ่งที่กำลังทำอยู่หรือต้องทำ ไม่รู้จักยับยั้งใจตัวเอง รวมถึง ไม่พอใจในสิ่งที่ตัวเองมีอยู่ และพยายามหาสิ่งที่ดีกว่าตลอดเวลา

อาการเหล่านี้ส่งผลให้พวกเขาไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข พอพวกเขาได้อะไรมา หรือทำอะไรสำเร็จในชีวิตมา พวกเขาจะไม่หยุดชื่นชมสิ่งเหล่านั้น แต่จะพยายามหาสิ่งใหม่ ๆ เพื่อมาเติมเต็มตัวเองต่อไปแบบไม่จบไม่สิ้น

เมื่อพวกเขาไม่สามารถพอใจหรือรู้สึกดีกับสิ่งที่ได้รับมาได้ พวกเขาจึงไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข และสิ่งที่ตามมาอาจเป็นปัญหาด้านสุขภาพจิต ไม่ว่าจะเป็น วิตกกังวล หรือ ซึมเศร้า ดังนั้น คนที่เป็น Grass is Greener จึงต้องรู้จักวิธีรับมือกับอาการนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ


HOW TO BE A BETTER PERSON

ใครที่กำลังทุกข์ระทมกับอาการนี้อยู่ อยากบอกว่าไม่ต้องเครียดไป เพราะ UNLOCKMEN ได้นำวิธีการเอาชนะอาการนี้มาฝากทุกคนด้วย รับรองว่าลองทำดูแล้ว จะเห็นความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนขึ้นทันตา โดยเริ่มจาก

ค้นหาสิ่งที่ทำให้เราเกิดอาการนี้ขึ้นมา

– อาจเริ่มจากลองคิดทบทวนดูว่า เมื่อตอนเราเป็นเด็กมีเหตุการณ์อะไนที่ทำให้เกิดอาการนี้ขึ้นมาหรือไม่ ? เราต้องพยายามอย่างหนักเพื่อทำให้คนในครอบครัวรู้สึกภูมิใจในตัวเราหรือไม่ ? หรือลองทบทวนดูว่า สิ่งที่เราทำมาทั้งหมดยังไม่เพียงพอจริงหรือไม่ ? ฯลฯ การได้คิดทบทวนตัวเองมักทำให้เราพบกับปัญหาที่อยู่เบื้องหลัง และช่วยให้เราคิดวิธีแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุดมากกว่าเดิม

 

คิดดูว่าถ้าลงมือทำแล้วจะสูญเสียอะไรไปบ้าง

– ก่อนที่เราจะปล่อยตัวเองให้ไหลไปตามอาการ Grass is Greener เราควรหยุดตัวเองสักพัก เพื่อให้มีเวลาในการคิดก่อนว่า ถ้าเราลงมือทำในสิ่งที่เราคิดว่าอยากทำแล้ว จะเกิดผลดีหรือผลเสียอะไรกับเราบ้าง เช่น เราจะต้องเลิกเที่ยวรึเปล่า ? หรือ ต้องหมดเวลาชีวิตไปกับการหาเงินมาผ่อนสิ่งที่เราอยากได้หรือไม่ ? เมื่อเราให้ความสำคัญกับผลลัพธ์ของการตัดสินใจมากขึ้น เราก็จะตัดสินใจได้อย่างมีเหตุผลมากขึ้นเช่นกัน

 

ลงมือทำ

– เวลาที่เราเจอสิ่งที่คิดว่า “ทำแล้วชีวิตน่าจะดีกว่าเดิม” เราก็ควรลงมือทำสิ่งเหล่าให้เร็วที่สุด เพราะการได้ลงมือทำเป็นวิธีการตรวจความคิดของเราได้ดีที่สุด แต่เราอยากแนะนำว่าให้ใช้วิธีนี้กับเรื่องเล็ก ๆ จะดีกว่า ถ้าเป็นการตัดสินใจครั้งใหญ่ เช่น การซื้อรถยนต์ การผ่อนบ้าน หรือ การเปลี่ยนอาชีพ เราอยากแนะนำว่าให้หยุดคิดก่อนตัดสินใจจะดีเสมอ เพราะถ้าเราตัดสินใจแล้วพลาด อย่างน้อยเราก็ยังอุ่นใจได้ว่าได้ทำการคิดอย่างถี่ถ้วนมากที่สุดแล้ว

 

มองโลกตามความเป็นจริง

– อาการ Grass is Greener มักทำให้เราขัดข้องทางความคิด เพราะมันทำให้ความคิดที่ไม่เป็นจริงรุกรานหัวสมองของเรา ส่งผลให้เราเกิดอารมณ์ลบ ทำเรื่องแย่ ๆ และเลวร้ายที่สุด คือ อาจพัฒนาภาวะซึมเศร้าขึ้นมาได้ ดังนั้น เราจึงต้องคิดอย่างมีเหตุผลมากขึ้น อย่าเชื่อความคิดของตัวเองในทันที และหาข้อมูลหรือเหตุผลมาสนับสนุนหรือปัดตกความคิดเหล่านั้น จะช่วยให้เราเอาชนะอาการ Grass is Greener ได้ง่ายขึ้น

 

สุดท้ายถ้าปัญหานี้มันหนักหน่วงเกินไป และคิดว่าไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยตัวเอง เราอยากแนะนำให้ไปขอคำปรึกษาจากคนรอบตัว ไม่ว่าจะเป็น เพื่อน หรือ คนในครอบครัว แม้สุดท้ายอาจจะไม่ได้คำแนะนำที่ดีกลับมา แต่อย่างน้อยมันก็ช่วยให้เรารู้สึกว่าไม่ได้ตัวคนเดียว และมันจะช่วยเพิ่มกำลังใจในการต่อสู้กับปัญหามากขึ้น


 

Appendixs: 1 / 2 / 3

unlockmen
WRITER: unlockmen
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line