Life

เมื่อบุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมายในไทย สรุปแล้วประเทศขาดทุนหรือกำไร คนสูบปลอดภัยหรืออันตรายเท่าเดิม

By: TOIISAN November 14, 2018

เป็นที่รู้กันดีสำหรับเหล่าสิงห์อมควันว่าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสิ่งผิดกฎหมายในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นแบบ Vaporizer หรือแบบ Heat-Not-Burn Tobacco แต่กลับกันหลายประเทศในโลกนั้น บุหรี่เหล่านี้ถือเป็นเรื่องปกติ ซึ่งปัจจุบันในบ้านเราก็ใกล้ถึงเวลาเข้าไปทุกทีแล้ว ที่บุหรี่ไฟฟ้าจะกลายเป็นสิ่งที่กฎหมายไทยยอมรับได้ (ตราบเท่าที่สามารถเก็บภาษีได้)

การเกิดขึ้นของบุหรี่ไฟฟ้าเริ่มจากกฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในพื้นที่สาธารณะ เพราะสังคมเริ่มรับรู้ถึงอันตรายของควันบุหรี่ที่ส่งผลกระทบต่อคนรอบข้าง จึงเริ่มมีผู้คิดค้นบุหรี่ไฟฟ้าที่ไม่มีการเผาไหม้แบบบุหรี่มวน ด้วยหวังว่าจะสามารถสูบบุหรี่ไฟฟ้าในพื้นที่ที่กฎหมายห้ามสูบบุหรี่ได้ รวมถึงเป็นการนำสารนิโคตินเข้าสู่ร่างกายที่สะอาดกว่าการสูบบุหรี่มวน เพราะไม่ต้องผ่านการเผาไหม้ของกระดาษมวนและใบยาสูบ ซึ่งเป็นที่มาของสารพัดสารเคมีอันตราย แถมยังส่งกลิ่นเหม็นติดตัวยากจะล้างออก

หลังจากมีการเรียกร้องทั้งบนดินและใต้ดินมานาน กรมสรรพสามิตก็เตรียมเสนอเรื่องการเก็บภาษีบุหรี่ไฟฟ้า เพราะไม่ถือว่าเป็นยาเสพติดชนิดร้ายแรง แต่ฝ่ายกฎหมายกรมสรรพสามิตมองว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้อยู่ภายใต้คำจำกัดความว่าเป็นบุหรี่ภายใต้ พ.ร.บ.ยาสูบ พ.ศ.2509 ทำให้กรมสรรพสามิตไม่มีอำนาจควบคุมสินค้าดังกล่าว จึงได้ยื่นเรื่องแก่รัฐมนตรีคลังคนใหม่ให้พิจารณา

การพยายามผลักดันให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสิ่งถูกกฎหมายในครั้งนี้เป็นผลจากการร้องเรียนของสถานทูตหลายประเทศ จากเหตุที่นักท่องเที่ยวถูกจับกุมเพราะนำบุหรี่ไฟฟ้าเข้ามาในไทย เนื่องจากระทรวงพาณิชย์ห้ามนำเข้า รวมถึงกระทรวงสาธารณสุขไม่อยากให้ประชาชนใช้บุหรี่ไฟฟ้า ส่งผลให้เกิดปัญหาทั้งผู้บริโภคในประเทศที่ต้องลักลอบซื้ออย่างไม่ถูกต้อง (แต่ก็หาซื้อง่าย ส่งตรงถึงมือได้ภายในวัน) และกระทบต่อเหล่านักท่องเที่ยวต่างชาติที่พกบุหรี่ไฟฟ้าติดตัวเข้ามาในไทย ซึ่งกรมสรรพสามิตมองว่าเป็นปัญหาสะสมที่ควรจะต้องแก้ไขเสียที

แต่ถ้าบุหรี่ไฟฟ้ากลายเป็นสิ่งถูกกฎหมาย โรงงานยาสูบจะเป็นคนแรกที่คิดว่าตัวเองได้รับผลกระทบแบบเต็ม ๆ เพราะข้อกฎหมายรวมถึงข้อกำหนดเดิมที่ทำร่วมกันระหว่างโรงงานยาสูบ กรมควบคุมโรคติดต่อ และกรมการค้าต่างประเทศ ในการร่างประกาศกระทรวงเรื่องข้อห้ามบารากู่ และบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย ซึ่งข้อบังคับต่าง ๆ เหล่านี้สร้างรายได้มหาศาลให้แก่โรงงานยาสูบ

ถ้าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นเรื่องถูกกฎหมาย การแข่งขันกันอย่างเสรีจากผู้ผลิตต่างชาติที่มี Devices และสินค้าที่ทันสมัยกว่า จะมาสั่นสะเทือนโรงงานยาสูบผู้เคยยิ่งใหญ่ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะถ้าจะแข่งขันด้านเทคโนโลยีระหว่างเอกชนกับรัฐวิสาหกิจ เรารู้ดีอยู่แล้วว่าผลจะเป็นยังไง

ในด้านสุขภาพก็แตกออกเป็นสองเสียง กลุ่มนึงจะยืนยันหัวชนฝาว่าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นอันตรายต่อสุขภาพ เช่น งานวิจัยจากมหาวิทยาลัย UCSF ในสหรัฐอเมริกาที่ตีพิมพ์ในวารสาร the American Journal of Preventive Medicine ว่าผู้ที่สูบทั้งบุหรี่มวนและบุหรี่ไฟฟ้ามีความเสี่ยงหัวใจวายสูงเท่ากัน แต่กลุ่มผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับความคิดนี้ก็ได้ออกมาค้านว่า ทั้งบุหรี่ไฟฟ้าและบุหรี่ Heat-not-Burn ส่งผลเสียต่อร่างกายน้อยกว่าบุหรี่ทั่วไป แถมยังช่วยให้เลิกบุหรี่มวนได้ง่ายขึ้นอีกด้วย เพราะบุหรี่ไฟฟ้ามีการใช้สารแต่งกลิ่นและรสเพียง 10–20 ชนิด ซึ่งน้อยมากหากเทียบกับบุหรี่มวนที่มีสารแต่งกลิ่นกว่าร้อยชนิด

บุหรี่ไฟฟ้าสามารถเลือกปริมาณนิโคตินได้ว่าจะรับในปริมาณที่มากหรือน้อย อย่างน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า 1 แท้งค์ ที่หลายคนเคยได้รับสารว่ามีนิโคตินเท่ากับบุหรี่ทั้งซอง แต่ในความเป็นจริงแล้วกว่าจะดูดหมด 1 แท้งค์ มันไม่ใช่แค่ 4-5 คำ ขึ้นอยู่กับระดับนิโคตินในน้ำยา และพฤติกรรมการสูบของแต่ละคน โดยปกติร่างกายจะปฏิเสธนิโคตินที่สูงเกินไปตามธรรมชาติอยู่แล้ว เช่น ดูดแล้วแสบคอ หรือแน่นหน้าอก ซึ่งคงไม่มีใครคิดสั้นอัดนิโคตินจนโอเวอร์โดสแน่นอน นอกจากจะอยากกลับบ้านเก่าเร็วขึ้น

องค์กรการวิจัยเกี่ยวกับโรคมะเร็งอย่าง Cancer Research UK ได้ตีพิมพ์ผลงานล่าสุดในวารสาร Annals of Internal Medicine ว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีสารพิษและผลกระทบเชิงลบต่อร่างกายในระยะยาวน้อยกว่าบุหรี่มวน โดยงานวิจัยดังกล่าวศึกษาจากอาสาสมัครที่เคยสูบบุหรี่มวนแต่หันมาสูบบุหรี่ไฟฟ้าแทนเป็นเวลากว่า 6 เดือน เทียบกับอีกกลุ่มที่ใช้วิธีรักษาโดยให้นิโคตินทดแทน (NRT nicotine replacement therapy) และสูบบุหรี่มวนตามปกติ แล้ววัดสารเคมีจากน้ำลายและปัสสาวะของอาสาสมัคร ซึ่งผลที่ได้คือกลุ่มที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้ามีปริมาณของสารพิษและสารก่อมะเร็งในร่างกายน้อยกว่า

อย่างไรก็ตาม การหาคำตอบว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีโทษน้อยกว่าบุหรี่มวนจริงหรือไม่ก็ยังไม่สามารถตอบได้แน่ชัด เพราะบุหรี่ไฟฟ้าพึ่งได้รับความนิยมในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แพทย์จึงไม่สามารถทำวิจัยเรื่องผลกระทบต่อร่างกายในระยะยาวได้เท่าที่ควร แต่ถ้าบุหรี่ไฟฟ้ามีโทษต่อร่างกายไม่ต่างจากบุหรี่มวนดังงานวิจัยต่าง ๆ จริง แล้วทำไมบุหรี่มวนทั่วไปถึงยังขายได้อยู่ทั้งที่ให้โทษเหมือนกัน เป็นเพราะมีมานานแล้ว หรือกลุ่มผู้ถือผลประโยชน์เดิมกลัวการแข่งขันกันแน่ ?

เมื่อบุหรี่ไฟฟ้าได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ผู้ผลิตบุหรี่มวนก็ต้องเริ่มมีการปรับตัวเพื่อรับความเปลี่ยนแปลง เช่นบริษัทฟิลลิป มอร์ริส อินเตอร์เนชั่นแนล (PMI) ผู้ผลิตบุหรี่เจ้าดังอย่างมาร์โบโร่ ที่ช่วงแรกเคยโจมตีบุหรี่ไฟฟ้าจนถึงขั้นฟ้องร้องกันมาแล้ว ก็หันมาผลิตบุหรี่ประเภท Heat-Not-Burn Tobacco ชื่อ IQOS วางจำหน่ายในหลายประเทศทั่วโลก (ปัจจุบันพัฒนาไปถึง Version 3 แล้ว) และบางพื้นที่ในญี่ปุ่นที่ห้ามสูบบุหรี่ก็อนุญาตให้สูบ IQOS ได้ รวมถึงผลกำไรที่เรียกได้ว่าขายดีกันเป็นเทน้ำเทท่า รายงานล่าสุดพบว่ายอดขาย Heat Stick พุ่ง 73% สวนทางกับยอดขายบุหรี่ธรรมดาที่ลดลงทุกปี ๆ และตัว Device ที่ปัจจุบันมีคู่แข่งผลิตออกมาหลากหลายราคา แสดงให้เห็นถึงความพร้อมของบริษัทผลิตบุหรี่มากมายที่พร้อมกระโดดเข้าสู่ตลาดบุหรี่ไฟฟ้าเต็มตัวอย่างรวดเร็ว

กลับมามองที่ไทยบ้าง ถ้าบุหรี่ไฟฟ้ากลายเป็นเรื่องถูกกฎหมายจริง เหล่าสิงห์อมควันที่ชื่นชอบบุหรี่ไฟฟ้าคงร้องเฮ ในทางกลับกันโรงงานยาสูบอาจมีโอกาสสูญเสียรายได้มหาศาล แต่ก็ยังไม่น่าใช่ในอนาคตอันใกล้นี้ เพราะคนไทยที่บริโภคบุหรี่ไฟฟ้ายังมีจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับสิงห์อมควันทั้งหมด รวมถึงตัวเครื่องที่มีราคาแพงเกือบ 4,000 บาทโดยเฉลี่ย กว่าจะเข้าถึงกลุ่มคนทั่วไปและเป็นที่นิยมในวงกว้างคงใช้เวลานาน และกว่าจะถึงตอนนั้น โรงงานยาสูบอาจเป็นผู้ผลิต Heat Tabacco ได้แล้ว ผ่านการสนับสนุนทั้งเงินและนโยบายการแข่งขันจากรัฐบาลไทย ดังนั้นจึงไม่น่าจะเดือดร้อนมาก แถมไม่ว่าจะบุหรี่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ธรรมดารัฐก็ได้เงินจากภาษีทั้งสองทางทั้งขายและนำเข้า เรียกได้ว่าวินกินรวบทั้งโต๊ะอยู่ดี

แม้ตอนนี้หลายคนจะทั้งสูบและซื้อขายบุหรี่ไฟฟ้าหลายรูปแบบกันอย่างเปิดเผย แต่ก็อย่าลืมว่ามันยังเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมายในไทยอยู่ และเรายังไม่รู้แน่ชัดเกี่ยวกับอันตรายของบุหรี่ชนิดนี้ หลังจากนี้ก็คงต้องคอยติดตามกันต่อไป แต่การออกมายื่นข้อเสนอเรื่องการเก็บภาษีในครั้งนี้ก็ถือว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดีในการผลักดันให้บุหรี่ไฟฟ้ากลายเป็นเรื่องถูกกฎหมาย

ด้วยเทคโนโลยีที่ไร้ขีดจำกัดจากสมองของมนุษย์ เราเชื่อเหลือเกินว่าในอนาคต ผู้ผลิตบุหรี่รายใหญ่อย่าง Philip Morris จะต้องทำการพัฒนาบุหรี่ทางเลือก ที่ได้รับการยอมรับว่า “ปลอดภัยกว่าบุหรี่ธรรมดา (lower-risk cigarette alternative)” หรือเป็นบุหรี่ที่ดีต่อสุขภาพได้อย่างแน่นอน และนั่นคงเป็นเรื่องดีสำหรับทั้งสิงห์อมควันและคนรอบข้างที่ไม่สูบบุหรี่ทุกคนครับ

 

TOIISAN
WRITER: TOIISAN
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line