Life

ว่าด้วยสงครามของส่วนสูง อะไรบ้างที่คนตัวสูงได้เปรียบ และอะไรที่คนตัวเตี้ยมีดีกว่า

By: TOIISAN December 1, 2018

เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ถูกหยิบยกมาถกเถียงกันทุกปีเกี่ยวกับเรื่องของความสูงและความเตี้ย ว่ากันว่าคนที่ตัวสูงกว่าจะได้เปรียบกว่าคนเตี้ย แล้วคนที่เตี้ยล่ะ ถือว่าเป็นปมด้อยจริงหรือไม่?  UNLOCKMEN  บอกเลยว่าต่างสไตล์รูปร่างก็มีข้อดีต่างกันไป

the independent

ส่วนสูง คือเรื่องของความแตกต่างทางด้านสรีระ ซึ่งเกิดได้จากหลายปัจจัยด้วยกันทั้งในเรื่องของพันธุกรรม โภชนาการ การออกกำลังกาย รวมถึงสภาพแวดล้อม ที่ส่งผลให้โลกนี้เกิดส่วนสูงที่หลากหลาย และในงานวิจัยส่วนมากต่างก็ลงความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่าคนตัวสูงมักจะได้รับโอกาสต่าง ๆ ที่ดีกว่าคนตัวเตี้ย แล้วเพราะอะไรงานบรรดาวิจัยจึงได้ผลลัพธ์ออกมาว่าคนตัวสูงจะมีโอกาสที่มากกว่า?

ยกตัวอย่างงานวิจัยจาก Princeton University ค.ศ. 2006 อ้างอิงว่าชายที่ตัวสูงจะได้เปรียบทางด้านสติปัญญามาตั้งแต่เกิด โดยวัดจากการทดสอบสมรรถภาพทางสมองตั้งแต่ยังเป็นทารก รวมถึงผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัย Sydney ซึ่งได้ทำการเปรียบเทียบจากรายได้ประชากรจำนวน 20,000 คน และพบว่าโดยเฉลี่ยคนตัวสูงจะมีฐานะที่ดีกว่า

ทั้งนี้ในสหรัฐอเมริกาก็มีงานวิจัยที่วัดอัตราความสำเร็จของเหล่าประธานาธิบดีสหรัฐ ฯ ออกมาเป็นกราฟว่า ผู้นำที่สูงมักมีอัตราเติบโตอย่างก้าวกระโดด ก็ยิ่งสนับสนุนความคิดเรื่องคนตัวสูงจะฉลาดและมีเสน่ห์

 

wikipedia

wikipedia

ดังวลีที่ว่า “Tall men make great presidents” จากสถิติผลการเลือกตั้งสหรัฐ ฯ แสดงให้เห็นว่าผู้สมัครที่มีความสูงมากกว่าคู่แข่งมักได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี นับตั้งแต่ ค.ศ.1789 ที่สหรัฐ ฯ ได้ประธานาธิบดีคนแรกอย่างจอร์จ วอชิงตัน มาจนถึง ค.ศ.2016 ที่โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้ง ซึ่งจากการเลือกตั้งทั้งหมด 58 ครั้ง ผู้ลงสมัครที่มีความสูงมากกว่าคู่แข่งสามารถคว้าชัยไปได้ถึง 28 ครั้ง และผู้ที่มีส่วนสูงน้อยกว่าชนะไป 22 ครั้ง รวมถึงข้อมูลที่ไม่แน่ชัดเรื่องส่วนสูงของผู้ลงสมัครอีก 5 ครั้ง จึงอนุมานได้ว่าสิ่งที่ประชาชนมองเห็นและเลือกผู้สมัครที่ตัวสูงกว่า อาจเป็นเพราะพวกเขามีสิ่งที่มาพร้อมกับความสูง นั่นคือความมั่นใจที่ส่งไปถึงประชาชน

politifact

ตัวอย่างประธานาธิบดีที่มีรูปร่างสูงใหญ่และมีชื่อเสียงโด่งดัง อย่างอับราฮัม ลินคอร์น ซึ่งสูงถึง 193 เซนติเมตร หรือ ทอมัส เจฟเฟอร์สัน ประธานาธิบดีคนที่ 3 ก็มีส่วนสูงถึง 189 เซนติเมตร โดยทั้ง 2 ก็แสดงให้เห็นถึงภาพลักษณ์ของความเป็นผู้นำที่ดี และมีความสามารถเป็นเลิศ

ถึงแม้ว่าความสามารถของแต่ละบุคคลจะเป็นสิ่งที่ไม่สามารถตัดสินได้ด้วยตาเปล่า ผู้คนจึงมักตัดสินจากสิ่งที่พวกเขาเห็นได้ง่าย เช่น ส่วนสูง หน้าตา หรืออะไรก็ตามที่อ้างอิงไปถึงพันธุกรรมที่ว่าคนเหล่านั้นมียีนเด่น เพราะความสูงก็ถือเป็นหนึ่งในยีนเด่น ซึ่งบรรดาคนตัวสูงมักจะแสดงออกด้วยความมั่นใจ ทำให้มีความโดดเด่นออกมาอย่างเห็นได้ชัด

นอกจากนี้ อีกหนึ่งโอกาสที่คนตัวสูงจะได้รับ ที่เห็นได้ชัดคือเรื่องของความรัก ผู้หญิงทั่วโลกต่างเห็นพ้องตรงกันว่าชอบผู้ชายตัวสูง และในส่วนของผู้ชายก็มีงานวิจัยจากมหาวิทยาลัย Colorado ที่ได้กล่าวว่าคนที่ตัวสูงมักจะมีโอกาสเลือกคู่ครองได้ดีกว่าคนตัวเตี้ย อีกทั้งผู้ชายตัวสูงมักมีลูกดกอีกด้วย แต่ในอีกด้านหนึ่งคนตัวเตี้ยนั้นก็ถูกเลือกให้ครองตำแหน่งโพลการเป็นคนรักที่ดีกว่าคนตัวสูงอยู่บ่อย ๆ

unsplash

โดยในงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับคนตัวเตี้ยได้ออกมากล่าวถึงผลด้านจิตวิทยาเรื่องการแสดงออกว่า ที่ผู้คนมองภาพของคนตัวสูงว่าดูโดดเด่นและความมั่นใจ ในบางครั้งคนตัวสูงอาจจะไม่ได้มั่นใจอะไรเลย แต่เพราะคนตัวเตี้ยต่างหากที่เกิดความอิจฉา ซึ่ง Mr.Simon จากสมาคมจิตวิทยาอังกฤษ ได้นิยามเกี่ยวกับเรื่องของความอิจฉาไว้อย่างน่าสนใจว่า ความอิจฉาคือความกลัวชนิดหนึ่งที่มีความเกี่ยวข้องกับความรู้สึกมั่นใจ แล้วส่วนสูงก็เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลต่อความมั่นใจ จึงไม่แปลกเลยที่คนตัวเตี้ยอาจเกิดพลังงานด้านลบเวลาอยู่กับคนที่ตัวสูงกว่า

สูงไปใช่ว่าจะดี มีงานวิจัยอีกหลายชิ้นที่กล่าวไว้ว่า คนตัวสูงเสี่ยงโรคมากกว่าคนตัวเตี้ย  เช่น การสำรวจประชากรของชาวเกาะซาดิเนียร์ ประเทศอิตาลี ที่เกิดในระหว่าง ค.ศ. 1866-1915 เป็นจำนวน 500 คน พบว่าชายที่มีส่วนสูงไม่เกิน 162 เซนติเมตร โดยเฉลี่ยมีอายุยืนว่าคนที่ตัวสูง และในงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ถูกตีพิมพ์ในวารสาร Plos One พบว่าผู้ชายที่ตัวเล็กเกิดมาพร้อมยีนอายุยืน มีประสิทธิภาพอัตราการเต้นของหัวใจ และการทดแทนกันของเซลล์อยู่ในระดับที่ดีกว่า รวมถึงมีอัตราเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งและเบาหวานที่ต่ำกว่าคนตัวสูง

ซึ่งงานวิจัยจากมหาวิทยาลัย California Riverside ได้ทำการวิเคราะห์เกี่ยวกับผู้ป่วยโรคมะเร็งพบว่า ความเสี่ยงในการป่วยเป็นโรคมะเร็งนับเป็น 10% ต่อความสูง 10 เซนติเมตร เนื่องจากคนตัวสูงจะมีเซลล์ในร่างกายมากกว่าคนทั่วไป ทำให้มีอัตราการกลายพันธุ์ของเซลล์ที่สูงกว่าปกติ และศูนย์วิจัยโรคมะเร็งของประเทศอังกฤษก็กล่าวไปในทิศทางเดียวกันว่าความสูงและความเสี่ยงกับการเป็นโรคมะเร็งนั้นเป็นสิ่งที่เห็นได้ชัดมานานแล้ว แต่ก็ไม่ควรมานั่งกังวลในเรื่องนี้ ไม่ว่าใครก็มีสิทธิเป็นมะเร็งได้ทั้งนั้น จึงควรโฟกัสที่การดูแลตัวเองในชีวิตประจำวันมากกว่ามากังวลเรื่องส่วนสูงที่จะส่งผลต่อมะเร็ง

hollywood reporter

และถึงแม้ว่าผู้คนมักกล่าวว่าคนตัวสูงได้รับโอกาสที่ดีกว่าและประสบความสำเร็จมากกว่า เช่นว่า Benedict Cumberbatch กับความสูง 183 เซนติเมตร ผู้ที่ชอบได้รับบทเป็นชายที่มีมันสมองเหนือคนทั่วไปอย่าง Sherlock และรับบทบิดาแห่งวงการคอมพิวเตอร์อย่าง Alan Turing ในเรื่อง The Imitation Game ที่ได้รับคำชมจากนักวิจารณ์ทั่วโลก

แต่ทั้งนี้ตัวอย่างความสำเร็จของคนตัวเตี้ยก็มีให้เห็นอยู่มาก อย่างในวงการฮอลลีวูดก็มีพระเอกชื่อดังหลายคนที่มีความสามารถเป็นเลิศและประสบความสำเร็จในชีวิต เช่น  Tom Cruise ที่มีความสูง 170  เซนติเมตร ซึ่งนับได้ว่าเตี้ยในหมู่พระเอกฮอลลีวูด แต่ก็เป็นที่เลื่องลือถึงฝีมือการแสดงว่าไม่เป็นสองรองใคร หรือหนุ่มเกราะเหล็ก Iron Man อย่าง Robert Downey Jr. กับความสูง 174 เซนติเมตร ที่ถึงแม้จะตัวไม่สูงมากแต่ก็ได้รับบทชายผู้เป็นมันสมองของทีมอย่าง Tony Stark รวมถึงเคยรับบท Sherlock เช่นเดียวกับผู้ชายตัวสูงอย่าง Benedict Cumberbatch นอกจากนี้เขายังเป็นถึงมหาเศรษฐี ผู้ติดอันดับนักแสดงชายค่าตัวสูงที่สุดในโลกถึง 4 ปีซ้อนเลยทีเดียว

ffe magazine

อย่างไรก็ตาม สงครามส่วนสูงนี้ก็ดูเหมือนจะยังคงดำเนินต่อไป มีผลัดกันแพ้ชนะแปรผันตามมุมมองของแต่ละบุคคล แต่ไม่ว่าจะเป็นคนสูงหรือเป็นคนเตี้ย ทุกคนก็มีปัญหาที่ต้องรับมือที่แตกต่างกัน อย่างคนตัวสูงอาจได้รับความกดดันจากความคาดหวังของคนรอบข้างมากกว่า เช่นในเรื่องของกีฬา และการเป็นผู้นำ รวมถึงปัญหาด้านสุขภาพที่เกี่ยวกับกระดูกและข้อต่อ ในด้านของคนตัวเตี้ยก็จะมีปัญหาอย่างเรื่องของความมั่นใจในตัวเอง ปัญหาเรื่องความมั่นใจในการทำงาน หรือการจีบสาว

ซึ่งไม่ว่าจะเป็นคนสูงหรือเตี้ยก็ต้องหมั่นเสริมสร้างบุคลิกและความมั่นใจให้มากขึ้น เพราะทุกคนต่างก็รู้ดีว่า เสน่ห์ที่แท้จริงมันไม่ได้อยู่แค่เรื่องของความสูงเท่านั้น

 

 

SOURCE1  SOURCE2

TOIISAN
WRITER: TOIISAN
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line