World

ประวัติที่น่ากลัวของกระสุนยาง เครื่องมือควบคุมฝูงชนที่อันตรายรุนแรงไม่แพ้กระสุนจริง

By: Chaipohn November 17, 2020

คำว่ากระสุนยาง อาจจะฟังดูดี ให้ความรู้สึกอ่อนนุ่มไม่รุนแรง แต่ที่จริงแล้วกระสุนยางนั้นมีอันตรายที่สามารถทำให้ผู้คนบาดเจ็บสาหัส สูญเสียอวัยวะ หรือถึงขั้นเสียชีวิตได้

ภาพที่น่ากลัวจากผลของกระสุนยางจากเหตุการณ์ประท้วงกรณี “George Floyd” ในอเมริกา เป็นหลักฐานพิสูจน์ความน่ากลัวของมันได้ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็น Linda Tirado นักข่าวที่ต้องตาบอด วัยรุ่นที่กรามหัก หรือคนบริสุทธิ์ที่โดนลูกหลงจนกระดูกคิ้วแตกยุบเข้าไปอย่างน่าสะพรึงกลัว

เมื่อดูจากสถานการณ์การชุมนุมที่เกิดขึ้นในบ้านเรา น่าจะมีวิธีการควบคุมอีกมากมายที่เหมาะสมกว่าการเตรียมใช้กระสุนยาง จนมีคำถามมากมายเหลือเกินว่า การเตรียมปืนพร้อมกระสุนยางไว้รับมือกับกลุ่มผู้ชุมนุมนั้น ดูจะเกิดความจำเป็นไปหน่อยหรือไม่

กระสุนยาง หรือ Rubber Bullet หรือ Baton Rounds เป็นหนึ่งในอาวุธที่มีเป้าหมายเพื่อควบคุมความรุนแรงในกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ หยุดยั้งพฤติกรรมที่อาจก่อความสูญเสียจากการจลาจลที่อันตราย

แม้จะเรียกว่ากระสุนยาง แต่มันก็คือแกนเหล็กที่มียางห่อหุ้มด้านนอก หรือแม้จะเป็นกระสุนแบบอื่นในกลุ่ม Baton Rounds เช่น Plastic, Wax, Wood ก็มีเหล็กหรือตะกั่วเป็นส่วนประกอบอยู่ดี ซึ่งหากยิงผิดวิธีเช่นเล็งเข้าหาร่างกายโดยตรง หรือยิงโดนในระยะใกล้ ก็สามารถสร้างความรุนแรงได้ไม่แพ้กระสุนจริง

ในประวัติศาสตร์มีการใช้กระสุนดัดแปลงมาอย่างยาวนาน หลักฐานที่เก่าแก่ของกระสุนปืนแบบ KE (kinetic impact projectiles or KIPs) ย้อนไปในประเทศสิงคโปร์ปี 1880s เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กระสุนไม้ยิงเพื่อควบคุมฝูงชน และที่ได้รับการบันทึกอย่างกว้างขวางมากกว่าคือยุคสมัย British Crown Colony of Hong Kong ปี 1958 เมื่อเจ้าหน้าที่อังกฤษใช้กระสุนทำจากไม้สัก โดยเน้นสร้างความเจ็บปวดมากกว่าเจาะทะลุผิวหนังเพื่อรับมือการประท้วงในฮ่องกง โดยเล็งยิงลงพื้นให้กระสุนกระดอนโดนหัวเข่าเป้าหมาย จนได้ฉายาว่า ‘Knee Knockers.’

Rubber Bullet Gun used by the British Army in crowd control during riots, Belfast, 2nd May 1973

จากนั้นในช่วง 1960s กองทัพอังกฤษได้พัฒนากระสุนยางที่เรียกว่า Baton Rounds เพื่อใช้ควบคุมความรุนแรงจากเหตุจลาจลที่สุดแสนจะยาวนานใน Belfast, Northern Ireland จุดมุ่งหมายคือเพื่อลดอันตรายจากระยะการเขวี้ยงหินหรือระเบิดใส่เจ้าหน้าที่ของผู้ประท้วง ซึ่งชื่อ Baton Rounds ก็มาจากไอเดียการใช้ไม้กระบองฟาดในระยะไกลในรูปแบบกระสุนแทนนั่นเอง และหลังจาก 9 เดือนผ่านไป เจ้าหน้าที่อังกฤษก็ได้คิดค้นกระสุนแบบใหม่ชื่อ L2A2 ซึ่งเป็น “rubber bullet.” อย่างเป็นทางการครั้งแรกของโลก

เหตุผลเดียวที่มันถูกเรียกว่ากระสุนยาง หรือ Rubber Bullets ก็เพื่อลดภาพอันตรายจากความรุนแรงเมื่อถูกนำเสนอผ่านสื่อ ให้ผู้รับข่าวสารเข้าใจว่าสิ่งที่เจ้าหน้าที่กำลังยิงใส่ผู้คนนั้นไม่รุนแรง ทั้งที่เจ้าหน้าที่ทุกคนรู้แก่ใจถึงอานุภาพของมันมาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน

โดยสรุปแล้ว มีการยิงกระสุนยางไปทั้งหมดกว่าห้าหมื่นห้าพันนัด และมีเหยื่อของกระสุนยางเสียชีวิตทั้งหมด 17 คน เป็นเด็ก 8 คน จากเหตุการณ์ความรุนแรงใน Belfast

นับตั้งแต่ยุค 1960s ผ่านมา 50 ปีจนถึงปัจจุบัน กระสุนยางยังคงถูกใช้ควบคุมฝูงชนในหลายประเทศ และทุกครั้งเราจะเห็นภาพประชาชนบาดเจ็บสาหัส เพราะน่าแปลกที่มีแต่การมุ่งพัฒนารูปแบบต่าง ๆ ของกระสุนยาง เช่นในอเมริกา มีการพัฒนากระสุนยางที่แตกออกเป็น 5 นัดเมื่อตกกระทบพื้น ซึ่งชัดเจนว่าเน้นสร้างอันตรายโดยไม่สนใจเป้าหมาย หรือกระสุนยางแบบ  Sponge Grenade ที่มีลักษณะคล้ายหัวยางลบติดดินสอ ใช้ยิงด้วยปืนยิงระเบิด (Grenade Launcher)  แต่กลับไม่มีเทคโนโลยีใด ๆ ที่คิดค้นมาเพื่อลดความรุนแรงของกระสุนยางเลย

ผู้เชี่ยวชาญต่างยอมรับว่ากระสุนยางเป็นอาวุธที่คาดเดาได้ยากในสถานการณ์จริงที่มีประชาชนรวมกลุ่มเป็นจำนวนมาก มันอาจจะฆ่าเป้าหมาย หรือทำร้ายผู้บริสุทธิ์ที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ เป็นตัวเลือกที่ไม่ควรนำออกมาขู่หรือใช้กับการชุมนุมที่ไม่มีความรุนแรง จากสถิติพบว่าราว 15.5% ของผู้คนที่โดนกระสุนยางบาดเจ็บถึงขั้นพิการตลอดชีวิต และ 3% ของเหยื่อที่โดนกระสุนยางรุนแรงถึงเสียชีวิต และ 3 ใน 4 คนที่ถูกยิงมักจะรุนแรงถึงขั้นบาดเจ็บสาหัส มันจึงไม่ควรถูกนำมาใช้เลยด้วยซ้ำ

เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะไม่มีภาพเจ้าหน้าที่ใช้ปืนยิงกระสุนยางใส่ประชาชน นักศึกษา นักเรียน ที่มาชุมนุมกันอย่างสงบ ไม่มีท่าทีจะก่อจลาจลสร้างอันตรายให้กับใครในสังคม

การชุมนุมไม่ควรมีผู้บาดเจ็บ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใดก็ตาม

 

Chaipohn
WRITER: Chaipohn
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line