GADGETs

How To Buy The Right Headphones : วิธีการตามล่าหา Headphones ที่ใช่!! ตอบสนองทุก Lifestye ในแบบของคุณ!!

By: HYENA November 22, 2017

การเลือกหูฟังให้กับตัวเองสักอันหนึ่งนั้น ไม่ต่างจากการเลือกคนที่ใช่มาเป็นแฟนเลยแม้แต่น้อย เพราะเวลาเราเลือกหูฟังนั้น นอกจากหน้าตารูปลักษณ์ของมันแล้ว เรายังต้องมองหาคุณภาพรวมไปถึงคาแรคเตอร์ของหูฟังแต่ละอันว่าเข้ากับการใช้ชีวิตของเราได้หรือไม่อีกด้วย

หูฟังได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนเราไปโดยที่เราไม่รู้สึกตัว เราใช้มันฟังเพลงตอนทำงาน ตอนเดินทาง หรือแม้แต่ตอนก่อนนอน ดังนั้น การที่คนเราจะเลือกหูฟังดี ๆ ที่เข้ากับเราจริงนั้น มันจึงเป็นอะไรที่พวกเราไม่ควรมองข้ามอย่างเด็ดขาด เราชื่อว่าบางคนคงเคยเจอกับความรู้สึกน่าหงุดหงิดใจหลาย ๆ อย่างเมื่อซื้อหูฟังมาแล้วใช้งานมันจริง ๆ ยกตัวอย่างเช่น คุณอาจจะชอบเสียงของมัน แต่มันก็ดันมีสายน่ารำคาญคอยเกะกะกวนใจ หรือคุณอาจจะชอบหูฟังรุ่นใหม่ Bluetooth อันใหม่นี้มาก แต่พอใส่ทีไรมันชอบหลุดหล่นหายทุกที แต่วันนี้ ปัญหาทุกอย่างเกี่ยวกับหูฟังของคุณจะหมดไป ด้วยวิธีการเลือกซื้อหูฟังที่ใช่ และเข้ากับไลฟ์สไตล์ของตัวคุณมากที่สุดที่เรานำมาให้ทุกคนได้อ่านกันในวันนี้

Step 1 : Decide What You Want

การตัดสินใจเลือกหูฟังที่ชอบ! ฟังดูเหมือนง่าย ซึ่งก็จริงตามนั้น เพราะคุณไม่จำเป็นต้องดูระบบการทำงานรวมไปถึงฟังก์ชั่นต่าง ๆ เหมือนตอนเลือกซื้อ Laptop เพียงแต่เราอยากให้คุณคำนึงอยู่ 3 สิ่งต่อไปนี้ เพราะมันจะทำให้คุณได้หูฟังที่ยอดเยี่ยมสำหรับตัวเองอย่างแน่นอน

สิ่งแรกคือ คุณภาพเสียง สิ่งต่อมาก็คือ การพกพา และสุดท้ายก็คือ ราคาที่คุณสามารถจ่ายได้โดยไม่เดือดร้อน แล้วนำสิ่งเหล่านี้มาใช้เป็นหลักในการพินิจพิจารณาหาหูฟังตัวโปรดในอนาคตของคุณอีกทีหนึ่ง ยกตัวอย่างเช่น ถ้าหากคุณเป็นคนที่ชื่นชอบการเสพซาวด์เป็นพิเศษ​ หูฟังอย่าง Audeze และ Focal ที่มีลักษณะเป็นหูฟังขนาดใหญ่อาจจะเป็นคำตอบสุดท้ายสำหรับคุณ

 

นั่นก็เพราะว่าหูฟังแบบ Full-Size ส่วนใหญ่ จะมาพร้อมกับความสามารถในการตัดเสียงรบกวนรอบข้าง แถมยังให้ซาวด์ Room หรือ Stage ที่กว้างขวางมีมิติมากกว่าแบบอื่น ๆ แต่แน่นอนว่า ถ้าคุณเน้นไปที่เรื่องของคุณภาพเสียง เรื่องของการพกพาก็จะยากขึ้นเนื่องจากขนาดของมันค่อนข้างใหญ่ และอาจจะมีต้องมีสายมาคอยเกะกะ นอกจากนี้แล้วยังรวมไปถึงเรื่องของราคาที่ค่อนข้างสูงสักนิดหนึ่ง

แต่ถ้าหากคุณคำนึงถึงเรื่องราคาเป็นอันดับแรก คุณก็ต้องทำใจก่อนเลยว่า คุณภาพเสียงที่ได้นั้น ก็อาจจะได้ตามราคาไปด้วย แต่มันก็ยังพอที่จะมีรูปลักษณ์ขนาดเล็กซึ่งช่วยในเรื่องของการพกพาที่สะดวกมากขึ้น

แต่ถ้าหากเน้นที่สะดวกเป็นหลัก แน่นอน ด้านราคาก็อาจจะไม่ถูกนัก ซึ่งนั่นคงจะเป็นราคาค่าออกแบบที่ทันสมัย ให้พกพาง่าย รวมถึงปัจจัยหลาย ๆ อย่างทางด้าเทคโนโลยีที่ถูกจับมาอย่างระบบ Bluetooth ที่จะช่วยให้ง่ายต่อการสวมใส่ละพกพา ไม่มีปัญหาเรื่องสายรบกวน แต่เรื่องของคุณภาพก็อาจจะสู้หูฟังที่ส่งสัญญาณเสียงตามสายไม่ได้ เพราะถ้าหากสายของหูฟังผลิตจากวัสดุอย่างดี คุณภาพเสียงที่ได้นั้น ก็จะดีตามไปด้วย

Step 2 : Learn The Basics

ขั้นตอนต่อมาถือว่า เป็นขั้นตอนพื้นฐานที่จะเข้าสู่กระบวนการเลือกหูฟังที่ใช่กับตัวคุณแบบจริง ๆ จัง ๆ ซึ่งถ้าหากคุณต้องการที่จะได้หูฟังในแบบที่ถูกใจจริง ๆ แล้วล่ะก็ คุณก็ต้องลงทุนศึกษาเรื่องของหูฟังกันสักนิดหนึ่ง

โดยคุณอาจจะเริ่มต้นจากการหาข้อมูลของหูฟังแบรนด์ที่มีชื่อเสียง หรือแบรนด์ที่คุณรู้จักก่อนว่า แต่ละแบรนด์นั้น มีความโดดเด่นในการให้โทนเสียงแบบไหน หรือแบรนด์ไหนทำหูฟังรูปทรงแบบไหนออกมาได้ดีที่สุด รวมถึงลองหาข้อมูลเรียนรู้ในเรื่องของ หูฟังแบบที่ตัดเสียงรบกวนรอบข้าง กับแบบเปิด

เพราะแม้ว่าบางคนจะบอกว่า หูฟังแบบปิดดีกว่า เพราะไม่มีเสียงอะไรแทรกซ้อนเข้ามารบกวนได้ บางคนกลับรู้สึกว่า มันฟังแล้วไม่สบายหู รู้สึกเสียงอุดอู้ไม่โปร่งกังวาลก็มีอยู่ด้วยเช่นกัน ดังนั้น คุณต้องรู้การว่า คุณเป็นคนชอบฟังเสียงจากหูฟังสไตล์ไหน

สุดท้าย เราอยากให้คุณลองคิดเผื่อเอาไว้ด้วยว่า หูฟังที่คุณกำลังจะซื้อมันนี้ คุณจะซื้อมันเอาไว้ใช้งานที่ไหนเป็นหลัก เพราะถ้าหากคุณซื้อมันมาใช้งานตอนอยู่บ้าน หรือในที่ที่เสียงการฟังเพลงของคุณจะไม่ก่อกวนคนรอบข้าง หูฟังแบบเปิดก็ถือว่าเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมกว่า หูฟังแบบปิดเพราะคุณภาพเสียงที่ได้นั้นจะมีมิติที่ค่อนข้างกว้างกว่า อีกทั้งยังฟังสบายหูกว่าอีกด้วย

แต่ถ้าหากคุณต้องการซื้อหูฟังมาเพื่อใช้ตอนเดินทางไปทำงาน หรือแม้แต่ใช้ฟังเพลงในขณะที่คุณกำลังปั่นงานอยู่ที่ออฟฟิศ หูฟังแบบปิดก็ถือว่า ตอบโจทย์กับการใช้งานของคุณมากกว่าอย่างแน่นอน เพราะในขณะเดินทาง มันจะตัดเสียงรบกวนของบรรยากาศรอบข้างออกไป ไม่ว่าจะเป็นเสียงรถ เสียงผู้คนที่คุยกันโคตรดังบนรถไฟฟ้า หรือแม้แต่เสียงเพลงของคุณเอง ก็จะไม่เล็ดรอดออกไปจากหูฟังรบกวนคนอื่น ๆ ในที่ทำงาน ตอนที่คุณฟังเพลงไป ทำงานไปอีกด้วย

Step 2.5 : More Basics

ขั้นตอนนี้ จะช่วยให้คุณเลือกหูฟังได้อย่างแม่นยำว่า หูฟังสไตล์ไหนกันแน่ ที่เหมาะสำหรับการสวมใส่ และใช้งานในชีวิตประจำวันของคุณ

‘Circumaural’

หูฟัง Circumaural ที่หลาย ๆ คนอาจจะเรียกว่า หูฟัง Over-Ear หรือ Full-Size เป็นหูฟังที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดารูปแบบหูฟังทั้งหมด นอกจากนี้โดยส่วนใหญ่แล้ว หูฟังประเภทนี้ยังจะให้เสียงที่ดังที่สุดอีกด้วย เนื่องจากภายในของตัวหูฟังขนาดใหญ่นี้ จะมีพื้นที่ในการผลิตเสียงที่มีความกว้าง มีมิติมากกว่าแบบอื่น ๆ แถมเรื่องความสบายในการสวนใส่ ก็ยังต้องยกให้หูฟังแบบ Circumaural เป็นหูฟังที่สวมใส่สบายที่สุดอีกด้วย

‘Supra-Aural’

หูฟัง Supra-Aural หรือหูฟังแบบ On-Ear นี้ เป็นหูฟังที่แพร่หลายมากที่สุด หาซื้อง่าย และมีให้เลือกมากมายหลายราคา แต่คุณก็ต้องยอมแลกกับคุณภาพเสียงที่น้อยลงเมื่อเทียบกับแบบ Over-Ear รวมไปถึงการที่หูฟังแบบ On-Ear ส่วนใหญ่จะไม่มีการตัดเสียงรบกวนรอบข้าง และสำหรับบางคน ยังอาจจะรู้สึกว่า มันหลุดง่าย ใส่ไม่สบายพอดีหูอีกด้วย

แต่ในทางกลับกันก็มีคนที่ชื่นชอบรูปแบบการใส่ของหูฟัง On-Ear อยู่อีกมากมายเช่นกัน นอกจากนี้มันยังมีขนาดที่ไม่ใหญ่เทอะทะแบบพกพาได้ง่าย ซึ่งถ้าหากว่าชอบหูฟังสไตล์นี้ แต่อยากจะได้เสียงที่ดีมีคุณภาพ เสียงดนตรีกระแทกหูแบบเน้น ๆ ใกล้เคียงกับหูฟังแบบ Over-Ear ล่ะก็ คุณก็ลองสามารถเสาะหาแบรนด์ดัง ๆ ที่มีราคาค่อนข้างสูง อย่าง T51i ของ Beyerdynami หรือไม่ก็หูฟังที่หน้าตาไม่ดี แต่เสียงกินขาดอย่าง Koss Porta Pros ได้เช่นกัน

In-Ear’

ถ้าหากว่าอยากได้คุณภาพที่เข้าใกล้หูฟัง Over-Ear แถมยังพกพาง่าย หูฟังแบบ ‘In-Ear’ ถือว่า เป็นอะไรที่ตอบโจทย์สุด ๆ เพราะเมื่อขึ้นชื่อว่าเป็นหูฟังแบบ ‘In-Ear’ แล้ว ส่วนใหญ่มักจะมีระบบตัดเสียงรบกวนรอบข้างได้แทบสนิททุกอัน แต่ข้อเสียของมันที่บางคนเลือกที่จะไม่ใช้ก็คือ การสวมใส่ที่ต้อยัดมันเข้าไปในรูหูนั่นเอง

โดยเฉพาะคนที่ยังไม่เคย หรือยังซิงไม่เคยมีอะไรสอดผ่านเข้าไปมาก่อน อาจจะรู้สึกเจ็บ หรืออึดอัดรำคาญในบางครั้ง หรือบางคนไม่สามารถใส่ได้เลยก็มี นอกจากนี้ มิติเสียงที่ได้ก็อาจจะไม่ถึงขนาดเทียบกับหู Over-Ear ได้อยู่ดี

แต่นอกจากที่เราพูดมาทั้งหมดแล้ว หูฟังแบบ ‘In-Ear’ ส่วนใหญ่ยังมีระบบ Bluetooth หรือเป็นหูฟังแบบไร้สายง่ายต่อการพกพามาให้สำหรับคนที่ไม่ชอบหูฟังที่ต้องเสียบต่อสายเข้ากับเครื่องเล่น ซึ่งเป็นอีกหนึ่งข้อดีของหูฟัง ‘In-Ear’ ที่มีระบบ Bluetooth ในตัววางจำหน่ายมากกว่า แบบอื่น ๆ ทำให้คุณมีตัวเลือกที่มากกว่าหูฟังสไตล์อื่นตามไปด้วย

Step 3 : Define Your Use

ต่อไปคือขั้นตอนในการพิจารณารูปแบบหูฟังที่เหมาะสมกับการใช้งานหูฟังของคุณว่า คุณซื้อมันมาเพื่อใช้งานมันตอนไหนเป็นหลัก และต่อไปนี้คือ สถานการณ์ต่าง ๆในชีวิตประจำวันที่จะทำให้คุณสามารถเลือกได้ว่า หูฟังอันไหนกันแน่ที่เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ของคุณที่สุด

‘The perfect office headphones’

ถ้าหากคุณคิดมาแล้วว่า หูฟังที่คุณกำลังมองหาอยู่นี้ มันจะถูกนำมาใช้งานตอนที่คุณนั่งทำงานอยู่ในออฟฟิศเป็นหลัก เพื่อตัดความลังเลไขว้เขวออกไป เราอยากให้คุณ มองหาคุณสมบัติเพียง 2 อย่าง ในหูฟังที่คุณควรซื้อเท่านั้นคือ อันดับแรก สวมใส่สบาย และ ตัดเสียงรบกวนรอบข้าง

เนื่องจากคุณสวมใส่มันโดยไม่ต้องเดินทางไปไหน และไม่จำเป็นจะต้องถอดเก็บ เข้า-ออก จากกระเป๋าบ่อยครั้ง คุณควรมองหาหูฟังที่ใส่สบายอย่าง Over-Ear เป็นอันดับแรก เพราะมันเป็นหูฟังที่ถือว่า ดีที่สุดทั้งในเรื่องเสียง และความสบายในการสวมใส่

แต่ถึงอย่างไรก็ตาม คุณต้องพยามหาหูฟังที่ตัดเสียงรบกวนรอบข้างด้วย ยิ่งถ้าเป็นแบบ Over-Ear ที่มีพลังการขับสูง ๆ ด้วยแล้ว ยิ่งควรหาให้ได้เป็นอย่างยิ่ง เพราะไม่งั้นเสียงเพลงของคุณจะลั่นไปก่อกวนเพื่อนร่วมงานที่นั่งอยู่ข้าง ๆ ได้ง่าย ๆ

แต่ถ้าจะให้ได้คุณสมบัติตามที่พูดมาราคามันก็อาจจะสูงเกินไป ลองมองหาเป็นหูฟังแบบ On-Ear ดูก็ได้ถ้าไม่ซีเรียสเรื่องเสียงมากนัก หรือถ้าอยากได้ดีขึ้นมาสักหน่อยก็ In-Ear ไป รับรองว่าไม่ผิดหวังเช่นกัน

‘Gaming headphones’

เมื่อคุณรู้ตัวว่า ไม่ได้ซื้อหูฟังมาเพื่อฟังเพลง เราก็ขอแนะนำให้มองหาหูฟังที่ใช้สำหรับเล่นเกมโดยเฉพาะโดยไม่ต้องมาข้องแวะกับแบรนด์เครื่องเสียงไปเลย ก็จะช่วยลดราคาค่างวดลงได้พอสมควรเลยทีเดีย

เพราะหูฟังที่ใช้สำหรับเล่นเกมที่ดีนั้น ควรจะมีคุณสมบัติเด่น ๆ  อยู่ 2 อย่างด้วยกันคือ การให้ตำแหน่ง หรือ มิติ เสียงที่สมจริง ชัดเจน และแม่นยำ แน่นอนว่า มันสามารถช่วยเพิ่มอรรถรสในการเล่นเกมของคุณได้อย่างมหาศาล

อันดับต่อมา มีผลการวิจัยออกมาว่า คนเราจะเล่นเกมแล้วรู้สึกสนุกมากยิ่งขึ้น เมื่อได้ยินเสียงทุ้มจากเบสที่ใหญ่ และลึกกว่าปกติ โดยเฉพาะในการที่มีการปาระเบิด เสียงยิงปืน หรือเสียงเครื่องยนต์ที่ชัดเจน ในเกมประเภทรถแข่ง ดังนั้น หูฟังที่ถูกออกแบบมาเฉพาะเล่นเกมจะลองรับความสามารถเหล่านี้ และในปัจจุบันก็ยังมีอีกมากมายหลายแบรนด์ให้คุณหาซื้อได้ง่าย ๆ เต็มไปหมด

‘Headphones for Use During Exercise’

ส่วนในหูฟังที่ใช้งานระหว่างการออกกำลังกายนั้น หลายคนอาจจะมองว่าไม่สำคัญ หรือคิดว่าจะใช้หูฟังอะไรก็ได้ ซึ่งเมื่อถึงเวลาได้ลองด้วยตัวเองแล้วจะพบว่า แม่งโคตรไม่จริง!!

เพราะหูฟังส่วนใหญ่ไม่ได้ออกแบบมาให้เกาะอยู่บนหัวเราอย่างเหนียวแน่นมากขนาดนั้น ดังนั้น ถ้าหากคุณใช้หูฟังไม่ว่าจะเป็น Over-Ear, On-Ear หรือแม้แต่ In-Ear ที่ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อการออกกำลังกายโดยเฉพาะจึงเกิดปัญหา หูฟังหลุด หรือ ไม่ก็สายของหูฟังพันกับคอ ไม่ก็หลุดไปเกี่ยวอยู่กับเครื่องออกกำลังกายอยู่เป็นประจำ

หูฟังที่เหมาะกับการออกกำลังกายนั้นมีอยู่แทบทุกแบรนด์ โดยส่วนใหญ่มักจะมาพร้อมระบบ Bluetooth เพิ่งความคล่องแคล่ว และทะมัดทะแมงในการออกลีลาท่าทางต่าง ๆ นอกจากนี้ หูฟังสำหรับออกกำลังกายยังถูกออกแบบให้มีการสวมใส่ที่กระชับกว่า โดยอาจจะมีที่คล้องหู หรือมีสายรัดมาให้อีกด้วย

สุดท้าย หูฟังที่ใช้งานตอนออกกำลังกายได้ดีจริง ๆ ก็ควรที่จะเป็นหูฟังที่อึด ถึก ทน มีความสามารถในการกันน้ำ กันกระแทกที่ยอดเยี่ยม เพราะแน่นอนว่า การออกกำลังกายนั้น ร่างกายของเราต้องมีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา ซึ่งอาจจะเกิดการกระแทกได้อยู่บ่อยครั้ง แถมยังมีเหงื่อที่ไหลออกมาอยู่ตลอดเวลาอีกด้วย

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าหากใครดันใส่หูฟัง Grado ไปวิ่งบนลู่ รับลองได้ว่า ต่อให้ Grado ที่ชื่อเสียงล่ำลือกันมายาวนานว่าดีขนาดไหน คุณก็จะรู้สึกว่ามันห่วยบรรลัยจากการที่โฟมหลุดติดหน้าเป็นแผ่น หรือไม่ใส่วิ่ง ๆ อยู่ก็หลุดตกลงพื้นมาพังกระจาย นี่ยังไม่รวมเรื่องของสายที่อาจจะสร้างความรำคาญ จนสุดท้ายกลายเป็นพาลไปโทษว่า หูฟังแบรนด์นี้ห่วยแตกบ้างอะไรบ้าง ทั้ง ๆ ที่ตัวเองไม่เลือกรูปแบบหูฟังให้เหมาะสมกับการใช้งานเองแท้ ๆ

‘Audiophiles’

สำหรับคนที่หาหูฟังมาเพื่อที่จะใช้เสพซาวด์ดนตรีให้ได้อรรถรสโดยเฉพาะ ก่อนอื่นคุณต้องรู้ถึงความต้องการของตัวเองก่อนว่า อย่างจะเสพแบบพิถีพิถันมากแค่ไหน แต่โดยทั่วไปแล้ว ถ้าใครก็ตามที่ตั้งใจอยากจะหาหูฟังที่ใช้ไว้เสพซาวด์จริง ๆ จัง ๆ เราขอให้คุณไปลองฟังมันด้วยตัวคุณเอง และลองไล่ทำตามตามที่เราได้นำเสนอตั้งแต่แรกจะเป็นอะไรที่ดีที่สุด

เพราะหูของนักฟังเพลงแต่ละคนนั้น ไม่ได้มีรสนิยม หรือความชอบแบบเดียวกันเสมอไป บางคนอาจจะชอบเบสหนัก ๆ แต่ไม่ชอบใส่ Over-Ear บางคนอาจไม่ต้องการมิติเยอะแยะ แค่เน้นเสียงที่ครบถ้วนชัดเจน แต่ไม่ชอบความอึดอัดของ In-Ear ก็มีเช่นกัน

นี่ยังไม่รวมถึงรสนิยมของแต่ละคน ที่ก็ยังมีความแตกต่าง แยกแขนงออกไปอีกว่า ชอบแนวเพลงแบบไหน ใช้หูฟังแบบไหนถึงจะได้โทนเสียง หรือมิติเสียงที่ต้องการ เหมาะสมกับแนวเพลง และความต้องการได้อย่างลงตัวที่สุด ซึ่งเป็นสิ่งที่ซับซ้อนแต่น่าหลงไหลในศาสตร์การฟังเพลงมาแต่ไหนแต่ไร จนบางคนเข้าถึงลึกเกินไปถอยทั้งลำโพงทั้งหูฟังชุดใหญ่จนแทบโดนเมียไล่ออกจากบ้านก็มี

แต่ถ้าหากคุณเป็นมือใหม่ที่ต้องการแนวทางตามล่าหาหูฟังที่ใช้เสพซาวด์ในระดับเป็นที่ยอมรับไปทั่วโลก คุณอาจจะเริ่มจากหาหูฟังคุณภาพดีอย่าง JBL, Skullcandy, Urbanears หรือ Beat มาลองดูก่อนก็ได้ แค่นั้นคุณก็จะพอเห็นถึงความแตกต่างของ หูฟังเหล่านี้ กับหูฟังธรรมดา ๆ ที่เคยผ่านมาในชีวิตแล้ว

แต่ถ้านั่นยังไม่พอ และต้องการที่จะได้หูฟังระดับพระกาฬอย่างที่เขาว่ากันล่ะก็ เราขอแนะนำหูฟังระดับไฮเอนด์จาก 3 ชาติดังไปให้เป็นตัวเลือกดูแล้วกัน อันดับแรก หูฟังจากประเทศ​ สหรัฐอเมริกา เช่น  Audeze, MrSpeakers  และ Grado ส่วนใครชอบแนวยุ่นก็ขอแนะนำ Fostex, Final Audio, Audio-Technica หรือไม่ก็ Zero Audio ก็ยอดเยี่ยมเช่นกัน สุดท้ายหูฟังจากประเทศเยอรมันระดับโลกที่ถือว่าอยู่ในระดับสุดยอดก็คงจะหนีไม่พ้น Sennheiser และ Beyerdynamic อย่างแน่นอน

Step 4 : Listen and Don’t Look Back in Anger!

ขั้นตอนสุดท้ายนี้ เป็นขั้นตอนหลังจากที่คุณเลือกหูฟังที่ถูกใจมาไว้ในครอบครองเป็นที่เรียบร้อย ให้คุณอย่ารอช้า สวมหูฟังให้พร้อม แล้วกดปุ่ม Play เพื่อเสพซาวด์ พร้อมทดลองความแปลกใหม่ของโลกดนตรีกันได้เลย ทั้งนี้ทั้งนั้นหลายคนอาจจะงงในตอนแรกว่า ขั้นตอนนี้คืออะไร จะให้ไปฟัง Don’t Look Back in Anger ของ Oasis รึยังไง? ขอบอกเอาไว้เลยว่า ไม่ใช่แบบนั้น แต่เราหมายความว่า ถ้าหากคุณซื้อหูฟังมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่พอเอากลับบ้านมาฟังแล้วกลับรู้สึกว่า น่าจะซื้อหูฟังอีกตัวหนึ่งที่ลองมามากกว่า ก็อย่าได้เจ็บใจไป เพราะนั่นถือเป็นเรื่องธรรมดาของชีวิตคนเราที่ชอบมีอะไรมาทดลองสภาพจิตใจอยู่เสมอ

ดังนั่น อย่าหวั่นไหวเพราะถ้าหากคุณทำตามขั้นตอนทั้งหมด ไตร่ตรองตามที่เราบอกให้คุณคิดพิจรณาแล้วจริง ๆ ล่ะก็ เราเชื่อว่า อย่างไรก็ตาม เมื่อถือเวลาที่คุณตัดสินใจเลือกจ่ายเงินกับหูฟังอันไหนไปก็ตาม คุณจะต้องได้หูฟังที่ดี และเหมาะกับตัวคุณเองที่สุดแล้วอย่างแน่นอน แต่ถ้าไม่ใช่ก็คงต้องก้มหน้าก้มตาเก็บเงินซื้อใหม่กันต่อไป ขอให้ทุกคนโชคดี

SOURCE

 

 

 

HYENA
WRITER: HYENA
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line