Business

รู้จัก Toxic Productivity ชีวิตที่ต้องทำงานตลอดเวลา เพราะรู้สึกผิดและไร้ค่าเมื่อว่างงาน

By: Chaipohn April 18, 2022

“ต้องทำงานให้หนัก ไม่มีหยุดพัก ไม่ต้องคบใคร แล้วคุณจะประสบความสำเร็จ”

หากใครฟังไลฟ์โค้ชบ่อย ๆ น่าจะคุ้นกับประโยคปลุกใจทำนองนี้ ซึ่งอาจจะมีส่วนถูกอยู่บ้างบางส่วน เช่นการทำงานที่ช่วยพัฒนาตัวเองมากกว่าคนอื่น ย่อมสร้างโอกาสให้เราได้มากขึ้นด้วยเช่นกัน หรือในภาวะเศรษฐกิจทรุด ค่าเงินเฟ้อ หลายคนต้องทำงานอย่างหนักหลายช่องทางเพื่อหารายได้เสริม หรือบางคนอาจจะมีค่านิยมว่าต้องทำงานให้หนักอยู่เสมอ ตัวเองถึงจะมีคุณค่า

ไม่ว่าคุณจะทำงานหนักด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม หากรู้สึกว่ามันหนักเกินไปจนชีวิตของคุณกำลังพัง แปลว่าคุณกำลังเจอกับอาการ “Toxic Productivity”

Toxic Productivity คือความพยายามเป็นคน Productive ตลอดเวลา ไม่คิดจะหยุดพัก แม้ว่างานของวันนี้จะถูกเคลียร์ไปหมดแล้วก็ตาม เป็นสิ่งที่พบเห็นได้มากในกลุ่ม Manager level ขึ้นไป ซึ่งอยู่ในช่วงสำคัญที่ต้องการสร้างผลงานเพื่อเลื่อนขั้นต่อไป หรือ Freelance ที่รับงานมากเกินไป เพราะการมีลูกค้าเข้ามาว่าจ้าง หมายถึงความสามารถที่เหนือกว่าคู่แข่ง และเป็นช่วงกอบโกยรายได้

จะเห็นว่าการนำคุณค่าของตัวเองไปวัดกับประสิทธิภาพการทำงาน จะยิ่งก่อให้เกิดความเครียดจากวงจรการทำงานที่ไม่มีวันหยุดพัก ยิ่งทำงานได้มาก ยิ่งงานออกมาได้ดี ยิ่งแสดงถึงคุณค่าของตัวเองมากขึ้น เพื่อให้หัวหน้าและลูกน้องมองเห็นความสำคัญในการมีอยู่ซึ่งตัวตนแบบอย่าง

หากไม่มีงาน เราจะรู้สึกว่าไม่เหลืออะไรในชีวิตให้ทำอีกเลย และเมื่อไหร่ที่นั่งว่างงานเฉย ๆ ระหว่างวัน กลับทำให้รู้สึกว่าเป็นคนขี้เกียจ ด้อยคุณค่าในตัวเองลงไป

นอกจากนี้การ Work from home ก็เป็นอีกปัจจัยให้หลายคนเจอกับอาการ Toxic Productivity มากขึ้น โดยเฉพาะคนที่จริงจังในชีวิตการทำงาน จะรู้สึกว่าต้องทำงานมากกว่าเดิมเป็นสองเท่า ต้อง standby พร้อมตอบคำถามหน้าจอตลอดเวลา เพื่อชดเชยกับระยะห่างและเวลาว่างที่เพิ่มขึ้น เพราะไม่อยากถูกมองว่าเป็นคนขี้เกียจหรือฉวยโอกาสไม่ทำงานนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญที่สุดคือเราต้องแยกให้ออกระหว่าง “Work Hard” และ “Toxic Productivity” มันเป็นคนละเรื่องเดียวกันอย่างสิ้นเชิง และอย่าเข้าใจผิดไปว่าเราควรเป็นคนขี้เกียจเพื่อจะทำให้ชีวิตมีความสุข เพราะไม่มีความสำเร็จใดเลยที่จะได้มาจากความเกียจคร้าน สิ่งเดียวที่จะได้จากการสบายในวันนี้ ก็คือความยากลำบากในวันข้างหน้าเท่านั้น

ในขณะเดียวกัน การทำงานหนักเกินไปจนเราไม่มีเวลาเหลือไว้ดูแลตัวเอง ไม่มีเวลาพัก ไม่มีเวลากิน ไม่มีเวลานอน ทั้งที่งานที่จำเป็นต้องส่งตาม timeline นั้นสำเร็จเรียบร้อยอย่างมีคุณภาพไปแล้ว การทำอะไรล้ำเส้นแบบนี้ต่างหากที่ถูกจัดว่าเป็น Toxic Productivity นำพาไปสู่ความเครียด หมดไฟ รวมถึงมีผลกระทบต่อความสัมพันธ์กับคนรอบข้างในที่สุด

วิธีรับมือกับ Toxic Productivity ที่ดีที่สุด ก็คือการ “Smart Work” การจัดการเวลาทำงานให้มีประสิทธิภาพคือทางออกที่ดีที่สุด

มีวิธีจัดการเวลาที่มีประโยชน์มากมาย ไม่ว่าจะเป็น “Time Blocking”   “Not To Do List”  “Pomodoro Techniquie”  ช่วยให้เรารู้จักเรียงลำดับความสำคัญและความด่วนของงาน และรู้จักหยุดพักเมื่องานที่สำคัญและด่วนนั้นได้ผ่านไปแล้ว เพราะการทำงานหนักจนร่างกายสะสมความเครียด จะทำให้เราใช้สมองผลิตความคิดสร้างสรรค์ได้ยากขึ้น ความละเอียดลดลง ส่งผลต่อคุณภาพของงานที่ด้อยลงในที่สุด

หรือในขั้นเลวร้าย หากร่างกายของเราเจ็บป่วยจนทำงานไม่ได้ขึ้นมา คนที่กังวลกับ Toxic Productivity อาจจะรู้สึกเครียดหนักกว่าคนอื่นทั่วไป เพราะนั่นหมายถึงคุณค่าหนึ่งเดียวในชีวิตถูกทำลายลงนั่นเอง

จำเอาไว้ว่า พวกเราสามารถประสบความสำเร็จไปพร้อมกับการมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี ลดความกดดันให้ตัวเองลงบ้าง ชื่นชมผลงานของตัวเองบ้าง เพราะสุดท้ายแล้วไม่มีสิ่งใดจะมีคุณค่ามากไปกว่าสุขภาพและความสัมพันธ์ที่ healthy กับคนในครอบครัวที่รักและเป็นห่วงเราอยู่เสมอ

Chaipohn
WRITER: Chaipohn
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line