Life

แย้งยังไงไม่ให้ทะเลาะกัน ? 5 คำแนะนำที่ต้องจำเวลาโต้แย้งกับคนอื่น

By: unlockmen November 5, 2020

ทุกวันนี้เวลาเราออกจากบ้าน มองซ้ายมองขวา เราก็เจอกับคนที่มีความคิดเห็นแตกต่างจากเราได้ง่ายๆ เพราะสังคมเราเต็มไปด้วยคนหลากหลาย และความคิดเห็นที่หลากหลายก็เริ่มแพร่กระจายจากการมี social media แต่การมีความคิดเห็นที่แตกต่าง มักนำมาซึ่งความขัดแย้งในสังคมของเราเสมอ เห็นได้จากข่าวสารบ้านเมืองตอนนี้ที่ยังไม่มีความสงบเรียบร้อย

UNLOCKMEN เห็นถึงความสำคัญของการแสดงความคิดเห็น จึงอยากมาแนะนำหลักที่ทุกคนควรมีเวลาจะแสดงความเห็นต่างในเรื่องอะไรก็ตาม เพื่อให้เกิดความคิดเห็นที่มีประสิทธิภาพ และป้องกันความขัดแย้งที่อาจนำไปสู่การใช้ความรุนแรง

การแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างสามารถทำให้เกิดไอเดียดีๆ ได้มากกว่าการคล้อยตามกับคนอื่นไปซะทุกเรื่อง Charlan Nemeth นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย และทีมวิจัย ได้ทำการศึกษาการไม่เห็นด้วยในการประชุมระดมสมอง ใน 3 กลุ่ม ได้แก่ การระดมสมองแบบดั่งเดิมมีกฎ เช่น “ห้ามวิจารณ์” ไอเดียของคนอื่น การระดมสมองแบบที่กระตุ้นให้คนถกเถียงและวิจารณ์ และกลุ่มสุดท้ายจะเป็นกลุ่มควบคุม

ผลการทดลองพบว่า หากไม่มีกฎ “ห้ามวิจารณ์” แล้ว กลุ่มที่ระดมสมองกันจะผลิตไอเดียออกมาได้มากขึ้น แสดงให้เห็นว่า การถกเถียง และการวิจารณ์ มีความสำคัญในเวลาที่ต้องมีการระดมสมองกัน

แต่การแสดงความคิดเห็นใช่ว่าจะเป็นเรื่องที่ทำได้ง่ายๆ เรามักจะไม่สบายใจที่จะมีความคิดเห็นที่แตกต่างจากคนอื่น เพราะมันอาจทำให้เราถูกมองว่าเป็นศัตรู หรือ โดนแบนจากกลุ่มได้ งานวิจัยชิ้นหนึ่งทำโดย Garold Stasser และ William Titus จากสาขาจิตวิทยา มหาวิทยาลัยไมอามี่ และมหาวิทยาลัยอาร์คันซอ ได้ให้กลุ่มนักศึกษาปริญญาตรีพูดคุยกันถึงผู้ลงสมัครประธานสังคมนักเรียนที่ได้รับการสมมติขึ้นมา โดยนักวิจัยได้บอกข้อเท็จจริงกับผู้เข้าร่วมการทดลองแต่ละคนแตกต่างกัน บางข้อเท็จจริงทุกคนได้รับเหมือนกัน บางข้อเท็จจริงมีเพียงผู้เข้าร่วมการทดลองคนเดียวเท่านั้นที่ได้

ผลการทดลองพบว่า คนมักจะไม่ค่อยพูดถึงข้อมูลที่ตัวเองได้มาคนเดียว และบทสนทนาในวงจะพัฒนาจากสิ่งที่คนทั้งกลุ่มรู้กันอยู่แล้ว มากกว่า ตามหาสิ่งที่คนทั้งกลุ่มยังไม่รู้ แสดงให้เห็นว่า แม้คนจะมีโอกาสที่จะหาข้อมูลเพิ่มเติมจากคนอื่น แต่การโฟกัสกับความรู้ที่ทุกคนรู้ร่วมกันอยู่แล้วเป็นเรื่องที่สบายใจกว่า

เมื่อการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างเป็นเรื่องที่น่ากลัว แต่มีความจำเป็น วันนี้ UNLOCKMEN เลยอยากแนะนำหลักในการแสดงความไม่เห็นด้วยที่ทุกคนควรนำไปใช้ เพื่อให้ทุกคนสามารถหลีกเลี่ยงความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากการมีความคิดเห็นที่แตกต่างได้มากที่สุด

เมื่อเราขัดแย้งกับคนอื่น อย่าพยายามพูดในสิ่งที่เป็นเรื่องส่วนตัว เช่น ไปโจมตีความเชื่อ ความคิดของคนอื่น เพราะมันจะทำให้เราดูไม่เป็นมืออาชีพ และไม่ได้นำไปสู่อะไรด้วย นอกจากเพิ่มความไม่พอใจ ดังนั้น เราควรระลึกไว้เสมอว่า เราต้องการแสดงความคิดเห็นที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพ เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดี มากกว่า ความขัดแย้ง

ข้อโต้แย้งที่ดีมักใช้ข้อเท็จจริงมากกว่าความคิดเห็น แต่บางครั้งมันก็เป็นเรื่องยากที่เราจะพูดในสิ่งที่เป็นข้อเท็จจริง ในเวลาที่ความขัดแย้งเกิดขึ้น เพราะมันมีเรื่องอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้อง การใช้ข้อเท็จจริงจะช่วยให้เราจูงใจคนอื่นได้มากขึ้น และไม่ทำให้เรื่องที่เราพูดดูเป็นเรื่องส่วนตัว ดังนั้น เวลาทะเลาะกับใคร อย่าใช้อารมณ์มากเกินไป แต่ให้ใช้เหตุผลเป็นหลัก

แม้ว่าเราจะไม่เห็นด้วยกับอีกฝ่าย แต่เราก็ไม่ควรปิดหูปิดตา ไม่รับฟังฝ่ายตรงข้ามเลย ลองโต้แย้งโดยใช้ความคิดเห็นของอีกฝ่ายเป็นฐาน โดยอาจเริ่มจากการหาจุดที่เราชอบจากความคิดเห็นของอีกฝ่าย เช่น การให้คนจากบริษัทสาขาไปช่วยงานบริษัทใหญ่ก็เป็นวิธีการแก้ไขปัญหาการทำงานหนักที่ดี แต่ผมคิดว่าการปรับเวลาในการทำงานของพนักงานใหม่น่าจะเวิร์กกว่า เป็นต้น พยายามเสนอไอเดียที่ทำให้เกิดความร่วมมือดีกว่าพยายามกล่าวหาคนอื่น

เมื่อเราอยู่ในความขัดแย้ง เรามักไม่ฟังกัน และรอโอกาสที่จะตอบโต้อีกฝ่ายอย่างเดียว ซึ่งบทสนทนาที่ต่างฝ่ายต่างไม่ฟังกัน ไม่ช่วยอะไร นอกจากทำให้ทะเลาะกัน การฟังคนอื่นจะช่วยให้เรามีโอกาสพบกับแนวทางในการแก้ไขปัญหามากกว่า

เวลาเราทะเลาะกัน เรามักต้องการที่จะเอาชนะกัน โดยที่ไม่รู้ว่าควรหยุดตอนไหน และความขัดแย้งก็ยิ่งบานปลายมากขึ้น หากเราต้องการแสดงความไม่เห็นด้วยแบบสันติจริงๆ เราควรรู้ว่าตอนไหนควรหยุด เราเข้าใจว่าการยอมแพ้ และเดินหนีไปเป็นเรื่องยาก แต่บางครั้งมันก็เป็นวิธีการแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุด ดีกว่า ไม่ยอมหยุด และทำให้ความขัดแย้งมันยืดเยื้อต่อไป

 

Appendixs: 1 / 2

 

 

unlockmen
WRITER: unlockmen
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line