Business

โดนไล่ออก! โดนเลย์ออฟ! อย่าล้มทั้งยืน: ฟื้นคืนชีพให้ไว ด้วยวิธีหางานใหม่ที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

By: PEERAWIT June 1, 2018

“ความไม่แน่นอน คือความแน่นอน” นี่คือประโยคเตรียมใจที่ใช้ได้กับทุกเรื่องบนโลกที่โคตรไม่แน่นอนใบนี้ หนึ่งในนั้นก็คือเรื่องงาน

ไม่ว่าจะเพราะอะไรก็ตาม แต่เหตุการณ์สุดเซ็งอย่างโดนไล่ออก โดนเลย์ออฟ ยังคงเป็นเรื่องนอยด์ ๆ ที่เกิดขึ้นได้ทุกวัน เพราะฉะนั้นการหางานใหม่ย่อมเกิดขึ้นทุกนาทีเช่นกัน ซึ่งเราอาจจะคุ้นชินกับวิธีเดิม ๆ อย่างท่องเว็บไซต์หางาน เข้าร่วม networking event ต่าง ๆ  อัพเดท resume แล้วส่งอีเมลสมัครงานแบบกราด ๆ รอ HR บริษัทนั้น ๆ โทรมานัดสัมภาษณ์

แต่สำหรับผู้ชายที่ล้มแล้วลุกไวอย่างเรา คงจะไม่ใช้วิธีการแบบทั่วไปที่ดูเหมือนกับเป็นการรอคอยโอกาส แต่เราจะพัฒนาตัวเองให้มีคุณค่ามากขึ้น และหาวิธีการที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการหางานใหม่ ชาว UNLOCKMEN ที่กำลังหางานใหม่อยู่ และเห็นด้วยว่าเราควรเงยหน้าขึ้นสู้ ลองทำตามวิธีการเหล่าที่เรานำมาแนะนำดู แล้วจะรู้ว่าคุ้มตั้งแต่ยังไม่รู้ผล

 

รู้จักการขายตัวเองให้เจ๋งพอ

“สิ่งที่จำเป็นมาก ๆ สำหรับคนที่กำลังหางานใหม่ก็คือความพร้อมในตอบคำถามที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า ‘ทำไม ?’ ” Mark Anthony Dyson โค้ช และผู้ก่อตั้ง Voice of Job Seekers ให้ความเห็นที่สนับสนุนวิธีการแรก

คำถามเบสิคแต่ลึกซึ้งที่เรามักจะถูกถามเวลาสัมภาษณ์งานก็คือ “ทำไมคุณถึงอยากทำงานนี้ ?” ,  “ทำไมถึงทำงานนี้มาก่อน ?” และ “ทำไมเราถึงต้องจ้างคุณ ?”  ซึ่งมักจะเป็นคำถามที่เราเองอาจเตรียมคำตอบไว้อย่างสวยหรูตามสูตร แต่ด้วยความที่เจ้าหน้าที่ HR และว่าที่นายจ้างใหม่ของคุณเขาก็สัมภาษณ์คนมาเยอะ ถ้าต้องเจอกับคำตอบแบบแพตเทิร์นเดิม ๆ ก็คงจะเอียงตัวมาสนใจได้ยากหน่อย

อันที่จริงคุณก็แค่หาคำตอบในใจให้จริง รู้ตัวเองให้มากที่สุด แล้วก็เล่าเรื่องราวของคุณออกมาให้เป็นธรรมชาติ อย่าโกหก อธิบายให้ชัดเจนว่าทำไมเราถึงตัดสินใจอย่างนั้น หรือทำไมถึงตกงาน ยอมรับในความผิดพลาด และถ่ายทอดออกไปว่าเราได้บทเรียนมาอย่างไร ส่วนความถนัด ประสบการณ์ ข้อดี หรืออะไรก็ตามที่เป็นแง่บวก คุณต้องประเมินตัวเองให้จริงที่สุด รู้ตัวเอง และพรีเซนต์ออกไปด้วยความจริงด้วย growth mindset อย่าโม้ และอย่าถ่อมตัวเกิน

“ถ้าคุณรู้สึกไม่มั่นใจในความสามารถของตัวเอง หรือเขินที่จะเล่าเรื่องราวของตัวเองออกไป คุณจะรู้ว่ามันเป็นยากที่จะหางานใหม่ แม้ว่าจะมีหลายตำแหน่งที่ว่างอยู่ก็ตาม ทีมงานของเรามักจะเห็นคนที่ชอบคิดว่าตัวเองมีคุณสมบัติไม่พอ ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ได้ลองสมัครงานนั้น ๆ  ซึ่งมันจะยิ่งทำให้เขาเหล่านั้นหางานได้ยากขึ้นไปอีก” Dyson แชร์จากประสบการณ์

 

หาคอนเนคชั่นน้อย ๆ แต่เหนียวแน่น

การหาคอนเนคชั่นเรื่องงานแบบดั้งเดิม ที่เน้นการออกไปพบปะผู้คนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ไม่ใช่เรื่องผิด แต่เราแนะนำให้ลองวิธีการใหม่ ๆ  วิธีที่เน้นคุณภาพ ไม่เน้นปริมาณ พึ่งพากันได้ด้วยใจ อาจจะเป็นญาติสนิทมิตรสหาย หรือคนรู้จักจริง ๆ ที่เราสามารถนัดคุยกันเรื่องช่องทางการหางานใหม่ได้

เรื่องนี้ Dyson แนะนำว่า “ลองนึกถึงคนที่รู้จักกันจริง ๆ  และพึ่งพากันเรื่องงานได้แบบสบายใจสัก 10-15 คน แล้วลองติดต่อเป็นการส่วนตัว ไม่ว่าจะเป็นแชท โทรคุย หรือนัดเจอก็ได้ คอนเนคชั่นที่ลึกจริงแบบนี้คุณไม่สามารถหาบนโลกออนไลน์ได้ ซึ่งพรรคพวกกลุ่มเล็ก ๆ ของคุณพร้อมช่วยคุณเต็มที่ และรู้สึกดีที่ได้พูดคุยกันเป็นการส่วนตัว

 

อัพเดทความเคลื่อนไหวในแวดวงงานที่คุณสนใจ

เมื่อคุณมีเครือข่ายเรื่องงานแล้ว ก็ถึงเวลาที่จะเรียนรู้อะไรที่มากไปกว่าตำแหน่งงานว่าง นอกจากจะหาโอกาสหางานใหม่แล้ว ใช้การพบปะกับผู้คนในเครือข่ายในการสอบถามข้อมูลและความเคลื่อนไหวของแวดวงงานที่คุณสนใจ ถือเป็นการอัพเดทไปในตัว อย่ามัวแต่มุ่งเป้าสมัครงาน การหาข้อมูลจะช่วยทำให้คุณตัดสินใจได้ดียิ่งขึ้น

Penny Locey รองประธานบริษัทจัดหางานชื่อดัง Keystone Associates แชร์ความเห็นว่า หากเราทำงานกับบริษัทหนึ่ง ในตำแหน่งงานเดียวมาหลายปี คุณอาจจะไม่ค่อยรู้ข่าวข่าวคราวความเคลื่อนไหวขององค์กรหรือธุรกิจอื่น ๆ  ทำให้ขาดการอัพเดทในวงกว้าง ยกตัวอย่างง่าย ๆ เช่น หลายคนยังไม่รู้ว่าในวงการ HR นั้นเลิกใช้คำว่า “staffing” หรือ “recruiting” ไปแล้ว โดยเปลี่ยนมาใช้คำว่า “talent acquisition” แทน แน่นอนว่าวงการอื่นก็เช่นกัน หากเราไม่อัพเดท ก็จะไม่รู้เลยว่าเราควรจะมองหางานอะไร มันตรงกับตัวเราไหม ที่สำคัญมันจะมีผลกับการสัมภาษณ์งาน”

 

พัฒนาตัวเอง เรียนรู้ทักษะใหม่

นี่คือวิธีที่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง มากกว่าการใจร้อนรีบหางาน บางที่ทักษะที่เรามีอาจจะล้าหลังไปแล้วสำหรับยุคนี้ แบบนี้ต้องฝึกฝนพัฒนาตัวเองเพิ่มเติมให้เต็ม

ลองดูว่าเราขาดทักษะตรงไหนที่เกี่ยวข้องกับงานที่เราสนใจ หรือต้องการเสริมความคมของ skill ที่มี แล้วก็ใช้เวลานี้ฝึกฝนหรือ take course ให้ได้ประกาศนียบัตรกันไปเลย แล้วก็อัพเดทใน resume และบน LinkedIn ซึ่งจะช่วยให้นายจ้างได้เห็นทักษะของคุณได้ทั่วถึงยิ่งขึ้น แม้ว่าทักษะที่คุณมีบางอย่างจะไม่สามารถเทียบกับประสบการณ์ในการทำงานได้ แต่อย่างน้อยก็ทำให้นายจ้างได้เห็นถึงความมุ่งมั่น รวมถึงเพิ่มโอกาสในตำแหน่งงานที่หลากหลายยิ่งขึ้น

 

ช่วยงานเเพื่อน

ถ้าคนรอข้างของคุณมีงานหรือโปรเจ็กต์ที่น่าสนใจ ต้องการอาสาสมัครมาช่วยงาน ก็น่าจะลองลงไปช่วยลุยดู แม้จะทำเพื่อการกุศลก็ตาม เพราะประสบการณ์ทั้งหลายที่ได้มาฟรี ๆ มันจะช่วยเพิ่มมูลค่าให้คุณ ช่วยให้ resume แน่นขึ้น

Vicki Salemi ผู้เชี่ยวชาญเรื่องอาชีพจาก Monster.com แนะนำว่า “การทำช่วยคนรอบข้างทำจ๊อบไม่ได้ช่วยให้คุณแอคทีฟได้เพียงอย่างเดียว แต่ยังทำให้คุณมีทักษะใหม่ ๆ เพิ่มเติม เวลาที่ว่าที่หัวหน้าใหม่ของคุณถามว่า ‘ระหว่างที่ว่างงาน คุณทำอะไรบ้าง ?’ จะได้มีคำตอบดี ๆ นอกจาก ‘นอนดู Netflix ที่บ้าน’ ”

 

สมัครงานเชิงรุก

อย่าลืมว่าตอนนี้เราหางานใหม่ และตลาดงานก็ร้อนแรงเหลือเกิน เพราะฉะนั้นแม้ว่าเราจะทำอะไรมามากมาย เปี่ยมไปด้วยทักษะความสามารถ แต่อย่าหยิ่งทะนง เราต้องเดินเข้าหางานแบบเชิงรุกในยุคนี้

บางบริษัทที่เราสนใจอยากทำงานด้วยอาจไม่ได้ประกาศรับสมัครงานตำแหน่งต่าง ๆ อย่างชัดเจน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราต้องสมัครงานตามที่เห็นประกาศเท่านั้น อยากได้งานก็ต้องลองติดต่อไปสอบถามเองบ้าง เผื่อจะมีตำแหน่งงานที่สนใจว่างอยู่ หรือถ้ายังไม่เปิดรับ อย่างน้อยก็ได้สอบถามข้อมูลของบริษัทที่คุณสนใจ รวมถึงอาจได้โอกาสไปสัมภาษณ์งานไว้ก่อนก็ได้

Paul Solomon CEO ของ Solo Management ให้ความเห็นว่า “คุณอาจจะต้องใช้เวลาอธิบายกับ HR ว่าคุณเข้าใจว่าทางบริษัทยังไม่เปิดรับสมัครพนักงานใหม่ในตอนนี้ แต่ก็ยังสนใจที่เรียนรู้เรื่องราวของบริษัทในฝัน จากนั้นคุณอาจจะได้รับโอกาสให้เข้าไปพูดคุยกัน ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีในการแนะนำตัวเองกับนายจ้าง ทำความคุ้นเคยกัน เรียนรู้ทัศนคติและนิสัยกันในเบื้องต้น เผื่อในอนาคตมีการเปิดรับสมัครงานในตำแหน่งต่าง ๆ  คุณก็จะได้รับการนึกถึงเป็นคนแรก ๆ

 

ขอฝึกงานกับบริษัทที่สนใจ

หลายคนเคยผ่านการฝึกงานมาแล้วตอนเรียนมหาวิทยาลัย แล้วทำไมจะฝึกงานหรือเป็นอาสาสมัครอีกไม่ได้ในตอนนี้ ถ้าเรามุ่งมั่นตั้งใจอยากเป็นส่วนหนึ่งของบริษัทในฝันเราก็ต้องทุ่มเทได้ วิธีนี้เป็นวิธีที่ได้ผลมากที่สุด และสร้างโอกาสในการหางานใหม่ได้ดีที่สุด แต่ก็อาจจะทำใจได้ยากสุด เพราะว่าการไปฝึกงานนั้นเราจะไม่ได้รายได้อะไร แถมยังไม่มีอะไรการันตีได้ว่าฝึกงานที่ไหนจะได้งานที่นั่น แต่มันก็คุ้มที่จะแลก หากแน่วแน่แล้วว่างานนี้กับที่นี่มันใช่

Matt Burns หัวหน้าฝ่ายลูกค้าสัมพันธ์ในสหรัฐฯ ของบริษัทพัฒนาซอฟแวร์ชื่อดังอย่าง Monday แสดงความเห็นสนับสนุนแนวคิดนี้ว่า “การขอเข้าไปฝึกงานในตำแหน่งที่สนใจกับบริษัทที่อยากอยู่ เป็นโอกาสที่ดีในการแสดงความสามารถว่าคุณเหมาะกับงานนั้นแค่ไหนต่อหน้าผู้ว่าจ้าง”

ขณะที่ Dyson ที่เราได้อ้างอิงความคิดเห็นของเขาในตอนต้น ให้ความเห็นประมาณว่า การขอฝึกงานนั้นจะทำให้คุณได้ประสบการณ์ตรงแบบเต็ม ๆ  แต่ก็ต้องดูให้ดี อย่าให้โดนเอารัดเอาเปรียบ คุณอาจจะขอฝึกงาน หรือขอเป็นอาสาสมัครแค่ 3-5 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ก็ได้ หรือจะฝึกงานแบบ full time ก็ได้ถ้าไม่ลำบาก แต่ต้องดูทางลมว่าการทุ่มเทของคุณนั้นจะสามารถไปถึงฝั่งฝันได้จริงหรือไม่ อย่างน้อยก็คุณก็น่าจะสามารถอ้างอิงได้ว่าเคยร่วมงานกับบริษัทนั้น ๆ

ที่จริงแล้ววิธีการหางานใหม่ที่ UNLOCKMEN นำมาแชร์เป็นแนวทางนั้น ทางทีมงานไม่อยากให้ใครต้องใช้เลย อยากให้ทุกคนเดินทางบนเส้นทางการทำงานอย่างราบรื่นและเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ  แต่จังหวะชีวิตมันก็มีขึ้นมีลงบ้าง ถนนคงคงไม่ได้เรียบเสมอไป ขอแค่ตั้งสติ เข้มแข็งไว้ แล้วก็ลุยกันใหม่ด้วยชั้นเชิงชีวิตที่เจ๋งกว่าเดิม

แล้วการตกงานครั้งล่าสุดจะเป็นครั้งสุดท้ายของพวกเราครับ

 

 

PEERAWIT
WRITER: PEERAWIT
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line