Business

คนเดียวหัวหาย? เมื่อวิทยาศาสตร์บอกว่า ‘มนุษย์จะฉลาดกว่า’ถ้าทำงานเป็นทีม

By: PSYCAT April 19, 2017

ทำงานคนเดียวมันก็ทั้งคล่องตัว ทั้งสะดวก จะตัดสินใจอะไรก็ทำได้รวดเร็วทันใจ แต่ขอบเขตความรู้ความสามารถของคนเรามันเพียงพอต่อการทำงานคนเดียวเสมอไปหรือเปล่า? แล้วสติปัญญาของเราล่ะ มันแสดงออกมาได้ไฉไลที่สุดตอนที่ทำงานคนเดียว หรือทำงานร่วมกับผู้อื่นกันแน่?

pexels-photo (3)

เริ่มด้วยจุดตั้งต้นกันก่อนว่าถ้าลำพังเราคนเดียวเรามีความรู้มากน้อยแค่ไหน? คำตอบนี้ Thomas K. Landaue นักจิตวิทยา ได้ทำงานวิจัยเรื่อง How much Do People Remember? Some Estimates of the Quantity of Learned Information in Long-term Memory ซึ่งว่าด้วยคลังความรู้ในสมองของมนุษย์อย่างเรา ๆ ซึ่งจากการศึกษาพบว่าเราช่างรู้อะไรในโลกใบนี้น้อยเหลือเกิน คลังความรู้ในสมองของมนุษย์แต่ละคนนั้นจุความรู้ไว้แค่ 1 gigabyte เท่านั้น น้อยกว่าความจุใน thumb drive เสียอีก!

shutterstock_197653067

ยังไม่จบแค่นั้น สมองของเรามักลืมอะไรง่าย ๆ ที่เราคิดว่าเราเห็นบ่อย ๆ เห็นทุกวัน แต่ถ้าให้ระบุรายละเอียดเป็นจริงเป็นจังเราก็ไม่สามารถทำได้อย่างเป็นรูปธรรม

เรื่องนี้ก็ไม่ใช่เรื่องเลื่อนลอย แต่งานวิจัยที่ชื่อว่า The science of cycology: Failures to understand how everyday objects work ซึ่งทำการทดลองง่าย ๆ โดยให้ผู้คนมาลองวาดสิ่งที่เราเห็นบ่อย ๆ อย่างจักรยานกัน

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อแต่คนส่วนใหญ่จำรายละเอียดไม่ได้เลยว่าจักรยานประกอบด้วยชิ้นส่วนใด หรือมีลักษณะแบบไหน วาดออกมาก็เป็นภาพจำเพาะที่พอเดาได้ว่านี่แหละจักรยาน แต่ไม่มีรายละเอียด จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรเลยที่ลำพังสมองของเราแต่ละคนจะมีขีดจำกัดของตัวเอง

แม้แต่อาชีพที่เราก็เชื่อกันว่าฉลาด เก่ง มีศักยภาพอย่างอาชีพหมอ ลองนึกภาพตามง่าย ๆ ว่าถ้าศัลยแพทย์จะทำการผ่าตัดครั้งใหญ่ เขาจะสามารถทำสำเร็จได้ด้วยตัวเองคนเดียวหรือไม่?

เราตัดแง่การช่วยเหลือด้วยแรงออกไปก่อน แต่ว่ากันด้วยความรู้ความสามารถเฉพาะทางล้วน ๆ ศัลยแพทย์ใหญ่ก็ต้องการวิสัญญีแพทย์ในการวางยาสลบผู้ป่วย ต้องการความชำนาญเฉพาะทางของการทำกายภาพบำบัดหลังการผ่าตัดควบคู่กันไปเพื่อให้การผ่าตัดครั้งใหญ่นั้นเสร็จสมบูรณ์

pexels-photo-236066

สาเหตุที่เป็นแบบนั้นก็เพราะว่าความรู้เฉพาะตัวของคนเรานั้นไม่ได้กว้างอย่างที่เราคิด อะไรที่เราได้ใช้บ่อย ๆ ได้ทำประจำเราก็อาจจะไม่ลืม แต่ถ้าอะไรที่เรียนมาแล้วไม่ได้ใช้มันเลยเราก็มีแนวโน้มที่จะตัดมันทิ้งจากสมองไปอย่างรวดเร็ว (ไม่เชื่อก็ลองนึกถึงวิชาเลขที่เรียนมาสมัยมัธยมดูสิ แทบจำไม่ได้แล้วใช่ไหมล่ะ?)

แล้วถ้าทุกคนมีความรู้นั่นนี่เฉพาะทางของตัวเองไปอย่างเดียว แล้วมันจะสร้างอะไรให้องค์กร หรือให้สังคมได้อย่างไร? กุญแจสำคัญก็คือการนำความรู้ที่เราทุกคนมีมาผสมผสานแล้วใช้มันแก้ปัญหาความซับซ้อนยุ่งยากที่เจอ ไปจนถึงสร้างเป้าหมายร่วมกัน เพื่อขับเคลื่อนองค์กรหรือธุรกิจไปข้างหน้า

people-coffee-notes-tea

ความสามารถในการตั้งเป้าหมายที่ซับซ้อนและพยายามทำตามเป้าหมายร่วมกัน นี่คือคุณสมบัติสำคัญของการเป็นมนุษย์ โดยเฉพาะ ทฤษฎีวิวัฒนาการ (Evolutionary Theory) ที่เชื่อว่าเรามีสมองที่ได้รับการพัฒนามาเพื่อรับมือกับความซับซ้อนและขนาดของสังคมที่ใหญ่ขึ้น ๆ

เมื่อกลุ่มทางสังคมของเราเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ สมองเราก็ยิ่งพัฒนากลไกในการแบ่งปันความรู้ เพื่อช่วยให้เราเข้ากับสภาพสังคมได้ดีขึ้น ซึ่งก็ตรงกับงานวิจัยเรื่อง The Cultural Origins of Human Cognition ซึ่งบอกว่าทักษะสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้มนุษย์แตกต่างจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่น ๆ ก็คือความสามารถในการสร้างเป้าหมาย สร้างสิ่งที่ตั้งใจทำร่วมกัน และแชร์ความรู้กันเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายนั้น

shutterstock_378312253

มันจึงไม่ใช่เรื่องผิดเลยที่เราจะเต็มไปด้วยเรื่องที่เราไม่รู้ อย่ากลัวที่จะบอกคนอื่น ๆ ว่าเราไม่รู้เรื่องอะไร หรือไม่ถนัดเรื่องไหน เพราะเราทุกคนก็ล้วนแต่มีเรื่องที่ไม่ถนัด หรือเรื่องที่เราถนัดกว่าคนอื่นด้วยกันทั้งนั้น

การทำงานคนเดียวก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่จะทำให้เราไปถึงเป้าหมายได้รวดเร็วและเป็นไปตามความคิดของเรา แต่งานบางแบบการทำร่วมกัน การแชร์ความรู้ ความเข้าใจหลาย ๆ แบบ ก็ยิ่งทำให้ทักษะการคิดของเราก้าวไปได้ไกลกว่าเดิม รู้อย่างนี้แล้ว วันนี้ลองหันไปแชร์ความรู้กับเพื่อนร่วมงานข้าง ๆ สักหน่อยดีไหม

 

SOURCE1SOURCE2SOURCE3SOURCE4SOURCE5

PSYCAT
WRITER: PSYCAT
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line