CARS

ICONIC CARS: ‘MAZDA MX-5 MIATA’ ทำความรู้จักปฐมบทของโรดสเตอร์แห่งยุค 90’s

By: SPLESS July 30, 2020

เชื่อว่าหนุ่ม ๆ ที่สนใจในรถยนต์หลายคนคงคุ้นเคยดีกับโมเดลเปิดประทุนคันเล็กจากยุค 90’s อย่าง Mazda MX-5 หรือที่หลายคนคุ้นเคยในชื่อ Mazda Miata และ MX-5 Miata หนึ่งในโมเดลรถยนต์ที่มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนมาสด้าให้เป็นที่รู้จัก และกลายเป็นรากฐานสำคัญให้แบรนด์ให้เวลาต่อ

แต่อะไรคือเหตุผลที่ทำให้รถยนต์คันนี้ สามารถรักษาความเชื่อมั่นจากคนรักความเร็วทั่วโลกมาตลอดระยะเวลากว่า 30 ปี ทั้งที่รถก็ไม่ได้แรงอะไรมาก ไม่ได้หรูหรา ไม่ได้ทันสมัย แต่มันมีเสน่ห์ในความเป็น Roadster ที่แตกต่าง

วันนี้มาทำความรู้จักจุดเริ่มต้นที่น่าสนใจ รวมถึงแนวคิดที่ทำให้รถคันนี้กลายมาเป็น 1 ในไอคอนสำคัญของรถสปอร์ตขนาดเล็กไปพร้อมกัน

บ็อบ ฮอลล์ ชายผู้จุดประกายให้กับ MX-5 Miata

อย่างที่ทราบกันดีว่ามาสด้าคือแบรนด์รถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นที่กำเนิดขึ้นในเมืองฮิโรชิมา แต่จุดกำเนิดของโรดสเตอร์ตัวกลั่นของค่ายคันนี้กลับมีจุดเริ่มต้นจากชายที่เติบโตขึ้นมาในเมืองแคลิฟอร์เนีย ชื่อของเขาคือ บ็อบ ฮอลล์

บ็อบ ฮอลล์ เกิดและเติบโตขึ้นท่ามกลางแสงแดดและชายหาดของแคลิฟอร์เนียฝั่งใต้ โดยได้รับการส่งต่อความหลงใหลเรื่องรถยนต์มาจากคุณพ่อที่ทำงานเกี่ยวกับการพัฒนารถสปอร์ตที่เคยทำงานให้ทั้ง MG, Triumphs, Austin Haeleys และ Alfa Romeo ทำให้เขาเติบโตขึ้นมาท่ามกลางบรรยากาศของโรงรถและคราบน้ำมัน รับหน้าที่ตั้งแต่ซ่อมจักรยานของตัวเองไปจนถึงช่วยพ่อประกอบชิ้นส่วนรถยนต์ที่ใช้ในบ้าน

mx5oc

ปลายยุค 70’s บ็อบ ฮอลล์ เติบโตและเปลี่ยนความหลงใหลในรถยนต์ให้กลายเป็นงานหลัก โดยทำงานเป็นนักข่าวและเขียนคอลัมน์กับนิตยสาร MotorTrend และความหลงใหลในรถสปอร์ตยังคงอยู่ในสายเลือดของเขาเสมอ ก่อนตัวเขาจะมีโอกาสได้รู้จักเครื่องยนต์โรตารี่ของมาสด้าที่กำลังเข้ามามีส่วนสำคัญในอุตสาหกรรม เขาชื่นชมมาสด้ามากและเฝ้ารอโอกาสที่จะได้พูดคุยกับผู้ผลิตรถยนต์รายนี้เพื่อเสนอไอเดียที่น่าสนใจออกไป

เมษายน ปี 1979 ความตั้งใจของบ็อบ ฮอลล์ เริ่มขยับเข้าความจริงมากขึ้น เขามีโอกาสได้เดินทางไปเยี่ยมชมสำนักงานใหญ่ของมาสด้าถึงเมืองฮิโรชิมา และได้พบกับเคนอิจิ ยามาโมโต (Kenichi Yamamoto) ประธานของบริษัทและชายที่ได้ชื่อว่าบิดาของเครื่องยนต์โรตารี่ ซึ่งในเวลานั้นทำหน้าที่เป็นหัวหน้าวิศวกรฝ่ายออกแบบและพัฒนา

Autocar

บ็อบวาดภาพบนกระดานดำพร้อมอธิบายเพิ่มเติมว่ามีโอกาสเป็นไปได้แค่ไหนที่มาสด้าสามารถสร้างโมเดลเปิดประทุน โดยใช้ชิ้นส่วนจากรถที่มีอยู่ในสายการผลิตเวลานั้น แต่ดูเหมือนความพยายามของเขาจะไม่เป็นผล เพราะในมื้อเย็นของวันนั้นไม่มีบทสนทนาเกี่ยวกับรถสปอร์ตถูกพูดถึงเลย

อย่างไรก็ตามบ็อบ ฮอลล์ ยังดื้อรั้นและไม่คิดจะยอมแพ้ง่าย ๆ ในเมื่อพูดแล้วยังไม่เป็นภาพก็ต้องทำให้รู้สึก วันต่อมาเขาแนะนำให้ เคนอิจิ ยามาโมโต มาทดลองขับรถสปอร์ตเปิดประทุนสไตล์อังกฤษอย่าง Triumph Spitfire และวิศวกรแห่งแดนซามูไรก็ตกปากรับคำ เขาขับ Spitfire ลุยไปบนถนนที่สวยงามรอบ  ๆ เมือง Hakone ช่วงเวลานั้นเองที่นักพัฒนาแห่งมาสด้าตัดสินใจที่จะสร้างรถสปอร์ตแบบเปิดประทุนของค่ายตัวเองขึ้นมาบ้าง

 

การต่อสู้ของทีมออกแบบจาก 2 ซีกโลก  

ไม่นานมาสด้าก็เปิดตัวโครงการที่ชื่อว่า OGG เป็นโครงการที่สร้างขึ้นมาเพื่อพัฒนาโมเดลรถยนต์เสริมไลน์การผลิตให้ครบครันมากขึ้น โดยในเวลานั้นพวกเขามีโมเดลหลักเป็น Familia (323), Capella (626) และรุ่นเสริมอีกจำนวนหนึ่ง จนในที่สุดก็พบคำตอบว่าพวกเขายังขาดรถตู้อเนกประสงค์ขนาด 660 cc รวมไปถึงรถสปอร์ตเปิดประทุนที่จะเข้ามาช่วยการตลาดของ RX-7

Mazda

อย่างไรก็ตามการพัฒนา Mazda Miata ก็ทำให้เกิดการแข่งขันภายในทีมออกแบบระหว่างทีมในญี่ปุ่นที่ต้องการใช้แนวคิดรถยนต์เครื่องวางกลางแบบขับเคลื่อนล้อหน้า แต่ทีมจากฝั่งอเมริกากลับชอบแนวคิดของการขับเคลื่อนล้อหลังมากกว่า ทั้ง 2 ฝั่งจึงได้ออกแบบและพัฒนารถยนต์รุ่นตัวอย่างออกมาเป็นจำนวนมาก ทั้งดีไซน์ในแบบโรดสเตอร์สไตล์อังกฤษและอิตาลี แต่คอนเซ็ปต์สุดท้ายจากทีมฝั่งสหรัฐอเมริกาก็ช่วยให้พวกเขาชนะและได้รับสิทธิ์ในการพัฒนาไปในท้ายที่สุด

Prototype สไตล์อิตาลีของ MX-5 ภาพจาก hagerty

แนวคิดของ Mazda Miata เริ่มเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น แต่ช่วงเวลาดังกล่าวมาสด้ากลับมีพนักงานไม่เพียงพอสำหรับการผลิตรถยนต์คันใหม่ พวกเขาจึงว่าจ้าง International Automotive Design (IAD) ผู้ผลิตจากประเทศอังกฤษให้สร้าง Prototype รุ่นแรกขึ้นมาโดยมีเจ้าหน้าที่จากฝั่งสหรัฐอเมริกาเป็นกำกับคนดูแล

Motor1

ในเวลาต่อมารถยนต์คันต้นแบบของ Mazda Miata ถูกส่งกลับไปยังสหรัฐอเมริกาเพื่อทดสอบ พวกเขาตัดสินใจขับรถไปในย่านซานตา บาร์บาร่าของแคลิฟอร์เนีย และไม่มีการเปิดเผยว่าเป็นรถที่มาจากค่ายไหน โดยตลอดช่วงเวลาของการทดสอบมีคนเข้ามาสอบถามและให้คำติชมเป็นจำนวนมาก นำมาสู่การขึ้นงานดินเหนียว (Clay modeling) ของต้นแบบรุ่นสุดท้ายในที่สุด

 

โรดสเตอร์ภายใต้แนวคิด Jinba ittai

นอกจากงานออกแบบที่ลงตัวเข้ากับยุคสมัยจากทีม US แล้ว Mazda Miata ยังถูกสร้างขึ้นอย่างใส่ใจในทุกรายละเอียดด้วยแนวคิด Jinba ittai (人馬一体) โดย Jinba ittai คือแนวคิดดั้งเดิมของคนญี่ปุ่นหมายถึงการเป็นหนึ่งเดียวกันของคนและม้า ได้แรงบันดาลใจมาซามูไรนักธนูที่เรียกว่า Yabasame ซึ่งต้องอาศัยจังหวะการวิ่งที่เหมาะสมของตัวม้าและการยิงธนูที่แม่นยำของคนขี่ที่ต้องรวมเป็นหนึ่งเดียว

มาสด้าปรับแนวคิดดังกล่าวให้เหมาะสมกับการสร้างรถยนต์โดยเชื่อว่าหลักการ Jinba ittai จะสามารถสร้างรถที่มอบประสบการณ์การขับขี่ที่ดีที่สุดให้กับคนรักความเร็วทั่วโลกได้ หนึ่งในตัวอย่างของแนวคิด Jinba ittai ที่ชัดเจนคืองานออกแบบภายในตรงส่วนกระปุกเกียร์ของ Miata (NA) ที่ตั้งใจออกแบบให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมกับการใช้งานมากที่สุด โดยคำนึงไปถึงเรื่องการขยับของกล้ามเนื้อระหว่างเปลี่ยนการเกียร์เป็นต้น

ปี 1989 ในที่สุดก็ถึงเวลาที่ Mazda MX-5 Miata (NA) เจเนอเรชันแรกได้เผยโฉมออกมาให้โลกได้เห็น ด้วยการเป็นรถสปอร์ตประทุนเปิดขนาดเล็ก มาพร้อมเครื่องยนต์ 1.6 ลิตรที่ให้พลัง 115 แรงม้าในน้ำหนักรวมเพียง 970 กิโลกรัม ขณะเดียวกันปีศาจตัวเล็กบนท้องถนนคันนี้สามารถวิ่งได้เร็วถึง 188 กิโลเมตรต่อ/ชั่วโมงและมีค่าตัวเพียง 14,000 ดอลลาร์เท่านั้น

Mazda MX-5 Miata ยังถูกพูดถึงในฐานะโรดสเตอร์ที่มีช่วงล่างและการควบคุมที่ดีเยี่ยม รวมถึงระยะพวงมาลัยที่แม่นยำ ทำให้รถยนต์รุ่นแรกประสบความสำเร็จอย่างท่วมท้นทั้งด้านเสียงตอบรับและยอดขายไปจนถึงปี 1994 และรถในอีก 3 เจเนอเรชันต่อมาก็สามารถสืบทอดเอกลักษณ์และเจตนารมณ์ของมันได้อย่างยอดเยี่ยม

ปัจจุบันมาสด้าเดินทางมาถึงวันเกิดครบรอบปีที่ 100 ของค่ายและพวกเขาก็ได้เปิดตัว 100 Anniversary Collection ออกมา หนึ่งในนั้นคือ Mazda MX-5 Miata ในรุ่นพิเศษที่ผลิตเพียง 100 คัน เรียกว่ากลายมาเป็นอีกหนึ่งตำนานของค่ายที่ขาดไปไม่ได้แล้วสำหรับรถสปอร์ตที่มีจุดเริ่มต้นมาจากยุค 90’s คันนี้

 

 

SOURCE: 1/2/3/4

SPLESS
WRITER: SPLESS
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line