GADGETs

เมื่อ IKEA พยายามแก้ปัญหามลพิษในบ้านด้วยนวัตกรรมผ้าม่านฟอกอากาศ

By: TOIISAN February 22, 2019

ในช่วงเวลาที่มองไปทางไหนก็เจอแต่ฝุ่น ทั้งย่านใจกลางเมืองที่มีควันรถจำนวนมาก แถบนอกเมืองที่มีโรงงานอุตสาหกรรมและการเผาป่า เผาหน้าดิน ผู้คนที่เริ่มเห็นถึงปัญหานี้ต่างก็รีบออกไปหาซื้อเครื่องฟอกอากาศกันจนขาดตลาด ในเมื่อหนีมลพิษไม่ได้ เครื่องฟอกอากาศดี ๆ ก็ดันหมดอีก แล้วเราจะแก้ปัญหานี้อย่างไร ?

cityandstateny

องค์การอนามัยโลกกล่าวว่า ปัจจุบันมลพิษทางอากาศกลายเป็นความเสี่ยงด้านสุขภาพที่ไม่ควรมองข้าม เพราะฝุ่นขนาดเล็กที่เข้าไปในร่างกายจะส่งผลให้เกิดโรคต่าง ๆ เช่น โรคระบบทางเดินหายใจ โรคหัวใจ โรคมะเร็ง และโรคหลอดเลือดสมองอักเสบ อีกทั้งแพทย์และนักวิทยาศาสตร์เผยสถิติว่าฝุ่นเหล่านี้คร่าชีวิตผู้คนกว่า 3 ล้านคนต่อปี และ 1 ใน 8 ของการเสียชีวิตจากโรคดังกล่าวด้านบนเกี่ยวข้องกับฝุ่นอย่างแน่นอน

ถ้าฝุ่นตามท้องถนนนั้นร้ายกาจ การหลบอยู่แต่ในบ้านไม่ออกไปข้างนอกจะทำให้เราดมมลพิษน้อยลงหรือไม่ ? คำถามนี้ WHO ตอบด้วยผลวิจัยที่น่าตกใจว่าข้อเท็จจริงมันกลับกัน คนที่เสียชีวิตเพราะมลพิษในบ้านมีจำนวนมากกว่านอกบ้านถึง 1.3 ล้านคนต่อปี!

flickr

เมื่ออากาศกลางแจ้งกับภายในอาคารต่างก็มีค่าฝุ่นที่สูงพอ ๆ กัน IKEA จึงพยายามสร้างสรรค์บางสิ่งเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวที่กำลังวิกฤต โดยคิดค้นนวัตกรรมที่ประหยัดต้นทุน มีประสิทธิภาพและสามารถใช้ได้จริง จนสำเร็จเป็นผ้าม่านฟอกอากาศ 

ผู้คิดค้นผ้าม่านที่ฟอกอากาศชิ้นนี้คือ Affonso Mauricio product developer ของ IKEA สวีเดน เขาออกแบบผ้าม่านโดยนำผ้าเคลือบสารประเภท photocatalyst ที่ช่วยเร่งให้เกิดกระบวนการ photocatalysis หรือที่เรียกกันว่าปฏิกิริยาสังเคราะห์แสง

เมื่อผ้าม่านเคลือบผิวด้วยไททาเนียมไดออกไซด์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ photocatalyst สัมผัสแสง จะไปเร่งปฏิกิริยาสังเคราะห์ที่สามารถเปลี่ยนอากาศเสียกลายเป็นอากาศบริสุทธิ์ได้ แถมไททาเนียมไดออกไซด์ยังทนทานต่อการกัดกร่อน มีความเสถียรสูง และไม่เป็นพิษ ถือว่าตอบโจทย์แผนการผลิตที่ต้องการสินค้ามีคุณภาพและราคาถูก

Adweek

ความเจ๋งของผ้าม่านฟอกอากาศในบ้านชิ้นนี้อยู่ที่การปราบมลพิษได้โดยไม่ต้องพึ่งเทคโนโลยีอื่น ๆ ไม่ต้องใช้พลังงานไฟฟ้า ไม่ต้องมีระบบการกรองอากาศที่ซับซ้อน เพราะมันใช้หลักการทำงานเดียวกับการปลูกต้นไม้ในร่มเพื่อฟอกอากาศ

ขั้นตอนการสังเคราะห์แสงของผ้าม่านจะเกิดขึ้นทันทีเมื่อผ้าสัมผัสกับแสงแดด สารที่ออกมาจากผ้าจะกำจัดมลพิษภายในบ้านโดยเฉพาะกับสารฟอร์มัลดีไฮด์ตัวร้ายซึ่งเป็นสารประกอบอินทรีย์ที่มีมากในเรซิน โดยในวงการอุตสาหกรรมมักใช้เคลือบวัสดุต่าง ๆ เช่น โต๊ะกินข้าว พื้นผิวกระเบื้อง แถมยังเป็นสารก่อมะเร็งชั้นดีที่มีอยู่ในบ้านทุกหลัง

fast company

แม้การเคลือบสารที่ทำปฏิกิริยาสังเคราะห์แสงบนสิ่งของนั้นมีมาก่อนแล้ว แต่ทาง IKEA กล่าวว่า ผ้าของ Mauricio เป็นนวัตกรรมชิ้นแรกที่ทำปฏิกิริยากับแสงสว่างของหลอดไฟในอาคาร โดยไม่จำเป็นต้องรอเฉพาะแสงอาทิตย์เพียงอย่างเดียวอย่างที่แล้วมา

ถึงจะเป็นไอเดียที่น่าสนใจ แต่ปัญหาที่ตามมาคือคำถามเรื่องความปลอดภัยของวัสดุที่ใช้ผลิตว่า เมื่อนำมาใช้งานจะปลอดภัยจริงไหม เพราะสารที่ใช้เคลือบผิวผ้าก็เป็นสารเคมี ทีมวิจัยจึงนำผ้าไปทดสอบภายในห้องปฏิบัติการร่วมกับสถาบันการศึกษาในยุโรปและเอเชียหลายแห่ง ผลของการทดสอบพบว่าปลอดภัยหายห่วง แต่อย่างไรก็ตามนี่คือการแจ้งจากทางบริษัท IKEA เท่านั้น

Curbed

ทีมงานผู้ผลิตและคิดค้นกล่าวว่า พวกเขาต้องการสร้างอะไรที่ง่าย ใช้งานสะดวก ราคาถูก และทำให้อากาศสะอาดได้จริง เพราะมีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่อยู่ในบ้านตลอดเวลา เช่น แม่บ้านและผู้สูงอายุ การเจอกับสภาพอากาศเดิม ๆ ไม่ได้ออกไปพบกับอากาศที่แตกต่างภายนอกส่งผลเสียต่อร่างกายได้ ดังนั้นการสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีฟังก์ชันหลากหลาย พร้อมสลายมลพิษทางอากาศ ไม่เปลืองพื้นที่ติดตั้ง โดยไม่จำเป็นต้องซื้อเครื่องฟอกอากาศที่มีราคาสูงจึงเป็นสิ่งที่พวกเขาอยากจะทำ

Dezeen

หลังจากเกิดไอเดียการทำผ้าม่านที่สามารถสังเคราะห์แสงได้แล้ว IKEA ไม่รอช้าวางแผนต่อยอดเพื่อขยายวิธีการนี้ไปใช้กับผ้าชนิดอื่น และหากทำได้สำเร็จจริงก็เท่ากับว่า IKEA จะมีผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น โซฟาผ้าลินิน หรือเตียงที่เป็นตัวช่วยฟอกอากาศภายในบ้านสดชื่นขึ้นได้

อย่างไรก็ตาม ผ้าม่านสังเคราะห์แสงยังอยู่ระหว่างการทดสอบพร้อมบันทึกผลอยู่เรื่อย ๆ เพื่อให้แน่ใจว่าสินค้าจะมีประสิทธิภาพสูงสุดพร้อมออกสู่ตลาด ไม่ว่าจะเป็นการทดสอบในห้องทดลองหรือการนำไปติดตั้งเพื่อลองใช้ในที่อยู่อาศัยจริง และหากทุกอย่างเป็นไปตามที่ IKEA คาดการณ์ไว้ ผ้าม่านสังเคราะห์แสงนี้จะได้วางจำหน่ายจริงในปี 2020

Web Design Tips

เพิ่งจะมีข่าวมุ้งลวดกรองฝุ่น PM 2.5 ของจีนออกมา แต่ IKEA เหนือกว่าเพราะทำม่านฟอกอากาศแล้ว คงต้องรอดูว่าโปรดักส์ชิ้นไหนจะผลิตออกมาให้เราได้ใช้งานจริงก่อนกัน

SOURCE

TOIISAN
WRITER: TOIISAN
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line