FASHION

ปัดสไตล์ 70 มาปั้นใหม่ คุยกับ “DUST OFF” สนีกเกอร์ไทยตัวแรงที่ SNEAKER HEAD ต้องมีไว้ครอบครอง

By: anonymK March 27, 2019

ทุกวันนี้เรารู้กันดีว่าตลาดสนีกเกอร์เป็นตลาดโหด ที่ไม่มีผู้เล่นหน้าใหม่ค่ายไหนอยากจะบุกเข้าไปเสี่ยงสู้กับแบรนด์ดังเจ้าถิ่นเดิม เพราะภาพมวยรองที่ติดตาเมื่อเทียบกับแบรนด์ขาใหญ่จากต่างประเทศกับความกังวลว่าถ้าลงทุนไปยังไงก็เจ็บตัวแน่นอน

“แบรนด์ใหญ่เราไม่ได้คิดจะไปสู้กับเขาอยู่แล้ว เพราะเราก็ยังซื้อแบรนด์ใหญ่อยู่ แต่คนเราหลากหลายมาก มันไม่จำเป็นว่าต้องไปซื้อรองเท้ายี่ห้อเดียว” – DUST OFF SHOES

แต่ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา มีแบรนด์สนีกเกอร์ไทยอย่าง “Dust Off” หาญกล้าลุกขึ้นมาผ่าเหล่า โยนความกลัวทิ้งไปแล้วสร้างความคึกคักให้วงการสนีกเกอร์ ทยอยส่งโมเดลใหม่จัดจ้านทั้งสีสัน ดีไซน์ และคุณภาพจนสายแคนวาสต้องตามเก็บ พวกเขาใช้ธีมสนีกเกอร์ยุค 70 นำมาพัฒนาปรับปรุงให้ดีขึ้น เข้ากับยุคสมัย จนจุดประกายกระแสสนีกเกอร์คลาสสิกทางเลือกในวงการรองเท้า

ต้นตอของแรงบันดาลและความแตกต่างของจุดยืนที่มั่นใจว่าไม่ได้เปิดฉากมันเพราะอยากข้ามหัวแบรนด์ใหญ่แบรนด์ไหน แต่แค่ทำขึ้นเพื่อคนคอเดียวกัน ไม่ว่าคุณจะเป็น Sneaker Head สายไหน ก็สามารถเลือกซื้อ เลือกใส่ ซบแบรนด์ที่ชอบได้ อยากเลือกมันส์แบบไหนก็ตามสบาย แม้ฟังดูเป็นความคิดธุรกิจที่ออกจะห่ามและโคตรฟุ้งของพวกเขา เบิร์ด – สิทธิอาจ อมศิริ, เบิร์ด – รุ่งเรือง กุฎมหาราช, โอ้ต – ชิดชนก บุญเกษม และอาร์ท – เอกสิทธิ์ โขมมัย 4 ชายฉกรรจ์ที่กอดคอกันปั้นแบรนด์ “Dust Off” แต่มันก็เป็นความคิดที่เกิดขึ้นจริงและค่อย ๆ เติบโตจนตอนนี้ส่งออกไปจำหน่ายที่ญี่ปุ่นแล้ว!

เบิร์ด – สิทธิอาจ, โอ้ต, อาร์ท และเบิร์ด -รุ่งเรือง (เรียงตามลำดับจากซ้าย-ขวา)

การรวมตัวของผู้ชายที่เติบโตและเล่าเรียนมาจากสายสถาปนิกทำไมถึงมาลงเอยที่รองเท้าได้ วันนี้เรามีโอกาสมาเยือนถึงถิ่นของพวกเขาย่านนวมินทร์เพื่อพูดคุยและหาคำตอบ

SNEAKER COLLECTOR, SNEAKER FOUNDER

ถึงจะเป็นเจ้าของแบรนด์รองเท้าแต่ก็ต้องเคยใส่รองเท้าแบรนด์อื่นสักคู่มาก่อน และดีไม่ดี นี่อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของการผันตัวจาก Sneaker Head กลายเป็นคนผลิตซะเอง เราจึงเริ่มต้นจากการถามถึง part การสะสมของเขาก่อนและดูท่าว่าเราจะคุ้ยมาถูกทาง เพราะพวกเขา “Dust Off” ล้วนชื่นชอบรองเท้าผ้าแคนวาสกันทั้งนั้น

ปกติสะสมรองเท้ากันอยู่แล้วหรือเปล่า แนวการสะสมเป็นแบบไหน

โอ้ต : มีบ้างครับ สะสมบ้างใส่บ้าง ส่วนมากจะเป็นแคนวาสผ้าใบทั้งหมด

ทำไมถึงชื่นชอบแคนวาส คิดว่าเสน่ห์ของแคนวาสคืออะไร

โอ้ต : ความชอบส่วนตัวครับ ติดกันมาตั้งแต่สมัยเรียน สมัยเรียนเรียนมาด้วยกัน เครื่องแบบโรงเรียนก็บังคับเป็นผ้าใบ แต่เราไม่พูดถึงชื่อโรงเรียนแล้วกันนะครับ (หัวเราะ)

เบิร์ด (สิทธิอาจ) : เราว่ามันดูดี มันมีความคลาสสิคอยู่ในตัว ผ้าใบแคนวาสเนี่ย ไม่ว่าจะเป็นรุ่นเราตอนนี้หรือว่าเป็นรุ่นพ่อรุ่นแม่เราก็ยังชอบ เสน่ห์ของมันคือความคลาสสิค เราว่าทุกคนน่าจะ enjoy กับมัน

จุดเริ่มต้นของ “DUST OFF” ได้แรงบันดาลใจมาจากอะไร ทำไมพวกคุณถึงมาทำธุรกิจรองเท้ากัน

โอ้ต : จริง ๆ เริ่มจากแค่อยากใส่ครับ ทีแรกอยากลองทำใส่กันเอง มันมีบางอย่างที่เราอยากจะเพิ่มเติมเข้าไปในนั้น แต่ด้วยทำไปทำมามันก็สวย มันสวยเกินกว่าที่เราจะเก็บไว้เอง เราก็เลยต้องจำหน่าย เริ่มกันทำมาก็ใช้ระยะเวลาพอสมควรในการทำครับ

เบิร์ด (รุ่งเรือง) : ด้วยราคารองเท้าที่เราสนใจด้วย สมัยนี้มันแพงขึ้นไปเรื่อย ๆ เราก็เลยอยากทำรองเท้าที่เราสามารถใส่เองได้ คนซื้อก็ซื้อในราคาที่จับต้องได้ แต่เน้นวัตถุดิบให้ได้มาตรฐานตามความต้องการเราด้วย ให้งานออกมาดี

ที่มาของชื่อแบรนด์ Dust Off มาจากอะไร

โอ้ต : ปัดฝุ่นครับ ง่าย ๆ เลย

เบิร์ด (รุ่งเรือง) : มันอารมณ์เหมือนปัดเอาของเก่าขึ้นมาทำใหม่ แค่นั้นเอง คือง่าย ๆ ไม่ได้มีอะไรซับซ้อน เพราะว่ามันตรงกับคอนเซ็ปต์ที่เราเอายุคนั้น (ยุค 70) มาเล่น พูดภาษาเราก็คือปัดรองเท้านักเรียนขึ้นมาทำใหม่ให้ใส่ใหม่ได้อีก เพราะว่าเดี๋ยวนี้มันแพงมาก มันเป็นเพียงแค่กิมมิกกวน ๆ แค่นั้นเอง

เอกลักษณ์ของ Dust Off ควบคุมไว้ด้วยสไตล์สนีกเกอร์แคนวาสธีม 70 ?

อาร์ท : ธีมหลัก อ่ะใช่ครับ

เบิร์ด (รุ่งเรือง) : เราเน้นเรื่องของสีสันมากกว่า สีสันแล้วก็ detail รองเท้าที่ใช้ในสมัยนั้นอย่าง detail ของ Converse แล้วเราก็พยายามทำให้ใกล้เคียงกับสมัยนั้นมากที่สุด

แล้ว Dust Off จะต่างจากรองเท้าวินเทจ 70 ยังไง? ถ้าเราเอาของเก่ามาทำในรูปแบบแบรนด์ของเรา พวกคอลเลกชันใหม่ ๆ ที่ทำขึ้นล่ะแตกต่างจากต้นฉบับไหม ?

โอ้ต : เป็นเรื่อง detail ครับ detail ต่าง ๆ เรายังมีครบในความเก่า แต่วัสดุปรับปรุงให้มันดีกว่าของเดิม อย่างเช่น พื้น ยาง ผ้า ส่วนประกอบต่าง ๆ ครับ พวกนี้คือไม่ใช่ว่าเราเอาของมาทำให้เป็นของเก่า แต่ว่าเราเอาของเก่ามาปรับปรุงทำให้เป็นของใหม่ แล้วเราก็มาปรับปรุงให้มันคงทนขึ้น นุ่มขึ้น ให้มันเดินได้สบายขึ้น ใส่ทั้งวันได้ ไม่ตึงขา

เบิร์ด (สิทธิอาจ) : ง่าย ๆ คือ เดี๋ยวนี้ถ้าใครชอบวินเทจ ก็ต้องไปหาของวินเทจมาใส่กัน เราก็เป็นคนนึงที่ชอบ เคยซื้อมาเพื่อใส่ แล้วเราก็รู้สึกว่ามันใช้งานไม่ได้จริงตามที่เราอยากจะใช้ คือมันก็ชอบ เก๋ในระดับของมัน แต่บางทีมันใช้งานจริงไม่ได้ สวยได้อยู่ตรงนี้ แต่มันไม่สามารถเอามาเดินหรือใช้งานทุกวันได้ มันใส่ลากไม่ได้ ของเราคือแค่ทำเก่าให้ใหม่ เพื่อเอามาใช้ทุกวันได้ เรียกง่าย ๆ ว่าอยากใส่ความเก่าให้ได้ทุกวัน

จากคนใส่มาเป็นคนทำรองเท้า พวกคุณเอาความรู้ด้านรองเท้ามาจากที่ไหน เริ่มต้นทำรองเท้ากันยังไง

โอ้ต : ผ่าเลยครับ ซื้อมาผ่าเลย

เบิร์ด (รุ่งเรือง) : เราต้องรู้วัตถุดิบแล้วก็วัสดุให้ได้

อาร์ท : จริง ๆ ที่ผ่าคือเราอยากรู้วัตถุดิบเขา อยากรู้ detail เขาด้วย ที่ผ่ามาเราจะมาดูว่า detail ว่าทำยังไง แล้วเราก็ไปหาวัตถุดิบที่ใกล้เคียงที่สุดที่หาได้ ณ ตอนนี้

โอ้ต : มันมีบางจุดที่ผ่าไปแล้วเราไม่ถูกใจ ในรุ่นของเรา เราก็สามารถเพิ่มเติมมันเข้าไปทำให้ถูกใจมากกว่าที่เป็นอยู่ได้

หลังจากผ่าแล้ว เราเข้ากระบวนการผลิตต่อยังไง

อาร์ท : ตอนนั้นไม่มีใครรู้อะไรเลย

โอ้ต : หลังจากผ่าก็ไม่ใช่ว่ามันจะรู้นะ แต่เราก็เริ่มศึกษาตาม paper ต่าง ๆ ตามเว็บฯ เข้าไปปรึกษาผู้ผลิต มันก็ได้รู้เพิ่มขึ้น หลังสรุปแล้วก็ต้องเอามาทำให้มันเป็นของเรา ตรงขั้นตอนนี้มันลำบากนิดหน่อยที่เราจะยัดความคิดเข้าไปในรองเท้า เพราะว่าทุกคนไม่ได้ทำอะไรเกี่ยวกับรองเท้ามาก่อนเลย ผมออกแบบบ้าน ออกแบบเฟอร์นิเจอร์กันมา ซึ่งมันไม่เหมือนกับรองเท้าเลย มันต่างกันโดยสิ้นเชิงเลย ถามว่าลำบากไหม ลำบาก มากครับ ตอนช่วงแรกใช้เวลานาน ว่าง่าย ๆ นะครับ อาจจะนานกว่าของคนอื่นเขาในการเริ่มต้น

อาร์ท : ประมาณปีกว่า กว่ารุ่นแรกจะออก

สิ่งที่ยากที่สุดของการทำรองเท้าในตอนนั้นคืออะไร พวกคุณก้าวข้ามมันมาได้ยังไง

อาร์ท : มันยากทุกขั้นตอนเพราะว่าเราลองผิดลองถูกไปเรื่อย ๆ เราเริ่มจากทำขึ้นมาก่อน แล้วก็ทิ้งคู่นั้นไปเลย เพราะมันไม่ใช่ ใส่ก็ไม่ได้ เนื้อวัสดุก็ไม่ได้ ไม่ได้สักอย่าง ทำไปเรื่อย ๆ ถึงบอกว่าใช้เวลาปีกว่า ๆ กว่าจะออกมาเป็นรุ่นแรกที่ทำได้

เบิร์ด (รุ่งเรือง) : แค่เริ่มหาโรงงานที่จะทำให้ก็ยากแล้วครับ

โอ้ต : ที่ถูกใจเรานะ ไม่ใช่ถูกใจเขา เราเริ่มจากต้องดีที่สุดสำหรับเราก่อน

อาร์ท : ใช่ เราต้องถูกใจก่อน

โอ้ต : ที่คิดไว้คือถ้าเกิดมันดีที่สุดสำหรับเรา มันอาจจะดีที่สุดสำหรับคนอื่นด้วย กับคนที่ชอบอะไรคล้าย ๆ กัน แต่มันต้องดีที่สุดก่อนนะครับ

จากทำใส่เอง กลายเป็นผลิตออกมาขาย กลัวไหมว่าขายไม่ได้

โอ้ต : เอาจริง ๆ ตอนนั้นไม่ได้คิดกลัวเลยครับ ไม่มีเลย คิดบวกมากอ่ะ แทบไม่คิดลบเลยนะ คือจริง ๆ มันก็ผิดเนอะ ไม่เตรียมใจเลย แต่ว่าผลตอบรับกลับมาค่อนข้างจะดีมากครับ มันก็เป็นกำลังใจให้เรา ทำให้เราจะต้องลุยต่อ

เบิร์ด (สิทธิอาจ) : เราไม่ได้คิดว่ามันจะขายไม่ได้ เราแค่รู้สึกว่า เฮ้ย มันได้ เชื่อดิ! ทุกคนแม่งลงมติแล้วว่าได้ มันต้องได้ มันเลยทำให้เรายิ่งอยากจะเห็นวันที่วางขายวันแรกว่ามันจะเป็นยังไง คนเขาจะแฮปปี้กับโปรดักส์ของเราหรือเปล่า

อาร์ท : ตอนที่เราทำเราไม่มีกลุ่มลูกค้าเลยว่าเราจะขายใคร ขายตรงไหน ขายยังไง เราไม่รู้เลย แต่เรารู้อย่างเดียวว่าเราต้องทำออกมา แล้วก็ลองไปก่อนครับ ผมว่ามันต้องลองก่อน ถ้าไม่ลองก็ไม่รู้ แต่มันก็ได้ตั้งแต่ครั้งแรกเลย ตอนนี้ก็รุ่นสองรุ่นสามออกมาต่อเลย ไม่รอเลย

STYLE GUIDE: 70’s Sneaker

ผ้า “CANVAS” เป็นวัสดุทรงพลังของสนีกเกอร์ที่ผู้ชายทุกคนคุ้นเคย เราโตมากับนันยาง เบรกเกอร์ รองเท้าผ้าใบแบบผ้าที่วัยหัวเกรียนต้องเลอะประสบการณ์กันมาอย่างโชกโชน จากวัยใส วัยเลือดร้อน วัยทำงาน สนีกเกอร์ผ้าใบก็ยังเป็นแฟชั่นที่เราฝากชีวิตไว้ได้ยันแก่ ดิบ ขลัง คลาสสิค และเหมาะแก่การแมตช์ชุดทุกไลฟ์สไตล์

หากเท้าความกลับไปจากยุคของเรา สนีกเกอร์เกิดขึ้นครั้งแรกราวยุค 50 จากความตื่นตัวทางแฟชั่นผู้ชายที่เพิ่มขึ้นหลังซบเซาเพราะเหตุผลด้านสงคราม แต่จุดประสงค์ของการผลิตเน้นตอบโจทย์ด้านกีฬา สวมเล่นกีฬาเทนนิส หรือบาสเกตบอล ต่อมาช่วงยุค 70 กระแสของสนีกเกอร์แคนวาสได้รับความนิยมสวมใส่กันทั่วบ้านทั่วเมือง แต่ความดุดันแบบ sport ที่เคยมีของสนีกเกอร์ได้รับการปรับโทนลงให้สามารถใส่ลำลอง ใช้งานด้านแฟชั่นมากขึ้น

ทำไม Dust off ถึงใช้ธีม 70 ?

เบิร์ด (รุ่งเรือง) : เรายืนหยัด 70 เพราะว่ามันเป็นวัตถุดิบที่เรายังสามารถหามาใช้กับรองเท้าได้ พวก detail ที่เป็นไส้ตะเกียงแบบที่เราสามารถถักทอขึ้นมาใหม่ได้ เชือกรองเท้าสีวินเทจหรือผ้าดิบ เรายังสามารถหาในประเทศไทยได้

เอกลักษณ์ของสนีกเกอร์ปี 70?

เบิร์ด (รุ่งเรือง) : สีสันครับ แล้วผู้หญิงก็ใส่ได้ ผู้ชายก็ใส่ของผู้หญิงได้ คือมัน Unisex ทุกคนใส่ได้หมด

Dust off เน้นการออกแบบสนีกเกอร์สไตล์ Casual มากกว่า Sport?

เบิร์ด (สิทธิอาจ) : ใช่ ให้มันดูไม่ sport จ๋าขนาดนั้น สำหรับเรานะ เราแค่อยากให้ทุกคนใส่มันได้โดยที่ไม่เคอะเขิน คือถ้ากีฬาเลยมันอาจจะมีเป็นหุ้มข้อขึ้นมา แต่อันนี้คือเราคลาสสิคเลย ใครหยิบจับมาก็ใส่ได้ตลอดทุกยุคทุกสมัย เราว่ามันไม่มีวันตายแค่อาจจะเปลี่ยนด้วยที่รูปทรง

คิดว่าอะไรคือเหตุผลที่ทำให้สนีกเกอร์อยู่รอดมาทุกยุค

โอ้ต : มันง่ายครับ มันง่ายที่จะหยิบขึ้นมาใส่ และมันเข้ากันได้กับแทบทุกชุดเลย กระโปรงพลีทนักเรียนยังใส่ได้เลย มันง่ายมากอ่ะครับที่จะหยิบขึ้นมา ถ้าเป็นรองเท้าหนัง คัทชูต่าง ๆ มันก็ต้องมีชุดที่ต้องแมตช์กับมันใช่ไหม แต่ผ้าใบนี่คือใส่ได้หมด มันง่ายต่อการใส่ ทุกบ้านต้องมี

เบิร์ด (สิทธิอาจ) : สุดท้ายแล้วมันก็คลาสสิคแหละ มันก็เหมือนแฟชั่นที่วนกลับมาเรื่อย ๆ สมัยก่อนมีอะไรบ้างล่ะ กางเกงตัวใหญ่ เสื้อโบว์ลิ่ง แต่ก่อนป๊อป ๆ มันก็วนกลับมาอีกแล้ว แฟชั่นมันหมุนวนไปเรื่อยเดี๋ยวมันก็วนกลับมา แต่ความเป็นผ้าใบ มันอยู่ตลอดไป มันอยู่ยังไงมันก็อยู่อย่างงั้นอ่ะ มันไม่ตายสักที เราเลยรู้สึกว่ามันเป็นไอเทมที่ทุกที่ต้องมี ทุกบ้านต้องมี ทุกคนต้องมี ใครไม่มีรองเท้าผ้าใบบ้าง เราไม่อยากเชื่อ ถูกไหม

อาร์ท : ใครไม่มีแบรนด์เราบ้าง

เบิร์ด (สิทธิอาจ) : เพียบ (หัวเราะ)

แนะนำการแต่งตัวของสนีกเกอร์ยุค 70 หน่อย ว่าจะแต่งตัวกับมันยังไงได้บ้าง

โอ้ต : ถ้าให้แมตช์ที่สุดขอเลือกเป็นยีนส์เพราะว่ามันก็เก่าทั้งคู่ มันใส่แล้วมันก็เข้ากันที่สุด สำหรับความคิดส่วนตัวผมนะ

เบิร์ด (สิทธิอาจ) : สำหรับเราเอาจริง ๆ ยุคนั้นจะเป็นยีนส์ เสื้อยืด หรือไม่ก็จะเป็นเอี๊ยม เราว่ามันก็ดูเข้าได้กับทุกสไตล์อยู่เหมือนกัน จะเป็นขาสั้นก็ได้ในหลาย ๆ สไตล์

TRY TO THAI
THAI STYLE : Try it and feel different

เมื่อพวกเขาไม่ได้เกิดมาเพื่อทำธุรกิจล้มยักษ์ หลายคนคงอยากรู้ว่าในราคาแต่ละโมเดลที่เขาตั้งไว้ใกล้เคียงแบรนด์ดัง หรือบางรุ่นอาจจะเทียบแล้วราคาต่างกันไม่มาก ทำไมเราถึงต้องซื้อของเขา ทำไมเราถึงต้องซื้อของไทย และนี่คือเหตุผลง่าย ๆ ที่เราเชื่อว่าคุณจะต้องเปลี่ยนใจ

โมเดล Gold limited ที่มีแค่ 200 คู่เท่านั้น

เบิร์ด (สิทธิอาจ) : คือเอาง่าย ๆ นะ สำหรับเรา เราว่า สมมุติวาง Product ไว้ด้วยกัน มันก็อาจจะอยู่ที่ first impression บางคนอาจจะเห็นรองเท้าคู่นี้แวบแรกแล้วชอบ คือแบรนด์เรามันอาจจะเป็นแวบแรกที่เขาชอบก็ได้ แล้วพวก detail ต่าง ๆ น่าจะเป็นสิ่งที่เขาคิดไม่ถึง มันเลยกลายเป็นจุดเด่นที่ทำให้เขา เฮ้ย! มันเป็นไปได้ว่ะก็เลยซื้อแบรนด์เราก็ได้

เราว่าของ Made in Thailand ไม่ได้แย่นะ ยิ่งได้ลงมาทำแบรนด์ของตัวเองแล้วมันยิ่งรู้สึกว่าว่าคนไทยแม่งทำได้ว่ะ คือโรงงานมันก็มี วัตถุดิบมันก็ดี ซึ่งน่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เมืองนอกหรือว่าคนข้างนอกเขาสนใจเรา แล้วตอนนี้มันก็เป็นแล้ว ก็โอเค ทางญี่ปุ่นเขาก็มีติดต่อมาแล้ว

โอ้ต : feedback ที่เราได้มาจากลูกค้าคือเขาชอบทรง ดีไซน์ แล้วก็พื้น ความนิ่มของรองเท้าครับ

ชวนให้คนไทยอุดหนุนของไทยกันหน่อย

โอ้ต : คงไปบังคับเขาให้ซื้อไม่ได้หรอกเนอะ ผมว่าจริง ๆ มันต้องลองน่ะครับ ของไทยมันมีหลายแบรนด์มาก อันนี้ไม่ใช่เฉพาะรองเท้านะ แล้วเขาก็ทำกันมานาน โด่งดังกันก็หลาย ๆ แบรนด์ ของไทยมันดีอยู่แล้ว วัตถุดิบเอย อะไรเอย

เรื่องของคุณภาพเวลาแบรนด์ทั่วไปเขาทำ ผมเข้าใจว่ายังไงทุกแบรนด์เขาก็ต้องทำของที่ดีและมีคุณภาพมาขายอยู่แล้ว เขาคงไม่ทำของห่วย ๆ มาขายหรอก เพราะฉะนั้นจริง ๆ บางตัวมันดีกว่าแบรนด์ดังเสียด้วยซ้ำนะ ผมเองก็อุดหนุนแบรนด์ไทยหลายยี่ห้อเหมือนกัน ก็ลองดูครับ มันต้องลอง ของอย่างนี้มันไม่ลองไม่ได้ เหมือนคอนเซ็ปต์ของแบรนด์เรา ‘Try it and feel different’ ครับ

เบิร์ด (สิทธิอาจ) : ทำไมต่างชาติเขายังมาลองของเรา ทำไมคุณถึงไม่ลอง ขนาดเป็นที่ที่คุณหยิบจับได้ง่ายมาก แล้วเขาหยิบจับได้ยากมากกว่าเราอีก ทำไมคุณถึงไม่ลองเปิดใจ แบรนด์ไทยเยอะมาก แค่คำที่ว่า Made in Thailand แค่นี้แหละที่คนไม่ชอบ แล้วต้องเป็น made in อะไร ? Paris หรอ หรือว่าอะไรหรอ ? ใครที่ยังไม่เคย ก็ลองแวะมาสัมผัสมันดู เผื่อจะชอบก็ลองเอาไปใช้กันดู

SUCCESS START TODAYS

ใครก็อยากให้ความชอบมันเลี้ยงตัวเองได้ เราเองก็เหมือนกัน แต่แน่นอนว่าแต่ละคนคงมีแนวคิดที่จะปั้นให้สำเร็จแตกต่างกัน สำหรับพวกเขา “Dust Off” ที่เคยผ่านร้อนผ่านหนาวมาแล้วได้ให้คำแนะนำดี ๆ ฝากเรามาส่งต่อให้รุ่นน้องรุ่นพี่ชาว UNLOCKMEN ทุกคนที่กำลังอยากเริ่มต้นสร้างแบรนด์เป็นของตัวเอง

เบิร์ด (สิทธิอาจ) : สำหรับเรานะ ใครที่บอกว่าพี่ผมมีแบรนด์ โน่นนี่นั่น อยากทำมาก ออกมาเป็นอย่างนี้แล้วนะ มีรูปร่างแบบนี้แล้ว เราว่ามันรอไม่ได้นะ คือรอปุ๊ป มันจะมีคนแทรกเรามาได้ตลอดเวลาเลย เราไม่รู้เลยว่าไอเดียมันตรงกันหรือเปล่า แต่บางทีมันมีความคล้ายคลึงกัน เราว่าต้องเร็วที่สุด ถ้าอยากทำอะไร ทำให้เร็ว สำหรับเราพรุ่งนี้เราไม่รู้ว่าเราจะได้อยู่หรือเปล่า ถ้าเราไม่รีบทำวันนี้มันอาจจะไม่มีโอกาสให้เราแล้ว เรื่องชีวิตก็เหมือนกัน โปรดักส์ การทำธุรกิจ หรือเรื่องครอบครัวทุกอย่างมันต้องทำให้เร็วที่สุด

โอ้ต : ขอเสริมนิดนึงนะครับ บางทีความชอบไปทำธุรกิจมันอาจจะไม่ success ก็ได้นะ เพียงแต่ว่ามันจะมีเปอร์เซ็นต์มากกว่าถ้าเราทำในสิ่งที่ชอบ มันก็อาจจะมุ่งมั่นมากกว่า ถ้าสิ่งที่ไม่ชอบมันอาจจะมีแค่ 70 เปอร์เซ็นต์ในความมุ่งมั่นและลงมือทำ แต่ถ้าชอบมันอาจจะพุ่งไปถึง 90 หรือ 100 ก็ได้ เพราะฉะนั้น ถ้าเกิดมีความมุ่งมั่นมันมากกว่า อันนี้เป็นความเชื่อส่วนตัวนะ ผมว่าโอกาสที่จะประสบความสำเร็จมันก็จะมากกว่าขึ้นไปด้วย

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นมันก็อีกหลายอย่างนะ ว่าเงินมีไหม มันสำคัญนะ จะลงทุนเนี่ยมันใช้เงินนะ แล้วไอ้ความชอบของเรามันอาจจะแพงก็ได้นะ มันไม่ได้หมายความว่ามันจะถูกไง เพราะฉะนั้นมันก็หลายอย่าง ไม่ใช่บอกว่า เฮ้ย ! ใจรักอย่างเดียวแล้วแม่งจะรุ่ง มันอาจจะไม่ success ก็ได้ แต่คืออย่างน้อยให้ทำก่อน ให้รู้แล้วก็เรียนรู้ความผิดพลาดตรงนั้น เผื่อทำ 10 อย่างมันอาจจะประสบความสำเร็จสัก 2 อย่างหรืออย่างนึง มันก็ถือว่า success นะ แต่ถ้าเกิดว่าแค่คิดอย่างเดียวแต่ไม่ทำเราจะไม่รู้เลยว่ามันจะจบดีหรือจบไม่ดีถูกไหม

อาร์ท : อย่างที่เขาบอกว่าการลงทุนมีความเสี่ยง แต่ถ้าไม่เสี่ยงก็ไม่ได้ทำมัน

เบิร์ด (สิทธิอาจ) : ทุกอย่างมันต้องเสี่ยง แล้วจะรู้ว่าโลกนี้อยู่ยาก (หัวเราะ)

อาร์ท : มองโลกในแง่ดี คือถ้าเราขายรองเท้าไม่ได้ อย่างน้อยเราก็มีรองเท้าใส่อีก 600 กว่าคู่ เราคิดแค่นั้นครับ

เบิร์ด (สิทธิอาจ) : วันเกิดเพื่อน เราก็แจกรองเท้า

โอ้ต : ขึ้นบ้านใหม่เราก็แจกรองเท้า

เบิร์ด (สิทธิอาจ) : แค่นี้เราก็มีความสุขแล้ว (หัวเราะ)

ถ้าเราเคยโตมากับสิ่งที่เราชอบมาก ๆ แต่โยนมันทิ้งไปแล้วเพราะคิดว่ามันไม่มีวันเป็นจริง ลองลุยกับมันอีกนิด ใช้ความพยายามกับมันอีกหน่อย มองมันให้บวกมากกว่าลบ ต่อให้เจอความล้มเหลวเราก็จะไม่เจ็บกับการจมอยู่ในความฝันตลอดไป หรือบางทีคุณอาจจะโชคดีอย่างพวกเขา “DUST OFF” ที่ปัดฝุ่นไอเดียจนออกมาเป็น “รองเท้าผ้าใบแคนวาส” ให้ลุยเหยียบพื้นชีวิตจริงได้แบบนี้

สำหรับใครที่อยากสวมแรงบันดาลใจดี ๆ หรือซื้อเก็บไว้ในคอลเลกชัน ไป Try the difference กันได้ตอนนี้ไม่ต้องรอที่เพจ Dustoffshoes

Photographer : Warynthorn Buratachwatanasiri

anonymK
WRITER: anonymK
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line