GADGETs

ทำไมต้อง “กล้องฟิล์ม” ในวันที่ดิจิทัลมีครบ ? ล้วงคำตอบจาก 4 หนุ่มเจ้าของ LAB “LUCKROOM”

By: anonymK June 6, 2018

ทุกวันนี้วิวัฒนาการด้านการถ่ายภาพมันเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว หากย้อนกลับไปวันที่พวกเราเป็นแค่เด็กชายที่ทำได้เพียงเต๊ะจุ๊ยยิ้มอยู่หน้ากล้องตอนพ่อแม่เรียก หลายคนคงไม่คิดว่าจากกล้องฟิล์มกระดาษที่เคยใช้ป๊อกแป๊ก วันหนึ่งการถ่ายภาพจะเปลี่ยนจากฟิล์มไปเมมโมรี่ในกล้อง compact, DSLR, mirrorless จนถึงกล้องมือถือที่ความละเอียด จับชัตเตอร์สปีดไม่ทิ้งกล้องตัวใหญ่ แถมภาพเคลื่อนไหวก็บันทึกได้คมชัดพร้อมตัดต่อ

ทว่าระหว่างการพัฒนาระดับความเร็วแสงที่นับวันจะแข่งกันมาให้เลือกเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จู่ ๆ มันก็ดันมีปรากฏการณ์ Come back ของการ “สะพายกล้องฟิล์ม” กลับมาอีกครั้ง UNLOCKMEN จึงตัดสินใจไปตามหาผู้รู้ช่วยไขคำตอบเหล่านี้กันที่ LUCKROOM แล็บครอบจักรวาลด้านการถ่ายภาพที่เพิ่งเปิดเซอร์วิสล้างสแกนฟิล์มน้องใหม่แกะกล่องผุดขึ้นมาในย่านลาดพร้าว ซึ่งมีเจ้าของเป็นแก๊งหนุ่มช่างภาพต่างคาแรคเตอร์ทั้ง 4 คน ซึ่งหนึ่งใน 4 คนนี้ยังเป็นช่างภาพมือเก๋าของพวกเราทีม UNLOCKMEN ด้วย (หนนี้ยอมมาเผยตัวหน้ากล้องกับเขาสักที)

WHAT THE LUCK(ROOM)?

ก่อนจะไปถามกันมันส์ ๆ ให้เกียรติป้ายกระจกที่แปะสติ๊กเกอร์หน้าร้านว่า “LUCK” สักเล็กน้อย ว่าชื่อนี้มีที่มาจากไหน

“มาจากคำว่า Lucky ครับ ผสมกับคำว่า Luck ในภาษาอังกฤษมันพ้องเสียงกับคำว่า ‘รัก’ ภาษาไทย จะเอามาวางหน้าคำไหนก็ได้ความหมายดี เรา 4 คนเลยตกลงกันว่าจะใช้คำนี้”

การจะจับช่างภาพ 4 คนมาไว้ด้วยกันเพื่อล้างฟิล์มมันเป็นเรื่องยาก แต่ก็ไม่มากนักเมื่อเรารู้ที่มาว่าพวกเขาเป็นเพื่อนที่รู้ใจกันจากการเคยร่วมหัวจมท้ายทำโปรเจ็กต์และร่วมชั้นเรียนด้วยกันมาจากรั้วมหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ภาควิชานิเทศศิลป์ สาขาการถ่ายภาพ แต่เพื่อให้กระจ่างสำหรับคนที่อาจจะได้ไปเจอพวกเขาตัวเป็น ๆ ในอนาคต เราขออนุญาตแนะนำเรียงตัวจากชื่อเล่นของพวกเขาจากซ้ายไปขวา ดังนี้

ชนาธิป แก้วสุข (เข้ม) พรรษ เลิศวิไล (พรรษ) คุมพล เตชถาวรกุล (โบ้ท) กฤตภาส สุทธิกิตติบุตร (เกมส์)

เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา เราจะของัดข้อสงสัยมาขึ้นคำถาม เสมือนการเลื่อนฟิล์มเพื่อขึ้นชัตเตอร์ หนุ่มคนไหนที่เคยเล่นกล้องฟิล์มคงรู้อาการแบบนี้กันดี และให้พวกเขาทั้ง 4 ตอบคำถามที่เราคาใจเกี่ยวกับการเล่นฟิล์มเหล่านี้

คิดว่าทำไมทุกวันนี้คนชอบการถ่ายกล้องฟิล์มทั้งที่กล้องดิจิทัลทำทุกอย่างได้ดีกว่า หรือก๊อปปี้สไตล์ฟีเจอร์ฟิล์มได้

LUCKROOM : มันเป็นเพราะว่ายุคนี้เป็นยุคดิจิทัล บางคนอยากกลับไปอนาล็อกหรือเปล่า คนหันมาโหยหาความ slowlife คือปกติเมื่อก่อนเวลาเราถ่ายฟิล์มเนี่ยคือเรื่องปกติ แต่ว่าปัจจุบันนี้ดิจิทัลมันเป็นเรื่องธรรมดา ถ้าเราพกกล้องดิจิทัลไปพร้อมกับฟิล์ม อย่างผมจะไปเที่ยว ถ้าไปในที่ที่ไม่รู้ว่าจะได้ไปอีกไหม ผมก็จะพกฟิล์มไปด้วยนะ ฟิล์มมันเติมเต็มความรู้สึกพิเศษตรงนี้ได้

ช่วยบอกเสน่ห์ของฟิล์มในสายตาพวกคุณหน่อย ทำไมช่างภาพอย่างพวกคุณสนใจการเล่นฟิล์มจนเปิดร้านล้างสแกนฟิล์มกันได้

LUCKROOM : อันนี้มันก็พูดยากเหมือนกันนะ ปกติเราทั้ง 4 คนเนี่ยทำงาน commercial ที่เป็นดิจิทัล ไอ้งานที่เป็นดิจิทัลที่ใช้ quality ดีที่สุด หรือไปใช้ทำบิลบอร์ดใช้ปริ้นท์ปิดตึกตามห้างเราก็ทำมาหมดแล้ว ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะว่าเรารู้สึกว่าเบื่อกับการทำงานด้วยบางส่วน หรืออาจจะอยากหันมาทำอะไรที่สบายใจด้วย เป็นความรู้สึกส่วนตัวที่มันตรงกัน

ด้วยความที่ทำงานดิจิทัลมาเรื่อย ๆ พอเวลาไปเที่ยว ไปรีแล็กซ์หรือไปเที่ยวกัน ถ่ายรูปส่วนตัวเราจะตัดโหมดกลับมาเป็นฟิล์ม แทบไม่พกกล้องดิจิทัลเลย เพราะบางทีเวลาเราถ่ายมา เราก็ยังไม่ได้อยากเห็นมันทันที ถ่ายก็กด ๆ ไปเรื่อย จนกลายเป็นเล่นกล้องฟิล์มแล้วก็เห็นว่าน่าจะลองมาทำอะไรต่อยอดกันดู ตอนแรกตั้งใจให้ที่นี่เป็นที่เวิร์กช้อปเป็นเหมือนสอนล้างฟิล์มก่อน แต่พอมาตกลงกันเราคิดว่าถ้าจะสอนให้คนมันรับรู้จริง ๆ เราก็ต้องทำให้เขาเชื่อมั่นในตัวเราก่อนว่าเราล้างฟิล์มได้ ก็เลยมาทำด้วย พอดีกับพอศึกษาเรื่องฟิล์มกับการล้างมาเรื่อย ๆ ค่อย ๆ มันมีดีเทลน่าสนใจ เลยคิดว่าจะเอายังไงดีก็เลยตกลงกันว่ามาทำเลยดีกว่า

ชอบฟิล์มกันแบบไม่มีเหตุผล

LUCKROOM : ถ้าถามว่าทำไมถึงใช้ฟิล์มมันก็เหมือนถามว่าทำไมคริสโตเฟอร์ โนแลนด์ ยังถ่ายหนังด้วยกล้องฟิล์มอยู่ มันต้องมีอะไรสักอย่าง ก็มันเป็นคาแรคเตอร์ของมันที่เราชอบ

มันก็ไม่มีเหตุผล ให้เราเปรียบเทียบว่าฟิล์มดีกว่าดิจิทัลตรงไหนเราก็ไม่อยากเปรียบเทียบเพราะมันเป็นความชอบส่วนบุคคลครับ ถ้าจะบอกว่ากล้องฟิล์มชัดกว่าดีกว่า สีสวยกว่า แต่ในตลาด commercial เขาก็ไม่ได้ใช้กล้องฟิล์มทำงานกัน แล้วถ้าเราบอกว่าฟิล์มสีสวยกว่าดิจิทัลนะมันก็แปลก ๆ เพราะว่าดิจิทัลมันก็ปรับให้เป็นแบบฟิล์มได้ ผมเปิดบริษัททำรีทัชเรารู้ว่ามันปรับได้ ทำให้เหมือนเป๊ะได้ ถ้าให้พูดความต่างที่เป็นรูปธรรมคงอยู่ที่ความรู้สึกแตกต่างจากที่มาของรูป คือดิจิทัลจะใช้ เซ็นเซอร์รับภาพ แค่เราพกกล้องออกไปเรารู้ว่าภาพนี้มาจากฟิล์ม คือมันเป็นเรื่องของความรู้สึกบางอย่างที่รับรู้ได้เฉพาะคนถ่าย อีกอย่างคือเรารู้สึกว่าฟิล์มให้ความรู้สึกเหมือนมีการ remind บางอย่าง อย่างเช่นถ้าเป็นดิจิทัล เราเปิดไฟล์มามันมีบอกหมดแล้ว ถ่ายที่ไหน ไปเที่ยวไหนมา ถ่ายกี่โมง เลนส์เท่าไหร่ ใช้กล้องอะไร แต่ว่าถ้าเราถ่ายฟิล์ม เราเก็บไว้สักวันสองวันเราอาจจะลืมว่าเราถ่ายที่ไหน ถ่ายยังไง แต่ตรงนี้ผมว่ามันเป็นเสน่ห์ เป็นจุดขายในเรื่องของความทรงจำ การระลึกถึงว่าวันนี้เราไปที่นั่นที่นี่ มันอาจจะมีความหมายมากกว่าดิจิทัล

แล้วข้อดีอื่น ๆ ของดิจิทัลที่แตกต่างจากฟิล์มล่ะ

LUCKROOM : ดิจิทัลมันเก็บภาพเป็นไฟล์มันก็มีการสูญหาย External อาจจะเสียเจ๊ง แต่ฟิล์มมันเป็นทั้งไฟล์แล้วก็ตัวต้นฉบับของมันเก็บไว้ได้ อายุของฟิล์มถ้าควบคุมอุณหภูมิดี ๆ ก็เก็บได้นานหลายสิบปี ไอ้ตรงนี้ต่อให้เก็บไว้ดียังไงดิจิทัลอาจจะยังให้ไม่ได้

จริงไหมที่มีคนบอกว่า ฟิล์มมันมีค่าเพราะค่าฟิล์มแพง ทำให้คนคิดก่อนกดชัตเตอร์มากขึ้น

LUCKROOM: อันนั้นส่วนนึง แต่ถ้าเป็นพวกผมก็ไม่ได้คิด กดรัว ๆ เลยก็มี คือไอ้พอไม่คิด ภาพออกมามันลุ้น มันเซอร์ไพรส์ ถึงเราจะเป็นช่างภาพแต่เรื่องจะให้ต้องคิดทุกเฟรมที่ถ่ายมันก็ไม่ได้ขนาดนั้น

ธุรกิจล้างฟิล์มมันดูมั่นคงแค่ไหน แล้วทำไมช่างภาพอย่างพวกคุณถึงมาทำ

LUCKROOM : จริง ๆ ตอนนี้คนเล่นฟิล์มเยอะแล้ว ร้านล้างฟิล์มก็เยอะขึ้น ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่ดีเพราะมันทำให้เกิดการแข่งขัน ต้นทุนเชิงเทคนิคอลค่อนข้าง fix เรื่องราคาเครื่อง ราคาน้ำยา ต้นทุนทุกคนรู้หมด ส่วนมากจะแตกต่างกันเรื่องราคาทำเลที่ตั้ง ส่วนที่มาที่เราเลือกมาทำเพราะเรามองว่าทุกวันนี้ใครก็ถ่ายรูปได้ บางทีอาชีพช่างภาพมันก็พูดยากว่าจะมั่นคงไหม ที่ตัดสินใจเลือกทำเพราะคิดว่าถ้ามีธุรกิจอะไรบางอย่างมาทำด้วยกันแล้วมัน happy ได้เงินด้วยมันก็น่าจะโอเค ก็เลยลอง

จริง ๆ แล้วเราไม่ได้บอกว่าเราเป็นร้านล้างฟิล์มเสียทีเดียว เราอยากทำให้มันเป็นแบรนด์ที่คนคิดถึงว่าถ้านึกถึง LUCKROOM เนี่ยแก๊งค์นี้ถ่ายรูปนะ แต่สินค้าคือรับล้างฟิล์มด้วย รับถ่ายรูปด้วย มันเป็นไปได้หมดที่เป็นคอนเซ็ปต์ของการถ่ายภาพ

ถามหน่อยเขาว่าสีกล้องฟิล์มมัน control ไม่ได้จริงไหม?

LUCKROOM : ใช่ครับ จริง ๆ มันมีสโคปของมันอยู่ สีของฟิล์มมันจะเปลี่ยนเวลาเจอแสงที่คนละ Kelvin กัน อย่างเช่น แสงเช้า แสงเย็น แสงกลางวัน หรือถ้าเราไปญี่ปุ่น เราไปต่างประเทศ ที่ Kelvin ของแสงไม่เท่ากัน มันก็จะเปลี่ยนสีนะ มันเป็นไปตามปฏิกิริยา แต่ก็จะมีเทสของเขาอยู่ที่บอกว่าถ้าแสง Kelvin เท่านี้จะได้สีภาพแบบไหน สมมติเราออกไปข้างนอกแดดที่ 5500 Kelvin แดดแรง แล้วเราไปถ่ายใช้ฟิล์มปกติ สมมติฟิล์มโกดักมันก็จะออกสีเหลืองใช่ไหม ถ้าเราไปเจอแสงจัดที่ให้สีเหลืองเราก็ต้องใช้ฟิลเตอร์แก้ เพราะว่าฟิล์มแต่ละตัวมันเทสมาไม่เท่ากัน เบสของเคมีที่มันเคลือบตัวฟิล์มมันจะส่งผลให้สีไม่เหมือนกัน เรื่องนี้ถ้าอยากรู้เราไปหาข้อมูลดูได้ คือบริษัทแต่ละบริษัทมันจะมีชาร์ตสีบอกไว้ อยากรู้ให้ลึกอาศัยการจำจากการถ่ายไปเรื่อย ๆ ก็ได้เราจะค่อนข้างจำได้ว่า โกดักสีอมเหลือง ฟูจิสีอมฟ้า เป็นคาแรคเตอร์ของฟิล์ม แล้วถ้าต่างยี่ห้อก็จะไม่เหมือนกัน แต่ถ้าดิจิทัลเป็น raw file

วิธีแก้สีภาพของดิจิทัลกับฟิล์มก็ไม่เหมือนกัน ถ้าดิจิทัลก็ปรับ white balance จาก raw file ได้เลย ส่วนฟิล์มจะเป็นการแก้ตอนเลือกใช้ฟิล์มมากกว่า หรือใช้ “ฟิลเตอร์” เป็นกระจกที่ใช้หมุนปิดหน้าเลนส์ ถ้าสีฟ้ามันก็แก้ความเหลืองของภาพ

Kelvin?

LUCKROOM : Kelvin คืออุณหภูมิสีครับ เป็นหน่วยใช้บอกเฉดสีของแสงไฟ มันจะมีตำราบอกคร่าว ๆ ว่าช่วงเวลานี้มีค่าประมาณเท่าไหร่ ถ้าอย่างตอนนี้เที่ยงมันจะอยู่ที่ 5,800-6,500 ในช่วง sunset อาจจะอยู่ที่ 3,000 ลงมาถึง 2,000 หรือช่วงทไวไลต์มันก็จะเป็นอีกอุณหภูมินึง อุณหภูมิยิ่งต่ำมันจะยิ่งอมไปทางฟ้า ถ้าอุณหภูมิสูงมันจะวิ่งไปทางเหลือง ตรงนี้มันเป็นกฎพื้นฐาน เราเซิร์ชเจออยู่แล้วเวลาเราไปเข้าเว็บถ่ายรูป หรือหนังสือพื้นฐานการถ่ายภาพ เขาก็จะบอก

ล้างแสกนก็ได้มาเป็นไฟล์เหมือนกัน มันต่างจากดิจิทัลยังไง?

LUCKROOM : ถึงจะส่งเป็นไฟล์ แต่กระบวนการเกิดภาพมันมาจากอนาล็อกครับ แต่ล้างสแกนมันเป็นการประยุกต์ความรู้เรื่องไฟล์ดิจิทัลด้วย เราต้องมีไว้เพื่อให้ข้อมูลลูกค้าเช่นเวลาสแกนไปต้องดูขนาดไฟล์ว่าจะได้กี่เม็ก ขนาดเท่านี้จะใช้อะไรได้บ้าง เผื่อเขาต้องการใช้ภาพแบบละเอียดจะได้ให้ข้อแนะนำได้

กล้องแรกที่เจิมร้านเป็นรูปของใครแบบไหน?

ขอขอบคุณภาพดอกซากุระสวยๆ จากประเทศญี่ปุ่น โดยคุณ Ookaik Roongrawee

LUCKROOM : กล้องรุ่นพี่คนนึงครับ เป็นรูปที่เป็นญี่ปุ่น อันนั้นเป็นม้วนแรกแล้วเราก็ภูมิใจกับมันมาก เพราะว่าดอกซากุระสีขาวดีเทลมันยังอยู่ครบ ซึ่งบางทีในการแสกนรูปเราก็จะมอนิเตอร์ให้ลูกค้า โอเคถ้ามันสว่างไปเราอาจจะแก้ให้นิดหน่อย แต่เราจะไม่ปล่อยผ่านถ้าบอกว่าแล็บเราจะแตกต่างคือตรงนี้ด้วย เราจะไม่ปล่อยผ่านเรื่อง quality ในการดูสีเพี้ยน เราจะแก้มอนิเตอร์ได้นิดหน่อยเพื่อให้ลูกค้าได้งานที่โอเคที่สุด

ความแตกต่างของร้าน LUCKROOM กับที่อื่น ๆ

LUCKROOM : เป็นเรื่องมอนิเตอร์ภาพครับ เวลาสแกนรูปเราก็จะมอนิเตอร์ให้ลูกค้า โอเคถ้ามันสว่างไปเราอาจจะแก้ให้นิดหน่อย แต่เราจะไม่ปล่อยผ่านเรื่อง qualityในการดูสีเพี้ยน เราจะแก้มอนิเตอร์ได้นิดหน่อยเพื่อให้ลูกค้าได้งานที่โอเคที่สุด กับการให้ข้อมูลแนะนำครับ บางทีเราเข้าไปที่ร้านร้านอื่น ๆ อย่างนี้ เราจะรู้สึกอึดอัด จะถามอะไรก็ไม่กล้า แต่ที่นี่ยินดีที่จะให้ข้อมูลทุกอย่าง คือถ้าเข้ามาล้าง เราทั้งสี่คนอธิบายได้หมดว่ากล้อง compact คืออะไร ถ้าจะถ่ายฟิล์มแบบนี้จะต้องไปซื้อที่ไหน ใช้ฟิล์มนี้ถ่ายอันนี้ ภาพออกมาเสียเพราะคุณไปถ่ายแบบนี้ หรือเกิดจากการใส่ฟิล์มเสีย จะว่าเป็นนักเรียนถ่ายรูปมาแล้วให้ข้อมูลจากในตำราเลยก็ได้ เพราะจริง ๆ แล้วการถ่ายรูปพื้นฐานมันบิดเบือนไม่ได้ ก็ถือเป็นข้อพิเศษที่แตกต่างจากร้านอื่น

สอนล้างฟิล์ม 101 ให้เราหน่อย วิธีล้างจริง ๆ มันต้องยังไง

LUCKROOM : เดินเข้ามาก่อนครับ (หัวเราะ) ได้มาปุ๊ปเราต้องดึงฟิล์มออกจากกลัก แล้วก็เข้าแท่นตรงโน้นเพื่อจะติดปลายกับตัวไกด์ชีท

ติดแล้วมันจะเป็นตัวนำฟิล์มเข้าไปสู่เครื่องล้าง เปิดเครื่องล้างแล้วรออุณหภูมิให้ถึง 37.8 เครื่องถึงจะใช้งานได้ ถ้าไม่ถึงมันไม่ให้เข้าครับ แล้วเครื่องจะค่อย ๆ ดึงฟิล์มออกจากกลัก เราจะมอนิเตอร์จากเครื่องได้ว่ามันไปถึงไหนแล้ว มันก็จะหมุนไปเรื่อย ๆ ฟิล์มจะค่อย ๆ ไล่มาแล้วก็ออกมาทางนี้ ออกมามันก็จะมีแผ่นนี้ออกมา ฟิล์มมันจะถูกดึงออกมา ข้อดีของเจ้าเครื่องนี้คือทำให้ฟิล์มไม่ติดฝุ่น

ที่สำคัญพอล้างแล้วมันแห้งเลย เราสามารถนำไปสแกนต่อได้ทันที ทำให้พอนำฟิล์มมาส่งหากลำดับตามคิวไม่มากเราก็สามารถส่งไฟล์กลับไปให้เจ้าของได้ทาง google drive หรือ อีเมลไม่เกินชั่วโมง

พอหอมปากหอมคอกันไปแล้วสำหรับเรื่องกล้องฟิล์ม ไม่น่าเชื่อว่าเรื่องเล็กจากปลายนิ้วกับความอนาล็อกที่สามารถบันทึกกลิ่นอายประวัติศาสตร์ ความทรงจำแสนพิเศษมันจะมีดีเทลมากกว่าที่คิด และสิ่งเหล่านี้คือเหตุผลที่ทำให้ความวินเทจมันเป็นอมตะ ยิ่งคอ UNLOCKMEN ที่ชื่นชอบดนตรีถ้าอยากจะหันมากดชัตเตอร์พวกเขายังอธิบายยั่วน้ำลายแบบจี๊ดเข้าไปอีกว่า

“เหมือนความต่างเรื่องฟิล์มเทียบได้กับการฟังเพลงด้วยแผ่นเสียง ถ้าเราเปิดแผ่นซีดีจากลำโพงที่ดีที่สุดมันก็ไม่ได้ mood ของแผ่นเสียงเก่า ๆ เครื่องเล่นแผ่นที่ทำให้ได้ยินเสียงแตกหน่อย มันเป็นฟีลลิ่งคล้าย ๆ กัน เป็นเรื่องของการหยิบจับ การเปลี่ยนผ่านระหว่างการเอาฟิล์มใส่ แล้วเราก็ลืมไปแล้วว่าเราถ่ายที่ไหน ผมว่าช่องนี้มันเป็นมาร์เก็ตติ้งของฟิล์มที่มันยังครองใจคน”

อย่าลืมติดตามผลงานของเขาต่อได้เว็บไซต์ UNLOCKMEN กันนะ ส่วนใครที่มีฟิล์มในกล้องแล้วยังหาคนดูแลภาพด้านในไม่ได้ inbox ไปหาหนุ่ม LUCKROOM กันได้ที่เพจ LUCKROOM เลย Good LUCK!

anonymK
WRITER: anonymK
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line