Business

ที่มาของการลงทุนในนาฬิกา เลือกถูกรุ่น เล่นถูกเรือน รวยไม่รู้เรื่อง…ดังไม่รู้ตัว

By: DR.TUI March 11, 2019

เดิมทีอุตสาหกรรมนาฬิกาสวิส มีผู้ซื้อรายใหญ่คือสหรัฐ และญี่ปุ่น แต่ต่อมาคงไม่มีใครปฏิเสธได้หรอกว่า อำนาจในการใช้เงินหรือซื้อของ luxury ถูกเปลี่ยนขั้วไปเป็นจีน และรัสเซีย โดยที่ใครต่อใครก็บอกว่าสองชาตินี้ขาดรสนิยม บ้างก็บ่นกันว่า ใช้เงินไม่เป็นบ้างหล่ะ ไม่เข้าใจศิลปะบ้างหล่ะ

แต่เมื่อเวลาผ่านไปทุกคนยอมรับในตัวตนของสองชาตินี้มากขึ้น อาจเพราะสภาพเศรษฐกิจ หรือกำลังในการจับจ่ายวิ่งเข้าสู่สองประเทศนี้ จึงทำให้นาฬิกาแบรนต์หรูแห่กันไปเปิดร้าน รวมถึงทำ roadshow event, exhibition event ในสองประเทศนี้กันอย่างคึกคัก เพื่อหวังจะเป็นทางรอด และเป็นที่หนึ่งในอุตสาหกรรมนาฬิกาสวิสให้จงได้

ต่อมา คนกลุ่มแรกที่สามารถหล่อหลอมการใช้เงินอย่างบ้าคลั่งของเศรษฐีทั้งสองประเทศก็คือ Independent watch ซึ่งก็คือนาฬิกาแนว ๆ แปลก ๆ แพง ๆ ทำน้อย ๆ ไม่เหมือนใคร โดยยุคทองของนาฬิกาแปลกนั้นถูกเริ่มโดย Mb&F, Urwerk และ Richard Mille อยู่ในช่วงเวลาประมาณปี 2009 ถึง 2013 ซึ่งความจริงแล้วยุคทองของ Indy Watch เกิดจากการเบื่อหน่ายนาฬิกาหน้าตาเดิมๆ ซึ่งผู้ที่ซื้อนาฬิกาเหล่านั้นส่วนใหญ่ก็คือคนที่มี Rolex, Patek Philippe, Audermars Piguet อยู่แล้ว

แต่ต่อมาในปี 2014 ถึง 2017 ผู้คนเริ่มมีความมั่งคั่งขึ้นจนกระแสการท่องเที่ยวนั้นแพร่ไปทั่วโลกโดยเฉพาะชาวจีน และรัสเซีย ในบ้านเราเองถ้าไปดูตามเมืองที่มีหาดทรายชาวรัสเซียจะมาอยู่มากกว่าชาวยุโรปอย่างเห็นได้ชัดเช่นพัทยา และภูเก็ต ซึ่งพวกรัสเซียเหล่านี้ก็มีการเสพนาฬิกาอย่างเข้าใจถึงศิลปะ แต่พอมาถึงชาวจีนนั้นแน่นอนเลยว่าการซื้อนาฬิกาเหมือนกับการบอกบรรพบุรุษว่า “ข้าพเจ้ารวยแล้ว มีเงินแล้ว ประสบความสำเร็จแล้ว” จากที่ใส่นาฬิกาธรรมดา ๆ ทุกคนมุ่งไปหานาฬิกาที่ทุกคนสามารถบอกฐานะของตนได้นั่นก็คือนาฬิกาที่มี iconic ชัดเจน เช่น Rolex Sport รุ่นต่างๆ โดยเฉพาะรุ่นที่ขอบมีสีเด่นชัดคนมองแล้วรู้เลย หรือถ้าเป็น Patek Philippe ก็ต้องรุ่น Nautilus หรือ Aquanaut เท่านั้น เพราะถ้า dress watches ธรรมดาอาจจะแยกยี่ห้อได้ยาก

ส่วนชาวรัสเซียที่มีรูปร่างใหญ่ (ลองนึกภาพมาเฟียนะครับ) จะไม่นิยมนาฬิกาพวกนั้น แต่จะนิยมนาฬิกาใหญ่ๆ ที่แพงกว่า Panerai ก็เลยวิ่งไปทาง Audermars Piguet RoyalOak, Richard Mille และ Hublot ซึ่งทำให้ Richard Mille เหมือนตกถังข้าวสารเลยทีเดียว จากนาฬิกา Indy กลายมาเป็นนาฬิกาที่ใคร ๆ ในโลกก็อยากมี ลองนึกภาพว่าถ้าท่านป้อมไม่ได้ใส่ Richard Mille แต่ใส่ Patek Philippe dress สักเรือนนึง จะมีนักข่าว หรือชาวโซเชียลทักหรือไม่ แต่เพราะ iconic ของนาฬิกาทำให้คนสังเกต และเป็นที่สนใจ เพราะก่อนหน้านั้นท่านก็ใส่นาฬิกาหรูหลายเรือนมากแต่ก็ไม่มีประเด็นแต่อย่างใด แต่พอมีประเด็นก็ไม่เคยเห็นท่านใส่นาฬิกาอีกเลย

ออกทะเลไปไกลล่ะกลับมาเข้าเรื่องกันต่อ จนถึงช่วง 2017 ถึง 2018 ทั่วทั้งโลกเกิดอาชีพใหม่ชนิดนึงที่ใครๆก็เป็นได้ เรียกกันว่าพ่อค้านาฬิกาซึ่งไม่ต่างกับตู้พระเครื่องแหละครับ แต่พ่อค้านาฬิกาคือกลุ่มคนที่คอยสร้างกระแส กักตุนสินค้า และสอนให้รู้จักการ pre order สิ่งเหล่านี้เป็นกันทั้งโลก เริ่มจาก Hong Kong ก่อนเพราะ Hong Kong เป็นเส้นทางสู่ผู้ซื้อในจีนแผ่นดินใหญ่ที่ดีมาก ทำให้นาฬิกามีราคาขึ้น หรือลงที่ผิดปกติจากที่ควรจะเป็น ตัวที่ไม่ค่อยมีคนเล่นราคาเริ่มเหมือนขยะ มีการควบคุมตลาดอย่างเห็นได้ชัดเช่น เรือนนี้ถ้าซื้อแล้วจะมีคนซื้อต่อ หรือมีราคารองรับเท่าไหร่อย่างไร พอเป็นรุ่นที่กระแสเริ่มมาก็ถูกพ่อค้าเหล่านี้กว้านซื้อไปก่อนผู้บริโภคจนกลายมาเป็นการซื้อพ่วง หรือการซื้อ premium ซึ่งไม่แปลกเพราะเมื่อช่วงปี 2004 ถึง 2008 ยุคทองของ Panerai ก็เป็นเช่นนี้

แต่ตอนนี้สถานการณ์ต่างนิดนึงตรงที่นาฬิกาที่ราคาเพิ่มสูงมากๆกลับเป็นแบรนต์ตลาดอย่าง Rolex Sport, Patek Philippe รุ่น Sport และ Omega ตระกูล Speedmaster ซึ่งกำลังการผลิตไม่ได้ลดลง และอาจจะเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังไม่พอขาย กระแสนี้จึงเกิดนักเก็งกำไรเป็นจำนวนมากเกิดขึ้นทั่วโลกเป็น passion investment หรือสะสมของที่ชอบและขายได้กำไร ทั้งเอามาใส่บ้าง เก็บบ้าง มีความสุขในการเก็บคล้าย ๆ กับทองแท่งซึ่งวางไว้ในตู้แต่ทำอะไรไม่ได้จนกว่าจะขาย ถ้าอยากจะเท่มากขึ้นก็โพสรูปลง IG หรือ FB ว่าชั้นมีเก็บอยู่บานตะไท แต่ก็ยังไม่ได้ขาย วันนี้ราคากลางที่มีการซื้อขายก็อ้างอิงราคาจากงานประมูลต่าง ๆ โดยงานประมูลที่คนนิยมนำราคามาอ้างอิงก็คือ Sotheby’s, Christie’s และ Antiquorum

พออ่านมาถึงตรงนี้ผมเชื่อว่าทุกคนเริ่มงง และเริ่มไม่รู้ว่าจะซื้ออะไรก็จะกลับไปซื้อตามกระแสจำพวก Rolex, Patek Philippe, Omega รุ่น sport ทั้งหลาย ถามว่าผิดไหมผมคงตอบว่าไม่ผิด แต่ถามว่าราคาจะวิ่งไปทางไหน กำไรใช่ไหม ผมคงต้องตอบว่า ขึ้นอยู่กับกระแสต่างๆ ถ้าวันนี้เศษฐกิจโลกตก นาฬิกาที่มีค่าเปรียบดั่งทองจะขายง่ายที่สุด แต่ถ้าพ่อค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศทยอยออกของไม่ทัน การตัดราคาของสินค้าที่เหมือนกันอาจเกิดขึ้น ซึ่งต่างกับนาฬิกาที่ผลิต 5 เรือนในโลก อาจจะมีคนอยากได้เพียง 100 คนในโลก มีกำลังซื้อมือหนึ่งเพียงแปดคน และมีกำลังซื้อมือสองอีกยี่สิบคน

คำถามคือพวกเขาจะเจอกันได้อย่างไร ปัจจุบันจึงเกิดเวทีประมูลใหม่ๆใน Internet ขึ้นทั้งเจ้าเล็กเจ้าใหญ่ ทำให้ทุกคนเชื่อมต่อถึงกันและมีส่วนร่วมได้ง่ายขึ้น รวมทั้ง low cost airline ต่างๆก็ยังพาคนหิ้วของไปมาได้ทุกที่ (นี่ก็คืออีกอาชีพหนึ่งที่นิยมในช่วงหลัง)

ต่อไปเป็นคำถามสุดท้าย แล้วทิศทางของอุตสาหกรรมนาฬิกาจะเป็นอย่างไร?

ต้องบอกว่ายุคของวินเทจนั้นกลับมาได้ปีหรือสองปีแล้ว กลุ่มคนเล่นของเก่ามีมากขึ้น นาฬิกาเก่าก็เช่นกันอาจมีมากขึ้นเกือบทุกแบรนต์ และทุกกลุ่มมีฐานแฟนคลับของตัวเองไม่ว่าจะเข้ามา หรือออกไป ถ้าถามว่าราคา Rolex จะลงถึงเมื่อไหร่ หรือจะขึ้นถึงเมื่อไหร่ คงตอบไม่ได้เพราะมันเหมือนกับถามว่าหุ้น PTT จะไปทางไหนเพราะปัจจุบันอยู่ที่กำลังซื้อล้วน ๆ อย่าลืมว่าราคา Rolex มือสองที่ปรับตัวสูงขึ้น บริษัท Rolex ไม่ได้ส่วนแบ่งจากตลาดมือสองทางตรง แต่ได้กระแสว่าสินค้าชั้นซื้อไปราคาไม่ตก (หรือตกน้อย) นะ

เช่นเดียวกับนาฬิกาที่ราคามือสองตกก็ต้องถามตัวเราเองว่า เราชอบใส่นาฬิกาเพราะอะไร เสื้อผ้ามีกี่ตัวที่ซื้อมาใส่แล้วราคาไม่ตก หรือมีรองเท้าคู่ไหนที่เก็บไว้แล้วราคาขึ้นบ้าง ถ้าอย่างงั้นทำไมทุกคนถึงไม่ซื้อของที่ราคาจะขึ้นเหมือนกัน เพราะวันนี้ข่าวสารสามารถหาง่ายกว่าหาหนังสือพิมพ์มาอ่านสักฉบับ และผมเชื่อว่าทุกแบรนต์มีกลุ่มคนรักของตัวเอง และทุกคนมีความเชื่อและความชอบของตัวเอง

ในประวัติศาสตร์ Rolex sport, Patek Philippe sport เคยราคาตกมาแล้วทั้งสิ้น เพราะยังไงของสะสม หรือสินค้าแฟชั่นคงจะมาก่อนทรัพย์สินที่จำเป็นในชีวิตมากกว่าไม่ได้เช่นกัน แล้วคุณล่ะ เข้าไปอยู่ในยุคนาฬิกา ซื้อมาแล้วต้องกำไร หรืออยากเป็นตัวของตัวเองต่อไป

DR.TUI
WRITER: DR.TUI
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line