World

มนุษย์เราจำตัวเลขได้สูงสุดกี่หลัก? 2 ปีข้างหน้าญี่ปุ่นปรับเพิ่มเบอร์โทรศัพท์จาก 11 หลักเป็น 14 หลัก

By: anonymK May 17, 2019

ก่อนจะมีตัวเลข 08 หรือ 09 นำหน้าเลขหมายโทรศัพท์มือถือในปัจจุบัน เท่าที่จำความได้และเกิดทัน เราเคยใช้เลขหมายโทรศัพท์บ้านเริ่มต้นด้วย  02, 03, 05 และ 07 และใช้หมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่หรือมือถือด้วย 01 นับแล้วตอนนั้นจำทั้งหมด 9 หลัก แต่พอมาวันนึง จำนวนคนมากขึ้นเลยทำให้เลขหมายที่มีอยู่ไม่พอและเพิ่มเลขแทรกเข้ามาอีกหนึ่งหลักของมือถือ จนวันนี้เราต้องจำ 10 หลักเพื่อโทรศัพท์หากัน

ญี่ปุ่นเป็นอีกประเทศหนึ่งที่กำลังเจอกับเหตุการณ์เลขกำลังจะหมดเกลี้ยง ไม่เหลือให้ใช้แล้วเหมือนกัน ดังนั้น เพื่อป้องกันเหตุการณ์นั้น กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารจึงวางแผนเพิ่มเลขหมายจากเดิม 11 หลักเป็น 14 หลัก ซึ่งจะทำให้ตัวเลขใหม่ทั้งหมดเพิ่มขึ้นจำนวนกว่าหนึ่งหมื่นล้านเลขหมายภายในปี 2021 โดยนโยบายนี้ได้รับการยอมรับจากผู้ให้บริการมือถือ 3 รายหลัก ได้แก่ NTT Docomo Inc., KDDI Corp. และ SoftBank Corp.

เหตุผลของการเพิ่มครั้งนี้ ไม่ใช่แค่เรื่องการขยายตัวของประชากร แต่อีกแง่หนึ่งมันเกิดจากการใช้อุปกรณ์ประเภท IoT ที่เพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งในญี่ปุ่นอุปกรณ์เหล่านี้มันจำเป็นต้องผูกกับหมายเลขโทรศัพท์ จึงทำให้เลขหมายหมดไว ยิ่งปีหน้าเมื่อญี่ปุ่นเตรียมเปิดใช้ 5G ยิ่งมีความเป็นไปได้สูงที่จำเป็นจะต้องใช้เลขหมายมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่

เลขจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แล้วมนุษย์จำเลขได้สูงสุดกี่หลัก

เมื่อตัวเลขเพิ่มขึ้นแต่คนเราลดทอนความสำคัญเรื่องตัวเลขลดลง จึงทำให้เราเกิดข้อสงสัยว่า หากตัวเลขเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แล้วความสามารถในการจดจำของมนุษย์ล่ะ จะจำได้ทั้งหมดกี่หลัก

ปกติมนุษย์เราจดจำตัวเลขโดยเฉลี่ยสูงสุดที่ 7 หลัก แต่ก็มีคนจำนวนหนึ่งที่ความจำเป็นเลิศและจดจำได้ดี ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้จากหลากเหตุผลดังนี้

ความโดดเด่นเรื่องพันธุกรรม

Rudiger Gamm มนุษย์ที่ได้รับฉายาว่า “เครื่องคิดเลขมนุษย์” เพราะเขาสามารถคำนวณ 87 ยกกำลัง 20 ซึ่งมีคำตอบจำเป็นเลขจำนวน 24 หลัก (188,031,682,201,497,672,618,081) ได้อย่างถูกต้องภายใน 5 นาที จนกลายเป็นอันดับ 5 ของการคิดเลขในใจชิงแชมป์โลก

สกิลการจดจำที่ฝึกฝน

Chao Lu บุรุษผู้จำค่าพายหลังทศนิยม 2 ตำแหน่งได้สูงสุดถึงตำแหน่งที่ 67,890 จนได้ารับการบันทึกชื่อไว้ในกินเนสบุ๊คว่าเป็นผู้ที่จำค่าพายได้มากที่สุดในโลก โดยใช้เวลา 24 ชั่วโมง 4 นาทีเพื่อพูดทุกตำแหน่งนั้น เรื่องนี้เขาเผยเองว่ามีพื้นฐานเทคนิคการจำมาจากการใช้เทคนิคโบราณของชาวจีน

มาถึงตรงนี้หลายคนอาจจะเริ่มสงสัยว่า ถ้าเป็นอย่างนี้แล้วคนญี่ปุ่นจะจำตัวเลขที่เพิ่มขึ้นมาได้อย่างไร งานนี้แม้ชุดตัวเลขใหม่จะยังไม่เผยออกมา แต่เราเชื่อว่าการออกแบบชุดตัวเลขจดจำสำหรับเลขสำคัญอย่างโทรศัพท์ น่าจะมีแพทเทิร์นการจำเป็นค่าตัวเลขที่หลากหลายไร้รูปแบบ 7 ตัว ส่วนเลขหน้าเป็นเลขง่าย ๆ ที่ทุกคนสามารถเข้าใจและจดจำได้

อธิบายง่าย ๆ คือสมมติตัวเลขโทรศัพท์ของเราคือ 084-110-0341 เลข “084” จะเป็นเลขต้นสำหรับหลาย ๆ เลขหมาย ไม่ใช่เลขหมายของเราเลขหมายเดียว ส่วนเลขไร้รูปแบบด้านหลังอย่าง 110-0341 คือ 7 หลักที่เราพร้อมจะจดจำนั่นเอง ดังนั้น เลขทั้ง 14 หลักที่มาใหม่ของญี่ปุ่นน่าจะใช้หลักการเดียวกัน คือการออกชุดตัวเลข 7 หลักด้านหลังที่หลากหลาย ส่วนเลขด้านหน้าน่าจะเป็นเลข 7 หลักที่สามารถจดจำได้ง่าย ๆ คล้าย ๆ กัน

อย่างไรก็ตาม แม้จำนวนอุปกรณ์ IoT จะเพิ่มขึ้นจนล้นเสียตัวเลขโทรศัพท์ตามไม่ทัน แต่เราเชื่อว่าคนใน Generation ใหม่อาจจะไม่ต้องกังวลกับเรื่องนี้มากเท่าสมัยก่อน เพราะเทคโนโลยีวันนี้เริ่มมีระบบแปลงเลขหมายเป็น QR CODE เพื่อให้สะดวกต่อการใช้งาน หรือเปิดช่องทางการสื่อสารอื่นนอกจากเบอร์โทรฯ เป็นการติดต่อผ่านโซเชียลมีเดียอย่าง LINE หรือ MESSENGER แทน

ส่วนฝั่งบ้านเราเองก็ไม่ได้น้อยหน้าเหมือนกัน เพราะอีกสองปีข้างหน้าก็จะครบกำหนดที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ กสทช. เขาเคยแจ้งเรื่องการปรับหมายเลขโทรศัพท์มาแล้วว่าจะให้เพิ่มตัวเลขโทรศัพท์บ้านอีก 1 หลัก จากเดิมที่มี 9 หลักก็จะกลายเป็น 10 หลัก เพื่อนำตัวเลขขึ้นต้นเดิมของโทรศัพท์บ้าน มาใช้เป็นหมายเลขโทรศัพท์มือถือรองรับความต้องการเลขหมายที่เพิ่มขึ้น

ชาว UNLOCKMEN อย่าลืมฝึกจำเลขเพิ่มขึ้นกันด้วยล่ะ

 

SOURCE:  1 / 2 / 3

anonymK
WRITER: anonymK
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line