Life

วิธีรับฟังปัญหาแบบลูกผู้ชาย เลิกพูดปลอบใจว่า “เราเข้าใจดีว่านายรู้สึกยังไง” สักทีเถอะ

By: PSYCAT October 2, 2017

เกิดเป็นลูกผู้ชายแมน ๆ กับเขาก็ใช่ว่าจะไม่มีเรื่องทุกข์ใจ ยิ่งการสูญเสีย ความร้าวรานแหลกสลายแบบผู้ชาย ๆ ในหมู่เพื่อนที่เรารักก็เกิดขึ้นให้เห็นกันอยู่เป็นประจำ วันที่เพื่อนของเราเดินมาปรับทุกข์ เล่าเรื่องสุดเศร้าในชีวิตของพวกเขาให้ฟัง เราปลอบใจเพื่อนแบบไหนกันแน่? แล้วแน่ใจได้อย่างไรว่าวิธีการที่เราปลอบใจเพื่อนไปมันเป็นการปลอบใจที่ถูกต้องแล้ว?

ลองนึกภาพว่าเพื่อนรักของเราเพิ่งสูญเสียพ่อของเขาไปจากอุบัติเหตุรถยนต์ เมื่อเพื่อนกำลังพรรณนาถึงความเจ็บปวดที่เขามี เราอาจจะตบบ่าเขาเบา ๆ แล้วเริ่มบอกว่า “เราเข้าใจดีว่านายรู้สึกยังไง” พ่อเราตายตั้งแต่เราสามขวบ เราเติบโตมาแบบไม่มีพ่อ มันเป็นการเติบโตแบบโดดเดี่ยว แถมโดนล้อจนเราไม่อยากมีชีวิตอยู่เลย แต่เราก็ฝ่าฟันมาได้ถึงวันนี้ ฝ่าฟันความเจ็บปวดทั้งหมดที่มีและจากการไม่มีพ่อในชีวิต ดังนั้นเราโคตรเข้าใจเลยว่านายรู้สึกยังไง

อ่านมาถึงตรงนี้ก็ยังไม่รู้สึกว่ามีอะไรผิดปกติใช่ไหมล่ะ? เพราะหลายครั้งเรา คุณ คนข้าง ๆ หรือใครก็ตามก็ปลอบใจคนสูญเสียด้วยวิธีนี้ เราพยายามบอกคนที่กำลังสูญเสียและเจ็บปวดว่าเราเข้าใจเขาดี เข้าใจมาก ๆ ว่าเขารู้สึกยังไง แถมไม่ได้บอกว่าเข้าใจเปล่า ๆ เรายังยกประสบการณ์สุดเจ็บปวดของเราที่ใกล้เคียงกับของเขามาเล่าให้เขาฟังเพื่อตอกย้ำให้เขามั่นใจว่าเขาไม่ได้เจ็บปวดลำพัง แถมบางทีเราสิ ที่เจ็บปวดยิ่งกว่าเขา ยิ่งเขาฟังเรื่องคนที่แย่กว่าก็ต้องรู้สึกดีสิ

UNLOCKMEN ก็อยากบอกว่าใช่ คุณคิดถูกแล้ว การบอกว่า “เราเข้าใจดีว่านายรู้สึกยังไง” ช่วยปลอบใจคนเจ็บปวดได้จริง แต่ที่เราต้องบอกคือไม่ มันไม่จริง มันเป็นความเข้าใจผิด!

เราไม่สามารถทำให้ใครรู้สึกดีขึ้นได้ด้วยการบอกว่าเข้าใจเขา แล้วยกเรื่องราวโคตรเจ็บปวดของเรามาบลัฟกลับ เพื่อนเราจะยิ่งรู้สึกแย่พร้อมเกิดคำถามกึ่งหงุดหงิดว่า อ้าว ตกลงกูไม่ควรเสียใจที่พ่อกูตายหรอเนี่ย เพราะคนที่ไม่มีพ่อตั้งแต่สามขวบยังมีชีวิตอยู่ได้ แถมยิ่งรู้สึกแย่เข้าไปใหญ่ว่าคนปลอบใจผ่านช่วงเวลาแย่ ๆ มาได้ตั้งสิบ ๆ ปีในการไม่มีพ่อ ทำไมแค่นี้เขาถึงมามัวฟูมฟาย แถมแทนที่เขาจะได้ระบายความทุกข์ กลับต้องมาฟังเรื่องราวทุกข์ยากเป็นสองเท่าของคนที่พยายามปลอบใจเข้าไปอีก

เห็นหรือยังว่าการพยายามปลอบใจด้วยการบอกว่าเข้าใจ มันไม่ได้ให้ผลอย่างที่เราเข้าใจเลย

Charles Derber นักสังคมวิทยาเรียกลักษณะการพูดคุยปลอบใจแบบนี้ว่า “conversational narcissism” ซึ่งเป็นอาการหลงตัวเองด้วยการสนทนาพูดคุย โดยมักเกิดขึ้นอย่างไม่ตั้งใจ เป็นความต้องการที่จะขโมยซีนการสนทนามาเป็นของตัวเอง เพื่อให้ตัวเองได้พูดมากกว่า และเป็นการเบี่ยงเบนความสนใจมาที่ตัวคนพูดเอง

Charles Derber อธิบายเพิ่มเติมว่าการโต้ตอบบทสนทนาแบ่งเป็น 2 แบบคือ แบบ shift response และ support response การตอบบทสนทนาแบบ shift response คือการดึงความสนใจกลับมาที่ตัวเอง แต่การตอบแบบ support response คือการอยู่ข้าง ๆ คนที่เรากำลังรับฟัง การสนับสนุนอย่างจริงจัง

ถ้ายังนึกไม่ออกเราจะลองยกตัวอย่างให้ดู

shift response

A: เฮ้ย ช่วงนี้งานกูโคตรยุ่งเลยว่ะ เหนื่อยมาก
B: เออ โคตรเข้าใจเลย กูก็ยุ่งเหมือนกัน ไหนจะงานนั้น ไหนจะงานนี้ (เล่าเรื่องตัวเอง)

support response

A: เฮ้ย ช่วงนี้งานกูโคตรยุ่งเลยว่ะ เหนื่อยมาก
B: ทำไมถึงยุ่ง? มีอะไรต้องทำให้เสร็จบ้าง เล่าให้กูฟังได้นะ

การตอบ การปลอบใจ แบบ เฮ้ย เข้าใจมึงนะ แต่กูหนักกว่าว่ะ แล้วก็สาธยายเรื่องตัวเองยาว ๆ แบบที่เราเข้าใจมาตลอดว่าดีนับเป็น conversational narcissism อย่างหนึ่ง เพราะแทนที่จะให้ความรู้สึกว่าเราซัพพอร์ตเขา แต่มันกลับดึงความสนใจและการอยากได้การซัพพอร์ตที่มากกว่ามาที่ตัวเราเอง

ในขณะที่ support response จะเป็นการกระตุ้นให้คนที่กำลังเจ็บปวดเหนื่อยล้ามีปัญหาในชีวิตเล่าเรื่องของตัวเองออกมาอย่างต่อเนื่อง มันทำให้เขารู้สึกว่าเราสนใจเรื่องของเขาอย่างจริงจังและตั้งใจฟังเขามากกว่าที่จะอยากพูดเรื่องของเราเพื่อให้เรื่องของเขารีบ ๆ จบไป

ไม่น่าแปลกใจเลยว่าการบอกเพื่อนว่า “เราเข้าใจดีว่านายรู้สึกยังไง” แล้วต่อด้วยประสบการณ์ที่เราคิดว่าจะทำให้เพื่อนรู้สึกว่ามีคนเข้าใจมันไม่ใช่การรับฟังที่ดี แถมเป็นการดึงความสนใจมาที่ตัวเราจนเรากลายเป็นคนหลงตัวเองประเภทหนึ่งแบบไม่ทันรู้ตัว

แทนที่จะตบบ่าเพื่อนแล้วบอกว่าเข้าใจ เปลี่ยนเป็นการนั่งข้าง ๆ รับฟังถามไถ่ให้เขาได้เล่า ได้ระบายอะไรที่อยู่ในใจออกมาให้หมด นั่นนับเป็นการรับฟังแบบแมน ๆ ที่สุดเท่าที่ลูกผู้ชายคนหนึ่งจะให้เพื่อนได้แล้ว ไม่เชื่อครั้งหน้าลองดูสิ

SOURCE

PSYCAT
WRITER: PSYCAT
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line