Life

ชอบความเป๊ะหรือนอยด์ความรก? MARIE KONDO VS OCD ความแตกต่างที่ซีรีส์ไม่ได้บอกไว้

By: anonymK February 8, 2019

ครั้งสุดท้ายที่เราเอาจริงกับการจัดบ้านมันเมื่อไหร่นะ?

จู่ ๆ เราก็ตั้งคำถามตัวเองหลังจากเปิด Netflix เพลิน ๆ แล้วไปเจอซีรีส์สอนจัดบ้านของ Marie Kondo สาวญี่ปุ่นผู้หลงใหลการจัดระเบียบตั้งแต่ 5 ขวบ ตอนเรียนชั้นประถมก็ชอบจัดหนังสือในห้องสมุดมากกว่าไปวิ่งเล่น ถึงจะน่าเหลือเชื่อแต่นั่นแหละ มีสาวคุณสมบัติเพียบพร้อมแบบนี้อยู่จริง ๆ

ความมหัศจรรย์ของข้าวของในบ้านที่โดนเคลียร์เสียเรียบเนี้ยบนิ้งในระยะเวลาสั้น ๆ ทั้งที่ก่อนหน้านั้นถูกดองให้รกมาเป็นสิบ ๆ ปี แถมพอเอาของทุกอย่างฉบับ before มากองสุมรวม ๆ ซ้อนกันแล้ว มันยังสูงกว่าตัวเธอ หรือครอบครัวที่เธอไปแก้ปัญหาให้เสียอีก เป็นจุดที่ทำให้เรารู้สึกว่า เอาวะ! เขาทำได้เราก็ต้องทำได้ แต่เบื้องหลังความเรียบร้อย กองผ้าผ่อนที่พับอย่างดี ของที่จัดวางอย่างเป็นหมวดหมู่ก็ทำให้เผลอไปคิดถึงอีกพฤติกรรมนึงที่เราเคยได้ยินอย่างโรค OCD (โรคย้ำคิดย้ำทำ) ประเภทที่ว่าเป็นคนระเบียบจัดแบบสุด ๆ ตลอดเวลาด้วย

แล้ว Marie Kondo เป็น OCD หรือเปล่า? หรือการเป็น OCD มันคืออะไรกันแน่ เกี่ยวข้องกับความชื่นชอบจัดบ้านไหม ใครที่สงสัยเหมือนเราลองตามไปดูพร้อมกัน แต่ถ้ามีคำตอบในใจอยู่แล้วก็อย่าพลาด มาเช็กให้ชัวร์อีกทีว่าเหมือนกันกับที่คิดไหม

WHO’S MARIE KONDO?

Marie Kondo คือสาวแดนปลาดิบที่รู้ตัวว่าตัวเองหลงใหลศาสตร์แห่งการจัดระเบียบ ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า ข้าวของทุกอย่าง ว่างเป็นต้องจัด แถมไม่ได้จัดแบบงู ๆ ปลา ๆ แต่ศึกษาจริงจังด้วย เพราะจากประวัติที่เธอเคยให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อบอกว่า วิธีที่เธอใช้อยู่นำมาจากหนังสือสอนการจัดบ้าน ซึ่งเธอชื่นชอบและเก็บสะสมเอาไว้ เรียกได้ว่าเรียนจากหนังสือเซียนการจัดบ้านหลายเล่มเยอะจัดถึงขั้นที่กล้าบอกว่า แทบไม่มีหนังสือจัดบ้านเล่มไหนในญี่ปุ่นที่ไม่เคยผ่านสายตาของเธอ และสุดท้ายแพสชันเรื่องนี้ก็ทำให้เธอได้กลายเป็นกูรูการจัดบ้านไม่รู้ตัว ไม่เพียงเท่านั้น ขณะที่ยังเรียนอยู่ Marie ในวัย 19 ปีก็เปิดธุรกิจที่ปรึกษาการจัดบ้านเป็นของตัวเองขึ้นด้วย

konmari.com

แต่จุดเริ่มต้นความโด่งดังของเธอไม่ได้มาจาก steaming บน Netflix ที่เราดู ความจริง Marie ดังมาจากการเขียนหนังสือ How to สร้างแรงบันดาลใจการจัดบ้านชื่อ “The Life-Changing Magic of Tidying Up” หรือที่นำมาแปลเป็นไทยในชื่อ “ชีวิตดีขึ้นทุก ๆ ด้านด้วยการจัดบ้านแค่ครั้งเดียว” หนังสือเล่มเล็ก ๆ ที่ได้รับการแปลไปหลายภาษาทั่วโลก เปลี่ยนคุณภาพชีวิตของทุกคนที่อ่านมัน และที่สำคัญที่สุดยังเปลี่ยนคุณภาพชีวิตของคนเขียนด้วย เพราะมันทำให้เธอกลายเป็นคนทรงอิทธิพลติดอันดับ Forbes ด้วยเหตุผลเหลือเชื่ออย่างการ “จัดบ้าน” กับอายุเพียง 34 ในวันนี้

WHAT’S OCD?

แล้ว OCD ล่ะคืออะไร? OCD เป็นอาการทางจิตเวชของโรคย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive Compulsive Disorder) หรือความกังวลที่ทำให้เราทำอะไรซ้ำ ๆ อยู่ตลอดเวลา เหมือนโดนจับรีสตาร์ทให้ทำลูปเดิมไม่สิ้นสุด ซึ่งมีหลายพฤติกรรมตั้งแต่การเดินไปล้างมือบ่อย ๆ พูดขอโทษซ้ำ ๆ จับลูกบิดกุญแจบ้านบ่อย ๆ เช็กว่าล็อกแน่นหรือยังจนไปทำงานสาย ไปจนถึงความเป๊ะที่ต้องจัดวางสิ่งของให้เรียบร้อยตลอดเวลา ชนิดที่ไม่ว่าจะมีใครมาจับขยับเปลี่ยนที่หรือต่อให้ไม่มี ความกังวลนี้ก็ไม่หาย เราก็ต้องไปนั่งจัดของที่วางไว้พวกนั้นเหมือนเดิม

กรณีที่เราสงสัยตัวเองว่าเอ๊ะ เราจะเป็น OCD หรือเปล่า เพราะเวลาเพื่อน พี่น้อง หรือเพื่อนร่วมงานมาจุ้นจ้านโต๊ะเราหรือของบนโต๊ะ เราก็นอยด์จนต้องเอาไม้บรรทัดมาวัดองศาให้เป๊ะเท่าเดิมตลอด หรือขยับมันแล้วขยับมันอีก บอกเลยว่า OCD มันไม่ได้เป็นง่ายขนาดนั้น และถ้าอยากจะแยกง่าย ๆ ลองเช็กตัวเองจากขั้นตอนข้างล่างได้ว่า คุณมีอาการเหล่านี้บ้างไหม

OCD คือความกังวลที่ไม่จบสิ้น ปกติถ้าเราพฤติกรรมบางอย่างซ้ำ ๆ เป็นเวลานานจนรบกวนชีวิต ลองย้อนกลับไปดูความรู้สึกต้นสายปลายเหตุว่า พอเราทำแบบนั้นแล้วแก้ความรู้สึกกังวลไหม เช่น เมื่อเรารู้สึกว่าของที่วางอยู่มันวางอยู่ไม่ถูกที่ถูกทางจนเราต้องเก็บ พอเราไปเก็บแล้วความรู้สึกกังวลมันหายไปไหม หรือต่อให้ไม่มีใครไปยุ่งเราก็ยังกังวลไม่หายสักที จนสุดท้ายก็ต้องเข้าไปจัดมันอยู่ดี

ถ้ามันแก้ไขได้หมด สิ่งที่คุณเป็นยังไม่ใช่ OCD เพราะคุณไม่ได้มีอาการ “ย้ำคิด” จากการไม่สบายใจที่ของอยู่ผิดที่ตลอดเวลา จนทำให้ต้อง “ย้ำทำ” ด้วยการจัดองศามันเสมอแม้จะอยู่ในเซฟที่ไม่มีใครมาแตะต้องมันได้ก็ตามที

KONMARI ไม่ใช่ OCD

konmari.com

อ่านมาถึงตรงนี้หลายคนคงพอจะเข้าใจและมองออกแล้วว่าภูมิหลังกับพฤติกรรมของสาวผู้เรียบร้อยที่เราเห็น มันคนละขั้วกับการเป็นโรค OCD อย่างชัดเจน จากเหตุผล 3 ข้อต่อไปนี้

รกไม่เครียด แต่เป็นระเบียบไว้ดีกว่า

ถือเป็นข้อแรกที่เห็นได้ชัดเจน เราจะมองเห็นเสมอว่า Marie ไม่ได้แค่เจอของรกแล้วยิ้มหวานเท่านั้น แต่ยังแทรกความรู้สึกขอบคุณข้าวของ ขอบคุณบ้านหลังที่เราอาศัยด้วย ซึ่งเป็นการถ่ายทอดความรู้สึกด้านบวก เรียกง่าย ๆ ว่าความรู้สึกมันต่างกันโดยสิ้นเชิงกับ OCD ที่เป็นความกังวลหรือความรู้สึกลบ เรื่องนี้เห็นได้ชัดจากเวลาเริ่มต้นจัดของทุกครั้ง สิ่งที่ Marie จะทำเสมอจนเหมือนเป็นพิธีกรรมคือการนั่งกลางบ้านแล้วกล่าวขอบคุณบ้าน หรือกล่าวขอบคุณของก่อนจะทิ้งมัน

มีการสำรวจจิตใจและคลายปม

OCD เหมือนการเจอปมใหญ่ ๆ ที่ไม่มีวันสางออก แต่การจัดระเบียบข้าวของแบบที่ Marie ทำมันเริ่มจากการสำรวจความรู้สึกจากข้าวของชิ้นนั้นว่า ของชิ้นนี้ยัง spark joy หรือมอบความสุขให้เราอยู่ไหม ถ้าไม่ก็ทิ้งไป ถือเป็นหนึ่งในวิธีตัดใจทิ้งที่ลบความรู้สึกผิดหรือความเสียดายที่มีต่อของชิ้นนั้น ที่สำคัญมันยังเป็นการแก้ความรกระยะยาวจากการลำดับ mindset ที่มีต่อข้าวของในบ้านด้วย ซึ่งต่างจาก OCD ที่ว่าต่อให้ของเป็นระเบียบขนาดไหน ให้ละเอียดกว่าที่ Marie จัดเลย ความยุ่งเหยิงในใจก็คาอยู่เหมือนเดิม

ระเบียบที่มี = คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ระเบียบแบบ Marie Kondo คือการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เหมือนรถที่พอเติมเชื้อเพลิงเป็นความระเบียบเข้าไปก็เดินเครื่องได้ดี แต่ระเบียบแบบ OCD เหมือนรถติดหล่ม เติมเชื้อเพลิงความเป็นระเบียบแบบนี้เข้าไปเท่าไหร่มันก็ค้างอยู่กับที่ไม่ไปไหน แถมทำให้เสียเวลาและความรู้สึกด้วย เรียกได้ว่าถึงจะเปรียบเทียบกันในเชิงปริมาณได้ เชิงคุณภาพก็ต่างกันลิบลับทีเดียว

ถ้าเช็กทั้งหมดแล้ว Marie ไม่เป็น แต่เราหรือคนใกล้ชิดนี่แหละที่มีสัญญาณใบ้ว่าน่าจะมีอาการของ OCD จะทำยังไงดี? เรื่องนี้ UNLOCKMEN บอกได้ว่าไม่ต้องกังวล อย่าเพิ่งไปแพนิคแต่ให้เริ่มจากการลองดูก่อนว่าสิ่งที่เราเป็นอยู่ มันสร้างอุปสรรคการใช้ชีวิตไหม ถ้ามากถึงขั้นจัดการไม่ได้หรือทุกข์ใจจนอยากหาทางแก้ การพบแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญในปัจจุบันก็ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด เพราะแพทย์จะช่วยคลายปมในใจ หรือจ่ายยาที่เหมาะสมต่อการปรับสารเคมีในสมอง และเลือกวิธีการเสาะหาต้นตอเพื่อแก้ไข

 

จัดบ้านสร้างความทุกข์ทรมานให้พบแพทย์จ่ายยา แต่จัดว่าขี้เกียจเฉย ๆ จงจ่ายเงินจ้างแม่บ้านให้เก็บแทน #ปรัชญาเพื่อคนบ้านรกสุขภาพจิตดี

 

SOURCE: 1 / 2 / 3

anonymK
WRITER: anonymK
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line