Business

โหดไว้สิดี? อีกมุมปัญหาจากเจ้านายสายโหด ที่ทำลายแรงบันดาลใจลูกน้องจนองค์กรสิ้นท่า

By: anonymK January 3, 2019

กลับมาตามสัญญาว่าเราจะนำเสนออีกมุมหนึ่งของเจ้านายโหดให้ได้รู้ หลังจากบอกข้อดีของ CEO ระดับโลกที่อยู่ในมุมมืดไปแล้วใน Episode แรก คราวนี้ถึงเวลามาเสนอเรื่องพลังลบที่แผ่ออกมากันบ้าง ซึ่งบอกตรง ๆ เลยว่ามันส่งผลกับพนักงานมากกว่าความรู้สึกไม่อยากตื่นไปทำงานหรือนอนไม่หลับ

ลองมาดูกันของแถมที่ได้จากการเติบโตหลังทำงานกับเจ้านายที่พร้อมด่ากราด ฉุนเฉียว ทั้ง 3 ข้อต่อไปนี้ แล้วถามตัวเองอีกคร้ังว่าคุณพร้อมจะแลกมันหรือเปล่า

 

ปัญหาสุขภาพ

ทำงานหนักไม่เคยทำให้ใครตาย ประโยคนี้มันไม่จริง เรื่องนี้พวกเรารู้ดี และทาง UNLOCKMEN ก็เคยนำเสนอประเด็นนี้ไปแล้วผ่านบทความเรื่อง รู้จักโรค ‘ขยันมากเกินไป’ สาเหตุ อาการและทางออกก่อนที่เราจะกลายเป็นโรคบ้างานเรื้อรัง ขนาดคนที่ทำเขาทุ่มเทเพราะไม่ได้มีใครบังคับเขายังเจอผลกระทบเรื่องสุขภาพถึงตาย ดังนั้น คนที่โดนบังคับเพราะความกลัวอำนาจจะยิ่งเกิดความรู้สึกกดดันยิ่งกว่า เรียกได้ว่าโดนทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตพร้อมกัน

เรื่องนี้เราไม่ได้เอามาพูดปากเปล่า แต่ยืนยันได้จากเหตุการณ์ของ Amazon ที่มีข่าวช่วงกลางปี 2561 ที่เปิดเผยข้อเท็จจริงว่ารถ Ambulance เข้าออกโกดังบ่อยถึง 600 ครั้งในระยะเวลา 3 ปี งานนี้แม้จะไม่ได้บอกรายละเอียดชัดว่าอาการบาดเจ็บนั้นมาจากอะไรบ้างแต่เราเชื่อว่าการโหมงานต้องเป็นหนึ่งในนั้นอย่างแน่นอน เพราะสหภาพแรงงานเขาออกมาพูดเลยว่า Amazon เป็นองค์กรที่ดูแลคนไม่ต่างจากหุ่นยนต์

นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยของมหาวิทยาลัยแห่งรัฐโอไฮโอที่สนับสนุนข้อมูลนี้ด้วยการกล่าวว่าเหยื่อจากอารมณ์เจ้านายมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคเครียด ซึมเศร้า นอนไม่หลับ ความดันโลหิตสูง ฯลฯ เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องคอขาดบาดตายถึงชีวิต

 

ซึมซับนิสัยแย่จนเป็นคนแย่ ๆ

พฤติกรรมแย่ ๆ ของเจ้านายที่เราไม่อยากเป็น เราจะกลายเป็นอย่างนั้น คล้ายว่าเข้าเมืองตาหลิ่วต้องหลิ่วตาตาม เรื่องนี้มาจากงานวิจัยของ Manchester Business School ว่าด้วยเรื่องผลกระทบจากการทำงานร่วมกับเจ้านายที่เป็น Toxic boss ระบุว่าหากเรากับเขาร่วมงานกันแล้วจะทำให้เราซึมซับนิสัยการวิพากย์วิจารณ์คนอื่นไปด้วย รวมถึงลอกเลียนการแสดงออกแย่ ๆ ตามโดยไม่รู้ตัวแล้วนำไปใช้กับคนใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนร่วมงานหรือคนในครอบครัว

 

ต่อมความคิดสร้างสรรค์ฝ่อ

แน่นอนว่ามีพระเดชแต่ไม่มีพระคุณ มันทำให้จิตใจแย่อยู่แล้ว แต่เรื่องที่หลายคนไม่คาดคิดคือมันส่งผลกระทบกับศักยภาพการทำงานด้วย เพราะเมื่อเจอพฤติกรรมที่แย่ติดต่อกันสมองของเราจะหาทุกวิถีทางเพื่อเอาตัวรอดจากสถานการณ์เหล่านั้น และเมื่อโฟกัสอยู่ที่การ “ไม่” ทำอะไรผิดพลาดจึงเป็นธรรมดาที่ความคิดสร้างสรรค์จะฝ่อตาม จบงานแบบให้ผ่านพ้นไปวัน ๆ หนึ่งเท่านั้น

 

NICE CEOs, GREAT WORK!

แล้ว CEO ที่ดีล่ะมีอยู่ไหม คำตอบคือ “มีอย่างแน่นอน” เพื่อสนับสนุนว่าอีกด้านของความมืดมันอยู่จริง เราขอยกตัวอย่างของ CEO ระดับโลกที่ไม่ต้องเฮี้ยบจนลูกน้องต้องผวาแต่ยังคงทำงานได้ดี 2 คนต่อไปนี้ซึ่งนำมาจากตัวอย่างที่ โรเบิร์ต ไอ. ซัตตัน กล่าวไว้ในหนังสือ The Asshole Survival Guide หรือ “ศิลปะการอยู่ร่วมกับคนเฮงซวย”

Tim Cook : บุรุษผู้กุมบังเหียนและใจของลูกน้องชาว Apple

จะไม่ยกคนนี้ขึ้นมาเป็นคู่เทียบคงไม่ได้ เพราะเจ้านายสายโหดอย่าง Steve Jobs ศาสดา apple เราเคยพูดถึงไปแล้ว ส่วนตอนนี้ Tim Cook คือ CEO ปัจจุบันที่เข้ามารับไม้ต่อและนำทัพ Apple พนักงานหลายคนนับถือและยินดีอยู่ใต้การปกครองของเขาโดยสมัครใจ เนื่องจากเขามีนิสัยที่ต่างจาก Jobs โดยสิ้นเชิง เขาสุขุม ทำงานหนัก มาเช้ากลับทีหลัง แต่ยังบาลานซ์เรื่องอื่นอย่างการใช้ชีวิตและรักษาสุขภาพได้เป็นอย่างดี ที่สำคัญยังรับฟังความเห็นของคนอื่นและไว้ใจผู้ที่อยู่รอบข้างอย่างมาก เมื่อความสมบูรณ์แบบมารวมตัวกันจึงไม่แปลกที่สิ่งนี้จะปลุกแรงบันดาลใจคนทำงานให้รู้สึกขยันและทุ่มเทยิ่งขึ้น

 

Reed Hastings : วิศวกรเจ้าพ่อ Netflix ที่รักษาครอบครัวและอุดมการณ์ได้ครบถ้วน

เขาคือผู้นำวงการภาพยนตร์สตรีมอย่าง Netflix ที่วันนี้ทั่วโลกต้องเคยเห็นและรู้จัก ความเก่งกาจของเขาในฐานะนักเปลี่ยนนิยามความบันเทิงแบบเดิมจากการเช่าหนังตามร้านมาเป็นออนไลน์ที่เก็บค่าบริการได้นั้นเบื้องหลังยังมีบุคลิกการใช้ชีวิตที่น่าชื่นชมด้วย ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากทัศนคติที่ไม่ได้มั่นใจตัวเองด้านการบริหารมากเกินไปเพราะเดิมเขาคือนักวิศวกรขนานแท้มาก่อน ความเป็นคนถ่อมตัวและเป็นน้ำไม่เต็มแก้วของพบได้จากแง่มุมหนึ่งในประวัติส่วนตัวของของเขาครั้งดำรงตำแหน่งผู้บริหารที่บริษัท Pure Software หนึ่งในบริษัทที่เขาเคยตั้งขึ้นเองก่อนมาทำ Netflix โดยเริ่มต้นจากคน 10 คน จนวันหนึ่งขยายทีมงานเป็น 600 คน

“ผมสูญเสียความมั่นใจ และพยายามจะไล่ตัวเองออกจากตำแหน่ง CEO ถึงสองรอบ”

นอกจากเรื่อง ความอ่อนน้อมที่ทำให้เขาพร้อมเรียนรู้และเติบโตจากการบริหาร Pure Software (ไม่มีกรรมการคนไหนยอมให้เขาออก) จนกลายเป็นนักบริหารที่ดีที่สร้าง Netflix ขึ้นภายหลังแล้ว ด้านอื่น ๆ อย่างครอบครัวเขาก็ยังบริหารได้ดีด้วยพร้อมทั้งอุทิศตัวช่วยเหลือสังคมที่ยังคงทำอย่างสม่ำเสมอ

การเป็นลูกน้องทำงานที่รับผิดชอบให้ดีเราก็ว่าเป็นเรื่องยากแล้ว แต่การทำหน้าที่บริหารเป็นเจ้านายคนนั้นถือเป็นมิติที่ลึกขึ้นกว่าเดิมเพราะต้องใช้ศาสตร์และศิลป์ ถนอมน้ำใจ ให้พลัง และตักเตือนไม่ให้หละหลวมในคราวเดียวกันซึ่งถือเป็นเรื่องยาก เมื่อเห็นทั้งแง่บวกและลบทั้งหมดแล้ว คงถึงเวลาที่ชาว UNLOCKMEN ต้องเลือกตัดสินใจปรับพฤติกรรมให้เข้ากับนิสัยและองค์กรของตัวเอง

ถ้าคุณคือหัวหน้าป้ายแดงในปีนี้ การเรียนรู้เพื่อตามรอย CEO ที่คุณปลื้มและไม่ปลื้มน่าจะช่วยคุณได้ แต่ถ้าคุณเป็นลูกน้องการเก็บเกี่ยวสิ่งที่ดีจากหัวหน้าทั้ง 2 ประเภทน่าจะเป็นบททดสอบที่น่าสนใจช่วยให้คุณเอาตัวรอดและดึงความสามารถออกมาได้มากในรูปแบบที่เหมาะสม

 

SOURCE: 1 / 2 / 3 / 4 / 5

anonymK
WRITER: anonymK
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line