World

คนเหงาไม่เศร้าแล้ว รัฐบาลอังกฤษตั้ง “รัฐมนตรีดูแลความเหงา”แบ่งเบาความเหงาประชาชน

By: PSYCAT February 27, 2018

ถ้าแต่ละประเทศมีกระทรวงและรัฐมนตรีดูแลสิ่งที่โคตรจะสำคัญสำหรับประเทศตัวเอง ไม่ว่าจะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือจะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ แล้วทำไมจะมี “รัฐมนตรีความเหงา” (Minister for loneliness) ด้วยไม่ได้ โดยรัฐมนตรีกำกับดูแลปัญหาความเหงาของประชาชน เป็นรัฐมนตรีของรัฐบาลอังกฤษ เชื่อว่าผู้ชายสายหว่องสายเหงาชาว UNLOCKMEN ทั้งหลายคงกึ่งดีใจกึ่งขำ ๆ ว่า WHAT THE F*** ความเหงามันต้องสำคัญขนาดนั้นเลยเหรอวะ? จะสำคัญขนาดไหน UNLOCKMEN จะมาไขปริศนาให้

Tracey Crouch คือรัฐมนตรีคนแรกที่ต้องรับมือกับการแพร่ระบาดของความเหงา (อ่านแล้วรู้สึกเหมือนอยู่ในนิยายมุราคามิอย่างไรอย่างนั้น) โดยรัฐบาลอังกฤษเขาก็ไม่ได้แต่งตั้งรัฐมนตรีกำกับดูแลปัญหาความเหงาขึ้นมาเพื่อความคูล ๆ เท่ ๆ ให้เป็นข่าวดังไปทั่วโลกเล่น ๆ เท่านั้น เพราะความเหงากลายเป็นปัญหาสุดจริงจังในสหราชอาณาจักรเลยทีเดียว

ปัญหาความเหงาส่งผลกระทบต่อประชากรกว่า 9 ล้านคนในสหราชอาณาจักร ผู้สูงอายุราว ๆ 2 แสนคนไม่ได้คุยกับญาติหรือเพื่อนตัวเองมากกว่า 1 เดือน! และคาดว่าครึ่งหนึ่งของคนที่อายุตั้งแต่ 75 ปีขึ้นไปประมาณ 2 ล้านคนต้องอาศัยอยู่ตัวคนเดียว

ปัญหาความเหงาแพร่ระบาดไม่ได้จบแค่เพียงผู้สูงอายุเท่านั้น เพราะ 85% ของวัยหนุ่มสาวและผู้ใหญ่ต่างอยู่อย่างโดดเดี่ยว บางคนไม่มีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมเลยเป็นวัน ๆ ไปจนถึงเป็นอาทิตย์ หรือในสหรัฐอเมริกาเองหนึ่งในสามของพลเมืองก็อยู่อย่างโดดเดี่ยว

Theresa May นายกรัฐมนตรีกล่าวในแถลงการณ์ไว้น่าสนใจว่า “สำหรับคนจำนวนมากความเหงาเป็นความจริงอันน่าเศร้าสำหรับชีวิตในยุคโมเดิร์น ฉันต้องการเผชิญหน้ากับความท้าทายนี้ในสังคมของเรา และสำหรับเราทุกคนที่จะดำเนินการแก้ไขปัญหาความเหงาที่ผู้สูงอายุต้องเผชิญ หรือคนที่เราแคร์อยู่ต้องเผชิญ ผู้คนเหล่านั้นที่ขาดแคลนความรัก ผู้คนเหล่านั้นที่ไม่มีใครให้พูดด้วย ไม่มีใครให้แบ่งปันความคิดและประสบการณ์ที่พวกเขามีหรือประสบมา”

การวิจัยจำนวนมากก่อนหน้านี้แสดงถึงภัยอันตรายของความเหงา ความโดดเดี่ยวที่ไม่ใช่เรื่องที่จะเอามาล้อกันเล่น ๆ ได้อีกต่อไป โดยงานวิจัยชิ้นหนึ่งแสดงให้เห็นว่าความเหงานั้นอันตรายยิ่งกว่าการสูบบุหรี่ 15 มวนต่อวันหรือโรคอ้วนเสียอีก รวมถึงงานวิจัยที่ชี้ให้เห็นว่าคนเหงาเมื่อป่วยนั้นจะมีอาการหนักและร้ายแรงกว่าคนที่ไม่เหงา

ไม่เพียงเท่านั้นความรู้สึกโดดเดี่ยวทางสังคมยังนำไปสู่ปัญหาสุขภาพอย่างปัญหาทางจิต หรือปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ร่วมด้วย โดยเฉพาะหนุ่มสาวที่ออกมาใช้ชีวิตแยกออกจากครอบครัวที่แม้จะมีอิสรภาพในหลาย ๆ ด้านมากขึ้น แต่ก็ต้องรับมือกับความเหงาที่เดินทางมาหาเรามากขึ้นเช่นกัน

การแต่งตั้งรัฐมนตรีกำกับดูแลปัญหาความเหงาของประชาชนครั้งนี้จึงเป็นการเล็งเห็นปัญหาของประชาชนที่น่าชื่นชม UNLOCKMEN ก็ได้แต่หวังว่าผู้ปกครองในไทยจะให้ความสำคัญกับทุกรายละเอียดเล็ก ๆ เช่นนี้ ไม่แพ้กับที่มองปัญหาใหญ่ ๆ ของประเทศบ้างก็คงจะดีไม่น้อย

SOURCE

PSYCAT
WRITER: PSYCAT
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line