Life

เคยหยอดเหรียญโทรหาใครสักคนไหม? “ตู้โทรศัพท์สาธารณะ”เสียงจากข้างทางที่เราหลงลืม

By: PSYCAT July 24, 2018

คุณโทรหาใครครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ ? นี่ไม่ใช่คำถามที่ตอบยาก เราอาจเพิ่งโทรหาใครบางคนเมื่อสัปดาห์ก่อน วันก่อน ชั่วโมงก่อน หรือไม่กี่นาทีก่อนนี่เอง

คุณโทรหาใครด้วยตู้โทรศัพท์สาธารณะครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ ? คำถามนี้จะเริ่มตอบยากขึ้นมา เราอาจนึกถึงตอนที่เราอายุน้อยกว่านี้ ตอนที่เราแลกเหรียญเตรียมไว้เพื่อแอบแม่มาโทรหาใครสักคน หรือตอนที่ต้องวิ่งหาตู้โทรศัพท์เพื่อบอกเรื่องด่วนกับใครบางคน แต่เราอาจนึกไม่ออกเลยด้วยซ้ำว่าเราโทรหาใครด้วยตู้โทรศัพท์ครั้งสุดท้ายตอนไหนกัน

เผลอ ๆ เราอาจจำไม่ได้แล้วด้วยซ้ำว่าเราเห็นโทรศัพท์สาธารณะครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ ? เราได้หันไปมองมันด้วยความตื่นเต้นอย่างที่เคยไหม ?  UNLOCKMEN อยากพาคุณไปเจอหน้าโทรศัพท์สาธารณะเพื่อนเก่าที่วันนี้เราอาจเคยเดินผ่านไปโดยไม่หันมอง ลองมองเพื่อนเก่าแบบใหม่ในวันนี้ อาจมีบางอย่างที่มันกำลังสื่อสารกับเราอยู่

ย้อนกลับไปในยุคที่เราจีบสาวสักคน แล้วต้องหาตู้โทรศัพท์ว่าง ๆ หยอดเหรียญโทรหาเธอได้นาน ๆ แบบไม่มีใครกวนได้สักตู้นี่มันเหมือนสวรรค์จริง ๆ แม้วันนี้เรามีมือถือแล้ว จะคุยกับใคร คุยที่ไหนก็ได้ แถมไม่มีใครมาต่อคิวใช้ต่อ แต่บางครั้งการได้เห็นตู้โทรศัพท์โล่ง ๆ ก็ชวนให้ความทรงจำเก่า ๆ ย้อนกลับเข้ามา

วันนี้ตู้โทรศัพท์สาธารณะโล่ง ๆ ไม่มีใครต่อแถวอีกแล้ว แถมส่วนใหญ่ซ่อนตัวอยู่ตามใต้สะพานร้างไร้ ไม่มีผู้คนเดินผ่าน หรือถึงเดินผ่านก็ไม่ทันสังเกตด้วยซ้ำ แล้วคุณล่ะ เคยสังเกตไหม ?

ตู้โทรศัพท์บางตู้กลายเป็นพื้นที่โฆษณาจำเป็น หูโทรศัพท์ไม่มีสาย ถูกตัดขาดจากการเป็นตู้โทรศัพท์แบบสิ้นเชิง รอบตู้มีป้ายโฆษณาสารพัดชนิดตั้งแต่รับสมัครงานไปยันให้กู้เงินราคาถูก ร่องรอยการติดแปะแล้วถูกลอก ก่อนจะถูกติดซ้ำวนใหม่ไม่รู้จบ กลายเป็นภาพศิลปะเว้าแหว่งไม่สมบูรณ์ที่เราเชื่อว่าถ้าคุณตามไปดู แต่ละตู้กำลังเล่าเรื่องราวของตัวเองให้คุณฟังอย่างเงียบ ๆ แน่นอน

ก่อนที่ตู้โทรศัพท์สาธารณะจะกลางร่างมาเป็นตู้เหงา ๆ หว่อง ๆ แบบนี้ ในยุคเฟื่องฟูเคยมีตู้โทรศัพท์สาธารณะกว่า 2 แสนเครื่องทั่วประเทศ รายได้เฉลี่ยแต่ละเครื่องมากถึง 3-4 พันบาทต่อสัปดาห์ (ใช่ เหรียญที่เราแลกไปหยอดเพื่อโทรจีบสาวก็อยู่ในจำนวนนี้นี่แหละ)

ผู้หญิงคนที่เราเคยหยอดเหรียญโทรจีบยังค่อย ๆ เลือนหายจากกันไป แล้วประสาอะไรกับรายได้ของตู้โทรศัพท์หยอดเหรียญทั่วประเทศ แม้ตอนพีค ๆ จะทำรายได้สัปดาห์ละหลักพัน แต่รายได้ของตู้โทรศัพท์สาธารณะก็ค่อย ๆ ลดลง ๆ จนเมื่อเทียบกับค่าบำรุงรักษาต่อเครื่องแล้ว ขาดทุนประมาณ 2,000 บาทต่อเครื่องเลยทีเดียว

ตู้โทรศัพท์แบบดั้งเดิมที่เราคุ้นเคยจึงค่อย ๆ โบกมือลาเราไปทีละตู้ โดยเฉพาะในปี พ.ศ. 2559 นโยบายคืนทางเท้าให้ประชาชนที่นอกจากจะจัดระเบียบผู้ค้าบนทางเท้าแล้ว ตู้โทรศัพท์ที่ตั้งแบบไม่รู้สี่รู้แปดขวางทางเดินสัญจรหรือป้ายรถเมล์ก็ถูกเคลื่อนย้ายไปด้วย

ไม่ว่าตอนนั้นเราจะสังเกตเห็นหรือไม่สังเกตเห็นแต่ก็มีตู้โทรศัพท์สาธารณะที่ไม่ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องถูกรื้อไป 4,000 ตู้ โดยที่เราอาจไม่ทันรู้ตัวเลยด้วยซ้ำ

เราจึงมีโอกาสได้เห็นตู้โทรศัพท์สาธารณะโฉมใหม่ ที่อาจดูไม่เป็นตู้ที่มีประตูเปิดปิดให้ความเป็นส่วนตัวแบบเดิม แต่ออกแนวแบน ๆ แคบ ๆ เป็นมิตรกับทางเดินเท้าและการสัญจรไปมาของผู้คนมากขึ้น

แม้บางครั้งโทรศัพท์สาธารณะเหล่านี้จะกลายเป็นที่วางข้าวของไปบ้าง …

แม้บางครั้งโทรศัพท์สาธารณะเหล่านี้จะถูกรื้อหรือไม่มีสายเชื่อมระหว่างตัวเครื่องกับหูโทรศัพท์ไปบ้าง …

แม้บางครั้งโทรศัพท์สาธารณะเหล่านี้จะถูกมองข้ามและมีป้ายกระดาษติดไว้ทั้งสองเครื่องว่าอยู่ระหว่างการปรับปรุงไปบ้าง …

แต่โทรศัพท์สาธารณะก็จะอยู่ตามรายทางให้เราลอบมอง และนึกถึงความทรงจำส่วนตัวบางอย่างต่อไป เพราะ พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 ที่ระบุว่า ระบบสื่อสารโทรคมนาคมของชาติต้องบริการประชาชนได้อย่างทั่วถึง ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ

ดังนั้นการมีโทรศัพท์สาธารณะตั้งไว้เกลื่อนกลาด (แม้จะไม่ได้ใช้จริง หรืออยากใช้จริง แต่ใช้ได้บ้าง ไม่ได้บ้างก็ตาม) ทางหนึ่งก็เพื่อยืนยันว่าทุกคนมีสิทธิที่จะติดต่อสื่อสาร

ตู้โทรศัพท์สาธารณะจึงยังต้องตั้งอยู่แบบเหงา ๆ ต่อไป แม้จะไม่มีใครใช้ แม้บางตู้จะใช้ไม่ได้ แต่โจทย์ต่อไปที่น่าคิดก็คือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะปรับตู้โทรศัพท์สาธารณะพวกนี้ให้เข้ากับยุคสมัยอย่างไร เช่น ในบางประเทศแปลงเป็นห้องสมุดขนาดเล็ก บางประเทศแปลงเป็นตู้ปล่อยสัญญาณอินเตอร์เน็ต

ในระหว่างที่รอการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นกับตู้โทรศัพท์อย่างใจจดใจจ่อ ระหว่างนี้เราก็คงมองตู้โทรศัพท์เป็นอนุสรณ์แห่งความเปลี่ยนแปลงที่กระซิบเล่าเรื่องราวบางอย่างของตัวเองไปพลาง ๆ

แล้วคุณล่ะ มีความทรงจำเกี่ยวกับตู้โทรศัพท์ของตัวเองที่อยากเล่าให้เราฟังไหม ? ไม่ต้องยกหู หยอดเหรียญ รอคนรับสาย แต่เล่าให้ฟังได้เลย

PSYCAT
WRITER: PSYCAT
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line