Style

มอชพิต (MOSH PIT)! SUB-CULTURE การเต้นสุดรุนแรงของดนตรีสายฮาร์ดคอร์ มันอันตรายจริงหรือไม่?

By: JEDDY December 9, 2022

ช่วงนี้ใครที่ได้ติดตามข่าวทางโซเชียลมีเดีย อาจจะได้พบเจอข่าวเกี่ยวกับคอนเสิร์ตของดนตรีสายฮาร์ดคอร์ที่ไปเล่นสดใจกลางสยามสแควร์เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งมันทำให้หลายคนตกใจกับวัฒนธรรมการ “มอชพิต (Mosh Pit)” ของเหล่าคนผู้ชมที่ดูรุนแรง ดุเดือด ราวกับคนยกพวกตีกัน จนเกิดเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในโลกโซเชียลมีเดียอย่างกว้างขวาง ซึ่งโดยมากไปในทิศทางเชิงลบ ทำให้กลายเป็นประเด็นดราม่าเนื่องจากมีเสียงแตกออกเป็น 2 ฝั่ง

โดยคำถามที่เกิดขึ้นหลัก ๆ เลยมันเกี่ยวกับ “ความปลอดภัย” โดยตรง งานนี้ทาง Unlockmen เลยอยากจะมาช่วยขยายความการมอชพิตเพิ่มขึ้นซักหน่อย ว่ามันอันตรายจริงหรือไม่? ซึ่งในปัจจุบันการละเล่นในวงมอชพิตที่พบได้บ่อยประกอบไปด้วย


TACKLE

 

วัฒนธรรมการมอชพิตมีรากเหง้ามาจากซีนดนตรีฮาร์ดคอร์พังก์จากประเทศสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ยุค 80’s (สามารถอ่านเรื่องราวเพิ่มเติมได้ทาง : unlockmen.com/mosh-pit-history) และสำหรับการละเล่นแบบเบสิคสุด ๆ ที่แม้ไม่ใช่คอนเสิร์ตวงฮาร์ดคอร์หรือเมทัล ก็สามารถพบเห็นได้จากคอนเสิร์ตวงร็อกทั่ว ๆ ไป นั่นคือการ “Tackle” หรือการ “แท็ค” กัน

“Tackle” การเล่นของมันไม่มีอะไรซับซ้อนเลย มันแค่เป็นการเอาหัวไหล่วิ่งไปชนอีกคนอย่างสนุกสนาน แทบจะไม่มีความอันตรายแต่อย่างใด ว่ากันว่าจุดเริ่มต้นของมันมาจากกีฬาอเมริกันฟุตบอลนั่นเอง


CIRCLE PIT

หากคุณเคยชินกับการเดินเวียนเทียน การเล่น “Circle Pit” ก็คงไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด เพราะมันคือการรวมตัวของเหล่าคนดูเพื่อวิ่งเป็นวงกลม โดยมากจะเกิดขึ้นจากจังหวะดนตรีที่สับรัว ๆ เร็ว ๆ ซึ่งการเล่น “Circle Pit” ก็เข้ากับท่อนดังกล่าวได้เป็นอย่างดี ในบางคอนเสิร์ตระดับเทศกาลดนตรีที่มีคนดูนับหมื่น ก็อาจจะเกิด“Circle Pit” ได้หลายวง แถมยังเป็นการเล่นที่สวยงามด้วย

การละเล่นแบบนี้ค่อนข้างปลอดภัย แต่คุณอาจจะเหนื่อยจากการวิ่งได้หากร่างกายไม่ฟิตพอ


CROWD SURFING

อันนี้ก็ถือว่าเบสิคมาก แม้ไม่ใช่คอนเสิร์ตเพลงร็อกเราก็ได้พบเห็นบ่อย ๆ กับการยกคนลอยในท่านอนและใช้มือช่วยกันดันหลาย ๆ คน โดยคนในคอนเสิร์ตส่วนมากก็จะค่อย ๆ ส่งคนเหล่านั้นไปให้ไกลมากที่สุด หรือไม่ก็อาจจะเป็นการส่งผู้ที่มีอาการเป็นลมมายังหน้าเวที เพื่อให้เจ้าหน้าที่มารับช่วงต่อไปช่วยดูแล

ความอันตรายของการเล่น “Crowd Surfing” มีน้อยมาก ยกเว้นแต่คุณจะกระโดดลงมาด้วยความเร็วและแรงจนคนรับไม่ทัน แบบนี้อาจจะทำให้คุณหัวปักพื้นก็เป็นได้ ทางที่ดีค่อย ๆ หย่อนตัวลงมาใส่ฝูงชนจะดีกว่า


STAGE DIVE

สืบเนื่องจาก “Crowd Surfing” ที่กล่าวไว้ว่ามันเป็นการกระโดดด้วยความเร็วและแรงใส่ฝูงชน สิ่งนี้เรียกว่า “Stage Dive” บางคนก็แค่กระโดดมาเพื่อเซิร์ฟต่อ บางคนก็กระโดดลงมาบนพื้น แต่สำหรับบางคนเลือกเหยียบไหล่คนอื่น ๆ หรือบางคนหนักถึงขนาดเหยียบหัว เพื่อใช้ร่างกายของคนให้เราสามารถเดินไปต่อได้อีกเล็กน้อย เรียกได้ว่าเป็นการละเล่นที่ค่อนข้างเอกซ์ตรีมเลยทีเดียว

ดังนั้นการทำ “Stage Dive” ก็ค่อนข้างเสี่ยงที่จะได้รับบาดเจ็บไม่น้อยเลยทีเดียว


WALL OF DEATH

อีกหนึ่งกิจกรรมสุดมันส์ ที่ใครไปชมคอนเสิร์ตสายเมทัลและฮาร์ดคอร์ต้องได้ลิ้มลอง กับ “Wall Of Death” โดยในระหว่างที่วงดนตรีกำลังเล่นคอนเสิร์ต นักร้องจะสั่งให้คนดูแยกกันออกเป็น 2 ฝั่ง ก่อนจะส่งสัญญาณตามจังหวะดนตรีให้ฝูงชนวิ่งเข้าชนกันแบบฝุ่นตลบ

การทำ “Wall Of Death” แม้จะดูอันตราย แต่แท้จริงแล้วค่อนข้างปลอดภัยเลยทีเดียว เพราะทันทีที่คุณล้มก็จะมีคนข้าง ๆ ช่วยพยุงคุณให้ลุกขึ้นมา นี่คือสิ่งน่ารักที่เกิดขึ้นในคอนเสิร์ตแนวเพลงที่ดูรุนแรง


2 STEP

2 Step เป็นท่วงท่าที่สวยงาม มันถูกออกแบบมาให้เหมาะกับจังหวะดนตรีโดยเฉพาะ ซึ่งจะเน้นไปที่การเตะขาไปมา สลับกับแขน เป็นท่าที่ไม่อันตาย แถมทำแล้วเท่เอาเรื่องเลย


CROWDKILLING

การละเล่นอันสุดท้าย ซึ่งถือว่าอันตรายสุด ๆ แล้วสำหรับในคอนเสิร์ตของบรรดาวงเมทัลและฮาร์ดคอร์ เพราะแต่ละคนจะต้องงัดท่าเหวี่ยงแขน เหวี่ยงขา ราวกับศิลปะป้องกันตัวเอาออกมาโชว์ โดยในสมัยก่อนยังไม่มีการแตะเนื้อต้องตัวกัน แต่ในสมัยนี้มีการเหวี่ยงหวัด หรือขาไปโดนคนรอบ ๆ วงมอชพิต ซึ่งถ้าใครไม่แข็งแกร่งพอก็ควรอยู่ห่าง ๆ การเล่นแบบนี้เป็นดีที่สุด

อย่างไรก็ตามแม้จะมีการปะทะกันอย่างจริงจัง แต่คนที่อยู่ในมอชพิตนั้นต่างสมัครใจกันมาเจ็บตัวอยู่แล้ว และไม่มีใครโกรธ หรือไปท้าตีท้าต่อยกันแต่อย่างใด


จะเห็นได้ว่าการละเล่นของดนตรีแนวนี้มีหลากหลายมาก ๆ มีทั้งซอฟต์ ๆ จนไปถึงหมวดฮาร์ดกันเลยทีเดียว ซึ่งความอันตรายก็จะแตกต่างกันออกไป อย่างไรก็ตามก็ไม่ใช่ทุกพื้นที่ในงานคอนเสิร์ตที่จะมีแต่วงมอชพิต เพราะถ้าใครที่ไม่ชื่นชอบก็สามารถหลีกเลี่ยงได้โดยการออกห่างจากบริเวณวงดังกล่าว ง่าย ๆ แค่นี้คุณก็สามารถชมคอนเสิร์ตได้อย่างมีความสุขแล้ว

และอีกสิ่งที่น่าสนใจคือคอนเสิร์ตดนตรีสายนี้ไม่เคยมีการตีกันแต่อย่างใด แตกต่างจากคอนเสิร์ตทั่ว ๆ ไปที่ถึงขั้นยิงกันตาย แต่กลายเป็นเรื่องที่คนมองข้าม หรือเพราะว่าเคยชินกับมันก็ไม่ทราบเหมือนกันครับ

JEDDY
WRITER: JEDDY
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line