Entertainment

รุ่นใหม่ก็ไม่สู้รุ่นใหญ่ ‘5 หนังที่บอกว่ายิ่งแก่ก็ยิ่งเก๋า’ถ้าเราเข้าใจว่าชีวิตคือการเปลี่ยนแปลง

By: PSYCAT May 19, 2020

พลัง แรงบันดาลใจ การงอกงามไปสู่สิ่งใหม่ เมื่อไรที่พูดถึงกลุ่มคำพวกนี้เราล้วนนึกถึงวัยเด็ก หรือวัยรุ่น ช่วงวัยที่เป็นรุ่งอรุณของชีวิต แสงอบอุ่นจากดวงอาทิตย์แห่งวัยเยาว์ค่อย ๆ ฉายให้เห็นความฝันและความเป็นไปได้  ในทางกลับกันเมื่อเราอายุมากขึ้น ๆ แม้เราจะยังสบายดี แต่ก็คล้ายว่าในแต่ละปี เรากำลังเดินทางเข้าสู่ช่วงความสลัวรางของชีวิต หมดฝัน ไม่กล้าเริ่มต้นใหม่ ไร้เรี่ยวแรงจะเติบโต เพราะเชื่อว่าความมั่นคงคือสิ่งที่ดีที่สุด

UNLOCKMEN จึงอยากพาสำรวจ “ความมีอายุ” ในความหมายใหม่ แม้จะไม่ได้เต็มไปด้วยพลังบ้าคลั่งเหมือนตอนวัยรุ่น แต่ในเลขปีที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ก็มีมิติใหม่ ๆ ให้เราได้ดื่มด่ำ เรียนรู้ในแบบของมัน ขอแค่อย่าหยุดเรียนรู้

 

About Schmidt

คุณค่าของคุณคือะไร? คำตอบของคำถามนี้อาจเป็นอะไรก็ได้ ครอบครัว ความรัก การได้ออกเดินทาง หรือ “หน้าที่การงาน” หากเป็นเช่นนั้นเคยคิดไหมว่าหากเราแก่ตัวไปจนกระทั่งวันหนึ่งต้องหยุดทำงานที่เราทำมาตลอดหลายสิบปี เราจะยังรู้สึกมีคุณค่าอยู่ไหม?

About Schmidt ว่าด้วยเรื่องราวของ Warren Schmidt ผู้เชี่ยวชาญและทำงานอยู่ในบริษัทระดับโลก แต่เขากำลังจะต้องเกษียณจากงาน นี่จึงเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ อายุที่มากขึ้น ร่างกายที่ร่วงโรย งานที่เคยยึดถือที่ได้เวลาต้องปล่อยวาง คู่ชีวิตลาจากโลกไป ไม่เพียงเท่านั้นลูกสาวที่เคยรู้สึกว่าเป็นแก้วตาดวงใจก็ยังจะมาแต่งงานกับไอ้หนุ่มที่ดูไม่เอาไหนอีก!?

ในสภาวะที่ไม่มีอะไรให้ยึดเป็นความหมาย คนรัก การงาน ครอบครัว เขาจึงตัดสินใจออกเดินทางในบ้านรถพ่วงเพื่อตามหาความหมายอะไรบางอย่างให้ชีวิตหลังเกษียณของตัวเอง

About Schmidt จะพาเราไปเข้าใจว่าความแก่แต่เก๋าบางทีก็อาจไม่ได้มาในรูปแบบของความก๋ากั่น แต่อาจเป็นการที่เราเติบโตไปเรื่อย ๆ มากพอจะเห็นความเปลี่ยนแปลงและหาวิธีที่จะอยู่กับความเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นให้เจอก็เป็นได้

 

 Amour

คุณดูหนังรักมากี่เรื่องแล้ว? รักหนุ่มสาว รักสมหวัง รักอกหักเจียนตาย แต่ถ้าจะมีสักเรื่องที่ตีแผ่ความรักในมิติของกาลเวลา อายุขัย การอยู่ร่วมกันมานานนม  Amour ถือเป็นอีกเรื่องที่คุณไม่ควรพลาด

เรื่องราวของ Jean Louis Trintignant และ Emmanuelle Riva คู่สามีภรรยาที่อยู่กันมาจนทั้งคู่อายุเกิน 70 ความรักที่ผ่านการหมักบ่มของการเวลาจนหวานก็แล้ว ขมก็แล้ว จืดก็แล้ว จะมีอะไรได้อีก? อะไรที่ว่าอาจมาในรูปแบบของภรรยาผู้ป่วยหนัก เป็นอัมพาตครึ่งท่อน นอนติดเตียง และคุณตาถูกพิสูจน์ความรัก (?) ด้วยการดูแลคนรัก ทั้งเช็ดปัสสาวะ อุจจาระ พลิกตัว พาอาบน้ำ ทุกอย่างเต็มไปด้วยความทุลักทุเล โดยเฉพาะเมื่อคุณตาเองก็อายุไม่ได้น้อย ๆ แล้ว

หน้าตาของความรักเมื่ออายุของเรามากขึ้น บรรยากาศของการอยู่ร่วมกันเมื่อสังขารของเราไม่เอื้ออำนวย ความรักในเรื่องนี้จะพาเราไปสู่ความเข้าใจแบบไหน เราอยากชวนทุกคนพิสูจน์ด้วยตัวเอง

 

The Intern

หลายครั้งที่เราเฝ้าฝันถึงชีวิตหลังเกษียณ อยากใช้เวลาว่างทำอะไรก็ได้อย่างที่ใจฝัน รางวัลชีวิตหลังจากตรากตรำมาจนแก่ แต่กับ Ben Whittaker วัย 70 ปี ไม่ได้เป็นแบบนั้น เมื่อว่างงาน ภรรยาเสียชีวิต และลูกชายไปมีครอบครัวของตัวเอง เขากลับคิดถึงการได้ตื่นขึ้นมาทำงานมากกว่าสิ่งไหน ๆ

เมื่อเขาได้มาฝึกงานที่เว็บไซต์แฟชั่นแห่งหนึ่ง แม้มันจะเป็นคนละโลกกับการทำงานที่เขารู้จักมาทั้งชีวิต แต่นี่ก็เป็นอีกจุดเปลี่ยนที่ทั้งเราและเขาจะได้เรียนรู้ไปพร้อมกันว่าในวัย 70 ปี เรายังสามารถมอบพลัง แรงบันดาลใจ และการเติบโตงอกงามให้ตัวเองและผู้อื่นในรูปแบบไหนได้อีกบ้าง

The Intern พาเราไปเห็นว่าประสบการณ์แห่งวันวัยที่คนอายุเยอะมี เมื่อผนวกรวมเข้ากับการเปิดใจที่จะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ และยังยืนหยัดรักษาความเป็นตัวตนไว้ได้ในหลายมิติ สิ่งเหล่านี้เองที่เป็นความเก๋าที่คนอายุยังน้อยหลายคนอาจยังไม่อาจเข้าใจ

 

The Bucket List

ในหนึ่งชีวิตที่จะว่าสั้นก็สั้น จะว่ายาวก็ยาวนี้ คุณมีสิ่งที่อยากทำไหม? แล้วคุณได้ลงมือทำสิ่งเหล่านั้นไปบ้างหรือยัง? ถ้ายัง คุณคิดจะลงมือทำมันเมื่อไร?

The Bucket List ว่าด้วยเรื่องราวของสองชายวัยเก๋าที่ป่วยด้วยโรคมะเร็งทั้งคู่ ทั้งคู่มีพื้นฐานชีวิตที่แตกต่างกันสุดขั้ว คนหนึ่งคือนักธุรกิจผู้ประสบความสำเร็จ หัวใจพองโตและหดฟีบด้วยตัวเลขและการเงิน อีกคนหนึ่งเป็นช่างซ่อมรถ ชีวิตสามัญธรรมดา มีความสุขกับการได้อ่านหนังสือและใช้ชีวิต

เมื่อโรคมะเร็งพาพวกเขามาเจอกัน จนได้ทบทวนว่ามีหลายต่อหลายสิ่งที่อยากทำแต่พวกเขายังไม่ได้ทำ ทั้งคู่ตัดสินใจออกเดินทางตะลุยทำสิ่งที่อยากทำให้หมด หนังพาเราเดินทางไปกับรุ่นใหญ่สองคนที่ผ่านชีวิตและประสบการณ์มาคนละแบบ ทำให้เราได้แอบฟังบทสนทนา ชีวิต ความเชื่อ ความฝัน มากไปกว่านั้นหนังยังชวนให้เราต้องคิดกับคำถามที่ว่า “เรามีความสุขกับชีวิตไหม?” และ “เราได้ทำอะไรให้คนอื่นมีความสุขบ้างหรือเปล่า”

เป็นหนังที่ว่าด้วยการผ่านวันเวลา การเข้าใกล้เส้นขอบความตาย การตามหาความฝันเมื่อเราตระหนักว่าเหลือเวลาไม่มากที่เราอยากให้ทุกคนได้ดูด้วยตัวเอง

 

A Beautiful Day in the Neighborhood

ในช่วงต้นของชีวิต หลายหนที่เราเผลอคิดไปว่าเราเก่งที่สุด ว่องไวที่สุด เรียนรู้ได้ลึกซึ้งถึงแก่นมากที่สุด พลังของวัยหนุ่มสาวทำให้เราคิดเอาว่านี่คือช่วงวัยที่ดีที่สุด พลุ่งพล่านเกินกว่าอะไรจะหยุดยั้ง A Beautiful Day in the Neighborhood เป็นหนังที่เราอยากชวนทุกคนที่กำลังพลุ่งพล่านกับชีวิตมาดื่มด่ำ เพราะบางครั้งถ้าช้าลงอีกหน่อย คุณอาจเห็นบางมุมของชีวิตที่ไม่เคยเห็นมาก่อนก็เป็นได้

A Beautiful Day in the Neighborhood สร้างจากเรื่องจริงของ Lloyd Vogel นักเขียนวัยหนุ่มที่เต็มไปด้วยพลังงานล้นเหลือ (แน่นอนว่าทั้งทางดีและไม่ดี) ชีวิตเขาจึงทั้งยุ่งเหยิงและเกรี้ยวกราดจนเกินจะควบคุม จนกระทั่งเขาได้รับมอบหมายให้ไปสัมภาษณ์ Fred Rogers พิธีกรรายการเด็กชื่อดังที่คนทั้งสหรัฐอเมริกาต่างรักเขา

เมื่อความพลุ่งพล่านเกินควบคุมของวัยหนุ่ม ได้พบพานกับความอบอุ่นมากประสบการณ์แบบรุ่นใหญ่ จึงเกิดเป็นหนังที่เต็มไปด้วยบทสนทนาชวนคิด โมเมนต์ชวนให้รู้สึก ทันทีที่ดูจบก็อดคิดไม่ได้ว่าต้องผ่านโลกมาแบบไหนถึงได้เติบโตขึ้นมาเป็นคนอบอุ่น ลุ่มลึกและเต็มไปด้วยความรักแบบ Fred Rogers ได้

 

ตอนยังหนุ่มยังสาว เรามักหลงใหลกับประโยคที่ว่า “ตามหาตัวเอง” ไม่แน่ใจว่าเมื่อแก่ตัวลงแล้ว ตัวเองที่เราพยายามตามหานั้น เราจะได้เจอหรือยัง? หรือมันจะมีหน้าตาเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยแค่ไหน? การแก่ การอายุเพิ่มขึ้น อาจไม่ชวนให้เราแสวงหาความหมาย ออกเดินทาง หรือตามหาตัวตนเหมือนตอนยังเด็กกว่านี้ แต่เราเชื่อว่าในอายุที่มากขึ้น ประสบการณ์ที่เพิ่มขึ้น ตัวตนของเราตอนนั้นก็คงน่าสนใจไม่น้อย ขอเพียงยอมรับความเปลี่ยนแปลงและเติบโตของตัวเองให้ได้ เราเชื่อว่าการแก่ก็น่าสนใจไม่แพ้การเป็นเด็ก หรือหนุ่มสาวแน่นอน

PSYCAT
WRITER: PSYCAT
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line