World

MURDER SCENE 1910: ภาพถ่ายจากเหตุฆาตกรรมในนิวยอร์กที่ย้ำเตือนว่าทุกพื้นที่ล้วนมีเรื่องราว 

By: TOIISAN March 2, 2020

หากพูดถึงมหานครนิวยอร์กเราจะนึกถึงอะไรเป็นสิ่งแรก ? บางคนนึกถึงโรงละครบรอดเวย์ บางคนนึกถึงเมืองที่โดนถล่มอยู่บ่อย ๆ ในหนังแอกชันซูเปอร์ฮีโร่ บางคนก็มองว่านิวยอร์กคือเมืองแห่งแสงสีและแฟชั่น และนิวยอร์กอีกมุมหนึ่งที่มีเหตุคนหายและฆาตกรรมสูงไม่แพ้กับเมืองอื่น ๆ ในประเทศสหรัฐอเมริกา 

ทุกแห่งหนต่างมีมุมมืดและปัญหาที่ถูกซุกไว้ใต้พรม รวมถึงเมืองแห่งแสงสีอย่างมหานครนิวยอร์กช่วง ค.ศ. 1910-1920 (พ.ศ. 2453-2463) ที่มีอัตราการหายตัวไปของผู้คนจำนวนมาก รวมถึงคดีฆาตกรรมที่ไม่ถูกเปิดเผยให้สาธารณชนได้รับรู้ และเมื่อเวลาผ่านมาเกือบร้อยปี ในที่สุดความลับที่ถูกซ่อนเอาไว้ก็เปิดเผยขึ้น 

*ภาพถ่ายที่อยู่ในเนื้อหาอาจมีความรุนแรง ผู้อ่านที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ควรได้รับคำแนะนำ

 

MURDER SCENE IN NEW YORK (1910-1920) 

คดีฆาตกรรมพร้อมกับภาพประกอบที่เราเห็นตามหน้าหนังสือพิมพ์ปัจจุบันมักถ่ายโดยนักข่าว บางครั้งได้ภาพมาจากพยานในเหตุการณ์ แต่หากย้อนกลับไปช่วงปี 1910-1930 การเก็บภาพของเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายหลังโดนฆาตกรปลิดชีวิตต้องเป็นภาพจากเจ้าหน้าที่ตำรวจเท่านั้น และรัฐจะไม่ยอมให้ประชาชนเห็นภาพชวนสลดเหล่านี้อย่างแน่นอน 

ผลที่ตำรวจเก็บรูปถ่ายหลังเกิดเหตุฆาตกรรมไว้ไม่ยอมให้ใครเอาไปตีพิมพ์ ทำให้เนื้อหาของข่าวคลาดเคลื่อนได้ง่าย หนังสือพิมพ์บางเล่มบอกว่ามีชายคนหนึ่งโดนรัดคอ แต่หนังสือพิมพ์อีกฉบับกลับบอกว่าเหยื่อโดนเอามีดปาดคอต่างหาก เพราะไม่มีนักข่าวสำนักไหนสามารถเข้าไปเห็นสภาพที่เกิดเหตุจริง ๆ อ้างอิงแต่เพียงคำบอกเล่าของเจ้าหน้าที่ตำรวจหลายคนทำให้ข้อมูลคลาดเคลื่อนได้

วงการข่าวอาชญากรรมของสหรัฐอเมริกาพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงปัจจุบัน เทรนด์การสืบสวนกับการเล่าข่าวเปลี่ยนไปตามยุคสมัยจนเราหลงลืมเรื่องราวที่เกิดไม่ทันไปเสียแล้ว

จนวันหนึ่งเรื่องราวที่ถูกซ่อนไว้กว่าร้อยปีถูกเผยสู่สาธารณชน เมื่อสำนักงานใหญ่ของ New York Police Department (NYPD) องค์กรตำรวจที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐอเมริกาถูกรื้อเพื่อปรับปรุงสำนักงานใหม่เมื่อปี 2012 และมีคนเจอกับหลักฐานคดีอาชญากรรมเมื่อร้อยปีก่อน

Wilfried Kaute พบฟิล์มเนกาทีฟ (ฟิล์มขาว-ดำ ใช้ถ่ายภาพทั่วไป) จำนวนมากถูกทิ้งเอาไว้ในห้องเก็บของ เขาจึงนำฟิล์มเนกาทีฟทั้งหมดมาล้างเพื่อดูว่ามีอะไรบ้าง เขาพบว่าเป็นภาพที่ถูกถ่ายไว้ราวปี 1910-1920 ทั้งภาพถ่ายตึกรามบ้านช่องในสมัยนั้น รถบนท้องถนน บาร์ที่ปิดตัวไปแล้ว รวมถึงภาพเหยื่อจากคดีฆาตกรรม

เจ้าหน้าที่ตำรวจเมื่อร้อยปีก่อนถ่ายหญิงสาวแต่งตัวดีถูกรัดคอจนตายในโรงแรม Martinique ตั้งอยู่บนถนนหมายเลข 32 ภาพร่างไร้วิญญาณของนักย่องเบาสองคน คาดว่าเข้าไปขโมยของแล้วหนีออกมาจากห้องใต้หลังคาแต่ดันพลัดตกลงไปในเพลาลิฟต์ความสูงกว่า 5 ชั้น ทำให้ทั้งสองคนเสียชีวิตคาที่ ภาพของเด็กชายถูกฆ่าทิ้งร่างไว้ที่โถงทางเดิน ภาพของชายที่ถูกยัดอยู่ในถังขนาดยักษ์ และภาพของชายนอนตายข้างถนนหน้าร้านกาแฟ 

ช่วงปี 1910-1920 ประชากรเมืองนิวยอร์กเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดมากถึงหนึ่งล้านคน ผู้คนต่างถิ่นพากันเข้ามาแสวงโชคยังเมืองแห่งโอกาส แม้มหานครเจริญรุ่งเรืองที่สุดจะเป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้ผู้คนได้แสดงความสามารถ ทำตามความฝัน และสานต่อเจตนารมณ์ แต่ด้วยจำนวนคนที่เข้ามาเยอะขึ้นทำให้เมืองแออัด มีอัตราการเกิดคดีฆาตกรรมสูงขึ้นถึงสิบเท่าจนแซงเมืองแชมป์เก่าอย่างลอนดอน ประเทศอังกฤษ

ภาพของนักเลงหัวไม้ถูกสังหาร ภาพของแก๊งชาวไอริชที่คุมย่านเฮลคิกเช่น เขตแมนฮัตตัน ถูกพบเป็นศพพร้อมกับขวดเหล้า ภาพถ่ายร่างไร้วิญญาณอาบไปด้วยเลือดของนาย Domenico Mastropaolos ในสภาพนั่งพิงถังไวน์เพราะถูกแทงจนเสียชีวิต

นอกจากนี้ยังพบภาพของหญิงสาวที่ญาติมาแจ้งความว่าหายตัวไปตั้งแต่ปี 1971 เมื่อตามสืบย้อนกลับไปพบว่าเธอเป็น 1 ใน 700 คน จากคดีหายตัวไปอย่างลึกลับในนิวยอร์ก และท้ายที่สุดเราก็พบว่าเธอเสียชีวิตจากการฆาตกรรม รวมถึงคดีอีกจำนวนมากที่ Wilfried Kaute ผู้พบฟิล์มจำนวนมากยังไม่แน่ใจด้วยว่าคดีเหล่านี้ถูกปิดลงด้วยการจับตัวคนร้ายได้กี่เปอร์เซ็นต์ 

ภาพจากกล้องฟิล์มอายุกว่าร้อยปีถูกรวบรวมเป็นหนังสือภาพชื่อว่า ‘Murder in the City, New York, 1910–1920’ และเมื่อหนังสือภาพเล่มนี้วางจำหน่ายก็เกิดคำวิพากษ์วิจารณ์ว่าภาพเหล่านี้ควรถูกทำลายแทนที่จะรวมมาเป็นรูปเล่ม แต่บางคนบอกว่าการเผยให้เห็นมุมที่เจ้าหน้าที่ไม่เคยให้ประชาชนเห็นมาก่อนเป็นสิ่งที่ดี อันนี้ก็แล้วแต่มุมมองของใครของมันแล้วครับว่าเราสามารถรับได้การภาพถ่ายเหล่านี้มากน้อยแค่ไหน

 

Images courtesy of the artist. © NYPD

 

SOURCE 1 / 2 / 3

TOIISAN
WRITER: TOIISAN
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line