Entertainment

Fight The Power : ศิลปินและผลงานเพลงระดับโลก กับการเป็นกระบอกเสียงที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

By: HYENA July 22, 2021

การออกมาส่งเสียงเรียกร้องความยุติธรรม และความถูกต้องมันเป็นสิทธิที่มนุษย์ทุกคนควรมี โดยเฉพาะในดินแดนที่ใช้ระบอบประชาธิปไตยด้วยแล้ว เสียงของคนส่วนใหญ่นั้นคือสิ่งสำคัญ และเมื่อมีอะไรไม่ถูกต้องหรือข้อสงสัย ผู้คนก็ควรที่จะออกมาส่งเสียงทักถึงประเด็นที่ควรแก้ไขนั้นได้

ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร เพศอะไร รวยหรือจน คนก็มีสิทธิที่จะเรียกร้องความถูกต้องและการเปลี่ยนแปลงที่ดีกว่าได้ ยกตัวอย่างเช่น ศิลปินคนดังระดับโลกมากมายตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบันที่สามารถส่งเสียงได้ดังกว่าและไกลกว่าคนทั่วไป เมื่อต้องการเรียกร้องความถูกต้อง เราจึงเห็นการออกมาเป็นกระบอกเสียง หรือที่เราเรียก ‘Call Out’ จากคนมีชื่อเสียงกันเป็นเรื่องปกติ

แต่ในยุคปัจจุบัน เรากลับได้เห็นผู้มีอำนาจสั่งให้ศิลปิน สื่อ หรือเหล่าคนดังหุบปาก ห้ามออกมาวิจารณ์ และห้ามแสดงความคิดเห็นในประเด็นต่าง ๆ ที่กระเทือนภาพลักษณ์ของรัฐบาล รวมถึงห้ามเป็นกระบอกเสียงเรียกร้องในสิ่งที่ถูกต้อง แต่ก็น่าตลกที่เวลาหน่วยงานรัฐหรือเจ้าหน้าที่ทำโครงการช่วยสังคมเพียงนิดหน่อย กลับจ้างศิลปินเหล่านี้มาช่วยกันตะโกนโปรโมทกันปาว ๆ  มันช่างย้อนแย้งซะจริง ๆ

การ Call Out ในอดีตเกิดขึ้นนับครั้งไม่ถ้วน ยกตัวอย่างเช่น การต่อต้านการเหยียดสีผิว ต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติ ต่อต้านการเหยียดเพศ ต่อต้านการล่วงละเมิดทางเพศ ต่อต้านสิ่งเหลื่อมล้ำต่าง ๆ ที่ไม่ยุติธรรม ซึ่งไม่ได้มีเพียงแค่เหล่าศิลปินนักดนตรีเท่านั้น แต่นักกีฬาชื่อดัง นักแสดงระดับซุปเปอร์สตาร์ของ Hollywood ก็มักจะออกมาสนับสนุน และเป็นกระบอกเสียงเรียกร้องในสิ่งที่ถูกต้องกันอย่างเสรีโดยไม่มีใครมาห้าม

ตั้งแต่เริ่มมีการประท้วงของชาวนาในประเทศอังกฤษที่มีต่อระบบศักดินา ไปจนถึงการประท้วงครั้งใหญ่ที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน คนมีชื่อเสียง ศิลปิน นักดนตรี ได้นำเอาเสียงพวกเขา เป็นสื่อกลางสำคัญที่ต่อต้านกับอำนาจ และการกดขี่ แม้กระทั่งในประเทศแห่งประชาธิปไตยอย่างสหรัฐอเมริกาเอง ในช่วงปี 1960 ก็ถือว่าเป็นยุคทองที่ศิลปิน และคนดังสามารถใช้ความโด่งดัง รวมไปถึงผลงานของพวกเขาเปลี่ยนแปลง และแก้ไขปัญหาได้อย่างอิสระเสรี

ในปัจจุบันก็ยังคงมีศิลปินที่ออกมาแสดงจุดยืน และเป็นกระบอกเสียงเรียกร้องเพื่อเปลี่ยนแปลง และต่อต้านความไม่ถูกต้องอยู่อย่างต่อเนื่อง และผลงานของพวกเขาเหล่านี้ก็ยังคงตราตรึง และคอยย้ำเตือนอุดมการณ์กับแนวทางการเรียกร้องความถูกต้องที่ไม่เคยจางหายไป ไม่ว่าจะเป็น John Lennon, Bob Dylan, Bob Marley, Nina Simone, R.E.M., Rage Against The Machine หรือแม้กระทั่ง Kendrick Lamar และต่อไปนี้คือผลงานเพลงที่แฝงไว้ด้วยการต่อสู้ การเรียกร้องความถูกต้องที่กลายเป็นที่จดจำ


Public Enemy – “Fight The Power”

Public Enemy เป็นกลุ่มศิลปิน Hip-Hop สัญชาติอเมริกันประกอบด้วย Chuck D, Flavor Flav, DJ Lord, The S1W group, Khari Wynn และ Professor Griff ก่อตั้งขึ้นที่ New York เพลง ‘Fight The Power’ นี้ Chuck D ได้ทำการเขียนเนื้อเพลงขึ้นในขณะที่เดินทางอยู่บนเครื่องบิน โดยมี Run DMC อยู่เคียงข้าง เนื้อเพลง ‘Fight The Power’ เปิดด้วยคำพูดที่น่าจดจำของ Thomas ‘TNT’ Todd ทนาย และนักเคลื่อนไหวจาก Chicago ที่กล่าวถึงผู้หนีทัพในสงครามเวียดนาม ที่เลือกจะ ‘ใช้วิธีการเปลี่ยนแปลงมากกว่าวิธีการต่อสู้’ ถือเป็นเพลงที่มีเนื้อหาสำหรับส่งเสียงให้เหล่าผู้ประท้วง และสืบทอด DNA ทางดนตรีจาก James Brown, Sly and the Family Stone รวมไปถึง Aaron Hall

Chuck D ถ่ายทอดความรู้สึกตึงเครียด และดื้อรั้นของชาว New York ซึ่งเป็นบ้านเกิดของเขาออกมาเป็นตัวอักษรได้อย่างครบถ้วน เขาเล่าถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นคดี ‘Central Park Five’ ที่ผู้หญิงคนหนึ่งถูกทำร้ายและโดนข่มขืนปางตายในบริเวณ Central Park

ในเหตุการณ์นั้นมีเด็กแอฟริกัน-อเมริกันสี่คน และเด็กฮิสแปนิกอายุ 14-16 ปี ถูกปรักปรำให้เป็นผู้ร้ายในคดีนี้ จนกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในระบบยุติธรรม และการเหยียดเชื้อชาติ เพลงนี้จึงเต็มไปด้วยความโกรธแค้น และเป็นข้อความที่ส่งถึงคนยุคหลังให้ลุกขึ้นสู้กับความอยุติธรรมในสังคม


M.I.A. – “Born Free”

เพลงจากนักร้องสาวชาวอังกฤษเชื้อสายศรีลังกาคนนี้ เคยมีผลงานโด่งดังมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็น Paper Planes หรือ Jimmy แต่ถ้าหากพูดถึงเพลงที่ชื่อว่า ‘Born Free’ เพลงนี้ ต้องบอกเลยว่ามันเคยกลายเป็นเรื่องเป็นราวใหญ่โตถึงขนาดที่โดนแบน MV บน YouTube มาแล้ว ด้วยเนื้อหาของเพลงที่เกี่ยวข้องกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ โดยเฉพาะในตัว MV ที่มีภาพยิงศรีษะแบบจะ ๆ ปรากฏอยู่ในวีดีโอ ซึ่งเป็นภาพที่ได้แรงบันดาลใจจากภาพถ่ายชื่อดังของ Eddie Adams ภาพทหารเวียดนามยิงปืนใส่ชาวเวียดกงในปี 1968 อีกทั้งยังมีภาพของหนุ่มสาวผมแดง ที่สื่อไปถึงชาวยิวที่ถูกฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ภาพของชาวปาเลสไตน์ขว้างปาก้อนหินใส่รถทหาร และยังมีภาพของทหารโหดที่ติดตรงธงชาติอเมริกาไว้ที่ไหล่ จึงเป็นที่บ่งบอกชัดเจนว่า เพลงและ MV นี้มีแนวคิด Anti-America รวมไปถึงการต่อต้านการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์แบบสุดขั้วอีกด้วย


Kendrick Lamar – “The Blacker The Berry”

เพลงนี้เกิดขึ้นหลังจากที่เพื่อนสนิทของ K.dot ถูกฆาตกรรม เขาจึงจินตนาการถึงการแก้แค้น และระบายความโกรธทั้งหมดที่มีทั้งหมดออกมาเป็นบทเพลงที่ชื่อว่า ‘The Blacker The Berry’ ซึ่ง Kendrick ได้ออกมาพูดถึงเพลงนี้ว่า เวลาที่ได้ร้องเพลงนี้มันช่วงเยียวยาความรู้สึกเลวร้ายเหล่านั้นได้ เพราะถึงแม้เรื่องนั้นมันจะผ่านไปแล้ว แต่ความรู้สึกโกรธแค้น ความรู้สึกเกลียดคนที่ฆ่าเพื่อนของเขามันยังคงอยู่ ไม่เคยจางหายไป


Nina Simone – “Mississippi Goddam”

เพลง ‘Mississippi Goddam’ เป็นเพลงที่ปล่อยออกมาพร้อมกับการต่อสู้เพื่อสิทธิของพลเมืองในปี 1964 ในเพลงนี้จะมีท่อนที่ร้องว่า ‘Do It Slow’ ซึ่งเป็นการส่งสารทางการเมืองในเรื่องของสิทธิพลเมืองที่เธอรู้สึกว่าทุก ๆ ปัญหาถูกแก้ไขอย่างล่าช้าซะเหลือเกิน จนต้องแต่งเพลงออกมาแซะสักหน่อย หลังจากที่เพลงนี้ถูกปล่อยออกไป บทบาทของ Nina Simone ในฐานะนักเรียกร้องสิทธิก็ดูจะโดดเด่นมากยิ่งขึ้น แต่ในทางกลับกัน เพลงของเธอกลับโดนแบน และชื่อเสียงในด้านการร้องเพลงก็ค่อย ๆ ลดลงจากการโดนแบน


Sam Cooke – “A Change Is Gonna Come”

‘A Change Is Gonna Come’ คือเพลงที่จุดประกายความหวังที่ขับร้องโดย Sam Cooke บทเพลงนี้อยู่ในอัลบัม Ain’t That Good News ซึ่งเพลงนี้ได้แรงบันดาลใจในการแต่งมาจากการที่โรงแรม Holiday Inn ในหลุยเซียน่า ได้ปฏิเสธไม่ให้ Sam Cooke  และพวกของเขาเข้าพักที่โรงแรม แม้เขาจะได้จองมาก่อนแล้วก็ตาม เพราะในสังคมอเมริกันตอนนั้นมีการเหยียดผิวอย่างรุนแรง และเหตุผลที่เขาไม่สามารถเข้าพักที่นี่ได้ก็มาจากการที่เขาเกิดมาเป็นคนผิวสีเท่านั้นเอง เพลงนี้จึงเป็นการออกมาเรียกร้อง และแสดงถึงการต่อต้านความไม่เท่าเทียม ที่ทุกคนควรลุกขึ้นต่อสู้กับสิ่งที่ไม่ถูกต้องกันสักที


Bob Dylan – “The Lonesome Death of Hattie Carroll”

เพลง ‘The Lonesome Death of Hattie Carroll’ ของ Bob Dylan ได้พูดถึงเรื่องราวเกี่ยวกับการฆาตกรรม Hattie Carroll สาวใช้ชาวแอฟริกัน-อเมริกันวัย 51 ปี โดยชายหนุ่มที่ชื่อว่า William Zantzinger วัย 24 ปี ซึ่งเป็นวัยรุ่นที่เกิดในครอบครัวเจ้าของไร่ใบยาสูบที่มีฐานะร่ำรวยประจำรัฐแมรี่แลนด์ ในคืนหนึ่งขณะที่ William กำลังปาร์ตี้ และมีอาการเมามาย เขาได้ใช้ไม้เท้าทุบตี Hattie ที่เป็นพนักงานเสริฟจนน่วมเพราะเธอบริการช้าไม่ทันใจ จนเธอต้องหนีเข้าไปขอความช่วยเหลือในครัว และสุดท้ายก็เสียชีวิต William และครอบครัวใช้เส้นลดโทษจากการฆ่าคนตาย ให้กลายเป็นข้อหาทำร้ายร่างกาย และรับโทษจำคุกไปเพียง 6 เดือนเท่านั้น และนี่คือเหตุผลที่ทำให้ Bob Dylan แต่งเพลงนี้ออกมาเพื่อเรียกร้องความยุติธรรม


Bob Marley & The Wailers – “Get Up, Stand Up”

เพลง ‘Get Up, Stand Up’ เป็นเสียงเพลงที่สะท้อนการเรียกร้องหาความเท่าเทียมจากประชาชนผู้ได้รับความทุกข์ยากจากการกดขี่ข่มเหง และการละเมิดสิทธิมนุษยชนในทุกรูปแบบบนโลก เริ่มต้นจากความขัดแย้งทางการเมืองบนเกาะเล็ก ๆ  มันได้ถูกถ่ายทอดผ่านทางวัฒนธรรมดนตรีท้องถิ่นด้วยถ้อยคำที่เรียบง่าย เสียงดนตรีของเพลงนี้ได้เดินทางเหนือห้วงกาลเวลากว่าเกือบ 5 ทศวรรษ Marley และ Tosh ได้สร้างบทเพลงที่ยิ่งใหญ่ ถ่ายทอดความฝันผ่านจังหวะดนตรีเฉพาะตัวที่มาพร้อมกับเนื้อร้องที่แข็งแกร่งเปี่ยมไปด้วยอุดมการณ์ และความเชื่อถึงชีวิตที่มีค่าด้วยการลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมของศักดิ์ศรีมนุษย์ เพื่อสิทธิของตัวเอง


Rage Against The Machine—“Killing In the Name”

เพลงชาติแห่งการเรียกร้องความถูกต้องอย่าง ‘Killing In The Name’ ของซุปเปอร์แบรนด์นักปฎิวัติอย่าง RATM นั้น แม้จะมีเนื้อเพลงสั้น ๆ ไม่กี่ประโยค แต่คำพูดในแต่ละประโยคมันช่างหนักแน่น บาดลึกถูกใจผู้ที่ถูกกดขี่ด้วยพลังอำนาจอะไรบางอย่างแบบเต็ม ๆ โดยเนื้อหานั้นพูดถึงการที่ผู้มีอำนาจใช้อำนาจในการสั่งการกดขี่ พวกเขาจึงมีวลีเด็ดถามกลับไปที่คนเหล่านั้นว่า ‘And now you do what they told ya?’ แล้วมึงจะต้องทำตามสิ่งที่มันบอกมึงเหรอ แม้ว่ามันจะผิด? สำหรับวง RATM พวกเขายืนหยัดชัดเจนว่า ‘Fuck you, I won’t do what you tell me’


System Of A Down—“Fuck The System”

System Of A Down และเพลง ‘Fuck The System’ ได้พูดถึงระบบที่ถูกกำหนดของหน่วยงาน องค์กร และรัฐบาลต่าง ๆ ที่เป็นต้นตอของความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะสงคราม และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ซึ่งในสายตาของวงพวกเขามองว่า ระบบเหล่านี้แหละที่เป็นต้นตอของปัญหาต่าง ๆ บนโลก พวกเขาเชื่อว่าไม่ควรมีระบบอะไรมาบังคับ คนเราสามารถเลือกทุกสิ่งทุกอย่างได้เองตามสามัญสำนึก และควรสร้างเส้นทางชีวิตของตัวเองขึ้นมาไม่ใช่เดินไปตามระบบที่มีคนวางไว้


Bikini Kill—“Rebel Girl”

วง Bikini Kill เป็นวงพังก์ที่ถือเป็นปรากฏการณ์ในการสร้างความเคลื่อนไหวให้เกิดความเท่าเทียมระหว่างชายและหญิง เพราะในยุคนั้นไม่ว่าจะเป็นวงการไหน ผู้ชายจะมีอิทธิพลมากกว่าผู้หญิงเสมอ โดยเฉพาะในวงการดนตรีพังก์ ซึ่งส่วนใหญ่จะมีแต่วงดนตรีชาย แต่สำหรับวง Bikini Kill พวกเธอต้องการประกาศให้รู้ว่าพวกเธอไม่เหมือนกับผู้หญิงทั่วไป และต้องการเพิ่มพลัง ความมั่นใจให้กับผู้หญิง หลายครั้งที่ Kathleen Hanna นักร้องนำ กระโดดลงไปบู๊กับพวกคนดูผู้ชายที่มักก่อความวุ่นวายในการแสดงสดของพวกเธอ จนต่อมาเพลง ‘Rebel Girl’ ของ Bikini Kill ได้ถูกสถาปนาให้เป็นเพลงประจำการปราบจราจล ถึงแม้ว่าเพลงนี้จะไม่ได้รู้จักกว้างขวางมากเท่าไหร่ ไม่เคยติดชาร์ต และมีคำวิจารณ์ออกมามากมาย แค่สุดท้ายเพลงนี้ก็ถูกยกให้เป็นบทเพลงร็อคแอนด์โรลสุดคลาสสิคแห่งยุคนั้น


R.E.M.—“Orange Crush”

‘Orange Crush’  ในชื่อเพลงของ R.E.M. นั้น พวกเขาหมายถึง Agent Orange ซึ่งเป็นสารเคมีที่อเมริกาใช้ในการโจมตีทำลายป่าในสงครามเวียดนาม ถึงแม้ว่า Michael Stipe นักร้องนำจะไม่ได้มีความเกี่ยวข้องอะไรกับประเทศเวียดนามเลย แต่เขารู้สึกว่าการใช้สารเคมีโจมตีเป็นวงกว้างมันไม่ถูกต้อง  โดยเฉพาะสงครามที่สร้างความเสียหายในระยะยาวอย่างสงครามนี้ เพราะสารเคมี Agent Orange นี้ นอกจากจะทำลายพื้นที่ป่าแล้ว สารเคมีนี้ยังทำลายชีวิตทั้งผู้ใช้ และผู้ที่โดนสารนี้ด้วย เพราะใครที่ได้สัมผัสสารเคมีนี้จะป่วยเป็นมะเร็ง พอมีลูก ลูกหลานของคนที่รับสารนี้เข้าไปก็จะมีความพิการบกพร่องตั้งแต่กำเนิด ซึ่งเรื่องราวทั้งหมดนี้ Michael Stipe ได้ฟังมาจากพ่อของเขา ซึ่งเป็นทหารอากาศในสมัยสงครามเวียดนาม


Tom Robinson Band—“Glad to Be Gay”

ในยุคสมัยที่รสนิยมทางเพศยังไม่ได้เปิดกว้างอย่างในปัจจุบัน Tom Robinson ได้ปล่อยเพลง ‘Glad to Be Gay’ ออกมาเขย่าสายตาชาวโลก เพลงนี้เป็นกระบอกเสียงให้กับชาวเกย์ทั้งหลาย ที่ในยุคนึงมักจะตกเป็นเป้าในการโจมตี รวมไปถึงสื่อก็พร้อมที่จะเล่นข่าวเกี่ยวกับกฎหมายการแต่งงานเพศเดียวกันในประเทศอังกฤษ และมักจะโจมตีซ้ำเติมชาวเกย์อยู่เสมอ แต่สำหรับ Tom Robinson กลับมองว่า มันเป็นสิ่งที่เป็นปกติมาก การเป็นเกย์ไม่สมควรต้องหลบ ๆ ซ่อน ๆ จงภูมิใจในการเป็นตัวเอง คุณไม่จำเป็นต้องอายถ้าหากคุณมีความสุขกับชีวิต และการเป็นเกย์ของคุณ


John Lennon—“Imagine”

เพลงดังอมตะตลอดการอย่าง ‘Imagine’ ของ John Lennon เป็นการตั้งคำถามต่อสังคม และการเรียกร้องสันติภาพที่มาพร้อมกับวลีเด็ด ‘War is Over’ John Lennon ได้กระตุ้นให้คนที่ได้ฟังบทเพลงนี้จินตนาการถึงโลกที่สงบสุข ไม่มีการแบ่งแยก ไม่มีสงคราม ไม่มีการแบ่งเชื้อชาติ ไม่มีการแบ่งศาสนาซึ่งถือได้ว่าเป็นเรื่องยากที่จะเกิดขึ้นในโลกแห่งความเป็นจริง แต่การชวนจินตนาไปกับความเป็นหนึ่งเดียว และความสงบสุขนี้ ก็ทำให้ทุกคนมีความหวัง และเชื่อว่าสักวันหนึ่งโลกในจินตนาการของ John จะเกิดขึ้นบนโลกแห่งความเป็นจริง


ถึงแม้ว่าบุคคลเหล่านี้จะเป็นคนดังระดับโลก มีคนรู้จักมากมาย แต่เราก็เห็นได้ว่า พวกเขาก็คือ มนุษย์ เป็นประชาชน เป็นคนที่ต้องการเรียกร้องในสิ่งที่ถูกที่ควร ซึ่งทุกคนก็ควรจะมีสิทธิ์มีเสียงในการแสดงความคิดเห็นอย่างเสรีตามข้อเท็จจริง อย่างที่บอกไปก่อนหน้านี้ว่า ในหลายประเทศที่มีรูปแบบการปกครองแบบประชาธิปไตย ยิ่งต้องมีสิทธิ์ที่จะแสดงความคิดเห็น ความคิดเห็นควรถูกรับฟังและนำไปพิจารณา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเสียงของคนส่วนใหญ่พูดไปในทิศทางเดียวกัน เรียกร้องในสิ่งที่เหมือน ๆ กัน เห็นปัญหาที่ต้องแก้เป็นจุดเดียวกันมากขึ้นเรื่อย ๆ นั่นก็เป็นสิ่งที่ยืนยันได้แล้วว่า ปัญหานั้น ควรจะต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังได้สักที

 

HYENA
WRITER: HYENA
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line