World

NIHON STORIES: หายนะและความตายในดินแดนรกร้างของ “นิวเคลียร์ฟูกูชิมะ”

By: TOIISAN February 22, 2021

เมื่อเอ่ยถึง ‘นิวเคลียร์’ ในวงสนทนา สิ่งแรกๆ ที่จะได้ยินคือนิวเคลียร์จากการต่อสู้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ทั้ง ‘Little Boy’ ที่ถูกทิ้งลงสู่เมืองฮิโรชิมะ ตามด้วย ‘Fat Man’ ที่ล้างผลาญเมืองนางาซากิ นอกจากนี้นิวเคลียร์ในความทรงจำของใครหลายคนอาจยังนึกถึง ‘เชอร์โนบิล’ เมื่อเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ในโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ของประเทศยูเครนเกิดระเบิด เช่นเดียวกับเหตุการณ์ในฟูกุชิมะทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะญี่ปุ่น นับเป็นโศกนาฏกรรมที่ล้วนเกี่ยวข้องกับนิวเคลียร์ด้วยกันทั้งหมด

UNLOCKMEN จะพาผู้อ่านย้อนไปยังอดีตเพื่อพบกับเหตุการณ์น่าสะพรึงจากภัยธรรมชาติ และคูณความรุนแรงสองเท่าด้วยสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นอย่างนิวเคลียร์และสารเคมีร้ายแรง เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ชาวญี่ปุ่นนับแสนต้องพลัดถิ่น ไม่สามารถกลับบ้านหลังเดิมได้นานหลายสิบปี และทุกอย่างนับจากจุดเริ่มต้นไม่มีวันเหมือนเดิมอีกต่อไป


ญี่ปุ่นนับเป็นดินแดนที่ขึ้นชื่อเรื่องการเผชิญหน้ากับภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างแผ่นดินไหวและสึนามิบ่อยเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก และภัยพิบัติทั้งสองก็ได้เกิดขึ้นอีกครั้งในปี 2011 แผ่นดินไหวกว่า 9 ริกเตอร์ สะเทือนไปยังโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ไดอิจิในเมืองฟูกูชิมะ

หากคิดว่าแผ่นดินไหวเข้าขั้นย่ำแย่แล้ว เคราะห์ยังซ้ำกรรมยังซัดญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่องด้วยสึนามิสูงราว 15 เมตร ซัดผ่านแนวกั้นกำแพงที่สูงเพียง 10 เมตร ทะลักเข้าสู่โรงงานและเตาปฏิกรณ์ ทำให้ระบบไฟฟ้าฉุกเฉินไม่สามารถใช้งานได้ ระบบหล่อเย็นของเตาปฏิกรณ์ 3 จาก 6 เครื่องหยุดทำงาน ความร้อนในเตาพุ่งสูงขึ้นเรื่อย ๆ ก๊าซไฮโดรเจนภายในเตาปฏิกรณ์จึงระเบิด สร้างความเสียหายใหญ่หลวงจนสารเคมีอันตรายเล็ดลอดออกมาจากโรงงาน

เมื่อเจ้าหน้าที่รัฐทราบถึงความผิดปกติครั้งใหญ่ พวกเขาทำอะไรไม่ได้มากนอกจากสั่งอพยพประชากรในละแวกใกล้เคียงในรัศมี 20 กิโลเมตรโดยเร็วที่สุด ชาวบ้านแถวฮิราโนะ โทมิโอกะ และบางเขตในชานเมืองฟูกูชิมะต้องรีบหนีให้ไกล อะไรทิ้งได้ก็จำต้องทิ้งเพื่อเอาตัวรอด สัตว์เลี้ยงจำนวนมากจึงไม่ได้ไปต่อ เช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่ในโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ 44 รายที่เสียชีวิต แม้เวลานั้น ‘TEPCO’ บริษัทผู้ดำเนินกิจการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะออกแถลงการณ์ว่าการระเบิดไม่ส่งผลให้โครงสร้างห่อหุ้มเตาปฏิกรณ์เสียหายแต่อย่างใด (ใครจะเชื่อ) ส่วนผู้เสียชีวิตจากแผ่นดินไหวและสึนามิมีตัวเลขอยู่ที่ 18,500 คน

อุบัติเหตุใหญ่ทำให้ผู้คนนับแสนต้องพลัดถิ่น ไร้ที่อยู่ จำต้องอยู่อย่างแออัดอยู่ในเขตบ้านพักชั่วคราวอันแสนคับแคบที่รัฐบาลจัดหาให้ ส่วนโรงงานจะต้องปิดตัวอย่างถาวร รัฐบาลญี่ปุ่นได้จัดให้การระเบิดครั้งนี้อยู่ในอันตรายระดับ 4 จากทั้งหมดที่มีอยู่ตั้งแต่ 0-7 ระดับ (เหตุการณ์คล้ายคลึงกันอย่างการระเบิดที่เชอร์โนบิลถูกจัดอยู่ในระดับ 7 ที่เป็นระดับสูงสุด)

หลังการระเบิดในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ส่งผลเสียเป็นวงกว้าง เกิดการฟ้องร้องผู้บริหารทั้งสามคนของ TEPCO ทั้ง คัตสึมาตะ ซึเนฮิสะ (Katsumata Tsunehisa) มุโต้ ซาคาเอะ (Muto Sakae) และ ทาเคคุโระ อิชิโระ (Takekuro Ichiro) ถูกฟ้องในข้อหาก่อความประมาท เพิกเฉยต่อมาตรการรับมือและมาตรการเองกันภัยหลังเกิดสึนามิ มีโทษสูงสุดคือจำคุก 5 ปี แต่หลายคนมองว่าน้อยนิดเกินไป สุดท้ายหลังคดียืดเยื้อยาวนานกว่า 8 ปี ทั้งสามคนก็ได้รับการยกฟ้องให้พ้นจากข้อกล่าวหา ท่ามกลางครอบครัวผู้สูญเสียที่มารวมตัวกันประท้วงอยู่หน้าศาล


หลังการระเบิดของโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ รัฐบาลพยายามให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าไปเก็บกวาดซากในโรงงานนิวเคลียร์ ควบคู่กับการส่งหุ่นยนต์เข้าไปเก็บกวาดแต่มักคว้าน้ำเหลวกลับมาเสมอ สารกัมมันตรังสีที่รุนแรงทำให้หุ่นยนต์เคลื่อนไหวไม่ได้ดั่งใจ การเก็บกวาดจึงดำเนินไปอย่างล่าช้า เมืองถูกทิ้งร้าง ธุรกิจในชุมนุมเจ๊งไปตาม ๆ กัน และสิ่งที่จะเข้าไปเก็บกู้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุดก็หนีไม่พ้นมนุษย์

เจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญจำเป็นต้องเข้าไปในพื้นที่โรงงานอีกครั้ง เพื่อเก็บกวาดซากแท่งนิวเคลียร์ที่หลอมละลาย ส่วนแท่งที่ยังไม่ถูกความร้อนทำลายหลายร้อยแท่งนั้นสำคัญยิ่งกว่า ต้องรีบเก็บออกมาจากเตาปฏิกรณ์ให้หมดเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการระเบิดซ้ำสอง พวกเขาต้องเดินทางเข้าสู่ปากเหว ท่ามกลางสารพิษที่ฟุ้งอยู่ทั่วบริเวณ งานเก็บกวาดหลังการรั่วไหลจึงเป็นงานที่มีความเสี่ยงสูงและอันตรายไม่แพ้การก้าวสู่สมรภูมิรบ

ภายหลังรัฐบาลญี่ปุ่นออกมายืนยันอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2018 ว่า คนงานวัย 50 ปีที่เคยทำงานในโรงงานไฟฟ้าไดอิจิ เสียชีวิตจากโรงมะเร็งปอดเพราะร่างกายสัมผัสกับรังสีเป็นพิษมากเกินไป แม้จะสวมใส่เสื้อผ้าและเครื่องป้องกันที่มิดชิดก่อนเข้าสู่เขตโรงไฟฟ้าแล้วก็ตาม และยังมีพนักงานอีกหลายคนที่ล้มป่วยเพราะโดนกัมมันตภาพรังสี

สถาบันป้องกันอันตรายจากรังสีและความปลอดภัยทางนิวเคลียร์ (IRSN) กล่าวถึงการรั่วไหลของโรงงานนิวเคลียร์ในฟูกูชิมะว่า กัมมันตรังสีที่แพร่กระจายไปในอากาศมีปริมาณเพียง 1 ใน 10 ของเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่เชอร์โนบิล ถึงจะน้อยกว่าหลายเท่า ร่างกายของมนุษย์ก็ไม่สามารถปรับตัวให้ใช้ชีวิตอยู่กับสารพิษเหล่านี้แบบปกติสุขได้อยู่ดี นอกจากนี้เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่ได้รับการกระทบกระเทือน ส่งผลให้พื้นดินใต้อาคารและน้ำบาดาลปนเปื้อนหนัก จึงไม่แปลกใจที่ทีมเก็บกวาดในชุดป้องกันสูงสุดจะไม่พบสิ่งมีชีวิตรอบโรงงานเลยแม้แต่น้อย

ด้านชาวบ้านที่เคยหนีหัวซุกหัวซุนออกมาเมื่อหลายปีก่อน ตอนนี้ได้แต่เฝ้ารอว่าเมื่อไหร่พวกเขาจะได้กลับบ้าน การเก็บกวาดครั้งใหญ่นี้จะกินเวลาต่อเนื่องนานกว่า 50 ปี ใช้เวลานานพอ ๆ กับการจัดการให้สารพิษในอากาศลดน้อยลงจนอยู่ในระดับปกติอีกครั้ง ส่วนองค์การอนามัยโลก (WHO) คาดการณ์ว่าเด็ก 1 ใน 3 ของเมืองฟูกูชิมะอาจมีการเจริญเติบโตที่ผิดปกติ โดยเฉพาะบริเวณต่อมไทรอยด์และมีโอกาสสูงที่จะเกิดโรคมะเร็งตั้งแต่อายุยังน้อย

หลายปีที่รอการฟื้นฟู เมืองโดยรอบเขตโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ไร้ผู้คน ไร้สิ่งมีชีวิตมานานถูกเรียกว่า ‘เมืองผี’ วันเวลาผ่านไปชาวบ้านที่อพยพหนีกัมมันตภาพรังสีค่อย ๆ ทยอยเดินทางกลับภูมิลำเนาเดิมอีกครั้ง เนื่องจากรัฐบาลญี่ปุ่นอนุญาตให้ชาวฟูกูชิมะในบางพื้นที่สามารถกลับถิ่นฐานได้แล้ว

ทว่าองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมกรีนพีซเปิดเผยผลสำรวจว่า สารกัมมันตรังสีในพื้นที่ห้ามเข้าจะยังคงหลงเหลืออยู่จนถึงปี 2050 และอาจอยู่ต่อไปจนถึงศตวรรษที่ 22 เด็ก คนชรา และผู้หญิงตั้งครรภ์คือกลุ่มเสี่ยงที่สุดหากได้รับรังสี และการที่รัฐบาลญี่ปุ่นยอมให้คนในหลายพื้นที่กลับภูมิลำเนาถือเป็นเรื่องที่อันตรายมากและไม่อาจยอมรับได้ในแง่ของสิทธิมนุษยชน

การขจัดการปนเปื้อนของรัฐบาลไม่สามารถกำจัดสารเคมีได้หมดจด ส่วนข้อมูลจากเอกสารคณะกรรมการกฎระเบียบด้านนิวเคลียร์ระบุว่า ปริมาณของกัมมันตภาพรังสีในอากาศรัศมี 80 กิโลเมตรจากโรงไฟฟ้าลดลง 74% สร้างความไม่มั่นใจให้แก่ประชาชนพอสมควรว่าพวกเขาควรกลับบ้านหรืออยู่ข้างนอกต่อไปดีกว่ากัน

มีการวิจารณ์ของสื่อต่างประเทศและกระแสข่าวลือในญี่ปุ่นบอกว่า เหตุผลที่รัฐบาลญี่ปุ่นบอกให้ประชาชนฟูกูชิมะที่หนีการระเบิดกลับบ้านได้แล้ว เป็นเพราะรัฐไม่ต้องการแบกค่าใช้จ่ายมหาศาลที่จ่ายชดเชยให้กับชาวบ้านที่พลัดถิ่น และหากเป็นอย่างนั้นจริง การทอดทิ้งพวกเขาไว้กลางทางและเปิดโอกาสให้ชาวบ้านกลับถิ่นฐานที่ยังคงมีสารพิษแทรกซึมอยู่ทุกซอกทุกมุม ก็นับเป็นเรื่องน่าอดสูใจไม่น้อย

 

TOIISAN
WRITER: TOIISAN
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line