DESIGN

NIHON STORIES: “HORIMITSU” ตำนานช่างสักญี่ปุ่นผู้คร่ำหวอดในวงการกว่า 30 ปี

By: TOIISAN October 1, 2020

อย่างที่รู้กันดีอยู่แล้วว่ารอยสักสำหรับคนญี่ปุ่นเป็นสิ่งที่จะต้องถูกซ่อนเอาไว้ใต้ร่มผ้า หรือไม่เปิดเผยให้คนอื่นเห็นมากนักเพราะไม่อย่างนั้นคุณจะต้องพบกับสายตาดูแคลนปะปนกับสายตาหวาดกลัว ซ้ำยังถูกโรงอาบน้ำสาธารณะหรือซาวน่าหลายที่ปฏิเสธที่จะให้เข้าไปใช้บริการ แม้ว่าเราจะมีเงินและเป็นลูกค้าคนหนึ่งเหมือนกัน

ก่อนหน้านี้ UNLOCKMEN เคยเล่าเรื่องราวความเป็นมาของการสักและรอยสักที่ชาวญี่ปุ่นมองว่าเป็นสิ่งผิดแปลกจากสังคมหรือจารีตไปแล้วใน (NIHON STORIES: รอยสักญี่ปุ่น ศิลปะอันเป็นเอกลักษณ์ที่ผู้คนทั่วโลกจับตามอง)  ทั้งที่ในเวลาเดียวกันชาวต่างชาติกลับรู้สึกยกย่องและชื่นชมศิลปะญี่ปุ่นอันเป็นเอกลักษณ์ที่ถูกเล่าบนเนื้อหนังของบุคคลนั้น ๆ ซึ่งผู้สักชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่มักจะเป็นยากูซ่าหรือไม่ก็เป็นศิลปินที่ไม่ต้องทำงานออฟฟิศ ซึ่งบุคลิกและการทำงานอาจมีส่วนเล็กน้อยที่ทำให้เกิดความรู้สึกแตกต่างในสังคม

เมื่อพูดถึงรอยสักเราจะไม่พูดถึงช่างสักก็คงไม่ได้ เพราะพวกเขาคือผู้สร้างสรรค์ศิลปะอันประณีตที่จะอยู่กับคนที่มาสักไปตลอดชั่วชีวิต และในประเทศญี่ปุ่นมีช่างสักผู้โด่งดังคนหนึ่งนามว่า ‘Horimitsu’ (โฮริมิตสึ) ที่มีส่วนช่วยทำให้วัฒนธรรมการสักของญี่ปุ่นยังคงอยู่จนถึงปัจจุบัน ซ้ำยังสร้างชื่อไปทั่วทุกมุมโลก และช่างสักก็ได้มีส่วนช่วยให้คนรุ่นใหม่เริ่มไม่ได้มองว่ารอยสักเป็นเรื่องน่ากลัวอีกต่อไป แต่มันคือศิลปะแขนงหนึ่งที่งดงามต่างหาก

“คนที่ไม่มีรอยสักหรือไม่ชอบการสักมักมองว่าคนที่มีรอยสักจะต้องเกี่ยวข้องกับยากูซ่า แต่ทั้งสองสิ่งอย่างยากูซ่าและรอยสักไม่ได้มีอะไรเกี่ยวข้องลึกซึ้งกันขนาดนั้น” – Horimitsu

โฮริมิตสึ หรืออีกชื่อที่คนในวงการเรียกสั้น ๆ ว่า ‘มิตสึซัง’ เป็นช่างสักที่เปิดร้านสักอยู่ในย่านอิเคะบุคุโระ ณ กรุงโตเกียว ด้วยประสบการณ์ที่เรียกได้ว่าคร่ำหวอดในวงการนานกว่า 30 ปี ทำให้ชื่อเสียงของเขาถูกพูดถึงในหมู่ผู้ที่ชื่นชอบการสักและช่างสักด้วยกัน ประกอบกับสไตล์การใช้เข็มวาดลวดลายของเขาจะใช้เทคนิคการสักญี่ปุ่นดั้งเดิมที่เรียกว่า ‘Tebori’ (เทโบริ) อายุกว่า 400 ปี ที่ขึ้นชื่อเรื่องสีสันสดสวยคงทนเหมือนกับวันแรกที่ไปสักแม้จะเวลาจะล่วงเลยมาพักหนึ่งแล้วก็ตาม

เทคนิคการสักแบบเก่าแก่ของมิตสึซังจะกินเวลานานกว่าการสักแบบปกติ เขาจะใช้ปากกาสีส้มวาดภาพที่ต้องสักบนผิวหนังแบบช้า ๆ ด้วยความพิถีพิถัน จากนั้นค่อยใช้ปากกาเส้นพู่กันวาดซ้ำอีกรอบ มิตสึซังมักไม่ใช่เครื่องสักในการทำงาน และชอบใช้ใบมีดสเตนเลสแบบด้านเดียวที่ติดอยู่กับด้ามไม้แท่งยาวกรีดลงไปบนเนื้อ ย้ำซ้ำไปซ้ำมาจนกว่าจะได้สีสันลวดลายตามที่เขาพอใจ

หลายคนรู้สึกว่าการสักแบบเทโบริเจ็บน้อยกว่าการใช้เครื่องสัก เลือดยังออกน้อยกว่า แถมแผลยังไม่อักเสบเท่าไหร่อีก แต่ข้อเสียหลักของการสักแบบคลาสสิกคือการนั่งทนเจ็บนานกว่าเดิม ถ้าใครไม่อยากได้วิธีการสักแบบเทโบริแล้วอยากใช้เครื่องสักตามสมัยนิยมก็บอกกับมิตสึซังได้ แต่สุดท้ายแกก็จะหว่านล้อมให้เราสักแบบเทโบริอยู่ดี เพราะสีสันสุดคงทนและสดใสมากกว่าที่ทำให้ใครต่อใครใจอ่อนยอมทนเจ็บนานขึ้นอยู่ร่ำไป

 

ลวดลายส่วนใหญ่ในร้านของมิตสึซังจะเป็นลายที่เขาดีไซน์ขึ้นมาเอง ต้นแบบหลัก ๆ ที่ใช้สร้างสรรค์ผลงานมักได้มาจากภาพพิมพ์แกะไม้ญี่ปุ่นโบราณ ควบคู่กับการเก็บเกี่ยวมุมมองใหม่ ๆ จากสิ่งรอบตัว โดยเฉพาะกับธรรมชาติตามต่างจังหวัดที่ถูกจับมาอยู่กับความทันสมัยในโตเกียว บรรยากาศและสังคมญี่ปุ่นอันเป็นเอกลักษณ์จะสร้างแรงบันดาลใจให้เขาวาดผลงานเท่ ๆ เปี่ยมด้วยวัฒนธรรมเก่าแก่แต่ไม่รู้สึกเชยได้ตลอดการเป็นช่างสัก และเมื่อถูกถามว่ารอยสักแบบไหนที่คนนิยมมากที่สุดมิตสึซังก็บอกว่า “ส่วนใหญ่มักเป็นมังกร”

แรกเริ่มเดิมทีลูกค้าที่แวะเวียนมาหามิตสึซังทำงานเป็นช่างสักกว่าครึ่งชีวิตมักเป็นสมาชิกแก๊งยากูซ่า แต่ช่วงหลังชื่อเสียงฝีมือการสัก การออกแบบลวดลายที่สวยงามไม่เหมือนใครของเขาดังไกลถึงต่างประเทศ ด้วยเหตุผลที่ไม่ซับซ้อนอะไรอย่างการเป็นช่างสักที่วาดลวดวายบนผิวหนังของ John Mayer และ Katy Perry ทำให้ลูกค้าของเขาไม่ได้มีแค่ชาวแก๊งอีกต่อไป แต่เขาต้องหัดพัฒนาภาษาอังกฤษในระดับพื้นฐานเพื่อต้อนรับลูกค้าต่างชาติจำนวนมากที่ตีตั๋วบินมาไกลหลายพันกิโลเมตรเพื่อโดนมิตสึซังเอาเข็มทิ่มสักครั้ง

 

 

“ผมคิดว่ารอยสักแฮนด์เมดมีมูลค่าในต่างแดนมากกว่าในญี่ปุ่น”

มิตสึซังมองว่าการสักสไตล์ญี่ปุ่นไม่ว่าจะผ่านไปนานกี่สิบปีก็ยังคงโลดแล่นอยู่ในโลกใต้ดินของญี่ปุ่น ยากจะก้าวขึ้นมาสู่วัฒนธรรมกระแสหลักเนื่องจากช่างสักญี่ปุ่นยังมีข้อบังคับทางกฎหมายบางข้อที่ทำให้ธุรกิจร้านสักดำเนินไปอย่างยากลำบาก ช่างสักจะต้องมีใบอนุญาตว่าตนเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ เพื่อรับประกันเรื่องความปลอดภัย สร้างความมั่นใจว่าแผลจากการสักจะต้องไม่ติดเชื้อ รวมถึงเรื่องสุขอนามัยของร้านและอุปกรณ์ ที่คนในวงการสักญี่ปุ่นมองว่าเป็นข้อกฎหมายที่กีดกันและล้าหลังมากสำหรับประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งข้อกฎหมายนี้อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจหรือเห็นคุณค่าของลายสักญี่ปุ่นแฮนด์เมดเท่าที่ควร

 

ถึงมิตสึซังยังคงคิดว่าเป็นเรื่องยากมากที่วัฒนธรรมรอยสักจะกลายเป็นป๊อปคัลเจอร์ ซ้ำยังบอกกับสื่อทุกครั้งว่า “ถ้าอยากเห็นแฟชั่นรอยสักก็ต้องเดินไปที่ฮาราจูกุ คุณก็จะพบรอยสักที่ผสานกับแฟชั่นเท่ ๆ แต่นายแบบส่วนใหญ่ก็ยังเป็นพวกตะวันตกอยู่ดีล่ะนะ” แต่ด้วยประสบการณ์การทำงานที่ยาวนานกว่า 30 ปี ทำให้เขาสามารถออกหนังสือจำนวน 150 หน้า อัดแน่นด้วยดีไซน์ลายสักที่เขาคิดขึ้น โดยในหนังสือจะแบ่งส่วนตามโครงสร้างร่างกาย อาทิ รอยสักส่วนแขน ขา หลัง ท้อง คอ มีทุกแบบทุกสไตล์เท่าที่เราจะพอนึกออก รอยสักตามภาพพิมพ์ญี่ปุ่น ดอกไม้ กะโหลก ยักษ์ ภาพวาดซามูไรในตำนาน มังกร ปลาคาร์ฟ มีคอลเลกชันรอยสักเสือ 100 ตัว 100 แบบ ที่บางครั้งแทนที่จะเลือกได้เร็วขึ้นอาจจะต้องช้าลงเพราะรักพี่เสียดายน้องอยากสักมันทุกลายก็มี

ถ้าวันใดวันหนึ่งวัฒนธรรมรอยสักในมุมมองของชาวญี่ปุ่นจะไม่อิงอยู่กับแก๊งยากูซ่า หนังสือของมิตสึซังจะต้องเป็นหนึ่งในไอเทมสำคัญที่มีส่วนช่วยให้เหล่าวัยรุ่นที่ไม่ได้กลัวการสักมีไว้ครอบครอง เพื่อศึกษาถึงความสวยงามของเส้นสี และเป็นต้นแบบที่อยากทำให้พวกเขารู้สึกอยากจะมีรอยสักเหล่านี้ไว้บนตัวสักอันก็เป็นได้
มิตสึซังก็ช่างสักคนหนึ่งที่อาจมีจุดเริ่มต้นอาชีพเหมือนกับช่างสักอีกนับพันในญี่ปุ่น ตอนนี้เขากลายเป็นคนที่ถูกยกย่องว่าเป็นส่วนหนึ่งที่สืบสานวัฒนธรรมญี่ปุ่นให้อยู่ต่อ ซ้ำยังเป็นผู้เผยแพร่ให้โลกได้เห็นความสวยงามอันเป็นเอกลักษณ์มากขึ้น โดยเฉพาะกับชาวตะวันตกที่ออกจะยกย่องสรรเสริญมิตสึซังเลยด้วยซ้ำ และถ้าหากโลกของเรากลับสู่สถานการณ์ปกติอีกครั้งเมื่อไหร่ เหล่าผู้คนที่หลงใหลรอยสักและได้อ่านเรื่องราวของมิตสึซังมาถึงตรงนี้ ก็ลองบินไปยังโตเกียวและสัมผัสประสบการณ์การสักกับช่างชื่อดังสักครั้งก็คงจะน่าประทับใจไม่น้อย

สำหรับใครที่สนใจอยากดูผลงานดีไซน์และการสักของร้าน Horimitsu เพื่อค้นหาแนวทางและแรงบันดาลใจในการสัก สามารถเข้าไปดูได้ที่ Horimitsu https://www.instagram.com/horimitsu ครับ

 


 

TOIISAN
WRITER: TOIISAN
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line