World

NIHON STORIES: IZAKAYA บาร์เหล้าเก่าแก่ที่ซ่อนตัวอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น

By: unlockmen May 27, 2020

ในตอนนี้หลายคนคงคิดถึงการออกไปนั่งดื่มด่ำบรรยากาศของแสงไฟนีออนตัดกับความมืดยามค่ำคืน คิดถึงการสังสรรค์วงเหล้าเคล้าเสียงหัวเราะของกลุ่มเพื่อน คิดถึงเบียร์สด โซจู หรือสาเกเย็นฉ่ำ ๆ พร้อมกับแกล้มชวนน้ำลายสอ ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่พวกเราเหล่าสุภาพบุรุษต่างหลงรัก ซึ่งวัฒนธรรมการดื่มสไตล์ญี่ปุ่นที่มีชื่อว่า อิซากายะ (Izakaya) ก็มีเรื่องราวน่าสนใจชวนให้หลงใหลไม่แพ้กับสุราหวานฉ่ำรอคอยอยู่ในร้านเหล้าขนาดกำลังดี

ญี่ปุ่นถือเป็นประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องการดื่มมาตั้งแต่ไหนแต่ไร ย้อนกลับไปยังยุคสมัยอันเก่าแก่ก่อนยุคเอโดะ การค้าขายสุราของชาวญี่ปุ่นมักเป็นการซื้อกลับไปกินที่บ้าน หรือตั้งแผงไว้ให้พ่อค้ากับแม่ค้ายืนคุยกันแบบสั้น ๆ ไม่นิยมนั่งเหมือนปัจจุบัน เพราะพื้นที่ร้านส่วนใหญ่คับแคบ แถมในร้านขายสุรายังไม่มีการเสิร์ฟเหล้าพร้อมกับแกล้มแก้หิวเหมือนตอนนี้

เมื่อญี่ปุ่นเข้าสู่ยุคเอโดะอันรุ่งเรืองทั้งการค้า การเมือง และศาสนา (ค.ศ. 1603-1868) มีเรื่องราวของต้นกำเนิดอิซากายะที่หลากหลายเกิดขึ้นในยุคนี้ แต่เรื่องเล่าที่ได้ยินบ่อยสุดคงหนีไม่พ้นเรื่องพ่อค้าสาเกหัวหมอ เขาพยายามทำให้การขายของตัวเองมีความน่าสนใจกว่าร้านสุราเจ้าอื่น ด้วยการเปิดแผงให้ลูกค้าชิมก่อนตัดสินใจซื้อ เมื่อมีลูกค้าสนใจก็จะนำเสนอเมนูพิเศษทำจากวัตถุดิบท้องถิ่นไว้กินแกล้มสาเกที่เขาขาย กลายเป็นว่าวิธีการขายของอันชาญฉลาดของพ่อค้าสาเกทำให้ซามูไรยอดนักรบ ขุนนาง พ่อค้าหัวใส ไปถึงชายแก่ขี้เมาต่างตบเท้าเข้าสู่ร้านเหล้าของเขา

ยุคหลังซามูไรและระบบขุนนางดั้งเดิมถูกปรับเปลี่ยน ไม่มีนักรบที่เต็มไปด้วยเกียรติภูมิอีกต่อไป ในยุคเมจิ อิซากายะได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายมากขึ้นกว่าเดิมพร้อมกับการปฏิรูปประเทศให้ทันสมัยตามแบบชาติจะตะวันตก ผู้ชายหลายคนชื่นชอบนั่งมองบรรยากาศตอนกลางคืน บางคนมาตั้งวงกับเพื่อน เปลี่ยนวันที่น่าเบื่อให้น่าสนใจยิ่งขึ้น

 

 

ในปี 1970 อิซากายะไม่มีลูกค้ากลุ่มอื่นเลยนอกจากพนักงานออฟฟิศกินเงินเดือน มองไปยังร้านไหนเราจะเห็นมนุษย์เงินเดือนพากันจับจองที่นั่งในร้านจนคนอื่น ๆ แทบไม่มีโอกาสแทรกตัวไปนั่งจิบสาเกได้เลย บางคนมานั่งดื่มทุกวันจนเป็นขาประจำ มีพนักงานออฟฟิศไม่น้อยรีบกอบโกยความสุขระยะสั้นจนนอนสลบอยู่หน้าร้านหรือตามทางเดิน แถวถังขยะหรือบริเวณสถานีรถไฟก็มีให้เห็นอยู่บ่อย ๆ

สาเหตุที่พนักงานออฟฟิศยุค 1970 ดื่มเหล้ากันหัวราน้ำ อาจเป็นเพราะความเครียดจากการทำงานหนักควบคู่ความกดดันจากสภาพเศรษฐกิจ ตอนนั้นญี่ปุ่นรับผลกระทบจากกลุ่มโอเปกทำให้ราคาน้ำมันปรับขึ้นอย่างรุนแรง เกิดการผูกขาดเงินตรากับทองคำของประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน ทำให้เหตุการณ์นี้ถูกเรียกว่านิกสัน ช็อก (Nixon Shock) ส่งให้ค่าเงินเยนถีบตัวขึ้นสูงจนใจหาย

อิซากายะจึงทำหน้าที่ปลอบโยนเหล่าพนักงานผู้เครียดจากระบบเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม เมื่อความปั่นป่วนของราคาน้ำมันกับค่าเงินเยนแข็งตัวจบลง ญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจญี่ปุ่นดีจนใจหาย พุ่งทะยานไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้งคู่กับการเติบโตของระบบอุตสาหกรรม

 


(ภาพจากซีรีส์ shinya shokudo)

 

ร้านขายเหล้าเล็ก ๆ กลายเป็นศูนย์รวมของผู้ชายต่างอาชีพที่เหนื่อยจากการทำงานทั้งวัน พวกเขาพากันเข้ามาพูดคุยสังสรรค์ ดื่มเหล้าพร้อมกับแกล้มหลากหลายตั้งแต่ของขบเคี้ยวไปจนถึงนาเบะหม้อใหญ่ มีทั้งกลุ่มที่เป็นเพื่อนกัน กลุ่มเจ้านายกับลูกน้องใต้อุปถัมภ์มานั่งดื่มเป็นเพื่อนนายใหญ่ เซลขายของกับลูกค้ารอให้พนักงานขายสร้างความประทับใจ กลุ่มวัยรุ่นนักศึกษา กลายเป็นสถานที่นัดพบของผู้คนที่หลงรักการดื่ม คนที่กำลังหวังผลจากบางสิ่ง และคนต้องการผ่อนคลายความเครียด

อิซากายะถูกดำรงให้อยู่ต่อจากรุ่นสู่รุ่น มีผู้คนจำนวนไม่น้อยหลงรักวัฒนธรรมการดื่มสไตล์นี้ ร้านเล็ก ๆ ตกแต่งสไตล์ญี่ปุ่นดั้งเดิม มองไปทางไหนก็เห็น แต่ไม่ชวนให้รู้สึกถึงวันเก่าก่อน มีเมนูอาหารและเครื่องดื่มหลากประเภทตั้งแต่เบียร์ราคาถูก สาเกราคาสบายกระเป๋า ไปจนถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สูตรพิเศษที่นักดื่มแต่ละคนต้องออกตามหารสชาติที่ใช่ มนุษย์เงินเดือนบางคนอาจติดใจเหล้าสูตรเด็ดของร้านแถบคันไซอย่างเกียวโตกับโอซาก้า แต่บางคนก็หลงรักเครื่องดื่มของโตเกียว อันนี้ก็แล้วแต่รสนิยม

การตกแต่งแทบทุกร้านล้วนถูกแต่งด้วยโคมไฟสีแดง เมื่อแสงจากโคมไฟสีแดงอาบ ที่นั่งจำนวนไม่มากสามารถสร้างบรรยากาศอบอุ่นได้ง่าย ๆ เจ้าของร้านอิซากายะส่วนมากชอบออกมาคุยกับลูกค้า ต้อนรับแขกด้วยรอยยิ้มเป็นกันเอง แนะนำอาหาร จากนั้นจึงเสิร์ฟผ้าร้อนให้ลูกค้าเพื่อเช็ดมือก่อนรับประทานอาหาร

 


(Time Out)

 

ลูกค้าส่วนใหญ่เมื่อเข้ามาในร้านมักสั่งเบียร์เป็นอย่างแรก จากนั้นทางร้านจะนำเบียร์มาพร้อมกับโอโตชิ (Otoshi) ถ้วยหรือจานใบเล็กใส่อาหารเรียกน้ำย่อยกินแกล้มเบียร์ มักเป็นถั่วแระญี่ปุ่นกับสึเกะโมโนะ (ผักดองญี่ปุ่น ส่วนใหญ่เสิร์ฟคู่กับซาชิมิ) และเต้าหู้ ลูกค้าสามารถเลือกสั่งของกินได้ตามใจทั้งสารพันซาชิมิ ไก่ทอด ยากิโทริ (ไก่ย่างเสียบไม้) มันฝรั่งทอด เกี๊ยวซ่า ไปจนถึงเมนูหนักท้องอย่างราเม็ง อุด้ง โอเด้ง นาเบะ หรือแม้กระทั่งของหวานก็มีพร้อมรอให้ได้ชิม นักดื่มหลายคนต้องพบกับความแปลกใจว่าเครื่องดื่มชั้นเลิศอย่าง ‘ไวน์’ ไม่ค่อยเข้ากับอาหารญี่ปุ่นเท่ากับเบียร์ ค็อกเทล หรือสาเกที่คนญี่ปุ่นนิยมดื่มเท่าไหร่นัก

ส่วนใหญ่อาหารของหลายร้านมักเหมือนกัน อิซากายะในแต่ละย่านจึงต้องสร้างความแตกต่างด้วยการเลือกเอาของดีของจังหวัดมาทำอาหาร เช่น เมืองติดทะเลมีเจ้าของร้านอิซากายะบางคนเป็นชาวประมง ใช้สิ่งที่ตัวเองถนัดมาสร้างรายได้เพิ่มขึ้นด้วย ชูโฆษณาว่าร้านของตัวเองเต็มไปด้วยวัตถุดิบสดใหม่จากทะเล ผ่านการทำด้วยเชฟท้องถิ่นผู้รู้จักปลาดีกว่าใคร ลิ้มลองกับแกล้มชั้นเลิศกับเบียร์เย็น ๆ หรือเมืองแถบภูเขาที่ปลูกส้ม ก็เอาส้มในไร่ตัวเองมามิกซ์กับสาเกหรือโซจู เกิดเป็นค็อกเทลใหม่ ๆ ที่มีแค่เมืองนี้เท่านั้น ทำให้ร้านอิซากายะทั่วญี่ปุ่นเต็มไปด้วยความหลากหลาย ต่อยอดวัฒนธรรมกันได้ไม่รู้จบ

 


(shinya shokudo)

 

อิซากายะในปัจจุบันถือเป็นร้านเหล้ายอดนิยมของทุกคน ส่วนใหญ่เปิดตั้งแต่ 5 โมงเย็นถึงเที่ยงคืน แต่ก็มีหลายร้านปิดตอนตี 5 ของวันถัดไป คงอยู่ยาวนานมาเป็นร้อยปี คอยต้อนรับลูกค้ากลุ่มคุณลุง นักศึกษาทั้งชายและหญิง มนุษย์เงินเดือนที่ไม่เคยห่างหายไปไหน รวมถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมายังประเทศญี่ปุ่น คนต่างวัฒนธรรมย่อมอยากรู้จักและเข้าถึงร้านรวงที่คนพื้นที่เลือกใช้บริการ

มีนักท่องเที่ยวจำนวนไม่น้อยพยายามตามหาร้านอิซากายะขนานแท้ ร้านของคนพื้นที่ที่นิยมนั่งกินดื่มกันจริง ๆ ไม่ใช่ร้านที่ถูกออกแบบมาเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยว แม้จะเข้าไปในดงคนญี่ปุ่น ฟังบทสนทนาภาษาญี่ปุ่นรอบตัวแปลไม่ออก การสั่งออเดอร์ตะกุกตะกักเพราะพนักงานมักพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ แต่สิ่งที่ได้คือความทรงจำน่าประทับใจของการสัมผัสวัฒนธรรมญี่ปุ่นที่มีมาหลายร้อยปีผ่านอาหาร เครื่องดื่ม และบรรยากาศการที่ไม่ต้องปรุงแต่งอะไรมากมายนัก

 

SOURCE: 1 / 2 / 3
Source photo from: timeout / Shinya Shokudo

unlockmen
WRITER: unlockmen
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line