World

“ยุทธการโอกินาวะ” เวทีต่อสู้ที่ทำให้คนญี่ปุ่นเรียนรู้ว่า จักรพรรดิไม่ใช่พระเจ้า

By: TOIISAN August 31, 2020

สงครามโลกครั้งที่ 2 คือความขมขื่นที่โลกไม่มีวันลืม ไม่ใช่แค่กับคนบุกโจมตียึดครอง แต่สำหรับชาวญี่ปุ่นเองก็รับความเจ็บปวดไม่แพ้กัน พวกเขาโดนนิวเคลียร์ถล่มเมืองฮิโรชิมาและนางาซากิ ชาวโอกินาวะต้องเจอกับจิตวิทยาปั่นประสาทจากกองทัพญี่ปุ่น จนท้ายที่สุดคนญี่ปุ่นได้รู้ความจริงว่าสมเด็จพระจักรพรรดิผู้เปรียบเสมือนพระเจ้าก็เป็นคนธรรมดาเหมือนกับเรา

วันนี้ UNLOCKMEN จะพาทุกคนย้อนกลับไปยังสมรภูมิที่โอกินาวะ เวทีต่อสู้อันดุเดือดในสงครามมหาเอเชียบูรพามีผู้เสียชีวิตนับแสนคน สัมผัสความทรงจำอันปวดร้าวของชาวโอกินาวะที่เป็นเพียงแค่ ‘คนนอก’ ในสายตาของกองทัพญี่ปุ่น และการหมดสิ้นอำนาจของสมเด็จพระจักรพรรดิ

ญี่ปุ่นกระโจนเข้าสู่สงครามส่วนหนึ่งเกิดจากความเชื่อมั่นแบบชาตินิยมรุนแรงของญี่ปุ่น แปรเปลี่ยนเป็นลัทธิทหารนิยม พวกทหารเชื่อมั่นในศักยภาพของตัวเองว่าประเทศตนยิ่งใหญ่จนสามารถสยบโลกได้ รัฐบาลญี่ปุ่นเริ่มปรับค่านิยมทางการศึกษา ให้เด็ก ๆ ท่องจำว่า  “สมเด็จพระจักรพรรดิคือบิดาของชาวญี่ปุ่น และเราต้องมีหน้าที่จงรักภักดีต่อสมเด็จพระจักรพรรดิ” เริ่มเกิดการขยายอำนาจทางการทหาร ล่าอาณานิคมตามแบบชาติตะวันตก แถมตัวสมเด็จพระจักรพรรดิฮิโรฮิโตะก็ทรงมองว่าสงครามเป็นสิ่งจำเป็น

เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 เริ่มต้นขึ้นเมื่อเยอรมนีบุกโปแลนด์ ตามด้วยสงครามหาเอเชียบูรพาในทวีปเอเชีย ช่วงปลายของการต่อสู้ กองทัพอเมริกันโต้กลับกองทัพญี่ปุ่นที่โจมตีมาลายา สิงคโปร์ และฮ่องกง เมืองอาณานิคมของอังกฤษด้วยการยกพลขึ้นบกทางตอนกลางของโอกินาวะในวันที่ 1 เมษายน 1945

พลเรือเอกเรย์มอนด์ สปรูแอนซ์ ร่วมกับกองทัพบกสหรัฐฯ รวมแล้วกว่าห้าแสนนาย เข้ามายังโอกินาวะ แบ่งกำลังพลเป็นสองกองบุกทางเหนือและใต้ ส่วนกองทัพญี่ปุ่นทำสงครามในโอกินาวะทั้งที่รู้ทั้งรู้ว่าสุดท้ายต้องพ่ายแพ้ เรือประจัญบานยามาโตะที่แข็งแกร่งของญี่ปุ่นไม่มีการคุ้มกันทางอากาศและถูกเครื่องบินรบของสหรัฐยิงถล่มจนล่ม

อย่างไรก็ตาม กองทัพญี่ปุ่นยังสู้ต่อเพื่อถ่วงเวลาไม่ให้อเมริกาเข้ามาตั้งฐานบัญชาการในโอกินาวะหรือรุกคืบไปยังพื้นที่อื่นด้วยการใช้ประโยชน์จากการรู้จักพื้นที่ที่ดีกว่า ซ่อนตัวอยู่ตามถ้ำ ใช้ประโยชน์จากชาวโอกินาวะที่ทหารญี่ปุ่นไม่ได้รู้สึกผูกพันหรือรู้สึกว่าเป็นประชาชนชาวญี่ปุ่นที่ต้องปกป้องเท่าไหร่นัก

‘นาคาซาโกะ’ เล่าเรื่องราวจำไม่ลืมจากยุทธการโอกินาวะแก่นักข่าวหนังสือพิมพ์ ‘เซาท์ไชน่า มอร์นิ่งโพสต์’ ว่า ทหารญี่ปุ่นหลอกให้เด็ก ๆ พยาบาล และชาวบ้านเดินออกจากที่ซ่อน เพื่อให้คนเหล่านี้รับกระสุนแทน เป็นเหยื่อล่อทำให้ทหารญี่ปุ่นรู้ว่าพลซุ่มยิงของอเมริกันซ่อนตัวอยู่ตรงไหนบ้าง แล้วจะให้ประชาชนยกโทษให้ คิดง่ายไปหรือเปล่า ?

นอกจากนี้เธอยังเล่าอีกว่าทหารญี่ปุ่นปล่อยข่าวลือถึงการกระทำชั่วร้ายของทหารอเมริกัน บอกกับชาวบ้านว่าทหารฝรั่งจะข่มขืนชาวบ้านคนญี่ปุ่นเมื่อเสร็จกิจก็เผาร่างไม่ใช้แล้วทั้งเป็น ทำให้ชาวโอกินาวะหลายร้อยคนยอมฆ่าตัวตายด้วยระเบิดมือที่ทหารญี่ปุ่นมอบให้ชาวบ้านกับคำอ้างว่า “ไว้ใช้ป้องกันตัวเมื่อเจอกับทหารอเมริกัน”

‘ทาเคจิโร่ นากามูระ’ ชาวบ้านโอกินาวะเคยเจอกับทหารอเมริกันเคยเล่าเรื่องข่าวลวงโลกของกองทัพญี่ปุ่นทำให้เขาสูญเสียครอบครัว แม่ของเขารัดคอน้องสาว สังหารลูกคนเล็กของบ้านเพราะไม่อยากให้ทหารอเมริกันจับตัวเธอไปข่มขืนแล้วเผา ทั้งที่จริงเมื่อนากามูระพบทหารฝรั่ง พวกเขาเพียงแค่ตรวจค้นอาวุธแถมมอบบุหรี่ให้กับเขาด้วย

สาเหตุที่กองทัพญี่ปุ่นไม่รู้ผูกพันกับชาวโอกินาวะหรือไม่เกิดความรู้สึกว่าต้องปกป้องช่วยเหลือเหมือนชาวญี่ปุ่นเมืองอื่น ๆ นั้นเป็นเพราะ โอกินาวะหรืออาณาจักรริวกิวเพิ่งถูกเปลี่ยนจากแคว้นมาเป็นจังหวัดหนึ่งในประเทศญี่ปุ่นเพียงแค่ไม่กี่สิบปีเท่านั้น (เริ่มตั้งแต่ปี 1879) แถมยังบังคับให้ชาวโอกินาวะเริ่มใช้ชีวิตตามแบบชาวญี่ปุ่นดั้งเดิมและบังคับให้ละทิ้งเรื่องราวกับวัฒนธรรมของตัวเอง

สมรภูมิโอกินาวะเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน ถึงวันที่ 22 มิถุนายน 1945 สร้างความทรงจำปวดร้าวไม่มีวันลืมแก่ชาวโอกินาวะ มีเด็กผู้หญิงจำนวนมากซ่อนตัวอยู่ในถ้ำ บางคนโดนหลอกให้ออกไปเดินเพื่อล่อเป้า บางคนฆ่าตัวตายเพราะไม่ยอมเสียศักดิ์ศรีถูกพวกข้าศึกจับไปเป็นเชลย อดทนหิวโซยอมกิแม้กระทั่งฉี่ของตัวเอง แม้กองทัพสหรัฐฯ พยายามยื่นข้อเสนอให้กองทัพญี่ปุ่นยอมจำนนแต่พวกเขาไม่สนสู้จนตัวตาย สุดท้ายการต่อสู้ที่โอกินาวะมีผู้เสียชีวิตทั้งทหารญี่ปุ่น ทหารอเมริกัน และพลเรือนรวมทั้งหมด 200,656 คน

 

จากพระเจ้ากลายเป็นคนธรรมดา

หลังการพ่ายแพ้แบบหมดรูป สถานะของสถาบันที่สูงที่สุดของญี่ปุ่นต้องสั่นคลอน บทบาทของจักรพรรดิเข้าขั้นวิกฤต ยิ่งซ้ำแผลใหม่ที่เพิ่งฉีกด้วยการเข้ามาของนายพลดักลาส แมคอาเธอร์ (Douglas MacArthur) ผู้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการยึดครองประเทศญี่ปุ่น และรับฟังเสียงเรียกร้องจากประเทศฝ่ายสัมพันธมิตรที่ต้องการนำตัวสมเด็จพระจักรพรรดิของญี่ปุ่นมารับโทษ

แมคอาเธอร์เป็นชายมองการณ์ไกล เขาคิดว่าตัวของสมเด็จพระจักรพรรดิญี่ปุ่นจะเอื้อประโยชน์บางอย่างกับสหรัฐฯ ภายหลัง (สุดท้ายก็จริงอย่างที่แมคอาเธอร์คาดการณ์ไว้ สถาบันกษัตริย์ของญี่ปุ่นมีส่วนช่วยสกัดกั้นลัทธิคอมมิวนิสต์จากรัสเซียช่วงสงครามเย็น) และเขาเป็นส่วนสำคัญทำให้สมเด็จพระจักรพรรดิฮิโรฮิโตะไม่ได้เป็นอาชญากรสงคราม

แมคอาเธอร์ผลักดันให้ญี่ปุ่นร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เรียกว่า รัฐธรรมนูญหลังสงคราม (Post-war Constitution) ในปี 1947 พร้อมตรวจสอบเนื้อหาของรัฐธรรมนูญฉบับนี้อย่างเข้มข้น จนสุดท้ายได้เนื้อหาคร่าว ๆ ที่ลดบทบาทของจักรพรรดิให้กลายเป็นเพียงสัญลักษณ์ของรัฐและประชาชน หมดสิ้นอำนาจอธิปไตยที่เคยมี พร้อมกับยุบกองทัพญี่ปุ่นลง

แม้ว่าสมเด็จพระจักรพรรดิจะรอดจากการถูกตราหน้าว่าเป็นอาชญากรสงคราม แต่มุมมองของประชาชนในประเทศที่มีต่อจักรพรรดิเริ่มเปลี่ยนไป ประเทศญี่ปุ่นเริ่มมีอุดมการณ์ทางการเมืองที่เรียกว่า “ประชาธิปไตยเสรีนิยม” เข้ามาสั่นคลอนความเชื่อดั้งเดิมของผู้คน

แต่เดิมพวกเขาถูกสอนมาตลอดว่าจักรพรรดิคือพระเจ้า เป็นผู้มีสิทธิกำหนดชะตาชีวิตของประชาชน พระองค์เป็นส่วนหนึ่งที่พาประเทศเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 พร้อมกับสร้างความมั่นใจว่าจะต้องคว้าชัยมาได้อย่างแน่นอน หรือถ้าพลาดพลั้งทหารญี่ปุ่นในสมรภูมิเตรียมคว้านท้องตัวเองตายเพื่อสมเด็จพระจักรพรรดิ

สุดท้ายทุกอย่างกลับไม่เป็นดั่งใจคิด ญี่ปุ่นแพ้สงคราม คนตายไม่หวนคืน บ้านเมืองพังเหลือแต่ซาก พวกเขาหลายคนรู้สึกว่าถูกหลอกมาโดยตลอด มุมมองของประชาชนเริ่มเปลี่ยนแปลงไปทีละน้อยจากการแพ้สงคราม เริ่มรู้จักกับประชาธิปไตยอีกครั้งหลังจากรัฐบาลพลเรือนทั้งพรรคริคเคนเซนยูไกกับพรรคริคเคนมินเซโตะพยายามรักษาไว้ในสมัยไทโซ

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สมเด็จพระจักรพรรดิฮิโรฮิโตะออกงานสังคมน้อยลงกว่าเดิมมาก พระองค์เสด็จไปยังหลายพื้นที่เพื่อแสดงความขอโทษอย่างใจจริงแก่ประชาชนชาวญี่ปุ่น แสดงถึง ‘ความเป็นมนุษย์’ มากขึ้น งดแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ไม่ทำตัวเป็นรัฐธรรมนูญอีกต่อไปแต่ประกาศจะปฏิบัติตนตามกรอบรัฐธรรมนูญ กลายเป็นเพียงสัญลักษณ์ของประเทศอย่างแท้จริง การลดบทบาทนี้ทำให้ประชาชนจำนวนไม่น้อยรู้สึกเห็นอกเห็นใจสมเด็จพระจักรพรรดิ และภาพลักษณ์ใหม่นี้ทำให้ชาวโลกไม่มีวันได้เห็นสมเด็จพระจักรพรรดิฉลองพระองค์ด้วยชุดทหารอีกเลย

“พวกเราจะไม่มีวันลืมความโหดร้ายจากโฆษณาชวนเชื่อที่ยกย่องการรุกรานด้วยกำลังทหารพาพวกเราเข้าสู่สงคราม”

ข้อความข้างต้นถูกเขียนบอกเล่าความขมขื่นไว้ในหนังสือแนะนำพิพิธภัณฑ์อนุสรณ์สถานแห่งสันติภาพฮิเมยูริ เปิดให้ประชาชนเข้าชมอย่างเป็นทางการเมื่อปี 1989 วันเดียวกับวันรำลึกผู้เสียชีวิตจากสมรภูมิโอกินาวะ เนื้อหาในพิพิธภัณฑ์มีการกล่าวโทษสมเด็จพระจักรพรรดิฮิโรฮิโตะ นำเสนอมุมมองอันโหดร้ายที่ชาวโอกินาวะพบเจออย่างไม่ปกปิด เรื่องราวในพิพิธภัณฑ์จะเล่าประสบการณ์อันน่าเศร้าไม่มีวันลืม เพื่อย้ำเตือนถึงความโหดร้ายของกองทัพญี่ปุ่นและความอัปลักษณ์ของสงครามที่ทำให้มนุษย์สูญสิ้นความเป็นคน

นักประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นต่างให้ความสนใจกับการเปลี่ยนแปลงอันน่าตื่นตะลึงของญี่ปุ่น เพราะการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้เห็นญี่ปุ่นในแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน คนไม่ได้มองว่าสมเด็จพระจักรพรรดิเป็นพระเจ้าผู้มีอำนาจสูงสุดอีกต่อไป

ราชวงศ์ระมัดระวังตัวและการกระทำมากขึ้น พร้อมกับมองว่าหากวันนั้นสหรัฐฯ ยอมให้สมเด็จพระจักรพรรดิฮิโรฮิโตะเป็นอาชญากรสงคราม ญี่ปุ่นคงไม่เป็นอย่างทุกวันนี้ และเกิดเป็นการปรับตัวเข้ากับยุคสมัยของ ‘คนลูก’ หรือสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะองค์ถัดมามีท่าทีอ่อนน้อมเป็นมิตร แถมพระองค์ยังมาเยือนที่โอกินาวะบ่อยครั้งทำให้เหยื่อสงครามรู้สึกโกรธเคืองราชวงศ์น้อยลง ทิ้งไว้เพียงบทเรียนสำคัญที่ว่า

“จักรพรรดิอยู่ได้เพราะประชาชน ถ้าไม่มีประชาชนหรือขาดการสนับสนุนของพวกเขา จักรพรรดิก็อยู่ไม่ได้”

 

SOURCE: 1 / 2 /3 /4
Edwin P. Hoyt (1992). Hirohito : the emperor and the man
Daikichi Irokawa (1995). The age of Hirohito: in search of modern Japan

TOIISAN
WRITER: TOIISAN
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line