World

NIHON STORIES: ไขความลับ “JAPANESE MINIMALISM” ใคร ๆ ก็เป็นชาวมินิมัลตัวพ่อได้จริงหรือ?

By: TOIISAN December 9, 2020

“กูอยากแต่งตัวแต่งบ้านแบบมินิมัลว่ะ แล้วไม่ใช่มินิมัลแบบธรรมดาด้วยนะ กูจะแต่งมินิมัลแบบญี่ปุ่น” วลีนี้คือสิ่งที่พวกเราชาว UNLOCKMEN เคยได้ยินมากกว่าหนึ่งครั้ง เวลาพูดถึงแฟชั่นแบบมินิมัล (Minimal) ไปจนถึงการแต่งบ้านสไตล์มินิมัล ชาติแรกที่คนส่วนใหญ่จะต้องนึกถึงความมินิมัลมักเป็นประเทศญี่ปุ่นเสมอ จนพานให้พวกเราสงสัยว่า ไอ้หนุ่มที่บอกว่าอยากแต่งตัวแต่งบ้านมินิมัลสไตล์ญี่ปุ่น มันเป็นมินิมัลแบบเดียวกับที่คนอื่น ๆ เข้าใจหรือไม่ แล้วที่มาของการทำให้คนญี่ปุ่นกลายเป็นต้นแบบของความเรียบโก้ มันเริ่มมาตั้งแต่เมื่อไหร่กันแน่

มินิมัล หรือ มินิมัลลิสม์ (Minimalism) ในแง่ของศิลปะคือสุนทรียศาสตร์ที่ว่าด้วยความเรียบง่าย เกิดขึ้นโดยบางกลุ่มบางคนในช่วงยุค 50-60s ที่เบื่อกับศิลปะสไตล์ Abstract แบบสุด ๆ รู้สึกหงุดหงิดงุ่นง่านกับความยุ่งเหยิงฉูดฉาดเต็มไปด้วยสีสันจนไม่รู้จะโฟกัสตรงไหนก่อน (บางคนคิดแบบนี้จริง ๆ) จนทำให้พวกเขาต้องผลิตผลงานหรือบางสิ่งที่สบายตามากกว่าออกมาเสพกันเอง บางคนนำความเรียบง่ายมาจากจิตรกรรมนามธรรมแบบเรขาคณิต มุ่งหน้าเข้าหาความเรียบง่าย อยู่กับธรรมชาติมากขึ้น และตัดทอนสิ่งที่ไม่จำเป็นออกไปเสีย

แต่หากพูดถึงมินิมัลในแง่ของแฟชั่น ดีไซน์ หรือการตกแต่งบ้าน สิ่งที่คนไทยจะคุ้นเคยคือมินิมัลแบบญี่ปุ่น อาจเป็นเพราะประเทศไทยอยู่ในทวีปเดียวกับญี่ปุ่น มีความใกล้ชิดรู้จักกับมินิมัลญี่ปุ่นมากกว่ามินิมัลแบบอื่น ๆ และนอกจากญี่ปุ่นที่คนไทยส่วนใหญ่นึกถึง อีกที่ที่หนีไม่พ้นคือความเรียบง่ายแบบสแกนดิเนเวีย ชาวมินิมัลทุกโลกต่างให้ความสำคัญกับวัตถุดิบไม่น้อยไปกว่าสไตล์ พวกเขาจะพยายามเลือกเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ข้าวของเครื่องใช้ที่ทำจากวัสดุธรรมชาติที่สะอาดตา มีกรรมวิธีสร้างที่เรียบง่ายไม่ซับซ้อน ปราศจากการปรุงต่างมากจนเกินไป

ย้อนกลับไปยังช่วงเวลาที่พุทธศาสนานิกาย ‘เซน’ ได้รับความนิยมนับถือโดยชาวญี่ปุ่นจำนวนมาก ใจความสำคัญของนิกายเซนคือการปลูกฝังให้ผู้คนเห็นความสำคัญถึงความเรียบง่าย สามารถนำตัวเองอยู่ร่วมกับธรรมชาติมากกว่าวัตถุ ทุกอย่างรอบตัวเราไม่จำเป็นต้องน้อยแต่แค่มีให้พอดีกับความจำเป็นของแต่ละคนก็พอ (ดังนั้น จึงไม่แปลกที่มินิมัลของแต่ละคนจะไม่เท่ากัน)

ประเด็นดังกล่าวคงไม่สามารถดึงดูดชาวญี่ปุ่นจนถูกจริตเหมือนมินิมัลเกิดมาเพื่อควบรวมกับความเป็นญี่ปุ่นได้มากมายถึงขนาดนี้ หากแผ่นดินไม่ได้มีภัยพิบัติทางธรรมชาติบ่อยครั้ง โดยเฉพาะกับแผ่นดินไหวและสึนามิ สอดคล้องกับความคิดที่ว่าคนเราไม่ควรจะมีสิ่งของอะไรมากมาย ปรับตัวให้เข้ากับธรรมชาติเสียจะดีกว่า

ด้วยความคิดที่ว่าอยู่กับธรรมชาติมากกว่าสนใจวัตถุนิยม ประกอบความแคบของบ้านที่ทำให้สีขาวหรือสีครีมที่ช่วยให้บ้านและห้องมีความโปร่งโล่งสบายตา ส่งให้บ้านของชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่มักอิงตามสีธรรมชาติอย่างสีขาว สีครีม สีน้ำตาล ออกแบบให้เป็นบ้านเรียบ ๆ ไม่มีลวดลายโดดเด่นฉูดฉาด เน้นความรู้สึกสบายตาทำให้จิตใจสงบ จนกลายเป็นว่าวัตถุประสงค์แรกเริ่มทำให้ได้ดีไซน์ที่เรียบง่ายและได้รับความนิยมทั้งในญี่ปุ่นรวมถึงทั่วโลกจนกลายเป็นภาพจำไปเสียแล้ว

แฟชั่นของชาวมินิมัลไม่มีอะไรซับซ้อน ทุกอย่างเป็นไปตามธรรมชาติ สิ่งที่ต้องมีคือเสื้อสีพื้นเรียบ ๆ ไร้ลวดลาย ตัดทอนสิ่งที่คิดว่าไม่จำเป็นออกไปให้หมด บางคนมองว่าเสื้อบางตัวไม่จำเป็นต้องมีกระดุมหรือซิป ก็เลยมักสวมแต่เสื้อที่ไม่มีกระดุมและซิป ไม่เน้นสีสันฉูดฉาด หนักไปทาง ขาว ดำ เทา กางเกงบางตัวมีกระเป๋าอยู่หลายที่ (นึกถึงกางเกงทหารหรือกางเกงชาวสตรีต) ชาวมินิมัลบางคนก็มองว่าช่องกระเป๋าของกางเกงตัวนั้นจะเยอะไปไหน เลยหันไปซื้อกางเกงที่มีกระเป๋าแค่ช่องละข้าง นอกจากนี้ เครื่องแต่งกายทั้งเสื้อและกางเกงจะต้องไม่หลวมหรือฟิตจนเกินไป ทุกอย่างต้องพอดีตามหลักการมินิมัลทุกกระเบียดนิ้ว

นอกจากไลฟ์สไตล์ ความเชื่อทางศาสนาที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิต ภูมิประเทศที่เล็กและเกิดภัยพิบัติบ่อย ทั้งหมดหล่อหลอมให้ชาวญี่ปุ่นมีอะไรบางอย่างที่เรียกได้ว่ามินิมัลแบบเฉพาะตัว รวมถึงแบรนด์ต่าง ๆ ของญี่ปุ่นที่ชูประเด็นสินค้าและผลิตภัณฑ์ตัวเองในรูปแบบ ‘น้อยแต่มาก เรียบแต่โก้ เน้นประโยชน์ใช้สอย’ ยกตัวอย่างง่าย ๆ เช่น มูจิ และยูนิโคล่ โลกทุนนิยมและการเกิดขึ้นของแบรนด์ที่ชูประเด็นเหล่านี้ก็เป็นส่วนเสริมที่ทำให้ความมินิมัลของญี่ปุ่นเป็นที่รู้จักไปทั่ว

การจะเป็นมินิมัลไม่มีอะไรยาก คนเราสามารถปรับเปลี่ยนรสนิยมได้ตามความชอบ ความเชื่อ และสภาพแวดล้อม ชาวมินิมัลส่วนใหญ่ต่างบอกเป็นเสียเดียวกันว่า การที่บ้านรก ข้าวของกระจัดกระจายไร้ระเบียบ ส่งผลต่ออารมณ์และความรู้สึกของพวกเขามากพอสมควร บางคนเห็นของระเกะระกะก็พานให้ไม่อยากทำอาหาร บางคนเห็นของแต่ละหมวดถูกสุม ๆ รวมกัน ก็ชวนให้รู้สึกหงุดหงิด การใช้ชีวิตอยู่กับมินิมัลมาตั้งแต่แรก พฤติกรรมการใช้ชีวิตเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เราเริ่มชอบดีไซน์ แฟชั่น หรือบ้านที่สบายตา และรู้ตัวอีกทีก็กลายเป็นชาวมินิมัลตัวพ่อไปเสียแล้ว

มินิมัลไม่ได้จำกัดอยู่แค่สไตล์ แฟชั่น การใช้ชีวิตหรือการแต่งบ้านเท่านั้น แต่ยังคงแผ่ขยายวัฒนธรรมไปจนถึงการกินของชาวญี่ปุ่น ชาวญี่ปุ่นมินิมัลตัวพ่อหรือตัวแม่ มักชินกับการกินอาหาร 3 มื้อ และหากใครเคยไปญี่ปุ่นแล้วสังเกตมองสองฝั่งข้างทาง หากไม่ใช่นักท่องเที่ยวแบบเรา ๆ คนญี่ปุ่นที่เป็นมินิมัลเต็มตัวมักไม่กินขนมหรืออาหารระหว่างเดิน เพราะจะถือว่าไม่สุภาพ และชาวมินิมัลก็จะไม่กินข้าวจนอิ่มเกินไป (แอบจิกกัดวัฒนธรรมคนไทยที่ชื่นชอบการกินบุฟเฟต์พอสมควร)

สรุปง่าย ๆ ชาวญี่ปุ่นแรกเริ่มอาจไม่ได้หลงใหลความเป็นมินิมัลด้วยดีไซน์ แต่เน้นคำนึงถึงประโยชน์ใช้สอยมากกว่า เน้นแต่ข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็น อะไรที่ไม่จำเป็นก็ไม่ต้องซื้อเข้ามาหรือว่าต้องตัดใจทิ้งไปเสีย ประกอบกับมินิมัล (ในช่วงแรกที่ยังไม่ได้รับความนิยมจนกลายเป็นแฟชั่น) เป็นสไตล์ที่ไม่ต้องใช้ค่าใช้จ่ายเยอะ แต่กลับเต็มไปด้วยความเท่ เรียบ มีระเบียบ น้อยแต่มาก ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือเป็นผลพลอยได้ที่น่าอัศจรรย์ใจเท่านั้นเอง
.

Source : 1 / 2
Source Photo : 1 / 2 / 3 / 4

TOIISAN
WRITER: TOIISAN
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line