Business

“อรพิณ ยิ่งยงพัฒนา”จากคนไม่อยากทำงานบริหาร สู่การเป็นบก.บริหาร The MOMENTUM

By: PSYCAT February 15, 2018

ในสมรภูมิคอนเทนต์ออนไลน์ที่ฟาดฟันกันอย่างดุเดือดชื่อของสื่อออนไลน์อย่าง The MOMENTUM เป็นอีกชื่อที่เด่นชัดขึ้นมา แต่ภายใต้ความเชื่อที่ว่าข่าวหรือคอนเทนต์ออนไลน์ต้องไว ต้องจัดจ้านและดึงดูด “นิ้ว-อรพิณ ยิ่งยงพัฒนา” บรรณาธิการบริหาร The MOMENTUM กลับยืนยันหนักแน่นว่า “ต้องคิดตลอดว่าถ้าเราเขียนอะไรไปในวันนี้มันอาจจะถูกแชร์ไปในวันอื่นก็ได้ แล้วเราต้องคิดว่าถ้ามันถูกแชร์ไปในวันอื่น คอนเทนต์จะต้องยังอ่านได้”

คอนเทนต์ออนไลน์ของ The MOMENTUM จึงไม่ได้ว่าด้วยความไว แต่เป็นคอนเทนต์ที่ออกมาเร็วปานกลาง แต่หนักแน่น เข้มขม เต็มไปด้วยการตั้งคำถามและเปิดกว้างชวนให้คิดตาม แถมมีน้ำเสียงเฉพาะตัวภายใต้ฝีมือบรรณาธิการบริหารอย่าง “นิ้ว-อรพิณ ยิ่งยงพัฒนา”

UNLOCKMEN ใช้โอกาสนี้พูดคุยกับเธอในวันที่สื่อออนไลน์ถูกตั้งคำถามว่าฉาบฉวยจริงไหม? มาไวแล้วจะไปไวด้วยจริงหรือเปล่า? ในวันที่ The MOMENTUM ถูกทิ้งไปและเธอตั้งใจว่าจะไม่ทำงานบริหารแล้วอะไรทำให้เธอเลือกเดินเข้ามา?

ในฐานะบรรณาธิการบริหาร เราคิดว่า The MOMENTUM ในปัจจุบัน ทั้งภาพลักษณ์ ตัวตน วิธีคิด เมื่อเทียบกับ The MOMENTUM เดิม มันเติบโตเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง

เราค่อนข้างเปลี่ยนเยอะ แต่ต้องบอกก่อนว่าเราชื่นชมใน The MOMENTUM ตั้งแต่ตั้งต้น ตอนปี 2016 ที่มีทั้ง The MATTER The MOMENTUM เกิดขึ้นพร้อม ๆ กันในปีนั้น เรารู้สึกว่ามันเป็นโฉมใหม่ของหน้าวงการคอนเทนต์ คอนเทนต์มันสนุกขึ้นและรู้สึกว่าสนามของการแข่งขัน เนื้อหาเชิงหนัก ๆ มันกำลังมา

 

ตอนนั้นในฐานะคนอ่าน อย่างที่รู้ว่ามันก็มีเรื่องมีราวที่ทำให้ต้องเปลี่ยนทีมใหม่เข้ามาดูแล นิ้วต้องไขโจทย์ให้ได้ว่าภายใต้เงื่อนไขที่เจอ จะเปลี่ยนมันไปยังไง เราอยากคงความเข้มขมของ The MOMENTUM ให้ยังคงอยู่ แต่คีย์เวิร์ดหนึ่งที่เราปรับมันใหม่ คือจากเดิม The MOMENTUM เรียกตัวเองว่าสำนักข่าว ตอนนี้เราไม่ได้ประกาศตัวว่าเป็นสำนักข่าว เราเน้นบทความเชิงวิเคราะห์ข่าว เพราะความเป็นสำนักข่าวเป็นงานที่สเกลใหญ่มาก โครงสร้างขนาดทีมเราไม่ได้ครอบคลุมทั่วประเทศไทยขนาดนั้น เราไม่ได้มีนักข่าวต่างจังหวัด เราเลยเปลี่ยนจากสำนักข่าวมาเป็น Content Provider ที่มีคอนเทนต์อิงข่าวที่อยู่ในสถานการณ์ แต่เราจะไม่ได้เป็นเจ้าแรกที่จะพูดเรื่องนั้น ๆ

ตัวอย่างเช่น โอปราห์ วินฟรีย์ ได้รางวัลเกียรติยศพิเศษ ในงานเมื่อสองสัปดาห์ที่แล้ว ถ้าเป็นสไตล์ The MOMENTUM จะไม่พูดว่าเธอได้รับรางวัลแล้วก็จบ แต่เราจะหามุมเล่นว่า มันมีกระแสการเคลื่อนไหวอะไร จะพูดว่าเธอพูดอะไรในคืนนั้นที่จับใจคน เราจะไปเล่นกับอะไรอย่างนั้นมากกว่า The MOMENTUM ทำให้ คอนเทนต์แต่ละชิ้นมันน่าอ่าน อ่านแล้วกลมกล่อม ปูพื้นให้ในทุก ๆ ชิ้น

วันที่มี Content Provider และสำนักข่าวออนไลน์ผุดขึ้นมาหลายเจ้า ทั้ง The MATTER, The Standard, The Cloud เราคิดว่าอะไรคืออัตลักษณ์สำคัญที่ทำให้คนเข้ามาอ่าน The MOMENTUM

จุดเด่นเราคือทักษะในการเล่าเรื่อง การปูพื้นฐานในแต่ละเรื่องและการย่อยเรื่องยากให้ง่าย แม้บางชิ้นคนจะยังคอมเมนต์ว่ายากจังเลย (หัวเราะ) แต่คนจะมอง The MOMENTUM เป็นคนที่มีอายุหน่อย ทำงานมาแล้วระดับหนึ่ง ส่วน The MATTER ก็จะรู้สึกถึงความเป็นคนรุ่นใหม่ นอกจากนั้นเราเรียกตัวเองว่าเป็นพื้นที่ของบทความ เราไม่ค่อยที่จะเล่นข่าวเท่าไหร่ เพราะงานแต่ละชิ้นของเรามีสำเนียง น้ำเสียง คือถ้าเราทำข่าวมันจะอยู่ในกรอบอีกอย่างหนึ่ง

ถ้าบทความแต่ละชิ้นของ The MOMENTUM มีสำเนียง น้ำเสียงเป็นของตัวเอง การมีคอลัมนิสต์ที่หลากหลายแต่ต้องมาลงในพื้นที่เราพื้นที่เดียว เรามีวิธีดีลกับน้ำเสียงที่หลากหลายนั้นให้เป็นน้ำเสียงแบบ The MOMENTUM ได้ยังไง

มันมีแก่นที่ดูเป็นตัวเราอยู่ เช่นเราอยากเป็นพื้นที่ที่เปิดกว้าง แต่งานแต่ละชิ้นมันต้องมีอุดมการณ์พื้นฐานที่ไปในทางเดียวกัน เช่น ต้องไม่เชื่อเรื่องการทำลายสิ่งแวดล้อม ถ้าเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อมก็จะไม่เชียร์อุตสาหกรรมหนัก เชียร์พลังงานทดแทน ถ้าเป็นเรื่องการเมืองก็อยากให้มีพื้นที่ ที่เปิดกว้างอะไรแบบนี้

โอเค เราพอจะรู้ว่าคนเขียนที่เราเลือกมาจะเขียนไปในทิศทางเดียวกัน แต่สุดท้ายมันจะมีบทความบางอันที่หลุดออกไปจากน้ำเสียงเรา เรามีวิธีดีลกับบทความแบบนั้นอย่างไร?

เราคิดว่า The MOMENTUM เป็นสื่อหนึ่งที่มีกระบวนการ Edit  ที่ละเอียด หลายคนอาจจะไม่รู้ และคิดว่างานออนไลน์มันไม่ต้องทำอะไรมาก บางชิ้นเราแก้แล้วมาถามคนเขียนว่าเอาแบบนี้หรอ ตรงนี้หมายความว่ายังไง มีข้อมูลรองรับหรือเปล่า เราไม่ได้ทำงานกับคอลัมนิสต์ที่แตะไม่ได้เลย เราลงรายละเอียดและเข้าไปคุยในงานแต่ละชิ้นอย่างจริงจัง

ใช่นะ คนชอบพูดว่าสื่อออนไลน์มันฉาบฉวย งานเร็วไปเลยไม่ละเอียด คิดยังไงกับความคิดแบบนี้

คิดว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นช่วงเปลี่ยนผ่าน และคิดว่าการแข่งกันทำคอนเทนต์ ในสมัยนี้น่าจะสนุกขึ้น ช่วงแรกทุกคนอาจจะตีโจทย์ว่ามันต้องเร็ว ต้องมาก่อนใคร พอมันเป็นออนไลน์แล้วใช่ว่าทุกอย่างต้องเร็วอย่างเดียว ต้องคิดตลอดว่าถ้าเราเขียนอะไรไปในวันนี้มันอาจจะถูกแชร์ไปในวันอื่นก็ได้ แล้วเราต้องคิดว่าถ้ามันถูกแชร์ไปในวันอื่น สามวันให้หลัง คอนเทนต์จะต้องยังอ่านได้ มันไม่ได้อยู้ได้แค่ขณะหนึ่ง มันอาจจะอยู่ได้นานกว่านั้น  ตอนนี้ The MOMENTUM มีสโลแกนว่า STAY CURIOUS, BE OPEN คือเราอาจจะไม่ได้รู้คำตอบสุดท้ายหรอก แต่มันสำคัญมากที่จะตั้งคำถามกับเรื่องต่าง ๆ และคิดต่อยอด แล้วความคิดต่อยอดนี่แหละ มันจะมีทางไปต่อ มีความสร้างสรรค์ตามไป

ตอนนี้ดูเหมือนว่านิ้ว-อรพิณจะเป็นบรรณาธิการบริหารคนเดียวที่เป็นผู้หญิงในแวดวงคอนเทนต์ออนไลน์ตอนนี้ รู้สึกอย่างไร?

เราไม่ค่อยยึดติดเรื่องเพศ เราไม่ได้ทำตัวเป็นผู้หญิงด้วยมั้ง แต่เราเป็นผู้หญิงนะ (หัวเราะ) เราไม่ได้มีคาแรกเตอร์ที่ผู้ชายจะมาเปิดประตูให้ตอนลงรถ ดึงเก้าอี้ให้ตอนกินข้าว

ความเป็นผู้หญิงเป็นอุปสรรค์ไหม หรือมีปัญหาหรือเปล่าสำหรับการเป็นบรรณาธิการบริหาร?

ยังไม่เจอปัญหานะ ชีวิตที่ผ่านมาก็ยังไม่เจอ คือเรียนหญิงล้วนมา มีแต่ผู้หญิงเก่งรอบตัว ก็เลยไม่ค่อยเจอบรรยากาศแบ่งแยกหญิงชาย การทำงานทุกวันนี้ก็ราบรื่นดี

ย้อนกลับไปตอนที่เริ่มมารับช่วง The MOMENTUM ต่อ เรากลัวไหมกับภาพลักษณ์ที่คนภายนอกมองว่าร่อแร่เต็มทน

มันก็ดูน่าเป็นห่วงจริง ๆ แต่ในแง่ความกลัว ไม่ได้กลัวเท่าไหร่ เพราะไม่มีอะไรจะเสีย ตอนเปลี่ยนผ่าน ทีมเขาก็จะย้ายไปอยู่ The Standard กันหมด นิ้วเองก็ไม่ได้มาสวมต่อทันที จะมีทีมงานดั้งเดิมช่วยกันประคับประคองโดยการหาคอลัมนิสต์ข้างนอกมาช่วยกันในช่วงตอนเปลี่ยนผ่าน ประมาณ 1 เดือน ยากมากเหมือนกันช่วงแรก ต้องตีโจทย์ใหม่ และคนยังมองว่า The MOMENTUM เป็นสำนักข่าว รวมถึงรอดูว่า The MOMENTUM จะปรับตัวอย่างไรต่อไป เพราะสำหรับคนข้างนอกการย้ายที่ทำงานหรืออะไรมันไม่ได้เป็นประเด็น ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเขา คือ เขาได้เสพได้อ่านอะไร ตรงนั้นแหละยาก ต้องปรับกับทีมงานนานหน่อย ทุกวันนี้ก็หาโจทย์ ตีโจทย์ใหม่ ไปเรื่อย ๆ ก็ยังรู้สึกไม่ลงตัว แต่เราเชื่อว่าสถานการณ์แบบนี้มันเกิดขึ้นกับสื่อออนไลน์ทุกเจ้า ที่หลาย ๆ คนก็ต้องลองผิด ลองถูกกับคอนเทนต์ไปเรื่อยๆ แต่เราสนุกนะ

ที่บอกว่ายังไม่ลงตัวนี่ไม่ลงตัวยังไงบ้าง?

เรายังอยากเห็นงานที่มีคุณภาพมากขึ้น ในแง่ของจำนวนที่มากกว่านี้ ในความรู้สึกส่วนตัวนะ งานมันน่าจะมีมากขึ้นกว่านี้นิดนึง แต่ตอนนี้ทีมเราก็ยังเล็ก ๆ อยู่ แต่ว่าเราโชคดีที่เรามีเพื่อน เช่น ตอนนั้นเรื่องค่าแรง เราก็ไม่ได้ชำนาญเรื่องนั้นก็ได้เพื่อนที่เป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่ทำเรื่องนี้ได้ เราก็จะใช้วิธีแบบนั้น คือให้เพื่อนมาช่วยวิเคราะห์เรื่องนี้ให้หน่อย

ทีแรกที่มีคนชวนมาทำงานที่ The MOMENTUM อะไรที่ทำให้เราเชื่อว่ามันจะไปต่อได้ และ ทำให้เราเลือกกระโจนลงมา

ก่อนหน้านิ้วจะมาทำที่นี้ นิ้วเป็นคนสนใจงานข่าว งานคอนเทนต์มาแต่ไหนแต่ไร สนใจเรื่องสื่อมาตลอดชีวิต แต่นี่คือการมาทำสื่อเชิงพาณิชย์ครั้งแรก เพราะว่าสมัยเด็ก ๆ เรียนวารสารฯ ธรรมศาสตร์มา ล่าสุดไปเรียนปริญญาโท สาขา Digital media ซึ่งมันก็ตรงมาก แต่งานแรกที่ทำคือที่ Workpoint ซึ่งเป็นงานทีวี ตอนนั้นก็สนุกมาก เราไม่รู้ว่า Production สดมันเป็นยังไง เพียงแต่งานทีวีมันมีข้อจำกัดการเล่าเรื่อง ซึ่งเรามาจากสายบทความเราก็เลยคิดว่างานนี้ไม่ใช่ตัวเราซะทีเดียว สุดท้ายเราก็เปลี่ยน ช่วงนั้นมีไปทำงานกับที่สำนักข่าวภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ว่าไม่ใช่งานลงสนาม

พอมีคนชวนมาให้ทำที่นี่ก็รู้สึกท้าทายมากที่จะได้ลองกับสนามพื้นที่ออนไลน์ ก็อย่างที่บอกเราไม่มีอะไรจะเสีย เราเองก็ไม่ได้มีอีโก้ที่แพ้ไม่ได้ และนี่เป็นเกมที่เราไม่ได้คาดหวังการแพ้ชนะ แต่เราอยู่กับงานสายคอนเทนต์มาและเราเชื่อว่าเมืองไทยมันน่าจะมีคอนเทนต์ที่ดี ๆ เกิดขึ้นและเราอยากมีส่วนร่วมในนั้น

เพราะเราเชื่อว่าคอนเทนต์ออนไลน์มีข้อจำกัดน้อยกว่าการสื่อผ่านโทรทัศน์? ข้อจำกัดในการเล่าเรื่องน้อยกว่า?

ข้อจำกัดน้อยกว่า  อาจจะเป็นเพราะแม้ตอนที่เราเป็นคนอ่าน เราเองก็อ่านบทความขนาดยาวอยู่เลยแม้จะเป็นออนไลน์ เราชอบอ่าน  The New York Times บทความมันก็ยาวนะแต่ก็อยู่ได้ คนก็อ่านจริงจัง แล้วเราก็พบว่าข้อความที่ว่ายาวไปไม่อ่าน คือมันก็ถูกแต่ไม่ทั้งหมด คือถ้ามัวแต่ทำสั้นแล้วเล่าเรื่องไม่ได้ ก็ไม่สนุก ไม่รู้จะพูดว่ายังไง แต่เราไม่อยากจบอยู่แค่ข้อจำกัดนั้น

ในฐานะที่เคยทำสื่อทีวี แล้วหันมาทำสื่อออนไลน์ มันมักจะมีคนพูดว่าสื่อออนไลน์เป็นสื่อใหม่ ส่วนทีวี วิทยุ หนังสือพิมพ์เป็นสื่อเก่า เราคิดว่ามันแบ่งได้ชัดขนาดนั้นจริงไหม

เราคิดว่าช่องทางสื่อแต่ละช่องทางมันบังคับวิธีการเล่าเรื่องอยู่แล้ว อย่างทีวีนี่ก็ต้องกำหนดเวลาที่ชัดเจน ว่ากี่โมง แล้วต้องเสร็จกี่โมง หรือถ้าเป็นหนังสือพิมพ์ กระดาษมีเท่านี้ ประเด็นสำคัญต้องมาก่อน คิดว่าความต่างคือลีลาการเขียนและกฏต่าง ๆ อย่างออนไลน์เราต้องคิดว่าคนที่เลื่อนฟีดมาอ่านอยากเห็นอะไรและอะไรที่จะทำให้เขากดอ่านต่อ มันแค่ต่างกัน แต่ไม่ได้มีอะไรที่แย่กว่ากัน แต่ในแง่ของแก่นซึ่งคือการเกาะประเด็น ประเด็นไหนที่มันคมก็คือดี ซึ่งอันนี้เป็นหัวใจของสื่อทุกประเภทอยู่แล้ว

บทความที่มีความลึก ความจริงจัง มันไปกันได้ในโลกธุรกิจไหม

ถ้าดูจากประสบการณ์ที่ผ่านมาคนก็จะบอกว่าบทความมันไปยากเนอะ (ยิ้ม) แต่เรามองที่ identity ของความเป็น The MOMENTUM เรามีบุคลิกบางแบบอยู่แล้วว่าเราเป็นประคนประเภทไหน แต่ถ้ามอง The MOMENTUM เป็นมนุษย์มันก็จะมีหลากหลายมุมซึ่งคอนเทนต์แนววัฒนธรรม ไลฟ์สไตล์ก็จะดึงดูดเรื่องงานทางธุรกิจได้มากกว่า แต่อย่าลืมว่าถ้าเราไม่มีอัตลักษณ์ มีน้ำเสียงแบบเรา เราก็ไม่รอดต้นแต่ต้น

มีอะไรที่อยากจะ UNLOCK ตัวเองและ UNLOCK ศักยภาพของ The MOMENTUM ไหม

เอาเป็นของ The MOMENTUM ก่อนนะ คือเราเห็นอนาคตที่ดีของโลกออนไลน์ตอนนี้ ในตระกูลของสื่อออนไลน์ใหม่ ๆ ที่ขึ้นมาเยอะเลย ในฐานะคนอ่านก็รู้สึกมีทางเลือกเยอะขึ้น แต่เราคิดว่ามันยังดีขึ้นได้อีกมาก ๆ เนื่องจากเรามีเพื่อนอยู่ในสื่อหัวต่าง ๆ เหล่านี้ เราเห็นถึงความตั้งใจดีของทุกคน ก็เลยเชื่อว่าเนื้อหาที่ลึกขึ้น จะมีให้เห็นมากขึ้น และการแข่งขันในแต่ละเจ้านี่แหละที่เป็นแรงผลักดัน ทำให้เราทำประเด็นต่าง ๆ ให้มันดีขึ้นไปอีก เราคาดหวังให้คนทำงานมีทัศนคติที่ดี ต่อยอดไป แล้วส่งผลดีต่อคนอ่าน

 

PSYCAT
WRITER: PSYCAT
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line