Life

ทำอะไรก็ไม่ดี หรือเราไม่คู่ควรกับความสำเร็จ? วิธีแก้ IMPOSTER SYNDROME ภาวะที่คิดว่าเราไม่เก่งจริง

By: unlockmen September 8, 2021

โลกใบนี้มีความกังวลสารพัดรูปแบบ บางความรู้สึกสามารถคลี่คลายได้ด้วยการจัดการอย่างเป็นระบบ แต่บางความรู้สึกพัฒนาจนเป็นภาวะเรื้อรังที่อาจส่งผลกระทบกับชีวิต หรือนำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิตอื่น ๆ ตามมาได้

ในขณะที่โลกมีคนหลงตัวเอง มีคนที่คิดว่าทำดีเท่าไรก็ยังไม่พอ บนโลกใบนี้ก็มีคนที่ประสบความสำเร็จแล้ว หรือให้ทำอะไรก็ทำได้ไปหมด ดูไม่ติดขัดอะไร แต่ลึก ๆ แล้วพวกเขากลับรู้สึกว่าพวกเขาไม่ได้เก่งจริง ๆ แค่ฟลุคทำได้เฉย ๆ ดังนั้นจึงรู้สึกว่าตัวเองไม่คู่ควรกับความสำเร็จหรือคำชื่นชมที่ได้รับมาเลย

ภาวะแบบนี้มีชื่อเรียกว่า  Imposter Syndrome แม้จะไม่ได้ถูกจัดเป็นอาการป่วย แต่การลดทอนคุณค่าและความสามารถของตัวเองก็บั่นทอนสุขภาพจิตจนทำให้เสียการเสียงานหรือป่วยได้เช่นกัน ดังนั้นอย่ามัวปล่อยให้ความรู้สึกนี้ครอบงำ มาเอาชนะมันไปด้วยกัน

 

“จดบันทึกความสำเร็จ” เพราะทุกชัยชนะ ควรค่าแก่การจดจำ

ในสังคมที่สอนให้เราเอาแต่ถ่อมตัว บางครั้งเราก็ถ่อมตัวตามมารยาท แต่หลายครั้งก็เป็นปฏิกิริยาตอบกลับเหมือนถูกฝังอยู่ในสมอง เวลาใครชมว่าเก่งแล้วต้อง “ไม่หรอกครับ” “ผมไม่เก่งเลย” อยู่ตลอด จนหลายครั้งตัวเราเองก็อาจเชื่อไปด้วยจริง ๆ ว่าเราไม่เก่ง เราอาจแค่โชคดี อาจมีคนช่วย

วิธีการหนึ่งที่จะทำให้เรายอมรับความสำเร็จของตัวเรามากขึ้น คือการจดบันทึกความสำเร็จลงไป โดยความสำเร็จที่ว่าไมจำเป็นต้องรอให้เป็นความสำเร็จใหญ่ ๆ หรือแค่เรื่องหน้าที่การงานเท่านั้น ทุกความสำเร็จล้วนมีความหมาย การจดบันทึกทำให้เราเห็นความสามารถและชัยชนะของเราแต่ละวัน ฝึกให้เราเคารพศักยภาพของตัวเองอย่างสม่ำเสมอ

มากไปกว่านั้นถ้าสามารถจดเป็นสถิติเป็นตัวเลขได้ ก็จะยิ่งทำให้เราไม่รู้สึกว่าเราชมตัวเองลอย ๆ แต่เราทำงานนั้น ๆ แบบมีมาตรฐานจริง

โดยเฉพาะการจดบันทึกความสำเร็จในขณะที่เรามุ่งมั่นทำโปรเจกต์ใหญ่ ๆ จะทำให้เราเห็นกระบวนการทำงานตัวเอง เห็นการเติบโตทีละนิดจากความสำเร็จเล็ก ๆ สู่ความสำเร็จก้อนใหญ่ เมื่อท้ายที่สุดโปรเจกต์ใหญ่ลุล่วงไปด้วยดี เราจะได้ไม่มานั่งสงสัยกับตัวเองอีกว่าเราแค่ฟลุคหรือเปล่า? เพราะบันทึกเหล่านี้เป็นเครื่องยืนยันว่ามันมาจากการลงมือทำอย่างสม่ำเสมอของเราต่างหาก


 “Positive self-talk” อย่าใช้คำพูดทำร้ายตัวเอง

การรู้สึกว่าเราไม่คู่ควรกับความสำเร็จ หรือกลัวว่าคนรอบตัวจะรู้ว่าลึก ๆ แล้วเราเก่งไม่จริง อย่างหนึ่งที่พอบอกได้คือคนรอบตัวเขารู้สึกว่าเราเก่งหรือเขาเชื่อในความสามารถของเรามากพอ แต่ตัวเราเองที่รู้สึกว่าตัวเองไม่เก่งอยู่ซ้ำ ๆ และไม่เชื่อมั่นในศักยภาพที่มี ดังนั้นการสื่อสารกับตัวเองก็สำคัญมาก หากต้องการเอาชนะ Imposter Syndrome ที่บั่นทอนเราอยู่ เราต้องสร้างความเชื่อมั่นจากการสื่อสารกับตัวเอง

Positive self-talk ไม่ได้หมายความว่าให้เราพูดชมตัวเอง อวยตัวเอง หรือพูดในสิ่งที่ไม่เป็นจริง แต่หมายความว่าเมื่อไรก็ตามที่เราพูดกับตัวเอง คิดกับตัวเอง เราต้องไม่ปล่อยให้ความคิดลบ ๆ เหล่านั้นบั่นทอนความเชื่อมั่นของเรา หลายครั้งที่เราแค่ปล่อยมันผ่านไป เพราะเรารู้สึกว่ามันก็แค่สิ่งที่เราคิดอยู่กับตัวเองในใจคนเดียว ไม่เห็นเป็นอะไรเลย แต่จริง ๆ การสื่อสารระดับตัวตนก็ส่งผลอย่างมากต่อสิ่งที่เรารู้สึกเกี่ยวกับตัวเอง

ดังนั้นทุกครั้งที่มีความคิดในแง่ลบออกมา เช่น “โห งานนี้ทำไมหัวหน้าเขาเชื่อว่าเราจะทำได้วะ? เราทำไม่ได้หรอก มีคนเก่งกว่าตั้งเยอะ” เราไม่ต้องถึงขั้นพลิกว่า เราทำได้ ๆ ๆ จนถึงขั้นรู้สึกว่าคำพูดนี้ไม่จริง แต่ลองปรับเป็น “งานนี้มันไม่ง่ายเลย แต่การที่หัวหน้าไว้ใจมอบหมายให้แปลว่าเขาอาจเห็นอะไรบางอย่างในตัวเรา งั้นเราก็มาพยายามเต็มที่ไปด้วยกันดีกว่า”

แรก ๆ มันอาจไม่ใช่เรื่องง่ายการจดบันทึกความสำเร็จในข้อแรกจึงจะมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้เราทบทวนศักยภาพของตัวเอง ความสม่ำเสมอของตัวเอง เพื่อให้เราสามารถบอกตัวเองได้ว่าเราไม่ได้แย่อย่างที่เราล่อลวงให้ตัวเองเชื่อ


สิ่งที่เรารู้สึกแย่ เป็นความรู้สึกหรือข้อเท็จจริง? “ถ้าเราแย่จริง เรายิ่งต้องแก้ไข”

ภาวะที่รู้สึกว่าตัวเองเก่งไม่พอ หลายครั้งเป็นเพียงความรู้สึกลอย ๆ ที่เราใช้กดข่มตัวเองไว้ เช่น พูดลอย ๆ ว่าทำไม่ได้หรอก คนนั้นเก่งกว่าเขาน่าจะทำได้ดีกว่านะ ไม่อยากทำเลยเดี๋ยวคนอื่นจะรู้หมดว่าเราไม่เก่งจริง หรือ ที่ทำมาได้เพราะโชคเข้าข้างต่างหาก

เมื่อไรก็ตามที่เราเผลอคิดเรื่องทางลบกับตัวเอง เราต้องพยายามแยกส่วนออกมาให้ได้ว่าที่เราคิดหรือพูดออกมานั้นเป็นเพียงความรู้สึก หรือข้อเท็จจริง เช่น ถ้าเรารู้สึกว่าโปรเจกต์งานล่าสุดที่เพิ่งสำเร็จไป ไม่ใช่เพราะความสามารถของเรา ถ้าอย่างนั้นเป็นเพราะอะไร? บางครั้งเราหาคำตอบไม่ได้ด้วยซ้ำ นั่นอาจหมายความว่าเรากำลังบั่นทอนตัวเองด้วยความรู้สึกไม่คู่ควร แต่ไม่ใช่ข้อเท็จจริง

ในขณะที่ถ้าเราพิจารณาแล้วพบว่ามันมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้นจริง หรือมีบางสิ่งที่เรารู้สึกว่ามันสามารถทำดีกว่านี้ได้อีก ก็แปลว่าเรายังเรียนรู้ได้ แก้ไข้ได้ และพัฒนาในครั้งต่อ ๆ ไปได้ ในกรณีที่เราไม่แน่ใจว่าเราคิดไปเองไหม หรือเราพลาดอะไรตรงไหนที่เรามองข้ามไปหรือเปล่า การขอฟีดแบคจากหัวหน้างานหรือเพื่อนร่วมงานอย่างตรงไปตรงมาก็ช่วยทำให้เราเห็นภาพชัดขึ้น

อย่างน้อยที่สุดการพยายามแยกแยะระหว่างข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นจริง กับความรู้สึกที่เราทำร้ายตัวเอง ก็จะทำให้เราเห็นว่าถ้าเป็นความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจริง เราแก้ไข และเรียนรู้ใหม่ได้เสมอ ในขณะที่ถ้าเป็นความคิดที่บั่นทอนความเชื่อมั่นตัวเองมีแต่จะทำร้ายเราโดยไม่มีข้อเท็จจริงร่วมด้วยเลยแม้แต่น้อย


ชีวิตไม่เคยเป็นเรื่องง่าย แต่ละวันเต็มไปด้วยความท้าทายใหม่ ๆ อยู่เสมอ หลายครั้งเราต้องการความร่วมมือจากคนรอบข้างเพื่อให้ทุกอย่างผ่านไปได้ด้วยดี แต่หลายครั้งถ้าเราเองไม่เริ่มต้นที่การเชื่อมั่นในศักยภาพและความสามารถตัวเองก่อน ก็ยากที่ก้าวไปเผชิญกับหลาย ๆ สิ่งได้

ไม่แปลกที่เราอยากพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นในแต่ละวัน แต่การคอยกดตัวเองว่าเก่งไม่จริง แล้วไม่ลงมือทำอะไรเลย อาจบั่นทอนตัวเรากว่าที่คิด ดังนั้นพยายามแก้สิ่งที่ทำร้ายเรา แล้วลงมือพัฒนาตัวเอง เชื่อมั่น และใจดีกับตัวเองเข้าไว้ เพราะโลกใบนี้มีคนใจร้ายกับเรามากพอแล้ว

 

unlockmen
WRITER: unlockmen
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line