Business

ร้านหนังสือตายไม่มีปัญหา ตราบที่คนยังอ่าน คุยกับ “แป๊ด-ดวงฤทัย”เจ้าของร้านหนังสือก็องดิด

By: PSYCAT February 22, 2018

ในวันที่ (เขาว่ากันว่า) หนังสือกำลังจะตายและร้านหนังสือหลายร้านทยอยปิดตัวไปอย่างเงียบเชียบ ราวกับว่าลมหายใจสุดท้ายของหนังสือกำลังรวยริน แต่ร้านหนังสืออิสระหลายร้านก็ยังคงยืนเด่นด้วยอัตลักษณ์ ด้วยวิธีคิดที่ชัดเจนว่าร้านหนังสือต้องไม่ใช่แค่พื้นที่ซื้อ-ขายหนังสือ แต่ต้องมีลมหายใจ มีชีวิต มีพื้นที่ให้ผู้คนเชื่อมโยงอยู่ในนั้นด้วย

UNLOCKMEN เลยถือโอกาสนี้คุยกับ “แป๊ด-ดวงฤทัย เอสะนาชาตัง” เจ้าของ candide books (ร้านหนังสือก็องดิด)  ที่ก็เชื่อเช่นนั้น เชื่อเช่นว่าหนังสือจะไม่ตาย ร้านหนังสือจะไม่ตายเช่นกันตราบใดที่เชื่อมโยงกับผู้คน และต่อให้วันหนึ่งร้านหนังสือต้องตายลง เธอก็ไม่ได้ว่าอะไรตราบใดที่ผู้คนยังคงอ่านอยู่ แต่ถ้าถามว่าเธอเชื่อมั่นในการเป็นคนทำหนังสือแค่ไหน เธอก็ตอบเราได้เต็มปากเต็มคำว่า “ทุ่มให้ทั้งชีวิต ไม่เคยคิดถึงอย่างอื่นเลย” แล้วอย่างนี้จะอดใจไม่ให้อยากคุยกับเธอได้อย่างไร…

ทำงานเกี่ยวกับหนังสือมาตลอดเลยไม่ว่าจะเป็นกองบรรณาธิการ ทำสำนักพิมพ์ ร้านหนังสือ อะไรทำให้เราเชื่อในการทำงานกับหนังสือได้ขนาดนั้น

พี่ไม่สามารถทำอะไรทีไม่เกี่ยวข้องกับหนังสือได้ ตั้งแต่พี่เรียนจบมา งานแรกก็ทำนิตยสาร จากนั้นทำพ็อคเก็ตบุ๊ค จนสุดท้ายก็มาทำสำนักพิมพ์เอง ก่อนจะมาทำร้านหนังสือ พี่ก็คิดไม่ออกเลยว่าจะทำอาชีพอื่นได้ มีอาชีพเดียวที่เราอยากทำ ตั้งแต่มัธยม  ก็มาทางนี้ตลอดไม่เคยไปทางอื่นเลย

ถ้าถามว่าเชื่อมั่นไหม ก็ทุ่มทั้งชีวิตไม่ได้คิดถึงอย่างอื่นเลย ที่บ้านอยากให้ทำงานราชการเพราะที่บ้านเป็นคนต่างจังหวัด ป๊าก็จะถามตลอดว่าไม่ทำราชการเหรอ แต่พอเราทำจนเลี้ยงตัวเองได้ และส่งเงินกลับไปที่บ้านได้ด้วย เขาก็เห็นว่า อ้าว มันก็ทำได้นี่หว่า อาชีพแบบนี้

ถึงจะทำงานกับหนังสือเหมือน ๆ กัน ในมุมมองเราการเป็นเจ้าของร้านหนังสือ เป็นกองบรรณาธิการ เป็นนักเขียน มันแตกต่างกันอย่างไร

แตกต่างกันมากคือพี่ไม่ได้เขียนหนังสือเป็นหลัก อาจจะยังเรียกว่านักเขียนไม่ได้ อาจมีไปร่วมแจมนิดหน่อย พี่เรียกตัวเองว่าเป็นคนทำหนังสือมากกว่า ทีนี้คนทำหนังสือมันก็จะติดต่อกับคนไม่มาก ต้องติดต่อกับนักเขียนเป็นหลัก ทำ Artwork ทำโรงพิมพ์ซึ่งเป็นงานเบื้องหลัง เราอยู่หน้าจอคอม โทรคุยกับคนนั้นคนนี้ นัดคุยงานกัน อยู่เบื้องหลังจนคนแทบไม่รู้ว่าบรรณาธิการทำอะไร

แต่พอมาทำร้านหนังสือ มันต้องออกข้างหน้า แล้วยิ่งร้านหนังสืออิสระเจ้าของยิ่งต้องเป็นตัวตนที่เกี่ยวกับร้านเยอะมาก คือคนจะรู้จักร้านหนังสืออิสระไปพร้อม ๆ กับเจ้าของด้วย มันจะเป็นงานข้างหน้ามาก เปิดร้านใหม่ ๆ โดนสัมภาษณ์เยอะมาก ต่างกับตอนที่เป็นบรรณาธิการคนจะไม่ค่อยรู้จัก จะเงียบ ๆ

การเรียนรัฐศาสตร์มามันส่งผลกับการเป็นคนทำหนังสือหรือการเป็นเจ้าของร้านหนังสืออิสระหรือเปล่า

จริง ๆ เรียนอะไรก็ทำร้านหนังสือได้นะ แต่ที่เรียนรัฐศาสตร์นี่เป็นความชอบส่วนตัวและร้านหนังสือก็เป็นความชอบส่วนตัวเหมือนกัน เราเรียนรัฐศาสตร์ให้รู้เรื่องสังคม  ซึ่งเรารู้ก่อนเรียนรัฐศาสตร์ว่าเราจะทำหนังสือเพราะเราอ่านหนังสือตั้งแต่มัธยม คือจริง ๆ ไม่ต้องเรียนตรงสายก็สามารถมาทำด้านนี้ได้เหมือนกัน

เวลาคนบอกว่าหนังสือเล่มกำลังจะตายแล้วคิดยังไง

ก็ไม่เชื่อนะ คิดว่าเดี๋ยวนี้คนชอบอะไรที่มันซัพพอร์ตทางเลือกตัวเองมากกว่า หนังสือที่ดาราเขียนอย่างเมื่อก่อน ตอนนี้ก็ไม่มีแล้ว รู้สึกว่าอะไรที่ทำแล้วมันเหมือน ๆ กันมันจะอยู่ไม่ได้ ถ้าทำตาม ๆ กันเตรียมปิดตัวได้เลย

แม้แต่ร้านหนังสือก็ต้องมีคาแรคเตอร์ชัดนะ ที่ร้านก็องดิดอยู่ได้เพราะมีคาแรคเตอร์ คนมาส่วนใหญ่จะไม่เห็นหนังสือแบบนี้ที่ร้านอื่น ซึ่งพี่คิดว่าเขานำเสนอออกมาไม่ชัดหรือไม่ได้เน้นขายวรรณกรรม เขาแค่เสียบ ๆ วางขาย ไม่ได้เน้นหนังสือ แต่เราจะเน้นและพรีเซนต์วรรณกรรมเป็นคาแรคเตอร์ก็เลยขายได้

รูปแบบการวางหนังสือมีผลต่อการขายด้วยนะ ก็องดิดมีโต๊ะตั้งตรงกลางร้านเพื่อหมุนเวียนหนังสือให้คนเห็น เมื่อก่อนบนชั้นจะหันปกออกมาหมด แต่เดี๋ยวนี้หนังสือเยอะขึ้น ก็เริ่มทำแบบนั้นไม่ได้ พี่ว่าการใช้และการจัดสรรพื้นที่ในร้านเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้หนังสือขายได้หรือไม่ได้ด้วย

ในฐานะคนที่คลุกคลีอยู่กับหนังสือเล่มมาตลอด คิดว่าวัฒนธรรมการอ่านออนไลน์ฉาบฉวยรึเปล่า

ไม่นะ พี่ก็อ่านออนไลน์เยอะเหมือนกัน อ่านบทความดี  ๆ ออนไลน์มาเยอะ อ่านที่เพื่อนโพสต์ด้วย เราจะอ่านออนไลน์เหมือนอ่านข่าวสารเหมือนอ่านหนังสือพิมพ์ เดี๋ยวนี้มีเพจ The MATTER, The MOMENTUM, THE STANDARD เราก็ได้รับข่าวสาร เราก็อ่านข่าวสารทางออนไลน์

แต่ในขณะเดียวกันเรายังต้องการหนังสือเล่ม ต้องการอ่านอะไรที่อ่านได้นาน ๆ อ่านแล้วได้ใคร่ครวญ ได้คิดนาน ๆ หรือเอามาอ่านเมื่อไหร่ก็ได้ พี่ว่าหนังสือมันไม่ตาย อย่างหนังสือ Classic แบบเจ้าชายน้อยคนก็ต้องการเรื่อย ๆ มันก็มีคนรุ่นใหม่มาอ่าน

ความประณีตความเฉพาะตัวนี่ก็สำคัญมาก ซึ่งตอนนี้เห็นชัดขึ้นเรื่อย ๆ ว่าหนังสือที่อยู่ได้ต้องเฉพาะด้านจริง ๆ ลึกจริง ๆ วรรณกรรมแปล วรรณกรรมไทยทั้งหลายมันหมดยุคที่จะมาหว่านอะไรให้มันเหมือนกันแล้ว ฟองสบู่แบบนั้นมันหายไปแล้ว

ถ้าต้องอธิบายให้คนที่ไม่รู้ฟัง จะบอกว่าร้านหนังสือในห้าง ร้านหนังสือทั่ว ๆ ไปกับร้านหนังสืออิสระอย่างเรามันต่างกันยังไง

ก็จะเชิญชวนให้เขามาดูเอง ตอนนี้ที่ร้านก็มีทำคลิป เอาลงเฟซบุ๊ก แต่ก็ยังไม่ได้เลิศหรูอะไร  หรือไม่ก็จัดกิจกรรมบ่อย ๆ แต่ที่นี่ (The Jam Factory) มันดีกว่าตรงที่เขาจัดกิจกรรมบ่อยเหมือนกัน อย่างล่าสุดมีงาน  Art Ground คนมาเยอะมาก ร้านเราก็เลื่อนไปปิดสี่ห้าทุ่มจากปกติร้านปิดทุ่มครึ่ง ก็ได้ลูกค้าใหม่ ๆ เข้ามาเพิ่มอีก

แล้วจะมีลูกค้าที่เข้ามาบอกว่าไม่เคยเห็นร้านหนังสือแบบนี้ พอเขามาครั้งแรกก็จะรู้ว่ามีร้านมีหนังสืออิสระแบบนี้อยู่ เราคิดว่าการทำยังไงให้คนรู้ว่ามีร้านหนังสืออิสระแบบนี้ นี่แหละที่ยาก

ทำไมก็องดิดถึงไม่เป็นแค่ร้านหนังสือ ขายหนังสืออย่างเดียวจบ ง่ายดี อะไรที่ทำให้เราต้องจัดงานเสวนา จัดอะไรที่เชื่อมโยงกับผู้คนในร้านหนังสือของเรา

มันเป็นความชอบส่วนตัวของพี่ด้วยนะ พี่ทำชุมนุมวรรณศิลป์ตั้งแต่ตอนเรียน (มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) การเอาคนนั้นคนนี้มาคุยกันมันเลยเป็นความเคยชินด้วย พอเรามีที่ของเรา เราก็อยากจัด อยากให้คนคุยกัน อยากให้มันเป็นที่ที่มีอะไรมากกว่าคนมาซื้อขายหนังสือ อยากให้คนรู้สึกว่ามันมีชีวิตอยู่ในร้านนะ

หมดยุคร้านหนังสืออยู่นิ่ง ๆ อย่างเดียวแล้ว เราไม่ได้มีแค่หนังสืออย่างเดียว ล่าสุดจัดงานทอล์คเรื่องโรคซึมเศร้าที่มีคุณ ทราย (อินทิรา เจริญปุระ) จ๋า (ณัฐฐา วีรนุช ทองมี) ดวงฤทธิ์ (ดวงฤทธิ์ บุนนาค) คนมาจนเต็มแน่นเลย คนแสดงความคิดเห็นที่หลากหลาย ในงานทั้งคนฟังคนพูดร้องไห้กันหมดเลย เราเลยรู้สึกว่านี่คือความสำคัญของร้านหนังสือที่มันเชื่อมโยงกับคนได้จริง ๆ นี่ก็ยังมีคนถามมาเรื่อย ๆ ว่าเมื่อไหร่จะจัดงานแบบนี้อีก

คิดว่าร้านหนังสืออิสระที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ นับเป็นคู่แข่งที่เพิ่มมากขึ้นด้วยหรือเปล่า

ไม่เลย คือทุกปีจะมีสัปดาห์ร้านหนังสืออิสระ (งานที่ร้านหนังสืออิสระจะมารวมตัวกัน) เราก็มาแชร์ความรู้แชร์ข้อมูลกัน แรก ๆ บางร้านอยู่ต่างจังหวัดก็ไม่รู้จะคุยยังไง แต่ตอนนี้ดีขึ้นเพราะมีไลน์กรุ๊ปกัน เป็นไลน์กรุ๊ปของร้านหนังสืออิสระ เราก็จะถามกันว่าหนังสือเล่มนี้ที่ร้านมีหรือเปล่า ลูกค้าอยากได้นะ ก็แลกเปลี่ยนกัน

ปกติสัปดาห์ร้านหนังสืออิสระจะที่จัดกรุงเทพเป็นส่วนใหญ่ เราเลยเริ่มคิดว่าอยากไปจัดต่างจังหวัดบ้าง ทั่วประเทศมันก็มีร้านหนังสืออิสระ 30-40ร้านซึ่งมันไม่เยอะ แต่ก็มีที่เราไม่รู้อีกแหละ ร้านประจำจังหวัดหลาย ๆ ร้านที่ไม่ได้มีโซเชียลมีเดียของตัวเอง

ร้านหนังสืออิสระในอุดมคติเราเป็นยังไง

ก็เคยนึกภาพเหมือนกันนะ อยากให้คนที่มาคุยกันเรื่องหนังสือ ตอนนี้คนที่มาส่วนหนึ่งก็เป็นนักท่องเที่ยว สองก็คนที่มาใช้ร้านนั่งทำงานหรือมาซื้อหนังสือ เราอยากให้มีคนมาคุยเรื่องหนังสือกันจริงจังแบบไม่ต้องมีงานทอล์คก็ได้ สมมติมีคนอ่านหนังสือสักเล่มแล้วอยากคุยมาบอกเราได้นะ ว่าอยากคุยเรื่องหนังสือเล่มนี้เราจะหาคนคุยให้

อยากได้มุมมองของคนอ่านว่าอยากคุยเรื่องอะไรแล้วมาบอกเราเดี๋ยวเราจัดการให้เพราะเมื่อก่อนเราเป็นแบบนั้นคืออยากคุยแต่ไม่รู้จะคุยกับใคร อยากหาคนคุยอยากให้มีบรรยากาศแบบนี้บรรยากาศที่ไม่มีคนคุยแล้วมาที่ร้านเพื่อหาเพื่อนคุยเรื่องหนังสือโดยเฉพาะ

แล้วร้านหนังสือก็องดิดของเราเข้าใกล้ร้านหนังสืออิสระในอุดมคติของเราหรือยัง

คิดว่าสัก 40% มันเป็นเพราะร้านกาแฟส่วนหนึ่งด้วยที่คนมานั่งทำงาน แต่ก็มีบางคนที่มาแล้วชวนพี่คุย มาแลกเปลี่ยน แต่บางทีคิดว่ามันยังเป็นการพูดคุยที่ยังมีการนำจากร้านอยู่ แบบบางทีมาร้านแล้วพี่ไม่อยู่อาจจะไม่ได้คุยกันเลย แต่เวลามีคนมาให้แนะนำหนังสือนี่พี่ชอบมากเลยนะ เพราะพี่ว่ามันเป็นหน้าที่หลักของร้านเลย พี่ชอบอารมณ์การตามหาหนังสือให้ลูกค้า แบบลูกค้าก็บอกมานิดนึงแล้วเราก็ต้องมาตามต่อว่าเขาหมายถึงเล่มไหน เหมือนเป็นภารกิจ สนุกดี

คิดยังไงกับการที่คนพูดกันว่าร้านหนังสืออิสระช่วยต่อลมหายใจต่ออายุหนังสือ มันฟังยิ่งใหญ่ไปไหม

พี่ว่าส่วนหนึ่งมันต่อชีวิตลมหายใจของตัวเองด้วยนะ (ยิ้ม) จะบอกว่าทำอะไรเพื่อสังคมมันก็ไม่ใช่เสียทีเดียว เราก็ทำเพื่อตัวเองด้วย มันเป็นเรื่องที่เราชอบ เราก็ทำมันเหมือนต่อลมหายใจตัวเองด้วย

แล้วถ้าวันหนึ่งหนังสือมันต้องตายลงไปจริง ๆ  จินตนาการตัวเองไว้ตรงไหนยังไง

พี่ว่าหนังสือมันไม่ตาย แต่ถ้าสมมติร้านหนังสือมันจะตายพี่ก็ไม่ได้มีปัญหานะ มันอาจจะเปลี่ยนวิธีการอ่านเฉย ๆ ทำให้การอ่านอยู่ในรูปแบบไหนก็ได้ พี่ไม่เชื่อว่าการอ่านมันจะหมดจากโลก แต่มันจะเปลี่ยนวิธีการอ่านเท่านั้น ไม่รู้ว่าอนาคตจะมีสิ่งประดิษฐ์ที่เราไม่คาดคิดอีกเยอะ ขอให้การอ่านยังมีอยู่ไม่ว่าจะรูปแบบไหนก็ได้

แล้วคิดยังไงกับร้านหนังสือแฟรนไชส์ที่ต้องปิดตัวลง

อาจจะเป็นเพราะเขาใหญ่มากแล้วปรับตัวยากหรือเปล่า อย่างเราเป็นร้านเล็ก พี่ว่ามันคล่องตัว ร้านหนังสืออิสระมันไม่ได้ใหญ่เลยเปลี่ยนแปลงได้เร็วไม่เหมือนร้านหนังสือแฟรนไชส์ ที่เวลาคิดอะไรทีต้องผ่านโครงสร้างผู้บริหาร และพอเป็นสาขามันมีความเหมือนกันไปหมดคนเขาก็จะไม่ชอบละ มันเป็นปัญหาที่เขาหาคาแรคเตอร์ไม่ได้ ซึ่งความได้เปรียบของร้านเล็กคือมีคาแรคเตอร์เป็นของตัวเองชัด

ถ้าก็องดิดเป็นคนคิดว่ามีคาแรคเตอร์แบบไหน

มองตัวเองก็บอกยากเหมือนกัน มันกึ่งโบราณกึ่งทันสมัยมั้ง บางอย่างเราก็ทำได้ช้าไป ยังรู้สึกโบราณนิด ๆ ถึงหนังสือมันเป็นอะไรที่ธรรมดาบางทีก็มีหวือหวานิดหน่อย บางทีก็อยากทำอะไรให้เร็วกว่านี้ แต่เราก็ปรับอยู่ตลอดเวลา

มีอะไรที่อยาก UNLOCK ตัวเองบ้างหรือเปล่า

ตอนนี้อยากปรับให้ตอนกลางคืนที่ร้านมีไวน์มีเพลง คือเปิดร้านมันเหนื่อยพอจะปิดร้านก็หมดแรง คือเราก็อยากเอาบรรยากาศเก่าที่ร้านเดิมกลับมา ตอนกลางวันเป็นร้านหนังสือ ตอนค่ำก็เป็น บริสโทร มีเบียร์มีไวน์แต่มันก็อาจจะเหนื่อยหน่อยร้านก็ต้องปิดสี่ห้าทุ่ม แต่มันก็ต้องปรับ ต้องตามหากันต่อไป

ใช่ ไม่มีอะไรที่เราเห็นด้วยไปกว่านี้ “ต้องปรับและต้องตามหากัน…ต่อไป”

PSYCAT
WRITER: PSYCAT
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line