World

DO YOU HEAR THE PEOPLE SING? รูปภาพที่ส่งต่ออุดมการณ์จากปฏิวัติฝรั่งเศสสู่ปาเลสไตน์

By: PERLE October 26, 2018

ความสงบคือสิ่งที่หาได้ยากในดินแดน ‘ฉนวนกาซา’ นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1948 หลังจากพรมแดนถูกแบ่งโดยกองทัพอิสราเอลและอียิปต์เมื่อสงครามอาหรับ-อิสราเอลสิ้นสุดลง ส่งผลให้สหราชอาณาจักรเลิกการครอบครองปาเลสไตน์  หลังจากนั้นฉนวนกาซาถูกปกครองโดยอียิปต์โดยตลอด มีเพียงช่วง 4 เดือนสั้น ๆ ในช่วงวิกฤตการณ์คลองสุเอซที่อิสราเอลได้กลับมาปกครองแผ่นดินผืนนี้ แต่เมื่ออิสราเอลชนะสงครามหกวัน ใน ค.ศ. 1967 ฉนวนกาซาก็ตกเป็นหนึ่งในดินแดนที่อียิปต์เสียให้อิสราเอล

จนกระทั่ง ค.ศ. 1993 อิสราเอลและปาเลสไตน์ได้ตกลงกันเซ็น สนธิสัญญาออสโล ซึ่งใจความสำคัญคือการอนุญาตให้ชาวปาเลสไตน์มีอำนาจในการปกครองตัวเอง (อย่างจำกัด) ในเขตฉนวนกาซา ต่อมาในค.ศ. 2005 ภายใต้การนำของประธานาธิบดี Ariel Sharon อิสราเอลได้ดำเนินการถอนทหารและประชาชนชาวอิสราเอล ที่อาศัยอยู่ในฉนวนกาซาทั้งหมด ซึ่งหมายถึงการหมดอำนาจปกครองของอิสราเอลที่ยาวนานมาถึง 36 ปี

แต่ในปัจจุบันอิสราเอลยังคงควบคุมการเข้าออกฉนวนกาซาจากภายนอก ส่วนสถานะทางการเมืองระหว่างประเทศของฉนวนกาซายังไม่ได้ข้อยุติ ด้วยเหตุนี้ฉนวนกาซาจึงเป็นพื้นที่สีแดงที่ไม่เคยเว้นว่างจากการสู้รบ ชีวิตมากมายที่ต้องดับลง เลือดที่เจิ่งนองบนพื้น เปรียบเสมือนสิ่งแลกเปลี่ยนกับอำนาจอธิปไตยที่ทั้ง 2 ฝ่ายต้องการ

ปฏิเสธไม่ได้ว่าด้วยระยะเวลาที่ยาวนาน และเรื่องราวที่ดูเหมือนจะไม่มีตอนจบ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ผู้คนโดยทั่วไปจะเริ่มรู้สึกชินชากับความรุนแรงในพื้นที่แห่งนี้ ฉนวนกาซากลายเป็นเหมือนพื้นที่ลับแลที่เสียงสะท้อนแห่งความรุนแรงส่งไปไม่ถึงโลกภายนอก จนกระทั่งในวันที่ 14 พฤษภาคม ค.ศ. 2018 มีชาวปาเลสไตน์ เสียชีวิต 55 คน จากการประท้วงครั้งใหญ่ จึงทำให้โลกภายนอกเริ่มกลับมาสนใจความเป็นไปในพื้นที่แห่งนี้อีกครั้ง

เหตุการณ์เดือนพฤษภาคมเป็นเหมือนเชื้อไฟที่เพิ่มดีกรีความร้อนแรงของฉนวนกาซาขึ้นมาอีกครั้ง การประท้วงโดยประชาชนปาเลสไตน์ยังดำเนินมาเรื่อยมา การห้ำหั่นที่ยาวนานทำให้เรื่องราวในดินแดนนี้โดนชาวโลกหลงลืมอีกครั้ง จนกระทั่งเมื่อวันที่ 22 ตุลาคมที่ผ่านมา รูปถ่ายรูปหนึ่งทำให้ทุกคนหันกลับมาสนใจฉนวนกาซาอีกครั้ง รูปถ่ายที่ว่าคือรูปถ่ายชายหนุ่มชาวปาเลสไตน์คนหนึ่งโบกธงชาติมาตุภูมิตัวเองด้วยท่าทีขึงขัง โดยมีฉากหลังเป็นกลุ่มหมอกควันสีดำของการระเบิด ฟังดูก็ไม่แตกต่างจากรูปถ่ายสงครามรูปอื่น ๆ แต่สิ่งที่ทำให้รูปนี้โดดเด่นคือมันดูคล้ายคลึงกับภาพวาดของ Eugene Delacroix ที่วาดภาพจำลองการปฏิวัติฝรั่งเศสในช่วงปีค.ศ.1789-1799 ทั้งแง่อารมณ์และองค์ประกอบภาพ

ชายในรูปคือ Abu Amro วัย 20 ปี ชาวปาเลสไตน์ เกิดและเติบโตในเมือง al-Zaytoun ใกล้กับฉนวนกาซา เขามักจะออกมาประท้วงทุกวันจันทร์และศุกร์พร้อมกับกลุ่มเพื่อน

“ผมค่อนข้างประหลาดใจที่รูปนี้โด่งดังขึ้นมา” Amro ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Al Jazeera

“ผมออกมาประท้วงทุกสัปดาห์และผมไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีช่างภาพอยู่ข้าง ๆ ผม”

“ผมไม่ได้ออกมาประท้วงเพื่อจะโดนถ่ายรูป แต่ผมก็ยอมรับว่าสิ่งนี้ช่วยกระตุ้นและเป็นกำลังใจให้ผมทำในสิ่งนี้ต่อไป”

“ผมมักจะพกธงผืนนี้ออกมาประท้วงเสมอ เพื่อนผมเคยพูดตลกกับผมว่าถ้าถือธงอยู่ก็จะลำบากในการขว้างปาก้อนหินน่ะสิ แต่ผมก็ไม่ได้สนใจ”

“ถ้าผมโดนฆ่า ผมอยากให้ห่อศพผมด้วยธงผืนนี้ สิ่งที่เราทำอยู่คือการต่อสู้เรียกร้องเพื่อสิทธิ ศักดิ์ศรี และอนาคตของเรา”

นับตั้งแต่การประท้วง Great March of Return เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 30 มีนาคมกองกำลังอิสราเอลได้สังหารชาวปาเลสไตน์ไปแล้วอย่างน้อย 205 คน ซึ่งรวมถึงผู้สื่อข่าวและเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บมากกว่า 18,000 คน

ต่างยุคสมัย ต่างสถานที่ แต่อุดมการณ์เดียวกัน ทั้งการปฏิวัติฝรั่งเศสและการต่อสู้ของชาวปาเลสไตน์ฉนวนกาซา นี่คือเรื่องราวการต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิของตัวเองที่ต้องได้รับการจารึกในประวัติศาสตร์โลกไปอีกแสนนาน

 

SOURCE1/SOURCE2

PERLE
WRITER: PERLE
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line